Monday, 17 June 2024
ประชาธิปัตย์ขัดแย้ง

เมื่อพายุแห่งความขัดแย้งโหมกระหน่ำ ‘ประชาธิปัตย์’ ‘นายกฯ ชาย’ หรือ ‘นายกฯ ชวน’ ใครจะอยู่ ใครจะไป?

(25 ส.ค. 66) ‘สัจจัง เว อมตะวาจา’ แปลความได้ว่า “วาจาจริง เป็นสิ่งไม่ตาย” เป็นคำที่ ‘สรรเพชญ บุญญามณี’ สส.สงขลา เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ยกขึ้นมากล่าวอ้างกับสถานการณ์ความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้

สรรเพชญ เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ เลือดใหม่ของประชาธิปัตย์ ที่ได้รับเลือกเป็น สส.สมัยแรกในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา สรรเพชญ เป็นทายาททางการเมืองของ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เลือดใหม่อย่าง ‘สรรเพชญ’ ถือว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” และน่าจะมีพ่อเป็นเทรนเนอร์ที่ดี

3 เดือนที่ผ่านมา ได้เห็นบทบาทของสรรเพชญ ‘ทำหน้าที่ที่ได้รับที’ ในสภาฯ ได้เห็นการอภิปรายสะท้อนปัญหา ปรึกษาหารือในหลายประเด็น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากสี่แยกเกาะยอ การตั้งคำถามเรื่องการก่อสร้างอาคารหอยสังข์ที่คาราคาซังมาเป็นสิบปี

ในพื้นที่ก็เกาะติดมาตลอด 3 เดือน เสร็จภารกิจในสภาฯ ก็เดินหน้างานในพื้นที่ ประเดิมด้วยการเดินสายเจอกงสุลของแต่ละประเทศ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน กล่าวได้ว่า เลือดใหม่ประชาธิปัตย์ ‘สรรเพชญ บุญญามณี’ คือ ‘ดาวฤกษ์’ คนหนึ่งที่น่าติดตามผลงาน

ส่วน ‘สัจจัง เว อมตะวาจา’ หรือ ‘วาจาจริง เป็นสิ่งไม่ตาย’ เป็น ‘พุทธสุภาษิต’ ที่ติดอยู่กับโลโก้ประชาธิปัตย์มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค ตั้งแต่ยุค ‘ควง อภัยวงศ์’ ผู้ก่อตั้งพรรค และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก และถือเป็นพุทธสุภาษิตที่ชาวประชาธิปัตย์ยึดถือปฏิบัติมายาวนาน

การที่สรรเพชญ ยก ‘สัจจัง เว อมตะวาจา’ ขึ้นมากล่าวอ้าง ในเวลานี้เหมือนต้องการจะสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ มีใครบางคน บางกลุ่มก้อนไม่รักษา ‘สัจจัง เว อมตะวาจา’ กลับไปกลับมา

สถานการณ์ในประชาธิปัตย์ขัดแย้งชัดเจน ระหว่างขั้วของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ รักษาการเลขาธิการ ที่ประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว หลังนำพาพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยมี ‘นายกฯ ชาย เดชอิศม์ ขาวทอง’ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ และ ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ เป็นแนวร่วมขับเคลื่อน ซึ่งเป็นกลุ่มที่โหวตเห็นชอบให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มนี้จะมี สส.อยู่ในมือ 16 คน ต่อไปนี้จะเรียกว่า ‘กลุ่ม 16’

กลุ่มของชวน หลีกภัย เป็นกลุ่มที่ไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย มี ‘บัญญัติ บรรทัดฐาน-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์-นิพนธ์ บุญญามณี’ เป็นแนวร่วม โดย ชวน-บัญญัติ โหวตไม่เห็นชอบ จุรินทร์โหวตงดออกเสียง และมีสรรเพชญ ที่งดออกเสียงด้วย

กลุ่มของเฉลิมชัยมีความพยายามสูงยิ่งในการขอเข้าร่วมรัฐบาล แต่พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เทียบเชิญ กลุ่มของเฉลิมชัยถึงขั้นส่งตัวแทนไปพบ ‘ทักษิณ’ ถึงฮ่องกง แต่ได้รับการปฏิเสธ แม้กระทั่งนาทีสุดท้ายก่อนโหวตเพียงไม่กี่นาที ยังมีการพูดคุย-ต่อรอง กลุ่มจะโหวตให้ ไม่ได้ร่วมรัฐบาลก็ไม่เป็นไร แต่จะเป็นอะไหล่ให้ เผื่อพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคงอแง สุดท้ายกลุ่ม 16 ก็พากันโหวตเห็นชอบให้เศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีในนาทีสุดท้ายของการโหวต

ส่วนกลุ่มของชวน หลีกภัย ไม่ประสงค์จะนำพาพรรคเข้าร่วมรัฐบาล แต่ต้องการทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเข้มข้น เป็นฝ่ายค้านที่มีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลอย่างจริงจัง พร้อมสนับสนุน ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค รับบทบาทหนักในการฟื้นฟูพรรคอย่างทุ่มเท ซึ่งถ้าหันซ้ายมองขวาก็ยังหาใครเหนือกว่าอภิสิทธิ์ไม่มี แต่กลุ่มเฉลิมชัยก็เฟ้นหาคนลงแข่ง ก็ไปคว้า ‘นราพัฒน์ แก้วทอง’ รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ มาลงแข่ง หลังจากเข็น ‘ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ไม่ขึ้น

ความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ก่อตัวขึ้นในการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แทน ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ ที่รับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้ง จึงลาออกไป เมื่อสองขั้วเชียร์คนละคนกัน และเป้าหมายต่างกันชัดเจน

เกมล้มประชุมถูกกำหนดขึ้น เมื่อมีการประเมินว่าฝ่ายของตัวเองยังไม่มีโอกาสชนะ จากการคุมเสียงของโหวตเตอร์ยังไม่พอ จากจุดอ่อนของข้อบังคับพรรคที่ให้น้ำหนักกับ สส.ปัจจุบันถึง 70% ส่วนโหวตเตอร์อื่นๆ มีน้ำหนักเพียง 30% ในขณะที่กลุ่มของเฉลิมชัย กุมเสียง สส.อยู่มากกว่า 16 คน แต่กลุ่มของนายชวนจะกุมเสียงสาขา ตัวแทนจังหวัด และอื่นๆ ซึ่งมีน้ำหนักแค่ 30% โหวตอย่างไรกลุ่มของนายชวนก็แพ้

การประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ล้มลงแล้วถึงสองครั้ง ซึ่งในการจัดประชุมแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท สองครั้งก็ 6 ล้านบาทเข้าไปแล้ว

ปัญหาในพรรคประชาธิปัตย์มาแตกหักเมื่อมีการประชุม สส.เพื่อกำหนดท่าทีในการโหวต มีแค่ 3 แนวทางคือ ‘เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง’ แต่เมื่อพรรควางตัวเป็นฝ่ายค้าน ‘เห็นชอบ’ จึงถูกยกไป มีการแลกเปลี่ยนกันว่าจะไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียง เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ‘งดออกเสียง’ แต่ ‘ชวน-บัญญัติ’ ขออนุญาตต่อที่ประชุมว่าจะขอโหวต ‘ไม่เห็นชอบ’

รองโฆษกพรรคแถลงข่าวชัดเจนว่า มติเสียงส่วนใหญ่ให้งดออกเสียง ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ ก็โพสต์ในเฟซบุ๊กในเวลาต่อมาว่า พรรคมีมติให้งดออกเสียง แต่เมื่อถึงเวลาโหวต มี สส.16 คน ยกมือเห็นชอบ 6 คน งดออเสียง และ 2 คน ไม่เห็นชอบ

เดชอิศม์ ขาวทอง นำทีม 16 สส.แถลงข่าวในวันต่อมา เหมือนกับว่าพรรคไม่ได้มีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อใกล้เวลาโหวต สส.ในกลุ่มก็มานั่งคุยกัน และเห็นร่วมกันว่าจะยกมือเห็นชอบ โดยไม่หวั่นเกรงต่อการถูกขับออกจากพรรค ถ้าถูกตั้งกรรมการสอบ เดชอิศม์ไม่หวั่นเกรง เพราะมีเสียง สส.อยู่ในมือจำนวนมาก กับเสียงที่ต้องใช้ในการขับสมาชิกออกจากพรรค 3/4 น่าจะเพียงพอ แถมตั้งเป็นปุจฉาไว้ด้วยว่า “ไม่รู้ว่าใครจะขับใคร”

“ไม่รู้ว่าใครจะขับใคร” เป็นหอกที่แหลมคมพุ่งไปยัง ‘ชวน หลีกภัย’ ตรงๆ เลย เพราะชวนเป็นคนออกมาตอกย้ำว่า นายกฯ ชายเป็นคนพูดเองว่า “ใครไม่ปฏิบัติตามมติพรรค ก็ต้องลาออกไป”

ถึงเวลานี้ไม่รู้ว่า กลุ่มนายกฯ ชาย หรือกลุ่มนายกฯ ชวนต้องลาออกไป แต่ที่สำคัญสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ‘สัจจัง เว อมตวาจา : วาจาจริง เป็นสิ่งไม่ตาย’

‘สมยศ พลายด้วง’ 1 ใน 6 ‘งดออกเสียง’ เลือกเศรษฐานั่งนายกฯ ชาวสงขลาแห่ชื่นชม ‘อุดมการณ์มั่นคง-ยึดถือมติพรรคเป็นหลัก’

‘สมยศ พลายด้วง’ สส.สงขลา เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ เป็น 1 ใน 6 ที่โหวต ‘งดออกเสียง’ ตามมติพรรคในการรับรอง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกรัฐมนตรี 

หากไล่เรียงดูการลงมติของ สส.พรรคประชาธิปัตย์นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 

ลงคะแนน ‘ไม่เห็นชอบ’

1.นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ
2.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ

ลงคะแนน ‘งดออกเสียง’ ตามมติพรรค

1.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ 
2.นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา 
3.นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์
4.นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง
5.นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สส.ตรัง 
6.นายสมยศ พลายด้วง สส.สงขลา  

สำหรับ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงมติเห็นชอบ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี รวม 16 คน ประกอบด้วย

1.นายกาญจน์ ตั้งปอง
2.นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์
3.นายชัยชนะ เดชเดโช
4.นายชาตรี หล้าพรหม

5.นายเดชอิศม์ ขาวทอง
6.นายทรงศักดิ์ มุสิกอง
7.นายพิทักษ์เดช เดชเดโช
8.ว่าที่ร้อยโทยุทธการ รัตนมาศ
9.นายยูนัยดี วาบา
10.นายวุฒิพงษ์ นามบุตร

11.นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง
12.นายสมบัติ ยะสินธุ์
13.นางสุพัชรี ธรรมเพชร
14.นางสาวสุภาพร กำเนิดผล
15.พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่
16.นางอวยพรศรี เชาวลิต

และล่าสุด นายสมยศ พลายด้วง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “กระผมสมยศ พลายด้วง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 3 สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ‘งดออกเสียง’

ผมยึดมั่นมติพรรคเป็นหลักครับ ผมเชื่อมั่นและเคารพในอุดมการณ์ของพรรคอย่างแน่วแน่ในการโหวตครั้งนี้ ไม่ว่าคนในพรรคจะโหวตอะไร แต่ตัวผมเองยังยึดถือในการประชุมพรรคที่ผ่านมา เพราะนี้เป็นการเมืองระดับประเทศ พี่น้องชาวเขต 3 และประชาชนทั่วประเทศเขาเห็นด้วย”

เมื่อเข้าไปตรวจเช็กการแสดงความคิดเห็นพบว่า มีคนชาวสงขลาเข้าไปแสดงความคิดเห็นเชิงชื่นชมอยู่ไม่น้อย #นายหัวไทร ก็ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ว่า ไลน์ของสมยศ พลายด้วง ก็มีคนชาวสงขลาส่งข้อความไปชื่นชมเป็นจำนวนมาก แต่มีเพื่อน สส.บางคนโทรศัพท์ไปขอให้ลบข้อความ และรูปภาพออกได้หรือไม่ แต่เจ้าตัวยันยืนยันในสิ่งที่ทำและเขียนไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top