ตำรวจไซเบอร์ เปิดปฏิบัติการ Shutdown Fake Loan ทลายเครือข่ายแก๊งเงินกู้ทิพย์ออนไลน์ หลังพบผู้เสียหายกว่า 400 ราย ความเสียหายหลายสิบล้านบาท
ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงประชาชนให้กู้ยืมเงินผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ได้กำชับสั่งการให้ทุกกองบังคับการในสังกัด เร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง
วันนี้ (27 เม.ย.66) เวลา 15.00 น. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ฐายุฏฐ์ จันทร์ถาวร รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5, พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวกรณี เปิดปฏิบัติการ Shutdown Fake Loan ทลายเครือข่ายแก๊งเงินกู้ทิพย์ออนไลน์ โดยมีพฤติการณ์การกระทำผิด และผลการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
สืบเนื่องมาจากได้มีผู้เสียหายกว่า 400 ราย ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้กู้เงินผ่านเว็บไซต์ค้นหาทั่วไป และจากการได้รับข้อความสั้น (SMS) โดยมีการโฆษณาชวนเชื่อในลักษณะให้วงเงินสูง อัตราดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติเงินเร็ว และใช้เอกสารน้อย จากนั้นจะให้แอดไลน์ติดตั้งแอปพลิเคชันเงินกู้ของมิจฉาชีพ มีการอ้างว่าผู้เสียหายจะได้รับเงินที่ขอกู้ยืมจริง แต่ต่อมามีเงื่อนไขต่างๆ เช่น ต้องโอนเงินมัดจำก่อน ต้องทำกรมธรรม์คุ้มครองวงเงิน ต้องจ่ายค่างวดล่วงหน้า หรือแจ้งว่ามีการกรอกเลขบัญชีธนาคารผิด ต้องจ่ายเงินเป็นค่าเครดิต เป็นค่ารหัสผ่านในการถอนเงิน เป็นต้น เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้วแต่กลับไม่ได้รับเงินเเต่อย่างใด เชื่อว่าถูกหลอกลวงจึงได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด บก.สอท.5 จึงได้ทำการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบเส้นทางการเงิน หาความเชื่อมโยงทางคดี กระทั่งเมื่อวันที่ 21 เม.ย.66 พงส.ได้ยื่นคำร้องขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหา 52 ราย (สัญชาติไทย 51 ราย สัญชาติจีน 1 ราย) ในข้อหา “ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ” และ พงส.ยังได้ยื่นคำร้องขออนุมัติศาลเพื่อขอออกหมายค้นสถานที่สำคัญ จำนวน 4 จุด ในพื้นที่ กทม. 3 จุด และ จ.สระแก้ว 1 จุด
