Monday, 1 July 2024
บ้านเมืองถูกบอนไซ

‘พล.ท.นันทเดช’ มอง!! ‘ประเทศไทย’ ไปได้ไกลกว่านี้ แต่กลับถูกบอนไซ ด้วยการปกครองแบบที่คณะราษฎรตั้งใจ

เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย. 67) พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า…

“ประเทศไทยจะไปได้ไกลกว่านี้มาก ถ้าไม่มีคณะราษฎร (ตอนที่1)”

“ในสมัยรัชกาลที่ 1 อาณาเขตของสยามได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุม กัมพูชา ลาว เวียดนามบางส่วน จนไปถึงอ่าวตังเกี๋ย และหัวเมืองมลายูทั้งหมด ทำให้ ‘สยาม’ มีประเทศกันชน ป้องกันข้าศึกรุกรานอยู่ทุกด้าน เป็นประเทศที่น่าเกรงขาม สุขสงบ และมากมายด้วยเกียรติยศ แต่สยามก็ต้องแลกมาด้วยความยากลำบากของขุนทหารทุกระดับ ทั้งที่มาจาก วังหน้า วังหลวง และ วังหลัง ที่ต้องผลัดเวียนกันออกไปรบพุ่ง ปกป้องรักษาประเทศราชเหล่านั้น ไม่รู้จบสิ้น”

“ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามกลายสภาพเป็นเสมือน ประเทศกันชน ระหว่างอำนาจฝรั่งเศส ทางทิศตะวันออก และ อำนาจอังกฤษ ทางทิศตะวันตก ในขณะที่สงครามแบบเก่า ที่ใช้ความเก่งกล้าจากขุนทหารของสยามก็กำลังเริ่มหมดไป การล้อมปราบด้วยปืนไฟ และเรือปืน ได้เข้ามาแทนที่”

“ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงประกาศอาณาเขตสยามอย่างชัดเจนขึ้น เพื่อป้องกันความขัดแย้งกับมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศ และทรงมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ ทุกด้านอย่างรวดเร็ว ปฏิรูประบบทหารให้เป็นแบบยุโรป ทรงเลิกทาส โดยให้ทาสทุกคนได้เรียนหนังสือก่อน แล้วจึงมอบที่ดินให้ทำมาหากิน นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงส่งนักเรียนไทยไปเรียน ที่ประเทศต่าง ๆ ทางตะวันตก ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาสยาม (สมาชิกคณะราษฎรส่วนใหญ่กำเนิดมาจากนักเรียนทุนหลวง)”

“อย่างไรก็ตาม แม้สยามจะเจริญก้าวหน้าขึ้นมาแทบทุกด้าน แต่สยามก็ยัง ติดปัญหาเรื่องสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่เคยทำไว้กับประเทศตะวันตก ซึ่งทำให้สยามเสียเปรียบประเทศตะวันตก ทั้งด้านการค้า และความเท่าเทียมในฐานะที่สยามเป็นประเทศเอกราช ดังนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงทรงตัดสินพระทัย ไม่ฟังคำคัดค้านของกลุ่มทหารที่จบจากเยอรมัน (พ.อ.พระยาพหลฯเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนั้นด้วย ) เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร ประกาศสงครามกับเยอรมัน ทำให้สยามได้รับชัยชนะ สามารถแก้ไขสนธิสัญญาต่าง ๆ กับประเทศตะวันตกได้ทุกฉบับ (นายปรีดี เองก็ยังกล่าวชมเชยพระองค์ในเรื่องนี้ไว้)”

“หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงขยาย การพัฒนาประเทศต่อยอดจาก ในหลวงรัชกาลที่ 5 เพิ่มเติมขึ้นอีก แต่ก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ พระองค์จึงทรงกู้เงินมาจากประเทศทางยุโรป เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และการชลประทาน อีกไม่กี่ปีต่อมา ผลผลิตทางเกษตร ก็ออกมาอย่างท่วมท้น การขนส่งพืชผล ออกสู่ท้องตลาด ก็ทำได้อย่างรวดเร็ว เงินกลับคืนมาล้นท้องพระคลัง ในต้นรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 7 พระองค์ก็ทรงใช้หนี้ที่กู้ยืมมาจนหมดสิ้น และทรงเตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญ ให้กับประชาชน แต่ก็ถูกทักท้วงไว้จากที่ปรึกษาชาวตะวันตก คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอภิมนตรี ว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่มีความรู้เพียงพอ” ให้ชะลอไว้ก่อน”

“พระยาพหลฯ ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหาร นั้นเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 กำลังจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่บอกอาจารย์ ปรีดี เพราะอาจารย์ปรีดี ผู้นำคณะราษฎร สายพลเรือน บอกว่า เพิ่งมารู้หลังจากทำปฏิวัติไปแล้ว”

“ปัญหาจึงน่าสนใจตรงที่ว่า ทำไมพระยาพหลฯ ผู้เป็นเสมือนหัวใจของ คณะราษฎรในตอนนั้น ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้ร่างรัฐธรรมนูญไว้เรียบร้อยแล้ว และเตรียมที่จะพระราชทานอยู่แล้ว ถึงไม่บอกสมาชิก คณะราษฎรคนอื่น ๆ ให้รู้ หรือทำไมไม่กราบบังคมทูลขอเข้าเฝ้าฯเพื่อถวายข้อเสนอแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามที่พวกตนต้องการ ซึ่งแนวทางนี้ พระองค์เจ้าบวรเดช ก็เคยพูดคุยกับ พระยาพหลฯมาก่อนที่คณะราษฎรจะปฏิวัติ ดังนั้น การใช้วิธีปฏิวัติล้มล้าง ซึ่งไม่ใช่วิธีการตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อเริ่มต้นขึ้นแล้ว ก็หยุดไม่ได้ จึงทำให้การปฏิวัติกลายเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาของเหล่าสมาชิกคณะราษฎร ทั้งในสายทหาร และสายพลเรือน และยังเป็นโมเดลของการรัฐประหารครั้งต่อ ๆ มาภายหลัง”

“บ้านเมืองจึงเสมือนถูกบอนไซ การปกครองแบบประชาธิปไตยตามที่คณะราษฎรตั้งใจไว้ จนกลายมาเป็นการปกครองแบบเผด็จการทางสภาบ้าง เผด็จการทางทหารบ้าง สลับกันไป เป็นแบบนี้มาตลอด 25 ปี ของการครองอำนาจ”

‘พล.ท.นันทเดช’ มอง!! ‘ประเทศไทย’ ไปได้ไกลกว่านี้ แต่กลับถูกบอนไซ ด้วยการปกครองแบบที่คณะราษฎรตั้งใจ

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 67 พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘ผลจากการปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 ทำให้ประเทศไทยไม่ก้าวหน้า (ตอนที่ 2)’ โดยระบุว่า…

1️⃣ จากกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงยอมชะลอการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ตามคำท้วงติงว่า “ประชาชนยังไม่พร้อม“ แต่คณะราษฎรได้ชิงตัดหน้าทำการปฏิวัติไปก่อน ทั้งที่ พ.อ.พระยาพหล หัวหน้าคณะราษฎร ก็ทราบดีอยู่แล้ว แต่ทำไมถึงไม่บอกให้สมาชิกคณะราษฎรรู้ด้วย ขอให้มาดูที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่ง อ.ปรีดี เป็นผู้ร่างเองนั้นได้มีการตัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ออกไปทั้งหมด โดยระบุไว้ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่กลับมีที่มาของ สส. ที่จะเข้ามาใช้อำนาจแทนประชาชนไม่ได้มาจากประชาชน โดยให้คณะราษฎรแต่งตั้งเองทั้งหมด และวาระการดำรงตำแหน่งก็ถูกขยายยาวไปถึง 10 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงระยะเวลาดังนี้

▪️ช่วงแรก▪️ คณะราษฎร ตั้ง สส. เองทั้งหมด ตามเนื้อความใน รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ระบุว่า “นับตั้งแต่วันใช้รัฐธรรมนูญ จนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ 2 จะเข้ารับตำแหน่งให้คณะราษฎร ซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนคร ฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทน จัดตั้ง สส.ชั่วคราวขึ้นมา 70 นาย”

▪️ช่วงที่ 2▪️ ภายใน 6 เดือน หรือจนกว่า ‘การจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย’ (92 ปีผ่านมาบ้านเมืองก็ยังไม่เรียบร้อย) สมาชิกสภาจะต้องมีบุคคล 2 ประเภท ทำกิจกรรมร่วมกัน คือ ‘ประเภทที่ 1’ ให้ราษฎรเลือกผู้แทนขึ้นมาจังหวัดละ 1 คน (เกินแสนคนได้อีก 1 คน ) ‘ประเภทที่ 2’ ให้สมาชิกในช่วงแรกที่คณะราษฎรแต่งตั้งไว้ เลือกกันเองมีจำนวนเท่ากับ ส.ส.ประเภทที่ 1 

▪️ช่วงที่ 3▪️ เมื่อราษฎรทั่วประเทศสอบไล่ได้ชั้นประถมศึกษาเกินครึ่ง และไม่เกิน 10 ปี ให้มีแต่ สส.ที่ราษฎรเลือกเข้ามาทั้งหมด

รัฐธรรมนูญที่ อ.ปรีดีเขียนนั้น เห็นได้ว่ามีเจตนาถ่วงเวลาที่ประชาชนจะต้องมีความรู้ไว้นานถึง 10 ปี ซึ่งก็แสดงว่าคณะราษฎรเอง ก็ทราบดีว่าถ้าประชาชนยังไม่พร้อม ประชาธิปไตยเละแน่ ซึ่งก็ตรงกับเหตุผลที่รัชกาลที่ 7 ทรงยอมชะลอการพระราชทานรัฐธรรมนูญไว้ก่อน แต่ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะทำให้คณะราษฎร มี สส.เสียงข้างมากอยู่ในสภาตลอดมา จึงอ้างอิงมติของสภา ทำอะไรก็ได้ทุกเรื่อง 
อย่างไรก็ตาม อ.ปรีดี ได้พูดถึงเรื่องนี้ในรายงานสภาครั้งที่ 40/2475, ลง 27 พ.ย. 2475 เหมือนกัน ดังนี้ครับ 

“การที่มีสมาชิกผสมในสมัยที่ 2 นั้น ไม่ใช่ประสงค์ที่จะหวงอำนาจ ความข้อนี้มีผู้เข้าใจไปต่างๆ  สุดแต่เขาจะกล่าวหาว่า ประสงค์จะเป็นดิกเตเตอร์ (เผด็จการ) บ้าง อะไรบ้าง ความจริงไม่ใช่เป็นเช่นนั้นเลย การที่เราจำเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2ไว้กึ่งหนึ่ง ก็เพื่อช่วยเหลือ ส.ส.ในขณะนั้นที่เพิ่งเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อมทราบอยู่แล้วว่า มีราษฎรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอที่จะจัดการปกครองป้องกันผลประโยชน์ของตนเองได้บริบูรณ์ ถ้าขืนปล่อยมือให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลำพังในเวลานี้แล้ว ผลร้ายก็จะตกอยู่กับราษฎรเอง…” 

▪️หลังการปฏิวัติ คณะราษฎรไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนมากนัก จึงพยายามหาทางประนีประนอม กับสถาบันฯ ซึ่งคาดเดาได้ 2 ทาง 

(1) ในทางที่ดี คณะราษฎรเห็นพ้องกับในหลวงรัชกาลที่ 7 ว่าประชาชนยังไม่พร้อมจริง ซึ่งกรณีนี้ เป็นแนวคิดของคณะราษฎรสายทหารเกือบทั้งหมด รวมทั้ง อ.ปรีดีด้วย 

และ (2) ในทางไม่ดี คณะราษฎรเห็นว่าอำนาจของฝ่ายตน ยังไม่มั่นคง เพราะคณะราษฎรในสายทหารส่วนหนึ่งหันกลับมาสนับสนุนการคืนบทบาทให้พระมหากษัตริย์จึงควรหาทางประนีประนอมชะลอเวลาไว้ก่อน 

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับถาวร จึงมีการประนีประนอม ถวายพระเกียรติแก่องค์พระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้น เช่น มีการทำพิธีขอพระราชทานอภัยโทษ ของคณะราษฎรอย่างเต็มรูปแบบขึ้น, รัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะราษฎร ใช้คำว่า ‘กษัตริย์’ เฉย ๆ แต่ฉบับถาวรใช้คำว่า ‘พระมหากษัตริย์’, การให้สิทธิคัดค้านของพระมหากษัตริย์ (สิทธิ VETO) ถ้าพระองค์ไม่เห็นด้วยกับ พระราชบัญญัติ และ เมื่อครบ 10 ปีแล้ว จะมีการเลือกตั้ง สส.ใหม่ทั้งหมด โดยแบ่ง สส.ออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) สส.ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งของราษฎร และ (2) สส.ประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ 

▪️ สรุป การปฏิวัติของคณะราษฎร จึงเป็นการกระทำที่นักวิชาการหลายคนเรียกว่า ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ เมื่อประชาชนไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ความสับสนวุ่นวายจึงเกิดขึ้นเกือบทุกปี จนกลายเป็นเรื่องที่ผลักดันให้ คณะราษฎร แตกแยกกันอย่างรุนแรง จนต้องแก้ไขปัญหา โดยการ ‘ใช้อำนาจจากกระบอกปืนแทนอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย’ เป็นวงล้อหมุนเวียนกันไปมาตลอด 25 ปี ที่สมาชิกคณะราษฎร ครอบครองอำนาจอยู่ 

ตามข้อเท็จจริงแล้ว คณะราษฎรเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่ง ประมาณ 100 คน ไม่ใช่องค์กรการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพ แบบประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประเทศไทยเป็นเอกราชเจริญรุ่งเรืองคู่กันมากับญี่ปุ่น จึงทำให้คณะราษฎร มีฐานการสนับสนุนจากประชาชนอย่างจำกัดมาก การเร่งร้อนออกมาจัดตั้งสมาชิกของคณะราษฎรจึงล้มเหลว รวมไปถึงการโหมโฆษณาเรื่องความดีของรัฐธรรมนูญด้วย การเอารถถังไปวิ่งที่ รร.สวนกุหลาบ หรือที่จุฬา การฟ้องร้องกลุ่มเจ้าฯ ยาวไปถึงองค์ในหลวงรัชกาลที่ 7 ฯลฯ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น เพราะคนไทยชอบอยู่กันอย่างสงบ ๆ สบาย ๆ ไม่ได้วิตกกังวลว่าจะปกครองระบอบอะไร และไม่ชอบให้ใครมาข่มขู่อีกด้วย ดังนั้นการสูญเสียเวลาไปเกือบ 25 ปีของคณะราษฎร ก็เท่ากับการชะลอความก้าวหน้าของประเทศไทยไว้ด้วย 

▪️ผมอ่านประวัติศาสตร์ที่ อ.ชาญวิทย์ เขียนไว้ ตั้งแต่มียศร้อยเอก ก็นิยมชมชื่นว่า อ.เป็นนักวิชาการที่ทรงความรู้ แต่ปัจจุบัน เมื่อ 18 พ.ค. 67 นี้ไปอ่านเรื่องที่ อ.ชาญวิทย์ไปพูดไว้ที่ฝรั่งเศส พบว่า ก็อ่อมแอ่มพูดไป ข้ามข้อมูล ที่เป็นเรื่องสมควรจะนำมาพิจารณาในส่วนที่ดีไปแยะ น่าจะเป็น เพราะเกรงใจคนจัด (คุณธนาธร) เรื่องนี้ คงเก็บไว้เขียนถึงในตอนที่ 3 นะครับ ตอนนี้ขอให้ชวนกันไปดูภาพยนตร์ ‘แอนิเมชั่น 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ตามยูทูปต่าง ๆ กันไปก่อนนะครับ เพื่อประกอบการทบทวนความจริงแบบย่อ ๆ น่ะครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top