‘รอง มทภ.4’ ย้ำชัด การ์ดเกม บิดเบือนประวัติศาสตร์ ซัด ‘คณะก้าวหน้า’ หนุนผลิต เชื่อหวังผลทางการเมือง
จากกรณีมูลนิธิคณะก้าวหน้าให้การสนับสนุนบอร์ดเกม ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปัตตานี ตามที่ปรากฏบนสื่อออนไลน์เพจเฟสบุ๊ค Urban Creature ได้นำเสนอบอร์ดเกม ที่มีชื่อว่า 'Patani Colonial Territory' ซึ่งเป็นการ์ดเกมสำหรับเยาวชนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานี โดยได้ให้รายละเอียดว่าได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์ KOP1 และได้รับทุนสนับสนุนจาก Common Schoo มูลนิธิคณะก้าวหน้า
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นถกเถียงในทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากการ์ดเกมดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่นำไปสู่ความแตกแยก โดยเฉพาะประเด็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อาทิ ภาพการ์ดในเกมที่นำมาประชาสัมพันธ์ เรื่อง 'เอ็นร้อยหวาย' ที่ปัจจุบันในวงวิชาการยอมรับว่าเป็น 'เรื่องเสริมแต่งเพิ่มในภายหลัง' ที่ไม่เป็นความจริง แต่เป็นเรื่องราวที่สร้างขึ้นเพื่อสร้างความเกลียดชัง 'รัฐสยาม' แต่ก็ยังมีการนำเรื่องราวสร้างความหวาดกลัวนี้มาใช้ในการประชาสัมพันธ์
ล่าสุด พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ตั้งข้อสังเกตถึงการทำบอร์ดเกมดังกล่าวว่า การเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์เชิงบาดแผล เป็นสิ่งที่หน่วยงานด้านความมั่นคงมีความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นล่าสุดที่ได้มีการนำประวัติศาสตร์เชิงบาดแผลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาผลิตเป็นการ์ดเกม และได้ออกแคมเปญโฆษณาเพื่อดึงเยาวชนเข้ามาทำการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเพราะการ์ดเกมเข้าถึงกลุ่มเยาวชนได้ง่าย
ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปดูประวัติศาสตร์เชิงบาดแผลในหลาย ๆ เหตุการณ์ กลับพบว่าเป็นสิ่งที่ได้รับการปั้นแต่งขึ้นมา เช่น การจับคนมลายู เจาะเอ็นร้อยหวาย แล้วนำไปขุดคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างยาวนาน แต่ทว่าในเรื่องดังกล่าวนี้ ได้มีการศึกษาอย่างละเอียด ทั้งในเชิงการแพทย์ ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์การขุดคลองแสนแสบ พบว่า ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับคนมลายูที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยในขณะนั้นแต่อย่างใด
โดยเฉพาะในข้อเท็จจริงเชิงการแพทย์นั้น แทบไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลย ที่จะนำประชาชนถูกเจาะเอ็นร้อยหวายไปทำงานหนัก ขณะที่ในเชิงประวัติศาสตร์ ได้มีนักวิชาการศึกษาวิจัยมาอย่างถ่องแท้แล้วว่า การขุดคลองแสนแสบนั้นเกิดขึ้นในสมัยใด ส่วนแรงงานกว่า 90% เป็นชาวจีนโพ้นทะเล และมีแรงงานชาวลาวอีกส่วนหนึ่ง โดยไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่า ได้นำเชลยมาเจาะเอ็นร้อยหวาย มาขุดคลองแสนแสบแต่อย่างใด
