Tuesday, 13 May 2025
บางกอกเชนฮอสปิทอล

'บางกอก เชน ฮอสปิทอล' โชว์กำไร 3 ปีโกยหมื่นล้าน รับ!! ธุรกิจโรงพยาบาลแบบกลุ่มสร้างแต้มต่อกว่าแบบเดี่ยว

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 21 ต.ค.66 ได้พูดคุยกับ ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินกิจการโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และโรงพยาบาลการุญเวช ถึงสถานการณ์โรงพยาบาลเอกชนและสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

ภาพรวมของโรงพยาบาลเอกชน มีลักษณะธุรกิจที่เติบโตไปได้เรื่อยๆ เหตุผลก็คือ การรักษาพยาบาล เป็นปัจจัยสี่เรื่องความเจ็บป่วย และการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนไทยป่วยเป็นโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs หรือ non-communicable diseases) กันเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นธุรกิจ Healthcare จึงเติบโต โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เปิดประเทศแล้ว ซึ่งในรอบ 6 เดือน มีผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งจากสถิติเป็นผู้ป่วยทางยุโรปและเอเชีย

เมื่อถามถึงแนวโน้มการดูแลสุขภาพในปัจจุบัน นพ.เฉลิม กล่าวว่า "คนไทยป่วยมากขึ้น อาจเป็นเพราะไม่ได้ออกกำลังกาย ทานอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่ ไม่มีโอกาสในการดูแลตัวเองมากนัก ประกอบกันมีโรคแปลกๆ มากขึ้น หรือโรคที่หายไปนานแล้วกลับมาเป็นกันใหม่ในปัจจุบันอย่างเช่น โรควัณโรค เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลสุขภาพตัวเองตลอด คนป่วยไม่ได้ลดลง ส่วนชาวต่างชาติที่มาใช้บริการโรงพยาบาลในเครือ ส่วนใหญ่จะมาใช้บริการศูนย์รักษาเฉพาะทาง เช่น ศูนย์รักษาโรคเบาหวาน โรคความดันและหลอดเลือด โรคไต โรคหัวใจ ซึ่งเหตุผลที่ต่างชาติเลือกรักษากับเรา เนื่องจากมั่นใจในคณะแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันออกกลาง"

เมื่อถามถึงผลประกอบการ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) นพ.เฉลิม เผยว่า "เมื่อปี พ.ศ. 2564 เราสามารถทำกำไรสุทธิไปมากถึง 6,800 ล้านบาท ส่วนในปี พ.ศ. 2565 ทำกำไรสุทธิประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2566 นี้ น่าจะเป็นปีที่ทางบริษัทฯ ทำกำไรได้สูงสุด"

ส่วนความท้าทายของการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบัน นพ.เฉลิม มองว่า "ปัจจุบันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแบ่งได้ 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.กลุ่มโรงพยาบาลที่มีลักษณะเป็นเครือข่าย และ 2.โรงพยาบาลเดี่ยว โดยกลุ่มโรงพยาบาลที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายมีแนวโน้มที่เพิ่มกำลังขยายได้มากขึ้น เนื่องจากมีประสบการณ์มากกว่า ต้นทุนต่ำกว่า ทำให้มองเห็นตลาดได้กว้างกว่า โดยเฉพาะการลงทุนเรื่องเครื่องมือและเทคโนโลยีในการรักษาที่ทันสมัย ส่วนโรงพยาบาลเดี่ยวที่เข้ามาในตลาดความแข็งแรงของธุรกิจอาจสู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการแข่งขันจะรุนแรงไปเรื่อยๆ สรุปแล้วกลุ่มโรงพยาบาลจะได้เปรียบมากกว่าโรงพยาบาลเดี่ยว"

ส่วนอุปสรรคในการบริหารโรงพยาบาล คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในประเด็นสมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์จากหน่วยงานรัฐ ย้ายมาทำงานในภาคเอกชน ซึ่งเคยมีข้อเสนอจากโรงพยาบาลเอกชน ที่ยินดีสนับสนุนทุนการศึกษาให้แพทย์เรียนจนจบ จะไม่ได้เกิดปัญหาว่าแพทย์จากหน่วยงานรัฐ ย้ายมาทำงานในภาคเอกชน 

"เรายินดีสนับสนุน ซึ่งจริงๆ แล้ว โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่จะไม่รับแพทย์จบใหม่ แต่จะรับแต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะปัจจุบันนี้วงการสาธารณสุขไทยไม่ได้ขาดแคลนเฉพาะแพทย์ ยังขาดแคลนพยาบาล เทคนิคการแพทย์ และอื่นๆ อีกมาก เรียกได้ว่าขาดแคลนเกือบทั้งหมด" นพ.เฉลิม กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top