Sunday, 16 June 2024
น้ำอัดลม

'เป๊ปซี่' ประกาศขึ้นราคา 1-2 บาท เริ่ม 1 มิ.ย.นี้ หลังต้นทุนการผลิตพุ่งสูง

ด้วยปัจจัยหลายอย่างในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น เงินเฟ้อ โรคระบาดอย่างโควิด-19 หรือแม้กระทั่งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังดำเนินอยู่ ปัจจัยเหล่านี้กำลังกดดันซัปพลายเชนทั่วโลก ส่งผลให้วัตถุดิบและต้นทุนการผลิตของสินค้าหลายรายการพุ่งสูงขึ้น

ทางออกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ เหล่าผู้ผลิตต้องมีการปรับ “ขึ้นราคา” สินค้า เพื่อให้กิจการของตัวเองดำเนินต่อไปได้ แบบไม่ขาดทุน

ส่งผลให้ของใช้ในชิวิตประจำวันหลายอย่างแพงขึ้น ไม่เว้นแม้แต่สินค้าที่ต้องขายให้ถูกที่สุดอย่าง “มาม่า” ก็มีการปรับราคาขึ้นมาก่อนหน้านี้

และล่าสุด “เป๊ปซี่” เจ้าตลาดเครื่องดื่มโคล่าเมืองไทย ที่เป็นที่ ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้เช่นกัน 
จึงได้มีการประกาศขึ้นราคาขายปลีกทุกไซซ์ 1-2 บาท ต่อขวดและกระป๋อง

ซึ่งการขึ้นราคาดังกล่าว มีสาเหตุมาจากต้นทุนของวัตถุดิบหลักที่นำมาผลิตแพ็กเกจจิง อย่าง “ขวดพลาสติก-กระป๋องอะลูมิเนียม” ที่มีการปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

โดยการปรับขึ้นราคาดังกล่าว จะส่งผลให้ไลน์เป๊ปซี่แบบกระป๋อง/ขวด ที่มีราคาตั้งแต่ 10 / 12 / 15 บาท 
ปรับขึ้นมา 1 บาท เป็น 11 / 13 / 16  บาท ตามลำดับ

ส่วนขนาดอื่น ๆ ที่มีราคาตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป จะมีการรับราคาขึ้น 2 บาทต่อขวด

การปรับขึ้นราคาดังกล่าว จะมีผล ณ วันที่ 1 มิ.ย 65 เป็นต้นไป

‘ไทยเบฟ’ เปิดเกมรุก ชิงส่วนแบ่งตลาดน้ำดำ รีแบรนด์ ‘เอส’ รอบ 11 ปี งัดไม้เด็ดมาร์เก็ตติ้งเจาะฐานเจน Z ดันแบรนด์สู่ ‘เอเชียนโคล่าแห่งภูมิภาค’

(11 ต.ค. 66) สมรภูมิตลาดน้ำอัดลม 62,000 ล้าน เดือด!!  ‘เอส’ เปิดเกมเฉือนส่วนแบ่งเจ้าตลาด ‘โค้ก-เป๊ปซี่’ หวังขยับมาร์เก็ตแชร์เพิ่มทุกปีจากปัจจุบัน 9.1% รั้งเบอร์ 3 รีแบรนด์รอบทศวรรษ ทุ่ม 200 ล้าน งัดมิวสิคมาร์เก็ตติ้งขยายเจน-Z พร้อมแจกน้ำอัดลม 1 ล้านกระป๋อง มุ่ง เอเชียนโคล่าแห่งภูมิภาค

ตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมไทยมูลค่ารวมกว่า 62,000 ล้านบาท ถูกครองตลาดโดย 2 โกลบอลแบรนด์ ‘โค้ก’ และ ‘เป๊ปซี่’ ซึ่งทั้งสองค่ายมีส่วนแบ่งการตลาดน้ำอัดลมในไทยรวมกันเกินกว่า 80% นำโดย โค้ก ครองส่วนแบ่งการตลาด 54% ตามมาด้วย เป๊ปซี่ 30% นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ ‘บิ๊กโคล่า’ จากอเมริกาใต้ และ ‘อาร์ซี’ แบรนด์โคล่าสัญชาติอเมริกา

แม้ตลาดน้ำอัดลมไทยจะมีโกลบอลแบรนด์เป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก แต่แบรนด์สัญชาติไทย 'เอส' ภายใต้อาณาจักรยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มกลุ่มไทยเบฟ แจ้งเกิดตั้งแต่ปี 2554 ถือเป็นแบรนด์น้องใหม่ แต่เก๋าเกม ด้วยผู้ก่อตั้งแบรนด์อย่าง บริษัท เสริมสุข มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้วางรากฐานในตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมของไทย มานานกว่า 6 ทศวรรษ

โดยปัจจุบัน ‘ไทยดริ้งค์’ ในเครือไทยเบฟเป็นผู้ทำตลาด ‘เอส’ อยู่ในสถานะเบอร์ 3 ของตลาดด้วยส่วนแบ่งฯ 9.1% แน่นอนว่า ความแข็งแกร่งของธุรกิจไทยเบฟที่มีเครือข่ายและมีช่องทางจำหน่ายครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมแผนเชิงรุกมุ่งเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ล่าสุดกับการปรับโฉมแบรนด์จะเป็นแรงหนุนทำให้ ‘เอส’ เติบโต พร้อมขยายส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น

นางสาวสุภรณ์ เด่นไพศาล ผู้อำนวยการสำนักการตลาด สายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ประเทศไทย บริษัท ไทยดริ้งค์ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดน้ำอัดลมไทยปี 2566 แข่งขันอย่างดุเดือด ทุกแบรนด์ต่างโหมแคมเปญและทำตลาดอย่างเข้มข้นตลอดทั้งปี ทั้งการเปิดตัวเครื่องดื่มรสชาติใหม่ การทำกิจกรรมการตลาด และการเลือกใช้พรีเซนเตอร์ มาร่วมขยายฐานกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคนรุ่นใหม่

ตลาดรวมน้ำอัดลมในปีนี้ที่มีมูลค่า 62,000 ล้านบาท แบ่งเป็น น้ำดำ 75% และ น้ำสี 25% กลับมาขยายตัวสูงในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยหากเปรียบเทียบกับปี 2562 ตลาดรวมมีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท ส่วนในปีที่ผ่านมา 2565 ภาพรวมตลาดรวมมีการขยายตัวประมาณ 1.8%

โดยในปีนี้ได้รับแรงหนุนการใช้จ่ายในประเทศ รวมถึงการบริโภคที่สูงขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศ และจากการปรับขึ้นราคาน้ำอัดลมในช่วงที่ผ่านมา หากไปสำรวจการดื่มน้ำอัดลมของคนในประเทศ เฉลี่ยต่อปี 37.5 ลิตรต่อคนต่อปี ส่วนปริมาณรวมการบริโภคน้ำอัดลมในประเทศประมาณรวม 2,100 ล้านลิตร

“ภาพรวมตลาดปีนี้ กลับมาขยายตัวสูง 16% และเติบโตสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากที่ผ่านมาตลาดจะขยายตัวเป็นตัวเลขแบบอัตราเดียว โดยตลาดรวมได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์ในประเทศที่กลับมาปกติ และสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้น จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้ตลาดรวมกลับมาแข่งขันอย่างรุนแรงขึ้น” นางสาวสุภรณ์ กล่าว

‘เอส’ รีแบรนด์รอบ 11 ปี
ทั้งนี้ ‘เอส’ ได้มีการรีแบรนด์ใหญ่ในรอบ 11 ปี โดยการปรับสูตรและปรับโฉมใหม่ การร่วมดึง ไอคอนตัวแทนคนรุ่นใหม่ชาวเอเชีย ชาอึนอู และพรีเซนเตอร์คนไทย มาร่วมขยายตลาดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคนรุ่นใหม่ สามารถสร้างยอดขายสูงขึ้น 22.6% นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565 - ส.ค.2566 ทำให้มีส่วนแบ่งการตลาด เพิ่มขึ้นเป็น 9.1% นับจากเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จากเดิมมีส่วนแบ่งการตลาด 7%

แผนการตลาดในปี 2567 (ต.ค. 2566-ก.ย. 2567) จะใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน พร้อมขยายตลาดด้วยกลยุทธ์​ มิวสิคมาร์เก็ตติ้ง เพื่อเป็นสื่อสำคัญในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ที่ต่างให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ทุ่มงบ 80 ล้านบาท ร่วมมือพันธมิตรทางดนตรี ‘เอ-ไทม์’ และ ‘จีเอ็มเอ็มโชว์’ จัด 2 กิจกรรมใหญ่ ประกวดดนตรีในตำนาน ‘est Cola Presents Hotwave Music Awards 2023’ การร่วมเทศกาลดนตรีที่ใหญ่สุดใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ‘est Cola Presents Monster Music Festival 2023’ พร้อมส่งบรรจุภัณฑ์กระป๋อง ‘est Cola Awards Awesome Monster’ ที่นำคาแรกเตอร์มอนสเตอร์รวม 8 ลาย มาร่วมขยายตลาดกลุ่มเป้าหมาย

เจาะคนรุ่นใหม่ - ดันแบรนด์ ‘เอเชียนโคล่า’
สำหรับกลยุทธ์มิวสิคมาร์เก็ตติ้งในครั้งนี้ จึงเป็นการเร่งเครื่องขยายตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเจน Z ในอายุ 15-24 ปี ที่เป็นฐานลูกค้าสำคัญ และมีแผนนำเครื่องดื่มน้ำอัดลม 1 ล้านกระป๋อง เปิดให้ลูกค้าได้เข้ามาร่วมทดลองชิมผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงเครื่องดื่มที่ได้ปรับรสชาติใหม่

นอกจากตลาดในประเทศที่บริษัทเร่งโหมการตลาดครั้งใหญ่แล้ว อีกแนวทางสำคัญที่จะเพิ่มยอดขายกับ ขยายช่องทางจำหน่ายและทำตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยพร้อมเร่งขยายตลาดผ่านร้านโชห่วยทั่วประเทศ จากในปัจจุบันมีจำนวนกว่า 1 แสนโชห่วยทั่วไทย รวมถึงขยายผ่านช่องทางร้านอาหารควบคู่กัน

พร้อมกันนี้ ‘เอส’ เตรียมรุกตลาดภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยวางตำแหน่งแบรนด์ ‘เอเชียน โคล่า’ โดยจะรุกตลาดไปในประเทศใหม่ๆ สอดคล้องนโยบายกลุ่มไทยเบฟที่ได้วางยุทธศาสตร์ขยายตลาดครอบคลุมอาเซียน และมีการลงทุนไปในประเทศต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา เอสได้มีการทำตลาดทั้งในประเทศ จีน ทำเลตอนใต้ และมาเลเซีย สร้างผลตอบรับที่ดีเช่นกัน

“ภาพรวมปีนี้ประเมินว่า ยอดขายจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และบริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในเครื่องดื่มน้ำอัดลมมากขึ้น”

ผู้ประกอบการลุยเซ็กเมนต์ใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจตลาดน้ำอัดลมในไทย ยังมีการเพิ่มเซ็กเมนต์ใหม่เพิ่มขึ้นจากผู้ประกอบการเครื่องดื่มรายใหญ่ของไทย ทั้งจาก ตันซันซูเครื่องดื่มโซดา ที่เป็นน้ำอัดลมในสไตล์เกาหลี จากบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป เข้ามาสร้างประสบการณ์ครั้งใหม่และเจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ รวมถึงจากค่าย สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ที่มีเครื่องดื่มอัดก๊าซ อย่าง ‘สิงห์ เลมอนโซดา’ เข้ามาร่วมกระตุ้นตลาด สร้างเซ็กเมนต์ใหม่เครื่องดื่มอัดก๊าซให้มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น

อีกทั้ง อีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมในภาพรวมกลับมาขยายตัวสูง มาจากธุรกิจท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัว ทำให้ธุรกิจร้านอาหารต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการ จึงส่งผลดีต่อตลาดน้ำอัดลมโดยรวม

8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ครบรอบ 138 ปี เครื่องดื่ม 'Coca-Cola’ น้ำดำสุดซ่าที่ครองใจลูกค้าทั่วโลก

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 เครื่องดื่ม 'Coca-Cola' หรือ 'Coke' สูตรต้นตำรับถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา โดยเภสัชกร ดร.จอห์น สติชท์ เพมเบอร์ตัน โดยเภสัชกรรายนี้เป็นผู้ผลิตหัวเชื้อน้ำหวาน

โดยมีเรื่องเล่ากันต่อมาว่า เมื่อ ดร.เพมเบอร์ตัน ปรุงหัวเชื้อน้ำหวานขึ้นมาได้สำเร็จในหม้อทองเหลืองสามขา ซึ่งตั้งอยู่ในสนามหญ้าหลังบ้านของเขา ก็รีบถือเหยือกที่บรรจุน้ำหวานรสชาติใหม่ มุ่งตรงไปยังร้านขายยาชื่อ ‘จาค็อป’ และ ณ ที่นั่นเอง หลายต่อหลายคน ได้ลิ้มลองน้ำหวานของ ดร.เพ็มเบอร์ตัน ต่างก็ชมเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติเยี่ยม หลังจากนั้นไม่นาน ดร.เพมเบอร์ตัน ก็เริ่มปรุงเครื่องดื่มชนิดนี้ขายที่ร้าน ‘จาค็อป’ โดยคิดราคาแก้วละ 5 เซ็นต์ และโฆษณาว่าเป็นยาบำรุงสมองและประสาท แก้ปวดหัวและอาการเมาค้าง ในครั้งนั้นยังไม่มีส่วนผสมของโซดา ปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ต่อมาหุ้นส่วนและสมุห์บัญชีของเขา ได้ตั้งชื่อเครื่องดื่มว่า 'Coca-Cola' เพราะใช้ส่วนผสมหลักมาจากใบของต้นโคคาและลูกโคลา ต่อมาได้มีการผสมโซดาลงไปด้วย เรียกว่า น้ำอัดลม และเติมกาเฟอีนเป็นสารกระตุ้นให้เกิดความสดชื่นและกระปรี้กระเปร่า ส่วนใบโคคาก็เลิกใช้แล้ว เนื่องจากเป็นแหล่งวัตถุดิบของยาเสพติดประเภทโคเคน

ปัจจุบัน 'Coca-Cola' เป็นเครื่องดื่มประเภทที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในเครื่องหมายการค้าที่มีคนจดจำได้มากที่สุด 

‘Pepsi’ VS ‘Coca-Cola’ มิตรภาพที่อยู่เหนือผลประโยชน์


ปัจจุบันมูลค่าตลาดของธุรกิจน้ำอัดลมทั้งโลกอยู่ที่ประมาณ 600 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 3.5-4% โดยส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจน้ำอัดลมทั่วโลกเป็นของ Coca-Cola ราว 44% และ PepsiCo ราว 19% ที่เหลือเป็นของน้ำอัดลมยี่ห้ออื่น ๆ


‘Coke’ หรือ The Coca-Cola Company ปกติทั่วไปแล้วมักเรียกว่า ‘Coca-Cola’ เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา สำนักงานใหญ่อยู่ในนครแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ก่อตั้งขึ้นในปี 1886 สำหรับ ‘Pepsi’ หรือ PepsiCo, Inc. คู่แข่งของ Coke เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองแฮร์ริสัน มลรัฐนิวยอร์ก ก่อตั้งขึ้นในปี 1965 จากการควบรวมกิจการของ เป๊ปซี่-โคล่า กับ ฟริโต-เลย์ นอกจากนี้ยังมีสินค้ายี่ห้ออื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ Gatorade, Tropicana, Quaker Oats, และ Lay's เป็นต้น


สำหรับ Coke และ Pepsi ต่างใช้งบประมาณมหาศาลในการโฆษณาและส่งเสริมการขายสินค้าของแต่ละฝ่าย ทั้งการใช้ดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ รวมไปจนถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งคู่แข่งทั้ง 2 ต่างก็ได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่และนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภค และต่างก็ได้ทำการขยายตลาดของตนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น


การแข่งขันระหว่าง Coke และ Pepsi มิได้เป็นเพียงแค่เป็นการแข่งขันในทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการแข่งขันทางความคิดและวัฒนธรรมอีกด้วย โดยทั้งสองฝ่ายต่างพยายามสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์ของตนเองให้มีความโดดเด่นและเป็นที่จดจำของผู้บริโภคน้ำอัดลมทั่วโลก แม้การแข่งขันทางการค้าระหว่าง Coke และ Pepsi จะดำเนินไปอย่างดุเดือด แต่ใช่ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะต่อสู้ฟาดฟันกันโดยไม่รู้จักยั้งคิด ขาดสติ ไร้ความรู้สึก ผิด ชอบ ชั่ว ดี แต่อย่างใด ดังเช่นกรณี Joya Williams และ Ibrahim Dimson


ในปี 2006 ‘Joya Williams’ วัย 41 ปี เลขานุการผู้บริหารของ Coca Cola และ Ibrahim Dimson พนักงานของ Coke ที่สามารถเข้าถึงเอกสารลับสุดยอดทั้งหมดที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีเตรียมเครื่องดื่ม Coca-Cola ใหม่ และยังมีขวดที่บรรจุสารเคมีทั้งหมดที่โดยทั้งสองจะใช้ตั้งใจที่จะขายความลับเหล่านี้ให้กับ Pepsi คู่แข่งหลักของ Coke เป็นเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลของ Coke ที่ไม่มีใครรู้ ยกเว้น 5 ผู้บริหารระดับสูงของ Coke โดยพวกเขาได้ติดต่อกับ Antonio J. Lucio รองประธานฝ่ายข้อมูลเชิงลึกและนวัตกรรมของ Pepsi


อย่างไรก็ตาม Pepsi ได้แจ้งเรื่องนี้ให้กับ Coke และ Coke จึงแจ้งความให้ FBI ดำเนินการ หลังจากเริ่มการสืบสวน Gerald Reichard เจ้าหน้าที่พิเศษของ FBI ได้ปลอมตัวเป็นผู้แทนของ Pepsi หลังจาก Reichard ได้เจรจาพูดคุยกับ Dimson หลายครั้ง Reichard จึงได้ตกลงและทำการ ‘ล่อซื้อ’ ข้อมูลความลับของ Coke จาก Joya Williams และ Ibrahim Dimson เพื่อรวบรวมหลักฐานในการดำเนินคดี และนำไปสู่การจับกุมตัวทั้ง 2 คน ผลการพิจารณาคดี Williams ปฏิเสธ และ Dimson สารภาพ Williams ถูกคณะลูกขุนตัดสินว่ามีความผิดรับโทษจำคุก 96 เดือน ส่วน Dimson รับโทษจำคุก 60 เดือน โดย Dave DeCecco โฆษกของ Pepsi กล่าวว่า "การแข่งขันอาจดุเดือดได้ แต่ต้องยุติธรรมและถูกกฎหมายเสมอ"


สิ่งที่ Joya Williams และ Ibrahim Dimson ไม่เข้าใจก็คือ แม้ว่า Coke และ Pepsi จะเป็นคู่แข่งขันกันก็ตาม แต่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีความสัมพันธ์ในลักษณะพิเศษต่อกัน ด้วยทั้ง 2 ฝ่ายมีความต้องการซึ่งกันและกันในอันที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งระหว่างกัน แม้ทั้ง 2 บริษัทเกือบจะเป็น Duopoly โดยมีส่วนแบ่งการตลาดร่วมกว่า 60% แต่ต่างก็ไม่ต้องการให้อีกฝ่ายถึงกับต้องเลิกกิจการไปเลย เพียงต้องการต่างฝ่ายต่างประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งคู่ เช่นที่ผู้บริหาร Coke คนหนึ่งได้พูดไว้ว่า “ถ้าไม่มี Pepsi เราก็ต้องสร้างมันขึ้นมา” ทั้งสองจำเป็นต้องรักษาความเฉียบคมต่อกันเพื่อผลักดันคู่แข่งรายเล็กอื่น ๆ ให้ออกจากตลาด ซึ่งที่สุดแล้วทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้แข่งขันกัน แต่กลับกลายเป็นความร่วมมือกันในลักษณะพิเศษต่างหาก 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top