Monday, 7 April 2025
น้ำ

‘บิ๊กป้อม’ นั่งหัวโต๊ะ ประชุมแผนจัดการน้ำ พร้อมหนุน 5 โครงการ แก้ปัญหาท่วม-แล้ง

วันนี้ (15 ธ.ค. 65) เวลา 09.30 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำต่อเนื่องกันไป ผ่านระบบ VTC ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ หลังจากเดินทางลงตรวจราชการขับเคลื่อนแก้ปัญหาน้ำในภูมิภาคหลายพื้นที่

โดยที่ประชุมรับทราบ สรุปผลการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่สำคัญ ปี 65 และการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ( 61-65 ) รวมทั้งความก้าวหน้าโครงการแก้มลิงทุ่งหิน จ.สมุทรสงคราม 

พร้อมทั้งได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นชอบ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ตั้งแต่ อยุธยา - สมุทรปราการ และฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ อยุธยา - สมุทรสาคร เพื่อระบายน้ำ เหนือ - ใต้ ออกสู่ทะเลทั้งสองฝั่ง โดยปรับปรุงโครงข่ายชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำนำไปใช้ประโยชน์ และสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยลดพื้นที่น้ำท่วม รวมทั้งโครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของ กทม. โดยมีการปรับปรุงสถานนีสูบน้ำพระโขนง การก่อสร้างเขื่อนคลองหนองบอน เขื่อนคลองมะขามเทศ เพื่อลดผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ 

พร้อมทั้ง เห็นชอบการขยายระยะเวลาและกรอบวงเงิน โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล - บางไทร และโครงการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขา พังงา - ภูเก็ต เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบประปา รองรับการขยายตัวของชุมชนเมือง

‘บิ๊กตู่’ ชวน ปชช. ร่วมมืออนุรักษ์-ใช้น้ำอย่างรู้ค่า ย้ำ!! รัฐมุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำครอบคลุมทุกมิติ

(22 มี.ค.66) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อ่านสารผ่านบันทึกวีดิทัศน์ เนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2566 ออกอากาศทางเพจไทยคู่ฟ้า Facebook และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า น้ำเป็นทรัพยากรสำคัญที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี เป็นวันน้ำโลก เพื่อกระตุ้นให้ประชาคมโลกร่วมกันรณรงค์ให้เกิดการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นสำคัญในหัวข้อ เร่งการเปลี่ยนแปลงด้วยการลงมือปฏิบัติเพื่อลดวิกฤตด้านน้ำและสุขาภิบาล โดยรณรงค์ให้ทุกคนร่วมกันเป็นผู้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่อยากเห็นในโลกใบนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกมิติให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน และได้ขับเคลื่อนภารกิจด้านทรัพยากรน้ำโดยคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านจากการวิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานและองค์กร รวมทั้งสภาพปัจจุบันและแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ได้วางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบพลวัตโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ด้าน คือ การบริการน้ำอุปโภคบริโภคที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม การสร้างความมั่นคงและเพิ่มผลิตภาพของน้ำ การลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติด้านน้ำ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและคุณภาพน้ำ และการเสริมความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม บนพื้นฐานของการรักษาสมดุลนิเวศ วิถีทางสังคม เศรษฐกิจของพื้นที่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างสมดุลการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งนํ้าด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ในลักษณะลุ่มนํ้าอย่างเป็นระบบ

‘ปริญญา ฤกษ์หร่าย’ ว่าที่ ส.ส.กำแพงเพชร เดินหน้า  สานงานต่อในสภาฯเต็มที่ หวังยกระดับคุณภาพชีวิต ให้เกษตรกร

นายปริญญา ฤกษ์หร่าย ว่าที่ ส.ส.เขต 4 จ.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงปัญหาของประชาชนในจังหวัดกำแพงเพชรที่ต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือยังคงเป็นเรื่องของน้ำ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตร ในการเดินหน้าประสานงานกับกรมชลประทาน และกรมเจ้าท่า เพื่อให้มีการซ่อมบำรุง ฝายกั้นแม่น้ำปิง( ฝายวังบัว)   ที่มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน เกิดการชำรุด และมีรอยร้าว จึงเป็นห่วง เรื่องของปริมาณน้ำที่อยู่ในช่วงฤดูมรสุม หากมีน้ำมาก  และอาจทำให้ฝายกั้นน้ำพังได้ ส่งผลกระทบต่อการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเชื่อว่าจะมีความคืบหน้าในการดำเนินโครงการซ่อมบำรุงได้เร็วๆนี้

นายปริญญา กล่าวต่อถึงปัญหาที่ทำกินว่า ต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง ประสานกับหน่วยงาน เพื่อให้สามารถออกโฉนดในการถือครองกรรมสิทธิ์ ที่ดิน เหมือนจังหวัดอื่นๆ เพราะประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ ยังประกอบอาชีพทางการเกษตร ให้เป็นไปตามนโยบายของพรรค ต้องการให้ชาวบ้านมีสิทธิ์ในที่ดินโดยโฉนดเป็นของตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

นายปริญญา ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ตนขอบคุณประชาชนในพื้นที่ทุกคนสำหรับทุกๆ คะแนนเสียง ทุกๆ ความไว้วางใจที่มอบให้ตนได้เข้าไปทำหน้าที่ตัวแทนในสภาอีก 1 สมัย ซึ่งตนจะตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อนำการพัฒนามาสู่จังหวัดกำแพงเพชรบ้านของพวกเรา รวมถึงการแก้ไขปัญหาให้กับชาวกำแพงเพชรทุกคนด้วย

‘น้ำ วารุณี’ ผู้ต้องหา ม.112 ประกาศ อดอาหารประท้วง ลั่น!! จะดื่มแค่น้ำนมเท่านั้น หลังถูกงดประกันตัว ขังยาว 55 วัน

(21 ส.ค. 66) ทวิตเตอร์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า น้ำ-วารุณี ผู้ต้องขังคดี ม.112 เริ่มอดอาหารประท้วงวันแรกเพื่อประท้วงศาลที่สั่งไม่ให้ประกันตัว เธอเริ่มงดทานอาหารตั้งแต่เวลาเที่ยงของวันนี้ (21 ส.ค.) และจะดื่มเฉพาะน้ำนมเท่านั้น

วารุณีเล่าว่า เธอทนไม่ไหวกับการที่ศาลสั่งไม่ให้ประกันเรื่อยมา โดยใช้เหตุผลเดิมๆ เธอรู้สึกเหมือนถูกกลั่นแกล้ง การแสดงออกด้วยวิธีนี้เป็นหนทางเดียวที่ทำได้ เพราะเธอบอกว่าไม่เหลืออะไรแล้ว ตอนนี้เหลือแค่เพียงร่างกายเท่านั้น

วารุณี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 จากการที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี แต่ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน เพราะรับสารภาพในคดี ม.112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพ ร.10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง พระแก้วมรกต เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และใส่ภาพสุนัขด้วย

จนถึงปัจจุบันวารุณีถูกคุมขังมากว่า 55 วันแล้ว โดยศาลยังยืนยังไม่ให้ประกันตัว แม้จะยื่นประกันและอุทธรณ์คำสั่งไปแล้วอย่างน้อยถึง 5 ครั้ง ก็ตาม

‘นายกฯ’ สั่ง ‘สทนช.’ ทำแผนบริหารจัดการน้ำ 3 ปี จ่อชงครม.ภายในเดือนนี้ ยัน!! ไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 54

(5 ส.ค. 67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน และคณะผู้บริหาร จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

เมื่อมาถึงนายกฯ รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ จากอธิบดีกรมชลประทาน โดยภาพรวมสถานการณ์ฝนในปีนี้ ณ ขณะนี้อยู่ที่ 56% ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่ 4% ขณะที่นายกฯ กำชับให้ทางกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง และคาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำท่วมให้ดูแลลงรายละเอียดเป็นรายอำเภอ 

นอกจากนี้อธิบดีกรมชลประทาน ยังรายงานถึงสถานการณ์ที่เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก มีการระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1-5 ส.ค.ในระดับคงที่ แต่เนื่องจากมีฝนตกลงมาท้ายเขื่อนจำนวนมาก จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ขณะนี้ได้ปิดการระบายน้ำที่เขื่อนขุนด่านปราการชลแล้ว

ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป นายกฯ ได้กำชับนายอนุทินว่า อยากฝากเรื่องของแม่น้ำโก-ลก จ.นราธิวาส หลังจากลงพื้นที่ร่วมกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พบว่าจำเป็นจะต้องมีการขุดลอกคลองเพื่อไม่ให้คลองตื้นเขินและระบายน้ำได้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังพอมีเวลาอยู่ เนื่องจากฤดูฝนของภาคใต้จะมาช้ากว่าภาคอื่น ๆ ประมาณ พ.ย. 

ขณะที่นายอนุทิน รายงานว่า เรื่องนี้มีแผนและอยู่ในแนวของผังเมือง ซึ่งกรมโยธาธิการจะประสานไปทางมาเลเซีย ทั้งนี้นายกฯ ยังได้เน้นย้ำ และกำชับอีกว่า ให้ดำเนินการโดยเร็วแม้ฝนจะมาช้าก็ตาม จะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนฝนจะมา เพราะทางมาเลเซียเดือดร้อน เนื่องจากมีพื้นที่ต่ำกว่าประเทศไทย แต่ฝ่ายเราก็เดือดร้อนด้วยเช่นกัน อย่างปีที่แล้วก็เกิดปัญหาน้ำท่วมที่ จ.นราธิวาส หากดำเนินการตรงนี้ได้ก็จะบรรเทาความเดือดร้อนลงไปได้

จากนั้นนายกฯ เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ พร้อมมอบนโยบายว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วปัญหาเรื่องน้ำเราเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญทุกปี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง และน้ำไม่ได้คุณภาพ ซึ่งตนมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหานี้โดยเร่งด่วน เพราะส่งผลต่อความเสียหายอย่างหาค่ามิได้ต่อประชาชนคนไทยทุกคน ตนได้มอบหมายให้กระทรวงและหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องน้ำบูรณาการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะทำแผนงานและโครงการที่สามารถเร่งรัดดำเนินการในระยะเวลา 3 ปี และตลอดจนการพิจารณาโครงการสำคัญระยะยาว เพื่อให้น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ขอเน้นการเสริมประสิทธิภาพของโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ก่อนพิจารณาก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำ และระบบการกระจายน้ำเพิ่มเติมเพื่อการใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นไปได้อย่างเหมาะสม โดยในช่วงฤดูฝนนี้ตนมอบหมายให้กรมชลประทานและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA นำเสนอพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากและแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

จากนั้น เวลา 10.08 น. นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ ว่า ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศไทยที่จะต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นภายในรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ น้ำดื่ม น้ำใช้น้ำบริโภค ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานเรื่องน้ำเร่งทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแผนงานด้านน้ำระยะ 3 ปี และแผนงานสำคัญระยะยาวเพื่อให้ “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ” อย่างยั่งยืน 

ซึ่งตนเน้นย้ำให้ปรับปรุงโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ตลอดจนก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม โดยพิจารณาถึงความเร่งด่วนและความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณเป็นสำคัญ โดยที่ประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำได้พิจารณาและเห็นชอบแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ตลอดจนภัยพิบัติด้านน้ำอื่น ๆ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชน 6.22 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 24.19 ล้านไร่ โดยประกอบด้วยแผนงาน 5 ด้าน ดังนี้ 1.การเพิ่มน้ำอุปโภคบริโภค 2.การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิมและพัฒนาระบบกระจายน้ำ 3.การพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน 4.การพัฒนาพื้นที่น้ำท่วมและป้องกันพื้นที่ชุมชนเมือง และ 5.การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ

นายกฯ กล่าวต่อว่า ตนและรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับพี่น้องประชาชน โดยตนได้สั่งการให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งจัดทำแผนงานด้านน้ำและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาภายในเดือนส.ค.นี้ และตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  หรือ GISTDA ประเมินภาพถ่ายในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากร่วมกับกรมชลประทาน และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สทนช. ร่วมกัน ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชน เพื่อให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนน้อยที่สุด

เมื่อถามว่าแผนระยะ 3 ปี ใช้งบประมาณเท่าไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ขอให้คอยถึงสิ้นเดือนส.ค.ดีกว่า ให้สทนช. เตรียมเรื่องให้ครบก่อนวันนี้เป็นวันคลิกออฟ แล้วสิ้นเดือนส.ค.จะมีการแถลงใหญ่

เมื่อถามต่อว่ามีพื้นที่ไหนที่น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษ นายกฯ กล่าวว่า เท่าที่ดูรายงานก็มีภาคตะวันออก ที่กำลังประสบปัญหาอยู่และภาคอีสานบางจุด ก็มีการสั่งการแล้วว่าให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ให้มีการปรับแผนตลอดเวลา ควบคู่ไปกับการรายงานผลของ GISTDA 

เมื่อถามอีกว่ามีการแจ้งเตือนประชาชนได้มีการพัฒนาอย่างไรบ้าง  นายกฯ กล่าวว่า ให้ GISTDA  ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทานและกระทรวงมหาดไทย 

เมื่อถามต่อว่านายกฯเป็นห่วงและเน้นย้ำอะไรเป็นพิเศษหรือไม่  นายกฯ กล่าวต่อว่า ตนเรียนอย่างนี้อาชีพกษตรเป็นอาชีพหลักของเราหลาย 10 ล้านคน เรื่องของน้ำดื่มน้ำใช้ พวกเราในกรุงเทพฯมีน้ำใช้กันอย่างเต็มที่ แต่ถ้าลงไปต่างจังหวัดมีอีกหลายพื้นที่ที่น้ำใช้อุปโภคและบริโภคยังไม่มี และทุกปีเราใช้งบประมาณในการชดเชย เรื่องการช่วยเหลือจุนเจือเป็นปลายเหตุ ถ้าเราบริหารจัดการไม่ให้มีน้ำท่วมน้ำแล้ง ตนเชื่อว่าความเดือดร้อนของประชาชนจะหายไปเยอะ รวมถึงผลกระทบในเชิงบวกที่จะก่อให้เกิดผลผลิตทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเราเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารสูง การที่เมืองโลกร้อนระอุ มีเรื่องการแย่งอาหารเยอะมาก จะทำให้ประเทศไทยมีจุดเด่นทางด้านนี้มาก เรื่องน้ำมีอยู่ 3-4 เรื่อง คือ น้ำในระบบนิเวศ น้ำอุปโภคบริโภคและน้ำที่ใช้ในการเกษตร และเรื่องสุดท้ายพูดกันน้อย คือ น้ำที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ต้องการน้ำเยอะ การที่เราไปเชิญต่างชาติให้เขามาลงทุน และให้มาตรการด้านภาษีสนับสนุน เขามาแล้วน้ำขาดก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้เราต้องบูรณาการครบทุกภาคส่วน ผู้บริหารทุกท่านเห็นพ้องต้องการ ถ้าเราบริหารจัดการน้ำได้ดีประเทศไทยก็เดินไปข้างหน้าได้

เมื่อถามย้ำว่ามั่นใจการบริหารจัดการน้ำจะไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554 ใช่หรือไม่ นายกฯ ยิ้มก่อนกล่าวว่า "ครับ"

‘เจ้ต้อย’ ยังเหนือกว่า!! ด้วยกระบวนการ และเครือข่าย ‘น้ำ’ เหนื่อยกับการเปลี่ยน ‘กระแส’ ให้เป็น ‘คะแนน’

(17 พ.ย. 67) อาทิตย์สุดท้าย อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (อบจ.) เหลือเวลาในการหาเสียงหาคะแนนนิยมกันเพียง 7 วันเท่านั้น กล่าวได้ว่า 40 กว่าวันของการหาเสียงที่ผ่านมาผู้สมัครทั้ง 4 ท่าน ได้ใช้แนวทางของตัวเองในการหาคะแนนนิยมกันอย่างสุดความสามารถแล้ว

กล่าวสำหรับแชมป์เก่า ‘เจ้ต้อย กนกพร เดชเดโช’ เบอร์ 1 นอกจากการชูนโยบายที่จะทำต่อแล้ว การเดินสายพบปะ ปราศรัยย่อยแจกแจงผลงานในรอบ 4 ปี พร้อมแก้ข้อครหา บวกรวมกับการใช้เครือข่าย ทั้งกลุ่มสตรี การเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุดปัจจุบัน รวมถึงชาว อบต.ปฏิบัติการในระดับพื้นที่ฐานราก สามารถกุมฐานเสียงระดับล่างเอาไว้ได้ ที่สำคัญคือการมี สส.อยู่ในกำมือถึง 6 คน ภายใต้การกำกับของ ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ ของพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าไม่ธรรมดา

กล่าวสำหรับแทน เชื่อถือได้ในการจัดการคะแนน เพราะเขาผ่านสนามเลือกตั้ง มาตั้งแต่เด็กๆ สมัยพ่อ ‘วิฑูรย์ เดชเดโช’ ลงสมัครนายกฯอบจ. น่าจะได้ซึมซับกลยุทธ์ กลวิธี เรียนรู้เอาไว้ได้มาก การจัดการคะแนนจึงน่าจะเป็นต่อคนอื่นๆ ที่มีเครือข่ายในระดับพื้นที่พร้อมขับเครื่องอาวุธหนักออกถล่มค่ายกลของคู่ต่อสู้ได้อย่างไม่ยาก เพียงแต่ว่า ทหารราบได้มีการประเมินกันอย่างรอบคอบรอบด้านแล้วหรือยังในการปล่อยกระสุนออกสู่เป้าหมาย ยิงแล้วไม่พลาด

แน่นอนว่า แชมป์จะต้องถูกโดนชกหนักหน่อย ทั้งชกใต้เข็มขัดก็มี กัดหูก็มี ถือเป็นเรื่องธรรมดา กรรมการ คือประชาชนเขานั่งจับตามองอยู่ ถึงวันหนึ่งเขาจะตัดสิทธิ์ว่า จะให้เจ้ต้อยไปต่อ หรือพอแค่นี้

ส่วนน้ำ-วาริน ชิณวงศ์ เบอร์ 2 แม้ในช่วงแรกจะมีคนถามกันไม่น้อยว่า เบอร์ 2 คือใคร แต่เมื่อผ่านช่วงเวลาหนึ่งมา คำถามนี้หายไป พร้อมกับกระแสที่พุ่งแรงขึ้นมาจนมีการกล่าวขานถึงในระดับเป็นคู่เทียบคู่ชิงกับเจ้ต้อยเลยทีเดียวบวกกับการใช้สื่อโซเชี่ยลกระโดดข้ามกำแพงบ้าน เข้าถึงห้องนอนอย่างได้ผล เพียงแต่เนื้อหาอาจจะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ลงรายละเอียดในนโยบายที่โดนใจ จึงอาจจะยังมีคำถามว่าแล้วนโยบายนั้นนโยบายนี้จะทำอย่างไร น้ำเองการโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค ยังไม่ค่อยมีรายละเอียด ยังต้องให้คนมาโพสต์ถาม เช่น โพสต์ว่า วันนี้ปราศรัย ‘ขนอม-สิชล’ แต่ไม่รู้ว่าที่ไหน จุดไหน เวลาใด น่าเสียดายน้ำไม่ได้ใช้โอกาสในช่วงขาขึ้นอธิบายรายละเอียดของนโยบายดีๆหลายเรื่อง พูดซ้ำๆเรื่องเดิมๆด้วยช่วงทำนองที่ฉะฉานของสาวมั่น

การที่น้ำประกาศว่า ไม่ซื้อเสียง ในทางทฤษฎีถือว่า เป็นจุดแข็ง ยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตย ที่ต้องการสร้างสรรค์การเมืองที่บริสุทธิ์ แต่การประกาศว่า ไม่มีหัวคะแนน อาจจะล็อคคอตัวเองเอาไว้แน่นเกินไป ใครจะเป็นคนจัดการคะแนนในระดับพื้นที่ การจะหวังกระแสอย่างเดียวอาจไม่เดินไปถึงเป้าหมาย แม้กระแสจะดี แต่จะทำอย่างไรให้กระแสแปรเปลี่ยนเป็นคะแนน นี้คือ โจทย์ยากของน้ำ และทีมยุทธศาสตร์

น้ำอาจจะกุมคะแนนเสียงคนระดับกลาง-บน คนในเมืองเอาไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ถามว่า ระดับกลาง-บน เป็นคนกี่เปอร์เซ็นต์ของประชากรจังหวัด อาจจะไม่ถึง 20% ด้วยซ้ำ จุดอ่อนอีกอย่างของทีมน้ำ คือการปราศรัยบนเวทีแล้ว ใช้คำหยาบ ด่าทอคู่แข่ง ซึ่งเป็นการเมืองแบบเก่า ที่ขัดกับบุคคลิกของน้ำที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามาเพื่อสร้างการเมืองใหม่ แต่สุดท้ายทีมงานก็ยังไม่เข้าใจในเจตนารมย์ ปล่อยมุกบนเวทีด้วยคำหยาบ ด่าทอด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมที่คนนครฯไม่ชอบ

ถามว่ากระแสเปลี่ยนมีไหม ตอบได้ว่า มี และแรงด้วย แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ภูมิทัศน์ทางการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว และเปลี่ยนไปอย่างรุนแรงและเร็ว ส่วนหนึ่งภูมิใจไทยได้เข้ามาร่วมสร้างภูมิทัศน์ใหม่ให้กับเมืองคอนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เงินสะพัดไปทุกหย่อมหญ้า เงินไม่มาก้าวขาออกจากบ้านไม่เป็น

ชาวบ้านระดับรากหญ้านั่งรออยู่ว่า เมื่อไหร่เงินจะมา ต้องการเปลี่ยนแต่เงินคือปัจจัยในการเปลี่ยน

สรุปรวมโค้งสุดท้ายนี้ ‘เจ้ต้อย-กนกพร เดชเดโช’ ยังเป็นต่อด้วยกระบวนการบริหารจัดการและปัจจัยที่พร้อมกว่า น้ำต้องเหนื่อยกับการเปลี่ยนกระแสให้เป็นคะแนน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top