Friday, 9 May 2025
นีลอาร์มสตรอง

21 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ‘นีล อาร์มสตรอง’ มนุษย์คนแรก เหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์

วันนี้ เมื่อ 54 ปีก่อน นีล อาร์มสตรอง เหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์เป็นคนแรกของโลก พร้อมคำกล่าวขณะที่ก้าวลงบนดวงจันทร์ว่า "นี่เป็นก้าวเล็กๆ ของชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ"

เรือโท นีล ออลเดน อาร์มสตรอง (Neil Alden Armstrong) 5 สิงหาคม พ.ศ. 2473 — 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกัน และเป็นมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์คนแรกของโลก

นีล อาร์มสตรอง เกิดที่เมืองวาปาโคเนตา รัฐโอไฮโอ ชื่นชอบเรื่องการขับเครื่องบินมาตั้งแต่ยังเด็กๆ เรียนการขับเครื่องบินครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 15 ปีแล้วได้รับใบอนุญาตนักบินเมื่อตอนอายุ 16 ปี และเป็นนักบินทดสอบให้กับองค์การนาซามาก่อน เขาได้รับคัดเลือกเป็นนักบินอวกาศเมื่อปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) และปฏิบัติภารกิจหลายภารกิจในโครงการเจมินีและโครงการอะพอลโล และยังเคยเป็นนักบินในกองทัพสหรัฐ ปฏิบัติภารกิจ 78 ครั้งในสงครามเกาหลี

พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) เขาเป็นผู้บัญชาการของโครงการอะพอลโล 11 ซึ่งมีเป้าหมายนำยานไปจอดบนดวงจันทร์โดยสมาชิกในทีมคือ เอ็ดวิน อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์

เขากล่าวประโยคนี้เมื่อเหยียบลงบนพื้นผิวของดวงจันทร์

That’s one small step for man, one giant leap for mankind. นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของชายคนนึง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ

วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 อาร์มสตรองได้เสียชีวิตในซินซินนาติ รัฐโอไฮโอ ขณะอายุได้ 82 ปี เนื่องด้วยภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐได้กล่าวยกย่องอาร์มสตรองว่าเป็น 'บุรุษชาว'

อนึ่ง นีล อาร์มสตรอง เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทย และ หนึ่งในสถานที่มาเยือนนั้นคือที่ โรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ ในต้นฤดูฝน พ.ศ. 2512 มีนักเรียนชื่อ อรนุช ภาชื่น และ พรเพ็ญ เพียรชอบ และเพื่อนรวม 6 คน ได้เขียนจดหมายเป็นภาษาอังกฤษส่งไปยังนีล อาร์มสตรอง ซึ่งแปลความเป็นภาษาไทยได้ว่า “เราต้องการรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอะพอลโล 11 และคิดว่านักบินอวกาศจะเป็นผู้สามารถเล่าให้เราฟังได้มากที่สุดและดีที่สุด” ในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จหลังการประสานงาน เมื่อสำนักงานข่าวสารอเมริกัน บรรจุโรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ ไว้ในรายการเยือนประเทศไทยอีกจุดหนึ่งด้วย โดยในเดือนกรกฎาคม ปี 2512 นีล อาร์มสตรอง กลับจากดวงจันทร์ไม่นาน ก็ได้มายืนถ่ายรูปกับครูและนักเรียน ณ โรงเรียนประจำจังหวัดในภาคอีสาน นามว่า “ร.ร.สิรินธร จ.สุรินทร์”

ในการเดินทางมายังประเทศไทยอย่างเป็นทางการนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น ตริตราภรณ์ช้างเผือก ให้แก่เขาด้วย

20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ‘นีล อาร์มสตรอง’ มนุษย์คนแรกที่ได้ก้าวเหยียบผิวดวงจันทร์ ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ผู้คน 530 ล้าน ร่วมเป็นสักขีพยาน

วันนี้เมื่อ 55 ปีที่แล้ว ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อ ‘นีล อาร์มสตรอง’ (Neil Alden Armstrong) นักบินอวกาศชาวสหรัฐอเมริกาก้าวลงเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ ทำให้เขาได้รับการบันทึกว่า…เป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่ได้เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ และในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ มีผู้คนราว 530 ล้านคนทั่วโลก ที่เฝ้ารับชมการถ่ายทอดสด

‘อะพอลโล 11’ เป็นยานอวกาศลำแรกขององค์การนาซา ที่ลงจอดบนผิวของดวงจันทร์สำเร็จ โดย ‘อะพอลโล 11’ ได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศโดยจรวด ‘แซเทิร์น 5’ ที่ฐานยิงจรวด 39A แหลมเคเนดี รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมพ.ศ. 2512 ก่อนแยกยานลงดวงจันทร์ไปลงจอดบริเวณ ‘ทะเลแห่งความเงียบสงบ’ (Mare Tranquilitatis) ได้สำเร็จ ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512

สำหรับลูกเรือในยานอวกาศนั้นประกอบด้วย ‘นีล อาร์มสตรอง’ ผู้บังคับการ, ‘บัซ อัลดริน’ นักบินยานลงดวงจันทร์ และ ‘ไมเคิล คอลลินส์’ เป็นนักบินยานบังคับการ โดยมี ‘นีล อาร์มสตรอง’ เป็นมนุษย์คนแรกที่ลงมาประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์ ก่อนจะตามมาด้วยสองนักบินอวกาศที่โดยสารมาด้วยกัน โดยภารกิจของทั้งสามนักบินในครั้งนั้นคือการติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหว, กระจกสะท้อนเลเซอร์, เครื่องวัดลมสุริยะ, และเก็บตัวอย่างหินและดิน 21.6 กิโลกรัม นำกลับมายังโลก

ซึ่งใช้เวลาอยู่บนดวงจันทร์รวม 21 ชั่วโมง 36 นาที ใช้เวลานับตั้งแต่ออกเดินทางจนกลับถึงโลก 195 ชั่วโมง 18 นาที 35 วินาที โดยเดินทางกลับมาลงจอดบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ยานอวกาศอะพอลโล 11 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอะพอลโล ซึ่งเกิดจากความปรารถนาของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ที่ต้องการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ให้สำเร็จ และกลับมายังโลกอย่างปลอดภัย

ปัจจุบันวิวัฒนาการของโลกก้าวล้ำไปอย่างมาก มีการวางแผนสร้างสถานีอวกาศ เพื่อเดินทางออกไปยังส่วนอื่น ๆ ของระบบสุริยะอีกมากมาย

ทำให้นึกถึงประโยค ‘อมตะ’ ของ ‘นีล อาร์มสตรอง’ ที่ได้เอ่ยขึ้นในช่วงเวลาที่สัมผัสกับพื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรกว่า.. “That's one small step for man, one giant leap for mankind.” มีความหมายว่า “นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ”

ซึ่งตอกย้ำว่า ‘ก้าวแรก’ ของการเหยียบดวงจันทร์ในครั้งนั้น ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำสำหรับมนุษยชาติอยู่เสมอ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top