Tuesday, 22 April 2025
นิสสัน

‘นิสสัน’ เปิดแคมเปญ ช่วยลูกค้าประสบภัยน้ำท่วม ถึงสิ้นปี 66 มอบส่วนลดค่าอะไหล่-อุปกรณ์ 30% พร้อมบริการยกรถส่งศูนย์ฟรี

(11 ต.ค.66) ‘นิสสัน ประเทศไทย’ เปิดแคมเปญ ช่วยเหลือลูกค้าประสบภัยรถยนต์เสียหายจาก น้ำท่วม ลดค่าอะไหล่ อุปกรณ์ตกแต่ง ถึงสิ้นปี 2566

แคมเปญ ‘นิสสันร่วมใจช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม’ จะจัดขึ้นถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยจะมีส่วนลดพิเศษสูงสุด 30% สำหรับค่าอะไหล่, เคมีภัณฑ์, น้ำมันหล่อลื่น และอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์

นอกจากนี้ยังมีบริการยกรถที่ประสบภัยน้ำท่วม ไปยังศูนย์บริการนิสสันที่ใกล้ที่สุดฟรี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระลูกค้าที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ

“แคมเปญช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมตอกย้ำความมุ่งมั่นของนิสสันในการดูแลเอาใจใส่ลูกค้าตลอดระยะเวลาการเป็นเจ้าของรถยนต์นิสสัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อมอบความช่วยเหลือในช่วงเวลาวิกฤติ และแบ่งเบาภาระของลูกค้าให้สามารถดำเนินชีวิต และใช้รถยนต์นิสสันได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด” อิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน ประเทศไทย และนิสสัน อาเซียน กล่าว

ทั้งนี้ รถยนต์ที่จะได้รับสิทธิครอบคลุมรถยนต์นิสสันทุกรุ่น ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาแคมเปญ และสำหรับลูกค้านิสสันที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่รวมลูกค้าที่ได้รับผลประโยชน์ความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย หรือบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

สะพัด!! 'นิสสัน' เล็งเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับ 'ฮอนด้า' ผนึกกำลังสู้ EV จีน หลังผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

(14 มี.ค.67) นิสสัน กำลังพิจารณาแสวงหาความเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับฮอนด้า ตามรายงานของสำนักข่าวทีวี โตเกียว เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.) ในขณะที่นิกเกอิ เอเชีย คาดว่าทั้ง 2 บริษัทอาจร่วมมือกันในด้านรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อต่อกรกับคู่แข่งสัญชาติจีน ที่ผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ทีวี โตเกียว รายงานว่าบอร์ดบริหารของนิสสัน ตัดสินใจเมื่อวันอังคาร (12 มี.ค.) จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการจับมือเป็นพันธมิตรกับ ฮอนด้า คู่แข่งร่วมชาติที่ขนาดใหญ่กว่า ส่วนรายงานข่าวของนิกเกอิ เอเชีย รายงานถึงขั้นว่า นิสสัน และ ฮอนด้า อาจทำงานร่วมกันในด้านรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับการแข่งขันกับบรรดาคู่แข่งจากจีน

โฆษกของนิสสัน ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวดังกล่าว และไม่ขอแสดงความคิดเห็นว่าบอร์ดบริหารมีการประชุมกันในวันอังคาร (12 มี.ค.) จริงหรือไม่ ส่วนโฆษกของฮอนด้า บอกเช่นกันว่าทางบริษัทไม่มีความเห็นใดๆ ต่อรายงานข่าวดังกล่าว

ทีวี โตเกียว ระบุว่า นิสสัน ซึ่งเป็นพันธมิตรมาช้านานกับ เรโนลต์ ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส แสดงความตั้งใจจะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) แบบไม่มีพันธะ กับฮอนด้า พร้อมบอกว่าแต่ในเรื่องของขอบเขตการหารือนั้นยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ

ส่วน นิกเกอิ เอเชีย อ้างแหล่งข่าวในนิสสันหลายคน ระบุว่าในบรรดาก้าวย่างอย่างเฉพาะเจาะจงนั้น อาจรวมไปถึงการเปิดตัวระบบส่งกำลังรถยนต์ร่วม การจัดหาร่วม และพัฒนาแพลตฟอร์มหนึ่งๆร่วมกัน ขณะเดียวกันมีความเป็นไปได้ว่า ความร่วมมืออาจครอบคลุมถึงการจัดหาแบตเตอรีและพัฒนารถไฟฟ้าร่วมกัน

ที่ผ่านมา นิสสัน ได้ร่วมมือกับ เรโนลต์ ในด้านรถอีวี อยู่ก่อนแล้ว ส่วนใหญ่ในยุโรป ขณะที่รถไฟฟ้าล้วนตัวถัดไปของนิสสัน ‘Micra’ จะใช้งานวิศวกรรมพื้นฐานร่วมกับ เรโนลต์ ไฟว์ และจะประกอบในโรงงานเดียวกัน ในทางเหนือของฝรั่งเศส

นอกจากนี้แล้ว นิสสัน ยังประกาศว่าจะลงทุนสูงสุด 600 ล้านเยน (ราว 656.64 ล้านดอลลาร์) ใน Ampere บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ของ เรโนลต์

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว ทั้ง 2 บริษัทลดขอบเขตความเป็นพันธมิตร เปิดทางสำหรับการมีหุ้นส่วนที่มีความคล่องตัวกว่าเดิม และนับตั้งแต่นั้น เรโนลต์ ก็ได้ลงนามในข้อตกลงต่างๆ นานา ในการจับมือเป็นพันธมิตรกับคู่หูใหม่ๆ อย่างเช่น Geely ของจีน

"ภายใต้กรอบข้อตกลงใหม่ในความเป็นพันธมิตร ทั้ง 2 หุ้นส่วนจะมีอิสระในการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ต่างๆ นอกเหนือจากโครงการร่วมต่างๆ ที่จับมือร่วมกัน" โฆษกของเรโนลต์ระบุ

เมื่อปีที่แล้ว นิสสัน และ ฮอนด้า ต่างสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในจีน ตลาดยานยนต์หมายเลข 1 ของโลก ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดจาก บีวายดีและบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ และทางนิกกิอิ รายงานว่า นิสสัน และ ฮอนด้า อาจตัดสินใจลดกำลังผลิตในประเทศแห่งนี้

ลือดีลควบรวมนิสสัน-ฮอนด้า คว้าน้ำเหลว หลังค่ายนิสสันไม่ยอมรับเป็นบริษัทลูก

(5 ก.พ.68) สื่อญี่ปุ่นรายงานตรงกันว่า การเจรจาควบรวมกิจการระหว่าง ฮอนด้า และ นิสสัน กำลังเผชิญอุปสรรคสำคัญ หลังนิสสันแสดงจุดยืนคัดค้านข้อเสนอของฮอนด้าอย่างหนัก

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ฮอนด้าได้ยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นของนิสสันเพื่อให้กลายเป็นบริษัทย่อย ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทว่าฝ่ายนิสสันปฏิเสธ เนื่องจากไม่ต้องการสูญเสียอำนาจบริหาร ส่งผลให้แนวโน้มการควบรวมอาจต้องยุติลง โดยเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ผู้บริหารของนิสสันระบุว่า "เงื่อนไขที่ทั้งสองฝ่ายจะยอมรับได้แทบเป็นไปไม่ได้ ทำให้การควบรวมดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้ยาก"

ก่อนหน้านี้ ในเดือนธันวาคม 2023 ฮอนด้าและนิสสันประกาศแผนจัดตั้ง บริษัทโฮลดิ้งร่วม ภายในเดือนสิงหาคม 2026 พร้อมถอดหุ้นของทั้งสองบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม แผนปรับโครงสร้างของนิสสันที่ล่าช้าสร้างความไม่พอใจให้กับฮอนด้า จึงเป็นเหตุให้บริษัทเปลี่ยนแนวทางจากการร่วมมือ มาเป็นการเข้าซื้อหุ้นนิสสันแทน เพื่อให้สามารถควบคุมการบริหารและเร่งเดินหน้าแผนปรับโครงสร้าง

ขณะนี้ นิสสันยังคงประชุมภายในอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีแนวโน้มสูงว่าจะไม่ยอมรับเงื่อนไขการเป็นบริษัทย่อย ขณะที่ฝั่งฮอนด้าก็ส่งสัญญาณว่า หากนิสสันปฏิเสธ ข้อตกลงนี้อาจต้องยุติลงในที่สุด

เร่งหาพันธมิตรรายใหม่ หลังดีลฮอนด้าล่ม คาดคืนวงเจรจาบริษัทชิป ลุยตลาดรถอีวีเต็มสูบ

(6 ก.พ. 68) Nissan Motor กำลังเร่งหา “พันธมิตรใหม่” ในขณะที่การเจรจาควบรวมกิจการกับ Honda Motor ใกล้ถึงทางตัน โดยมีรายงานว่าค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นรายนี้ต้องการจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ เพื่อเสริมศักยภาพรับมือยุคยานยนต์ไฟฟ้า  

แหล่งข่าววงในเปิดเผยว่า Nissan ต้องการพาร์ตเนอร์ที่มีรากฐานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่สุดของบริษัท แนวโน้มของอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าและระบบอัตโนมัติ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกต้องเร่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรนอกเหนือจากอุตสาหกรรมยานยนต์แบบเดิม  

หลังมีกระแสข่าวดังกล่ว ในวันพฤหัสบดี หุ้นของ Nissan ปรับตัวขึ้นสูงสุดถึง 8.7% ในช่วงบ่ายของการซื้อขายที่ตลาดหุ้นโตเกียว แม้โฆษกของ Nissan จะปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยระบุเพียงว่า รายละเอียดเกี่ยวกับการเจรจากับ Honda จะถูกเปิดเผยตามแผนในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์  

การเจรจากับ Honda ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว สะดุดลงจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือข้อเสนอที่ Honda ต้องการซื้อกิจการ Nissan และทำให้เป็นบริษัทลูก ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับแรงต้านอย่างหนักจากฝ่ายบริหารของ Nissan นอกจากนี้ ข้อกำหนดของ Honda ที่ต้องการให้ Nissan ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ก่อนที่ดีลจะเกิดขึ้นจริง ก็เป็นอีกอุปสรรคสำคัญ  

อย่างไรก็ตาม การสิ้นสุดการเจรจาครั้งนี้ไม่ส่งผลให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องจ่ายค่าฉีกสัญญาสูงถึง 100,000 ล้านเยน (ประมาณ 657 ล้านดอลลาร์) ตามข้อตกลงที่ลงนามเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา  

บอร์ดบริหารของ Nissan กำลังผลักดันให้ CEO มาคิโตะ อุจิดะ และทีมผู้บริหาร เร่งวางแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้บริษัทก่อนการประกาศผลประกอบการรายไตรมาสในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่บอร์ดจะประชุมและสรุปทิศทางของบริษัทในอนาคต  

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การจับกุมและปลดอดีตประธาน Carlos Ghosn ในปี 2018 Nissan ต้องเผชิญวิกฤติอย่างต่อเนื่อง จากไลน์ผลิตภัณฑ์ที่ล้าสมัยและกำลังการผลิตที่มากเกินไป จุดเปลี่ยนล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อกำไรสุทธิของ Nissan ร่วงลงถึง 94% ส่งผลให้บริษัทต้องประกาศปลดพนักงาน 9,000 ตำแหน่ง ลดกำลังการผลิตลง 20% และปรับลดคาดการณ์กำไรประจำปีลง 70%  

นักวิเคราะห์จาก Citigroup เตือนว่า หาก Nissan ไม่เร่งปรับโครงสร้าง อาจเกิดการถดถอยของผลประกอบการอีกครั้ง พร้อมเน้นย้ำว่า “มาตรการปรับโครงสร้างเพิ่มเติมเป็นสิ่งจำเป็น”  

ก่อนหน้านี้ Foxconn บริษัทเทคโนโลยีจากไต้หวันที่ผลิต iPhone ให้ Apple และกำลังมุ่งเข้าสู่ตลาดผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบรับจ้างผลิต เคยให้ความสนใจ Nissan แต่ต้องพักแผนไปชั่วคราวเมื่อทราบว่าบริษัทญี่ปุ่นกำลังเจรจากับ Honda อย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม Foxconn ยังไม่ได้ล้มเลิกความสนใจทั้งหมด และอาจกลับมาพิจารณาอีกครั้งหากดีลกับ Honda ยุติลงจริง  

นิสสันปรับเกมใหญ่!! ปิดโรงงานแรกในไทย ยกเครื่องสายการผลิต เดินหน้าสู่ยุคใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์

(14 ก.พ.68) นิสสัน มอเตอร์ ประกาศแผนปรับโครงสร้างการผลิตระดับโลก โดยเตรียมปิดโรงงานประกอบรถยนต์ 3 แห่งในสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อลดต้นทุนลง 400,000 ล้านเยน ภายในปีงบประมาณ 2026

แหล่งข่าวจาก บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า โรงงานผลิตรถยนต์แห่งที่ 1 ในประเทศไทย ซึ่งเป็นโรงงานแรกของนิสสันในประเทศ จะถูกปิดและเปลี่ยนเป็นศูนย์ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แทน ส่งผลให้กำลังการผลิตลดลงถึง 220,000 คันต่อปี

โรงงานแห่งนี้เคยเป็นฐานการผลิตของรถยนต์รุ่น เทียน่า, เอ็กซ์เทรล, ซิลฟี่, โน๊ต, มาร์ช และ อัลเมร่า (โมเดลแรก) ซึ่งหลายรุ่นได้ยุติการจำหน่ายไปแล้ว ปัจจุบันยังมีการผลิตรุ่น อัลเมร่า (โฉมปัจจุบัน) และ คิกส์ ซึ่งทั้งสองรุ่นจะถูกย้ายไปรวมสายการผลิตที่โรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งเดิมเน้นผลิตรถกระบะ นาวารา และ เทอร์ร่า

โรงงานของนิสสันในประเทศไทยตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด กม. 21 จังหวัดสมุทรปราการ มีโรงงาน 2 แห่งที่ใช้ผลิตรถยนต์สำหรับตลาดในประเทศและการส่งออกไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก กำลังการผลิตรวมของทั้งสองโรงงานอยู่ที่ 370,000 คันต่อปี โดยแบ่งเป็น:

โรงงานที่ 1 กำลังการผลิต 220,000 คันต่อปี (กำลังจะปิดตัวลง)

โรงงานที่ 2 กำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี ซึ่งจะรองรับการผลิตเพิ่มเติมจากโรงงานที่ 1

นอกจากนี้ นิสสันยังได้ลงทุนในโรงงาน นิสสัน พาวเวอร์เทรน ประเทศไทย (Nissan Powertrain Thailand – NPT) ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ โดยถือเป็นโรงงานแรกนอกประเทศญี่ปุ่นที่มีความสามารถในการประกอบระบบขับเคลื่อนอี-พาวเวอร์ ด้วยกำลังการผลิตเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังสูงสุดถึง 580,000 หน่วยต่อปี

หลังการประกาศครั้งนี้ ยังคงต้องติดตามว่านิสสัน ประเทศไทยจะปรับกลยุทธ์ด้านการผลิตและลดต้นทุนอย่างไรเพื่อตอบสนองต่อแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทแม่ และบทบาทของประเทศไทยในแผนธุรกิจระยะยาวของนิสสันจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

แต่มีข้อแม้ซีอีโอนิสสันต้องลาออก ดีลควบรวม 5.8 หมื่นล้านยังมีลุ้น

(18 ก.พ. 68) ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า ฮอนด้า อาจกลับมาเจรจาควบรวมกิจการกับ นิสสัน อีกครั้ง หาก มาโกโตะ อูชิดะ ซีอีโอของนิสสัน ตัดสินใจลงจากตำแหน่ง

ก่อนหน้านี้ การเจรจาควบรวมระหว่าง ฮอนด้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่น และ นิสสัน ผู้ผลิตอันดับสาม ต้องยุติลง ทำให้แผนสร้างบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีศักยภาพขึ้นเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับสี่ต้องล้มไป

อุปสรรคในการควบรวมครั้งนี้ส่งผลให้ นิสสัน ตกอยู่ในภาวะไม่แน่นอน และสะท้อนถึงความกดดันที่อุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิมกำลังเผชิญจากคู่แข่งจีนที่กำลังมาแรง

ตามรายงานของ FT ฮอนด้า พร้อมพิจารณากลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา หาก นิสสัน มีผู้นำคนใหม่ที่สามารถจัดการปัญหาภายในได้ดีกว่าเดิม

แม้ว่าตัว อูชิดะ เองจะเคยประกาศว่าจะดำรงตำแหน่งซีอีโอไปจนถึงปี 2026 แต่แรงกดดันให้เขาก้าวลงจากตำแหน่งกลับทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากคณะกรรมการบริษัทและ เรโนลต์ พันธมิตรสำคัญของนิสสัน หลังจากเขาล้มเหลวในการเจรจาควบรวมมูลค่า 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ รายงานยังระบุว่า คณะกรรมการนิสสันได้เริ่มหารือกันอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนตัวผู้นำ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top