Monday, 20 May 2024
นาข้าว

‘เทียนจิน’ ไม่ธรรมดา!! ได้รับรองจาก ‘กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด’ หลังอวดโฉม ‘นาข้าว’ ผสมผสานศิลปะ 3 มิติใหญ่ที่สุดในโลก

(29 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, เทียนจิน รายงานว่า เมื่อไม่นานนี้ แปลงเพาะปลูกข้าว ขนาดรวม 50,798.390 ตารางเมตร ในเขตหนิงเหอ เทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีน ได้รับการรับรองจากกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส (Guinness World Records) ให้เป็นนาข้าวที่มีศิลปะ 3 มิติ ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

รายงานระบุว่าศิลปะสามมิติบนนาข้าวนี้เริ่มต้นเพาะปลูกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 ภายใต้หัวข้อ “ฉลองการเก็บเกี่ยว ส่งเสริมความสามัคคีและความสวยงาม” โดยมีการนำเสนอองค์ประกอบต่างๆ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ กวางหมีลู่ และรวงข้าว

นโยบายพัฒนาคุณภาพข้าว หรือแค่แจกเพื่อรักษาฐานเสียง

หลังมีข่าวจากการประชุมของ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งในที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ในโครงการชดเชยดอกเบี้ยผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 780 ล้านบาท เฉพาะผู้ประกอบการโรงสีชดเชยดอกเบี้ย 4% เป้าหมาย 4 ล้านตัน ระยะเวลาการรับซื้อ ตั้งแต่ ครม.อนุมัติ - 30 มีนาคม 2567 ส่วนภาคใต้ วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567 กรอบระยะเวลาโครงการ ครม.อนุมัติ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2568

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้สอบถามถึงความคืบหน้าในการจ่าย 'เงินช่วยเหลือชาวนา' ตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 เกษตรกรเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน ช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ โดยผู้แทน ธ.ก.ส. แจ้งว่า จะมีการโอนเงินตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 2566 โดยจะจ่าย 5 วันต่อเนื่องพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันแรกจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกดปุ่มโอนจ่ายเงินคิกออฟที่ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับ โครงการ 'เงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท' ใช้วงเงินงบประมาณจ่ายขาดทั้งสิ้น 56,321.07 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกร โดยใช้แหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. วงเงิน 54,336.14 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินการ ธ.ก.ส. วงเงิน 1,984.93 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในช่วง 8 ปีก่อนหน้านี้ (ปี 2557-2565) หรือในช่วงรัฐบาล คสช. และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ รวมถึงปีที่ 1 ของรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ พบว่า ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือชาวนา โดยมีวิธีการ ‘แจกเงิน' 9 ปีการผลิต รวมงบประมาณที่ใช้มากถึง 485,497 ล้านบาท ได้แก่...

>> รัฐบาล คสช. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ)

- ปีการผลิต 2557/58 ครม.อนุมัติโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนา 3.63 ล้านครัวเรือน งบจ่ายขาด 39,506 ล้านบาท

- ปีการผลิต 2559/60 ครม.อนุมัติโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ช่วยเหลือชาวนา 3.7 ล้านราย งบจ่ายขาด 37,860.25 ล้านบาท

- และมาตรการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ให้แก่ผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิ และผู้ปลูกข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 1 งบจ่ายขาด 32,541.58 ล้านบาท

- ปีการผลิต 2560/61 ครม. อนุมัติโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 37,898.11 ล้านบาท

- ปีการผลิต 2561/62 ครม. อนุมัติโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี งบจ่ายขาด 62,791.35 ล้านบาท (อนุมัติ กรอบวงเงินงบประมาณ 2 ครั้ง)

>> รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

- ปีการผลิต 2562/63 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตฯ ไร่ละ 500 บาท งบจ่ายขาด 28,054.83 ล้านบาท และโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวฯ ไร่ละ 500 บาท งบจ่ายขาด 26,458.89 ล้านบาท หรือใช้งบจ่ายขาดรวม 54,553.72 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์รวม 4.57 ล้านครัวเรือน

- ปีการผลิต 2563/64 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 56,093.63 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.56 ล้านครัวเรือน

- ปีการผลิต 2564/65 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 55,567.36 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.69 ล้านครัวเรือน

- ปีการผลิต 2565/66 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 55,364.75 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.68 ล้านครัวเรือน

>> รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

- ปีการผลิต 2566/67 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.68 ล้านครัวเรือน

งบประมาณที่ใช้ไปมากกว่า 485,497 ล้านบาท ในรอบ 9 ปี ไม่ได้ทำให้คุณภาพข้าวของไทย มีคุณภาพมากขึ้น ไม่ได้สร้างให้เกิด Productivity ในการพัฒนาคุณภาพการผลิต จึงเป็นคำถามที่ว่า สิ่งที่ทุกรัฐบาลทำอยู่ เพียงเพื่อเป็นการรักษาฐานเสียง เพราะไม่ได้จูงใจให้เกษตรกรมีการพัฒนาคุณภาพข้าว ตามชื่อของโครงการ 'พัฒนาคุณภาพผลผลิต' ได้อย่างแท้จริง

เมื่อเทียบกับ ประเทศเวียดนาม ที่มีการยกระดับการปลูกข้าวให้มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งในแง่ปริมาณผลผลิตต่อไร่ โดยการจัดสรรงบประมาณภาครัฐลงไปในส่วนการวิจัย การพัฒนาสายพันธุ์ ที่เห็นได้ชัดในปี 2565 การวิจัยพันธุ์ข้าวหอมพื้นนุ่มสายพันธุ์ ST25 ในพื้นที่เพาะปลูกบริเวณดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงของเวียดนาม ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในจีน และให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ (ข้าวเปลือก 1,600 กิโลกรัมต่อไร่) ซึ่งมากกว่าผลผลิตต่อไร่ของข้าวหอมมะลิของไทย 

นอกจากนี้ ยังมีการอนุมัติแผนงาน การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวของเวียดนาม ระหว่างปี พ.ศ. 2568 - 2573 วางนโยบายที่มุ่งเน้นการส่งออกข้าวที่มีมูลค่าสูงทดแทนการส่งออกที่เน้นปริมาณเป็นหลัก

ถึงเวลาหรือยัง ที่จะต้องกลับมาทบทวนนโยบายการ ‘แจกเงิน’ กับโครงการในลักษณะนี้ ว่าหากจะต้องแจกต่อควรมีเงื่อนไขอย่างไร ในการที่จะควบคุมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพข้าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างแท้จริง

เรื่อง: The PALM


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top