Saturday, 5 April 2025
นันทเดช_เมฆสวัสดิ์

‘พล.ท.นันทเดช’ มอง!! ‘ประเทศไทย’ ไปได้ไกลกว่านี้ แต่กลับถูกบอนไซ ด้วยการปกครองแบบที่คณะราษฎรตั้งใจ

เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย. 67) พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า…

“ประเทศไทยจะไปได้ไกลกว่านี้มาก ถ้าไม่มีคณะราษฎร (ตอนที่1)”

“ในสมัยรัชกาลที่ 1 อาณาเขตของสยามได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุม กัมพูชา ลาว เวียดนามบางส่วน จนไปถึงอ่าวตังเกี๋ย และหัวเมืองมลายูทั้งหมด ทำให้ ‘สยาม’ มีประเทศกันชน ป้องกันข้าศึกรุกรานอยู่ทุกด้าน เป็นประเทศที่น่าเกรงขาม สุขสงบ และมากมายด้วยเกียรติยศ แต่สยามก็ต้องแลกมาด้วยความยากลำบากของขุนทหารทุกระดับ ทั้งที่มาจาก วังหน้า วังหลวง และ วังหลัง ที่ต้องผลัดเวียนกันออกไปรบพุ่ง ปกป้องรักษาประเทศราชเหล่านั้น ไม่รู้จบสิ้น”

“ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามกลายสภาพเป็นเสมือน ประเทศกันชน ระหว่างอำนาจฝรั่งเศส ทางทิศตะวันออก และ อำนาจอังกฤษ ทางทิศตะวันตก ในขณะที่สงครามแบบเก่า ที่ใช้ความเก่งกล้าจากขุนทหารของสยามก็กำลังเริ่มหมดไป การล้อมปราบด้วยปืนไฟ และเรือปืน ได้เข้ามาแทนที่”

“ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงประกาศอาณาเขตสยามอย่างชัดเจนขึ้น เพื่อป้องกันความขัดแย้งกับมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศ และทรงมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ ทุกด้านอย่างรวดเร็ว ปฏิรูประบบทหารให้เป็นแบบยุโรป ทรงเลิกทาส โดยให้ทาสทุกคนได้เรียนหนังสือก่อน แล้วจึงมอบที่ดินให้ทำมาหากิน นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงส่งนักเรียนไทยไปเรียน ที่ประเทศต่าง ๆ ทางตะวันตก ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาสยาม (สมาชิกคณะราษฎรส่วนใหญ่กำเนิดมาจากนักเรียนทุนหลวง)”

“อย่างไรก็ตาม แม้สยามจะเจริญก้าวหน้าขึ้นมาแทบทุกด้าน แต่สยามก็ยัง ติดปัญหาเรื่องสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่เคยทำไว้กับประเทศตะวันตก ซึ่งทำให้สยามเสียเปรียบประเทศตะวันตก ทั้งด้านการค้า และความเท่าเทียมในฐานะที่สยามเป็นประเทศเอกราช ดังนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงทรงตัดสินพระทัย ไม่ฟังคำคัดค้านของกลุ่มทหารที่จบจากเยอรมัน (พ.อ.พระยาพหลฯเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนั้นด้วย ) เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร ประกาศสงครามกับเยอรมัน ทำให้สยามได้รับชัยชนะ สามารถแก้ไขสนธิสัญญาต่าง ๆ กับประเทศตะวันตกได้ทุกฉบับ (นายปรีดี เองก็ยังกล่าวชมเชยพระองค์ในเรื่องนี้ไว้)”

“หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงขยาย การพัฒนาประเทศต่อยอดจาก ในหลวงรัชกาลที่ 5 เพิ่มเติมขึ้นอีก แต่ก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ พระองค์จึงทรงกู้เงินมาจากประเทศทางยุโรป เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และการชลประทาน อีกไม่กี่ปีต่อมา ผลผลิตทางเกษตร ก็ออกมาอย่างท่วมท้น การขนส่งพืชผล ออกสู่ท้องตลาด ก็ทำได้อย่างรวดเร็ว เงินกลับคืนมาล้นท้องพระคลัง ในต้นรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 7 พระองค์ก็ทรงใช้หนี้ที่กู้ยืมมาจนหมดสิ้น และทรงเตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญ ให้กับประชาชน แต่ก็ถูกทักท้วงไว้จากที่ปรึกษาชาวตะวันตก คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอภิมนตรี ว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่มีความรู้เพียงพอ” ให้ชะลอไว้ก่อน”

“พระยาพหลฯ ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหาร นั้นเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 กำลังจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่บอกอาจารย์ ปรีดี เพราะอาจารย์ปรีดี ผู้นำคณะราษฎร สายพลเรือน บอกว่า เพิ่งมารู้หลังจากทำปฏิวัติไปแล้ว”

“ปัญหาจึงน่าสนใจตรงที่ว่า ทำไมพระยาพหลฯ ผู้เป็นเสมือนหัวใจของ คณะราษฎรในตอนนั้น ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้ร่างรัฐธรรมนูญไว้เรียบร้อยแล้ว และเตรียมที่จะพระราชทานอยู่แล้ว ถึงไม่บอกสมาชิก คณะราษฎรคนอื่น ๆ ให้รู้ หรือทำไมไม่กราบบังคมทูลขอเข้าเฝ้าฯเพื่อถวายข้อเสนอแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามที่พวกตนต้องการ ซึ่งแนวทางนี้ พระองค์เจ้าบวรเดช ก็เคยพูดคุยกับ พระยาพหลฯมาก่อนที่คณะราษฎรจะปฏิวัติ ดังนั้น การใช้วิธีปฏิวัติล้มล้าง ซึ่งไม่ใช่วิธีการตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อเริ่มต้นขึ้นแล้ว ก็หยุดไม่ได้ จึงทำให้การปฏิวัติกลายเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาของเหล่าสมาชิกคณะราษฎร ทั้งในสายทหาร และสายพลเรือน และยังเป็นโมเดลของการรัฐประหารครั้งต่อ ๆ มาภายหลัง”

“บ้านเมืองจึงเสมือนถูกบอนไซ การปกครองแบบประชาธิปไตยตามที่คณะราษฎรตั้งใจไว้ จนกลายมาเป็นการปกครองแบบเผด็จการทางสภาบ้าง เผด็จการทางทหารบ้าง สลับกันไป เป็นแบบนี้มาตลอด 25 ปี ของการครองอำนาจ”

‘พล.ท.นันทเดช’ มอง!! ‘ประเทศไทย’ ไปได้ไกลกว่านี้ แต่กลับถูกบอนไซ ด้วยการปกครองแบบที่คณะราษฎรตั้งใจ

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 67 พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘ผลจากการปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 ทำให้ประเทศไทยไม่ก้าวหน้า (ตอนที่ 2)’ โดยระบุว่า…

1️⃣ จากกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงยอมชะลอการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ตามคำท้วงติงว่า “ประชาชนยังไม่พร้อม“ แต่คณะราษฎรได้ชิงตัดหน้าทำการปฏิวัติไปก่อน ทั้งที่ พ.อ.พระยาพหล หัวหน้าคณะราษฎร ก็ทราบดีอยู่แล้ว แต่ทำไมถึงไม่บอกให้สมาชิกคณะราษฎรรู้ด้วย ขอให้มาดูที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่ง อ.ปรีดี เป็นผู้ร่างเองนั้นได้มีการตัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ออกไปทั้งหมด โดยระบุไว้ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่กลับมีที่มาของ สส. ที่จะเข้ามาใช้อำนาจแทนประชาชนไม่ได้มาจากประชาชน โดยให้คณะราษฎรแต่งตั้งเองทั้งหมด และวาระการดำรงตำแหน่งก็ถูกขยายยาวไปถึง 10 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงระยะเวลาดังนี้

▪️ช่วงแรก▪️ คณะราษฎร ตั้ง สส. เองทั้งหมด ตามเนื้อความใน รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ระบุว่า “นับตั้งแต่วันใช้รัฐธรรมนูญ จนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ 2 จะเข้ารับตำแหน่งให้คณะราษฎร ซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนคร ฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทน จัดตั้ง สส.ชั่วคราวขึ้นมา 70 นาย”

▪️ช่วงที่ 2▪️ ภายใน 6 เดือน หรือจนกว่า ‘การจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย’ (92 ปีผ่านมาบ้านเมืองก็ยังไม่เรียบร้อย) สมาชิกสภาจะต้องมีบุคคล 2 ประเภท ทำกิจกรรมร่วมกัน คือ ‘ประเภทที่ 1’ ให้ราษฎรเลือกผู้แทนขึ้นมาจังหวัดละ 1 คน (เกินแสนคนได้อีก 1 คน ) ‘ประเภทที่ 2’ ให้สมาชิกในช่วงแรกที่คณะราษฎรแต่งตั้งไว้ เลือกกันเองมีจำนวนเท่ากับ ส.ส.ประเภทที่ 1 

▪️ช่วงที่ 3▪️ เมื่อราษฎรทั่วประเทศสอบไล่ได้ชั้นประถมศึกษาเกินครึ่ง และไม่เกิน 10 ปี ให้มีแต่ สส.ที่ราษฎรเลือกเข้ามาทั้งหมด

รัฐธรรมนูญที่ อ.ปรีดีเขียนนั้น เห็นได้ว่ามีเจตนาถ่วงเวลาที่ประชาชนจะต้องมีความรู้ไว้นานถึง 10 ปี ซึ่งก็แสดงว่าคณะราษฎรเอง ก็ทราบดีว่าถ้าประชาชนยังไม่พร้อม ประชาธิปไตยเละแน่ ซึ่งก็ตรงกับเหตุผลที่รัชกาลที่ 7 ทรงยอมชะลอการพระราชทานรัฐธรรมนูญไว้ก่อน แต่ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะทำให้คณะราษฎร มี สส.เสียงข้างมากอยู่ในสภาตลอดมา จึงอ้างอิงมติของสภา ทำอะไรก็ได้ทุกเรื่อง 
อย่างไรก็ตาม อ.ปรีดี ได้พูดถึงเรื่องนี้ในรายงานสภาครั้งที่ 40/2475, ลง 27 พ.ย. 2475 เหมือนกัน ดังนี้ครับ 

“การที่มีสมาชิกผสมในสมัยที่ 2 นั้น ไม่ใช่ประสงค์ที่จะหวงอำนาจ ความข้อนี้มีผู้เข้าใจไปต่างๆ  สุดแต่เขาจะกล่าวหาว่า ประสงค์จะเป็นดิกเตเตอร์ (เผด็จการ) บ้าง อะไรบ้าง ความจริงไม่ใช่เป็นเช่นนั้นเลย การที่เราจำเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2ไว้กึ่งหนึ่ง ก็เพื่อช่วยเหลือ ส.ส.ในขณะนั้นที่เพิ่งเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อมทราบอยู่แล้วว่า มีราษฎรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอที่จะจัดการปกครองป้องกันผลประโยชน์ของตนเองได้บริบูรณ์ ถ้าขืนปล่อยมือให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลำพังในเวลานี้แล้ว ผลร้ายก็จะตกอยู่กับราษฎรเอง…” 

▪️หลังการปฏิวัติ คณะราษฎรไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนมากนัก จึงพยายามหาทางประนีประนอม กับสถาบันฯ ซึ่งคาดเดาได้ 2 ทาง 

(1) ในทางที่ดี คณะราษฎรเห็นพ้องกับในหลวงรัชกาลที่ 7 ว่าประชาชนยังไม่พร้อมจริง ซึ่งกรณีนี้ เป็นแนวคิดของคณะราษฎรสายทหารเกือบทั้งหมด รวมทั้ง อ.ปรีดีด้วย 

และ (2) ในทางไม่ดี คณะราษฎรเห็นว่าอำนาจของฝ่ายตน ยังไม่มั่นคง เพราะคณะราษฎรในสายทหารส่วนหนึ่งหันกลับมาสนับสนุนการคืนบทบาทให้พระมหากษัตริย์จึงควรหาทางประนีประนอมชะลอเวลาไว้ก่อน 

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับถาวร จึงมีการประนีประนอม ถวายพระเกียรติแก่องค์พระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้น เช่น มีการทำพิธีขอพระราชทานอภัยโทษ ของคณะราษฎรอย่างเต็มรูปแบบขึ้น, รัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะราษฎร ใช้คำว่า ‘กษัตริย์’ เฉย ๆ แต่ฉบับถาวรใช้คำว่า ‘พระมหากษัตริย์’, การให้สิทธิคัดค้านของพระมหากษัตริย์ (สิทธิ VETO) ถ้าพระองค์ไม่เห็นด้วยกับ พระราชบัญญัติ และ เมื่อครบ 10 ปีแล้ว จะมีการเลือกตั้ง สส.ใหม่ทั้งหมด โดยแบ่ง สส.ออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) สส.ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งของราษฎร และ (2) สส.ประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ 

▪️ สรุป การปฏิวัติของคณะราษฎร จึงเป็นการกระทำที่นักวิชาการหลายคนเรียกว่า ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ เมื่อประชาชนไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ความสับสนวุ่นวายจึงเกิดขึ้นเกือบทุกปี จนกลายเป็นเรื่องที่ผลักดันให้ คณะราษฎร แตกแยกกันอย่างรุนแรง จนต้องแก้ไขปัญหา โดยการ ‘ใช้อำนาจจากกระบอกปืนแทนอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย’ เป็นวงล้อหมุนเวียนกันไปมาตลอด 25 ปี ที่สมาชิกคณะราษฎร ครอบครองอำนาจอยู่ 

ตามข้อเท็จจริงแล้ว คณะราษฎรเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่ง ประมาณ 100 คน ไม่ใช่องค์กรการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพ แบบประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประเทศไทยเป็นเอกราชเจริญรุ่งเรืองคู่กันมากับญี่ปุ่น จึงทำให้คณะราษฎร มีฐานการสนับสนุนจากประชาชนอย่างจำกัดมาก การเร่งร้อนออกมาจัดตั้งสมาชิกของคณะราษฎรจึงล้มเหลว รวมไปถึงการโหมโฆษณาเรื่องความดีของรัฐธรรมนูญด้วย การเอารถถังไปวิ่งที่ รร.สวนกุหลาบ หรือที่จุฬา การฟ้องร้องกลุ่มเจ้าฯ ยาวไปถึงองค์ในหลวงรัชกาลที่ 7 ฯลฯ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น เพราะคนไทยชอบอยู่กันอย่างสงบ ๆ สบาย ๆ ไม่ได้วิตกกังวลว่าจะปกครองระบอบอะไร และไม่ชอบให้ใครมาข่มขู่อีกด้วย ดังนั้นการสูญเสียเวลาไปเกือบ 25 ปีของคณะราษฎร ก็เท่ากับการชะลอความก้าวหน้าของประเทศไทยไว้ด้วย 

▪️ผมอ่านประวัติศาสตร์ที่ อ.ชาญวิทย์ เขียนไว้ ตั้งแต่มียศร้อยเอก ก็นิยมชมชื่นว่า อ.เป็นนักวิชาการที่ทรงความรู้ แต่ปัจจุบัน เมื่อ 18 พ.ค. 67 นี้ไปอ่านเรื่องที่ อ.ชาญวิทย์ไปพูดไว้ที่ฝรั่งเศส พบว่า ก็อ่อมแอ่มพูดไป ข้ามข้อมูล ที่เป็นเรื่องสมควรจะนำมาพิจารณาในส่วนที่ดีไปแยะ น่าจะเป็น เพราะเกรงใจคนจัด (คุณธนาธร) เรื่องนี้ คงเก็บไว้เขียนถึงในตอนที่ 3 นะครับ ตอนนี้ขอให้ชวนกันไปดูภาพยนตร์ ‘แอนิเมชั่น 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ตามยูทูปต่าง ๆ กันไปก่อนนะครับ เพื่อประกอบการทบทวนความจริงแบบย่อ ๆ น่ะครับ

‘พล.ท.นันทเดช’ โพสต์เฟซเล่าเรื่อง ‘โดมชรา’ ที่น่าเคารพ เผย!! ปัจจุบันบทบาทของสถาบัน ‘พิทักษ์ธรรม’ ได้จางหายไป

เมื่อวานนี้ (21 ก.ค.67) พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับ ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ เพื่อทบทวนถึงบทบาทของธรรมศาสตร์ และ โดมชราในอดีต โดยมีเนื้อหาดังนี้ ...

อยากไป อยากไป จะไปเยี่ยมไข้โดมชรา  

วันนี้ ผมขอเล่าถึงเรื่องของ ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์สัก3ท่าน เพื่อทบทวนถึงบทบาทของธรรมศาสตร์ และโดมชราในอดีต ไว้กันลืมครับ 

คนแรก คือ 'กุหลาบ สายประดิษฐ์' หรือ ‘ศรีบูรพา’ ซึ่งเคยเขียนบทความทิ้งไว้ให้ ชาวธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2496 เป็นเรื่องที่คนรุ่น Gen B อ่านแล้วลืมไม่ลง ชื่อว่า ‘มองนักศึกษา มธก. ผ่านแว่นขาว’ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า 

นักศึกษาและบัณฑิตของ มธก. มีความรักในมหาวิทยาลัยของเขา มิใช่เพราะเหตุแต่เพียงว่าเขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยนี้ เขาได้วิชาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัยนี้ เขารักมหาวิทยาลัยนี้ เพราะมีธาตุบางอย่างของมหาวิทยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคนอื่น ๆ รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เพราะว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่กักกันเขาไว้ในอุปทาน และความคิดที่จะเอาแต่ตัวรอดเท่านั้น ชาว มธก. รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขารู้จักรักคนอื่นด้วย  

เนื้อเรื่องดังกล่าวนี้ได้ถูกนำมาสนธิกรรมขึ้นมาใหม่ โดย กลุ่ม นศ.มธ ในกิจกรรมที่สืบทอดมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นข้อความว่า 

"ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน"

ข้อความตรงส่วนนี้ ‘ศรีบูรพา’ น่าจะหมายถึงประชาชนทุกภาคส่วน และต้องเป็นคนดีด้วย ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะกลุ่ม ที่คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง และนักการเมืองบางคนเคยนำไป แอบอ้างไว้

ชาวธรรมศาสตร์ธรรมดา คนที่ 2 ชื่อ 'เปลื้อง วรรณศรี' เป็นบุคคลที่ถูกกลืนหายไปในสายธารความคิดของ กลุ่มคนรุ่นใหม่หมดสิ้นแล้ว เปลื้อง เป็นคนสู้ชีวิต เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง และเป็นประชาชน ที่รักความยุติธรรมที่เด่นชัดคนหนึ่งของประเทศไทย เมื่อดูจาก กลอนที่เขียนให้ชาวธรรมศาสตร์บทนี้ 

“สิ่งเหล่านี้ ที่โดม โหมจิตข้า
ให้แกร่งกล้า เดือนปี ไม่มีหวั่น
ถ้าขาดโดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์
ก็เหมือนขาด สัญลักษณ์ พิทักษ์ธรรม”

วันนี้ โดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ ก็ยังอยู่ครบ เพียงแต่ โดมกำลังซ่อมแซมอยู่เท่านั้น แต่คนรุ่นใหม่กลุ่มน้อย ๆ ที่พยายามอ้าง 

ธรรมศาสตร์ ไปเป็นฐานทางการเมืองอยู่ ในปัจจุบันนั้น กลับไม่มีบทบาทไป ‘พิทักษ์ธรรม’ เท่าที่ควร 

คนที่ 3 คือ 'อาจารย์ ป๋วย อึ้งภากรณ์' ซึ่งผม ขออนุญาตนำไปเล่าในตอนต่อไปครับ

ปัจจุบัน ธรรมศาสตร์ได้ อธิการบดีคนใหม่ แม้จะไม่เคยพบ แต่เท่าที่ทราบมา ท่านเป็นคนที่ ใช้ความหมายของ ‘ประชาชน ที่ธรรมศาสตร์รัก’ ว่า เป็น คนดี ไม่เลือกฝ่ายทางการเมือง ส่วนความหมายของคำว่า ‘พิทักษ์ธรรม’ นั้นน่าจะต้องเป็นคนที่ยอมรับในกฎหมายด้วย ก็หวังว่า ก้าวใหม่ของธรรมศาสตร์ จะกลับมาเป็นกลาง ไม่เอียงไปเอียงมาจน เกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองอีกต่อไป 

ในวันพุธที่ 24 ก.ค. 2567 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ทางธรรมศาสตร์จะจัดพิธีตักบาตรที่สนามฟุตบอล ท่าพระจันทร์ และ ฟังธรรม จาก พระอาจารย์อารยวังโส (ท่านเพิ่งเดินทางกลับมาจากการรับบริจาคที่ดิน 400 ไร่ เพื่อสร้างวัดไทยที่ประเทศอินเดีย) 

เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และทำพิธีถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ผมจึงขอเชิญชวนทั้ง ศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าวนี้ โดยพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 28 รูป จะเริ่มตั้งแต่เวลา 06.30 น.เป็นต้นไป 

เรื่องที่เป็นมงคลแบบนี้ เพิ่งจะมีขึ้นในธรรมศาสตร์ หลังจากห่างหายไปนานแล้ว ผมจึงอยากเชิญชวนพวกเราทั้งชาวธรรมศาสตร์ และประชาชนทุกท่าน ให้เข้าร่วมงานทำบุญตักบาตร ในโอกาสมหามงคล ถวายแด่องค์พระประมุขของพวกเรา กันให้มาก ๆ นะครับ 

พลโท นันทเดช / 20 ก.ค.67

‘พล.ท.นันทเดช’ ชี้ 4 เหตุผลสำคัญ ทำให้ไทยอยู่ได้อีกนาน คนทั้งประเทศมี ‘พระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวกัน’ อยู่ในจิตสำนึก

(29 ก.ค. 67)  พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์ กับ ประเทศไทย ในอนาคต ตอนที่ 1’ ระบุว่า...

สถาบันพระมหากษัตริย์ กับ ประเทศไทย ในอนาคต ตอนที่ 1

นอกจากเรื่องสงครามนิวเคลียร์แล้ว สถานการณ์ต่างๆในประเทศไทย และของโลก ในปัจจุบัน ได้ทำให้พวกเราหลายคนกังวลว่า อีกไม่นานประเทศไทยอาจจะกลายเป็น ‘ประเทศที่ล้มเหลว’ (Failed State)ในอนาคตอันใกล้นี้ได้ !!

ผมขอยืนยันว่าประเทศไทยจะไม่มีทางเป็น Failed State แน่นอน จากเหตุผลที่ไม่เข้าเงื่อนไขหลายประการ ได้แก่

1.เงื่อนไขสำคัญของการเป็นรัฐล้มเหลว คือการที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมพื้นที่บางส่วนของประเทศได้ ซึ่งรัฐบาลไทย แม้จะขี้โกงขนาดไหน ก็ยังเป็นคนไทย ไม่กล้าปล่อยให้พื้นที่ไหนขาดการควบคุม  และประชาชนคนไทยก็ไม่ได้โง่ เพียงแต่ส่วนใหญ่อยากอยู่สงบๆ และเรียบง่าย  แต่ถ้ามีเรื่องเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติแล้ว คนไทยก็ไม่เคยนิ่งเฉยสักครั้งเลย ส่วนเหตุความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น  ถ้าจะแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง ก็ย่อมทำได้ แต่ผู้คนเหล่านั้น ก็คือ คนไทย ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ   ประกอบกับการที่ทุกคนเป็นประชาชนที่มีพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวกันอีก ดังนั้น ฝ่ายทหาร จึงมักใช้วิธีการพูดคุยกัน  เป็นหลัก ก่อนการใช้ความรุนแรงปราบปราม

2.โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของรัฐชาตินั้น ประเทศไทยยังมีอยู่ครบถ้วน ทั้ง ด้านการศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคม ฯลฯ ซึ่งแม้องค์กรเหล่านี้จะไม่เข็มแข็งนักเพราะต้องลู่ตามลมการเมือง แต่เราก็มี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คอยคัดท้ายอยู่  ส่วนองค์กรทางด้านความมั่นคงส่วนใหญ่ ยังเข็มแข็ง พอที่จะป้องกันประเทศได้ หรือสามารถตอบอย่างเต็มปากเต็มคำ ว่า ‘ทหารมีไว้ทำไม’

3.ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีสงครามกลางเมือง หรือ การก่อการร้าย เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับการควบคุมได้ (หลังแจกเงินดิจิตอลแล้วค่อยมาพูดกันอีกที) ส่วนเรื่องสิทธิมนุษยชนของไทยนั้น  ดีเยี่ยมกว่าทุกประเทศในเอเซีย การตกงานแม้จะเริ่มสูงขึ้น ถึงกับมีข่าวการตกงานกันแทบทุกวัน  แต่ถ้าไม่เลือกงาน ก็ยังพอไหว สิ่งที่น่าวิตกมากสุด คือ เรื่องของการคอรัปชั่น ที่กำลังก้าวขึ้นสู่ระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้ดูเหมือนคนไทยจะคุ้นชินกันไปซะแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงไยพอควรทีเดียว

4.จุดแข็งของประเทศไทย คือ คนไทยเรามี สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในจิตสำนึก แม้พระองค์จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ก็ทรงงานช่วยเหลือประชาชนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีวันหยุด ไม่เหมือนนักการเมือง ที่มีวาระการทำงาน หมดวาระก็เลิกทำ   พระองค์จึงต่างกับนักการเมือง ที่สามารถทรงงานแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ อย่างต่อเนื่อง และ ยังเป็นสถาบันหลักของชาติเพียงสถาบันเดียวในปัจจุบัน  ที่นักการเมืองขี้โกงทั้งหลาย และผู้ที่คิดร้ายต่อประเทศ  ยังต้องพะวงหน้าพะวังหลังอยู่  เนื่องจากรู้ดีว่า เบื้องหลังพระองค์ยังมีประชาชนจำนวนมหาศาลที่ ยืนอยู่เคียงข้างพระองค์ อย่างเงียบๆ อยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นประเทศไทยยังอยู่ได้อีกนานครับ ไม่ต้องหนีไปไหน แต่ “ความเจริญก้าวหน้าอาจจะชะลอคงที่อยู่ ไม่รุดหน้าไปเหมือนประเทศอื่นๆ”แค่นั้น ซึ่งจะส่งผลทำให้คนไทยจะจนลงเรื่อยๆ คนชั้นกลางที่เคยเป็นผู้ออกมารักษาผลประโยชน์ของชาติ ก็จะลดน้อยลงไป

การทุจริตก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะแก้ได้หรือไม่ก็อยู่ที่ตัวเราเองด้วยครับ คิดเสียว่าในอนาคตน่าจะดีขึ้นก็ได้ครับ

ข้อเขียนเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

นักวิชาการ จี้รัฐ!! เร่งแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ‘เมียนมา’ แย่ง!! อาชีพคนไทย-ตั้งธนาคารเอง-ตั้งตัวเป็นเจ้าของตลาด

เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.67) นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ และฝ่ายความมั่นคง เห็นตรงกันว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและการศึกษา ซึ่ง สพฐ.ต้องให้เด็กต่างด้าวเรียนฟรีถึง 15 ปี อีกทั้งเข้ามาแย่งสารพัดอาชีพของไทย ผันตัวสู่เจ้าของธุรกิจ เดินรถสองแถว รับเหมาก่อสร้าง ปล่อยเช่าคอนโด ‘พล.ท.นันทเดช’ เผย ‘เมียนมา’ ล้ำเส้น ถึงขั้นตั้งธนาคาร มีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านของตัวเอง ตั้งตัวเป็นเจ้าของตลาด แถมมี สส.บางพรรค อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว ด้าน ‘รศ.ดร.อัทธ์’ แนะ เร่งจัดระเบียบ ขึ้นทะเบียน จัดทำฐานข้อมูล เพื่อง่ายต่อการควบคุมและจัดเก็บภาษี

กล่าวได้ว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวกลายเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องมานานนับเดือน โดยเฉพาะแรงงานเมียนมาที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเกินขอบเขต บ้างก็รวมตัวจัดกิจกรรมระดมทุนโดยไม่ขออนุญาต บ้างก็โชว์กร่างข่มขู่คุกคามคนไทย ขณะที่บางพื้นที่มีการลักลอบเปิดโรงเรียน อีกทั้งยังร้องเพลงชาติเมียนมาแบบไม่เกรงใจเจ้าของประเทศ จนเริ่มเกิดกระแสต่อต้านจากคนไทยถึงขั้นที่อยากให้ผลักดันแรงงานเหล่านี้ออกจากประเทศ จนหลายฝ่ายเกรงว่าจะกลายเป็นปัญหาลุกลามบานปลาย และเรียกร้องให้รัฐบาลลงมาจัดการก่อนที่จะสายเกินไป

ส่วนว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของไทยอย่างไร รวมทั้งจะมีหนทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่นั้น คงต้องไปฟังความเห็นจะผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ขณะนี้แรงงานต่างด้าว ทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ที่เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และรวมกันเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ยากต่อการควบคุม โดยปัจจุบันคาดว่ามีแรงงานเมียนมาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยประมาณ 3-5 ล้านคน รองลงมาคือ แรงงานกัมพูชา 1-2 ล้านคน ตามด้วยแรงงานลาวไม่เกิน 1 ล้านคน ขณะที่แรงงานเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนคน ซึ่งแรงงานที่เริ่มสร้างปัญหาคือแรงงานเมียนมาเนื่องจากจับกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก จึงเริ่มมีการชุมนุมเคลื่อนไหวที่นั่นที่นี่ มีการนัดรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการเมือง บ้างทำตัวเป็นมาเฟีย เกะกะระราน ทำให้เกิดปัญหาสังคมและอาชญากรรมตามมา

ซึ่งแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยนั้นมีทั้งที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายและลักลอบทำงาน แน่นอนว่าคนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็ไม่อยู่ในระบบภาษี ไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้งต่างด้าวที่ลับลอบทำธุรกิจในไทยก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่เขาใช้ระบบสาธารณูปโภคของไทย ใช้บริการการแพทย์ของไทย แรงงานเหล่านี้เมื่อเข้ามาอยู่แล้วบางคนก็จะมีลูกมีหลาน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพราะหากเจ็บป่วย เด็กเหล่านี้ก็เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของไทย และเมื่อถึงวัยเรียนก็มีสิทธิเข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทย เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีนโยบายให้เด็กต่างด้าวสามารถเข้ารับการศึกษาได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งถือเป็นภาระด้านงบประมาณของไทยอย่างมาก

สอดคล้องกับ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ซึ่งระบุว่า การที่ชาวเมียนมาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยจำนวนมากนั้นส่งผลกระทบต่องบประมาณและการบริการด้านสาธารณสุขของไทย เพราะเรามีการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขไว้จำนวนหนึ่ง เมื่อชาวเมียนมาที่เข้ามาอยู่ในไทยใช้บริการสาธารณสุขที่เราเตรียมไว้เพื่อดูแลคนไทย งบประมาณและบุคลากรการแพทย์ของไทยก็จะถูกแบ่งไปดูแลแรงงานต่างด้าวเหล่านี้รวมถึงลูกหลานที่เกิดขึ้นมา เพราะแม้แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องจะใช้สิทธิการรักษาตามระบบประกันสังคมที่เขาส่งเงินสมทบ แต่ก็มีแรงงานอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย รวมถึงบรรดาลูกหลานของแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ส่งเงินสมทบแต่ใช้บริการสาธารณสุขด้วยเหมือนกัน ทำให้คนไทยได้รับบริการไม่เต็มที่ แม้แต่ชาวเมียนมาที่อยู่ในพม่าเมื่อเจ็บป่วยหรือจะคลอดบุตรก็เข้ามารักษาและทำคลอดที่โรงพยาบาลในประเทศไทย มาใช้ระบบสาธารณสุขในไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก

นอกจากนั้นแรงงานเหล่านี้ยังพยายามเรียกร้องให้แรงงานเมียนมาสามารถขอต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย(Work Permit) โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางคือประเทศเมียนมาก่อน ซึ่งไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะขัดกับระเบียบของไทย และเชื่อว่าจะมีปัญหาอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆเพราะชาวเมียนมากำลังเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน ซึ่งเมื่อประกาศขึ้นค่าแรงไปแล้วผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับแรงงานไทย เพราะงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะฝีมือนั้นแรงงานส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย ขณะเดียวกันผลกระทบที่ตามมาคือภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น จีน หรือเวียดนาม อีกทั้งคนไทยยังต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินปรับตัวสูงขึ้น

“ปัญหาที่หนักมากในขณะนี้คือชาวเมียนมาเข้ามาประกอบอาชีพต่าง ๆ แข่งกับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเปิดร้านขายอาหาร ขายสินค้าต่าง ๆ ตลาดสดบางแห่งพ่อค้าแม่ค้ามีแต่คนเมียนมา บางพื้นที่เจ้าของตลาดเป็นเมียนมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันผิดกฎหมายของไทย แต่ขบวนการควบคุมแรงงานต่างด้าวของเรามันล้าหลังมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ใต้อิทธิพลของชาวเมียนมา เพราะเขาจ่ายเงินให้” พล.ท.นันทเดช กล่าว

สำหรับปัญหาที่ต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพคนไทย โดยเฉพาะแรงงานเมียนมานั้น 'รศ.ดร.อัทธ์' มองว่า ชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยในปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม โดยยุคแรกจะเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานในภาคการผลิต โดยเฉพาะกิจการที่คนไทยไม่นิยมทำ เช่น ประมง ก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ยุคที่สองแรงงานเมียนมาเริ่มเข้าไปสู่ภาคบริการ เช่น พนักงานเสิร์ฟ พนักงานปั๊มน้ำมัน แม่บ้าน ลูกจ้างขายของ และปัจจุบัน คือยุคที่สาม ได้ขยายไปสู่การเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งแบ่งเป็น 1.ธุรกิจที่คนไทยทำอยู่แล้ว เช่น เปิดร้านขายของ เปิดบริษัททัวร์ รับเหมาก่อสร้าง บริษัทรับจัดสวนตัดแต่งต้นไม้ 2.ธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมียนมา เช่น เปิดร้านขายสินค้าให้ชาวเมียนมาโดยเฉพาะ ขับรถสองแถวรับส่งชาวเมียนมาในไทย ซื้อคอนโดฯและปล่อยให้นักธุรกิจชาวเมียนมาเช่า ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกระหว่างไทยกับเมียนมา ธุรกิจท่องเที่ยว และ 3.ธุรกิจที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานเพื่อทำธุรกิจกับประเทศอื่น

“นักธุรกิจเมียนมาจะเข้ามาหลายรูปแบบ บ้างก็เข้ามาแต่งงานกับคนไทยและหาลู่ทางทำธุรกิจ บางคนก็เข้ามาทำธุรกิจโดยตรง เช่น เข้ามาซื้อคอนโดเพื่อปล่อยเช่า เนื่องจากกฎหมายของไทยอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของคอนโดได้ 49% ของพื้นที่ขายทั้งหมด และตอนนี้เรากำลังจะแก้สัดส่วนให้ซื้อได้ถึง 75% ของพื้นที่ ต่างด้าวบางคนก็เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างโดยซับงานจากผู้รับเหมาไทยอีกที พวกนี้มีทั้งที่เป็นเมียนมาและกัมพูชา บ้างก็เปิดบริษัทรับทำความสะอาดและรับจัดสวนแบบเหมาทำทั้งหมู่บ้านเลย ซึ่งบางธุรกิจอาจจะผิดกฎหมายแต่เขามีวิธีซิกแซ็ก และให้บริการในราคาที่ถูกกว่าของไทย หรือบางธุรกิจคนไทยก็ไม่ทำ” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว

ขณะที่ พล.ท.นันทเดช ชี้ว่า ปัจจุบันมิติของแรงงานต่างด้าวไม่ได้อยู่แค่ปัญหาแรงงานแต่ขยายไปยังเรื่องอื่นๆ ด้วยโดยเฉพาะแรงงานเมียนมาซึ่งขณะนี้ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในหลายประเด็น เช่น เรียกร้องให้รัฐบาลให้สัญชาติไทยแก่เด็กเมียนมาที่เกิดในไทย ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้ อีกทั้งปัญหาแรงงานเมียนมาอาจจะนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากไทย เมียนมา และ สปป.ลาว นั้นมีสัญญาชัดเจนว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน แต่แรงงานเมียนมาที่เข้ามาอยู่ในไทยส่วนใหญ่จะต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า อีกทั้งยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคการเมืองไทยบางพรรค โดยมี สส.ของพรรคดังกล่าวเข้าไปยุยงแรงงานเมียนมาให้ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว และมีการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ

“เรามีชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายนับล้านคน พอมีลูกก็พยายามจะเรียกร้องสิทธิให้ลูก อยากให้ลูกได้สัญชาติไทย บางส่วนก็ออกเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา มีการรวมกลุ่มเคลื่อนไหว ระดมทุน ขณะเดียวกันในชุมชนที่มีแรงงานเมียนมาอยู่เยอะๆก็จะมีธนาคารของตัวเอง โดยมีคนที่เป็นโต้โผรับฝาก-ถอนเงิน มีตลาดซื้อขายสินค้าของตัวเอง อย่างเช่นที่ตลาดพระโขนง นอกจากนั้นยังมีกำนันผู้ใหญ่บ้านของตัวเอง เช่น ที่ จ.สมุทรสาคร โดยจะมีไลน์กลุ่มชาวเมียนมา คนเมียนมาไปทำงานที่ไหน เขาเข้าไปดูแลหมด” พล.ท.นันทเดช ระบุ

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวนั้น 'รศ.ดร.อัทธ์' กล่าวว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าถึงเวลาที่รัฐบาลจะจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันเราไม่รู้ว่าแรงงานแต่ละคนทำงานที่ไหน อย่างไร และพักอยู่ที่ไหน เราจึงต้องมีการสำรวจ ขึ้นทะเบียน และจัดทำฐานข้อมูลว่าปัจจุบันมีแรงงานประเทศใดเข้ามาในไทยบ้าง จำนวนเท่าไหร่ ทำงานอะไรหรือเข้ามาทำธุรกิจอะไร พักอยู่ที่ไหน มีลูกหรือเปล่า ซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว หากแรงงานเหล่านี้สร้างปัญหาอะไรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้สามารถจัดการได้ทัน

โดยเฉพาะในส่วนของแรงงานเมียนมานั้นรัฐควรจะแยกกลุ่มให้ชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.แรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งต้องสำรวจให้ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าไหร่ อยู่ในอุตสาหกรรมใดบ้าง 2.แรงงานที่มีทักษะฝีมือ จบปริญญาตรี กลุ่มนี้สามารถบรรจุเข้าไปในสายงานที่ไทยขาดแคลนแรงงานเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ระบบเศรษฐกิจไทยและช่วยพัฒนาประเทศ และ 3.กลุ่มนักธุรกิจที่มีเงิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคลื่นลูกที่สามของเศรษฐกิจเมียนมา กลุ่มนี้มีศักยภาพด้านเงินทุนแต่ต้องมาจัดระเบียบว่าธุรกิจอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SME ซึ่งหากแต่ละกลุ่มเข้าสู่ระบบภาษีที่ชัดเจนจะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น

“เมื่อแรงงานเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะมีพลังในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องต่างๆ จึงจำเป็นที่รัฐต้องเร่งจัดระเบียบ ไม่อย่างงั้นเละแน่ ๆ ส่วนแรงงานที่ชอบเคลื่อนไหวหรือยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้นเมื่อจัดระบบแล้ว เราก็จะสามารถติดตามพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น หากพบว่ามีการกระทำผิดก็สามารถดำเนินการได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว

ด้าน ‘พล.ท.นันทเดช’ เห็นว่า เจ้าหน้าที่ควรเข้าไปดูแลและควบคุมแรงงานเมียนมาที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หากไม่จัดการก็จะลุกลามไปยังแรงงานกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะแรงงานกัมพูชา ส่วนแรงงานจาก สปป.ลาวนั้นไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเขาอยู่ในกรอบกฎหมายของไทย ซึ่งในยุค 20 ปีก่อนไทยเคยมี 'หน่วยปฏิบัติงานพิเศษ' ที่ทำหน้าที่ควบคุมชาวเมียนที่อยู่ในประเทศไทย เป็นการทำงานรูปแบบหนึ่งของหน่วยข่าวกรอง โดยชาวเมียนมาทุกคนต้องมารายงานตัวต่อหน่วยงานดังกล่าวว่าเข้ามาทำอะไรในประเทศไทย พักอยู่ที่ไหน หน่วยงานนี้จะรู้หมดว่ามีชาวเมียนมาเข้ามาในไทยกี่คน อยู่ที่ไหนบ้าง เราสามารถลงไปตรวจว่ายังอยู่ที่เดิมไหม สร้างปัญหาอะไรหรือเปล่า ทำให้เรามีฐานข้อมูลที่ชัดเจนและสามารถควบคุมแรงงานเหล่านี้ได้ แต่ภายหลังได้ยกเลิกไป โดยปัจจุบันหน่วยงานที่ทำงานด้านข่าวกรองของไทยไม่ได้เป็นหน่วยงานอิสระ แต่เป็นหน่วยงานที่ทำงานเพื่อตอบสนองฝ่ายการเมือง จึงละเลยเรื่องความมั่นคง ต่างจากเมื่อก่อนที่ทำงานโดยยึดเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก

“แนวทางในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวนั้นรัฐบาลไทยสามารถดำเนินการในรูปแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาทำ คือออกกฎหมายให้ต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยทุกคนต้องแจ้งต่อหน่วยงานความมั่นคงภายใน 7 วัน ทำให้รัฐมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว สามารถส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบว่าเข้าอยู่แล้วได้ทำงานไหม ทำงานอะไร ใบอนุญาตทำงานหมดอายุหรือยัง ถ้าไม่มีใบอนุญาตก็ต้องผลักดันออกนอกประเทศ” พล.ท.นันทเดช กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top