Friday, 18 April 2025
นักโทษ

‘วัชระ’ จี้ ‘พีระพันธุ์’ สอบปม ‘ทักษิณ’ จำคุกจริงหรือไม่? กร้าว!! ให้เวลา 7 วัน หากเรื่องไม่คืบเตรียมร้อง ป.ป.ช.

(4 ม.ค. 67) นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี ผ่าน นายสมพาส นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน 10 ประเด็น กรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า

เรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี แต่ไม่ได้จำคุกจริงในเรือนจำแม้แต่วันเดียวจริงหรือไม่ มีอาการป่วยเป็นเท็จหรือไม่ และอยู่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลาหรือไม่ และขอสำเนาเอกสารตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

เรียน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี

อ้างถึง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 381/2566 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2566

สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำคุก นช. ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 3 คดี คือ คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 4/2551 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก 3 ปี , คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 10/2552 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กำหนดโทษจำคุก 2 ปี ซึ่งคดีที่ 1 กับคดีที่ 2 นับโทษซ้อนกันรวมกำหนดโทษจำคุก 3 ปี, คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 5/2551 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมกำหนดโทษจำคุก 5 ปี จำนวน 1 ชุด

2. ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 จำนวน 1 ชุด

3. สำเนาข่าวผู้จัดการออนไลน์ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2566 สื่อนอกตีข่าว 'ทักษิณ' ป่วยทันทีหลังกลับไทย ถูกส่งตัวจากเรือนจำเข้าโรงพยาบาลเมื่อคืนนี้ จำนวน 1 ชุด 

4. หนังสือนายวัชระ เพชรทอง ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 เรื่องขอให้ระงับยับยั้งการที่จะส่งตัว นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษไปคุมขังนอกเรือนจำและขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษข้าราชการกรมราชทัณฑ์ เรียน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จำนวน 1 ชุด 

5. หนังสือนายวัชระ เพชรทอง ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2566 เรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี แต่ไม่ได้จำคุกจริงในเรือนจำแม้แต่วันเดียว และขอให้บังคับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งโทษอาญาและแพ่งให้ นช.ทักษิณชำระเงินให้แก่รัฐคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) จำนวนเงิน 189,125,644.55 บาท พร้อมดอกเบี้ย กราบเรียนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จำนวน 1 ชุด 

6. หนังสือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร 0105.5/47874 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ถึงนายวัชระ เพชรทอง จำนวน 1 ชุด ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่อ้างถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายและมอบอำนาจให้ รองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ในฐานะปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกระทรวงยุติธรรม (ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ) นั้น 

ข้าพเจ้านายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนกรณีเคลือบแคลงสงสัยว่า นช.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 3 คดี รวมกำหนดโทษจำคุก 8 ปี (สิ่งที่ส่งมาด้วย 1) และประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 มีการประกาศให้โทษจำคุกเหลือ 1 ปี (สิ่งที่ส่งมาด้วย 2) และข่าว นช. ทักษิณฯ ถูกส่งตัวจากเรือนจำเข้าโรงพยาบาลคืนวันที่ 23 สิงหาคม 2566 (สิ่งที่ส่งมาด้วย 3) แต่ไม่ได้มีการจำคุกจริงตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 (ไม่เท่าเทียมนักโทษทั่วไป) 

ต่อมาข้าพเจ้ามีหนังสือร้องเรียนกรณีดังกล่าวถึง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (สิ่งที่ส่งมาด้วย 4) และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (สิ่งที่ส่งมาด้วย 5) เนื่องจากมีการเอื้อประโยชน์เพื่อช่วยเหลือ นช.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นบิดาของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร (อุ๊งอิ๊ง) หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลในรัฐบาลนี้

ในการนี้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงข้าพเจ้าว่าได้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังและกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเพื่อพิจารณา (สิ่งที่ส่งมาด้วย 6) ซึ่งหมายถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังละเว้นไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามที่ข้าพเจ้าได้ร้องเรียนตามหนังสือลงวันที่ 26 ธันวาคม 2566 (สิ่งที่ส่งมาด้วย 5) 

บัดนี้ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกระทรวงยุติธรรม โปรดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี แต่ไม่ได้จำคุกจริงในเรือนจำแม้แต่วันเดียวจริงหรือไม่ ดังนี้

1. ปรากฏข้อเท็จจริงว่าวันที่ 22 สิงหาคม 2566 กรมราชทัณฑ์มีการดำเนินการตามขั้นตอนเมื่อรับ นช.ทักษิณ ชินวัตร เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือไม่ มีการกรอกทะเบียนประวัตินักโทษ (ร.ท.101) ครบทุกข้อจำนวน 4 หน้าหรือไม่ ถ่ายรูปในชุดนักโทษและตัดผมทรงนักโทษหรือไม่ เข้าห้องขังหรือไม่ มีข้าราชการการเมืองสั่งการให้ข้าราชการกรมราชทัณฑ์กระทำการขัดต่อระเบียบ กฎ กฎหมายของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ และขอให้ท่านมีข้อสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ส่งคลิปกล้องวงจรปิดของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

ในวันที่ 22-23 สิงหาคม 2566 ในจุดที่ นช.ทักษิณ เดินเข้าและออกจากเรือนจำแก่คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร และให้เปิดเผยต่อสาธารณชนด้วย 

2. กรณีแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ส่งตัว นช.ทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจมีอาการเจ็บป่วยจริงหรือไม่ ออกใบรับรองเท็จหรือไม่ และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแพทย์และพยาบาลทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้กันข้าราชการที่ให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยานด้วย

3. นช.ทักษิณ ชินวัตร อยู่พักรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลาหรือไม่ ป่วยจริงหรือไม่ มีแพทย์และพยาบาลดำเนินการรักษาจริงทุกวันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบันหรือไม่ มีเวชระเบียนการรักษาทุกวันหรือไม่ ขอให้เปิดเผยรายชื่อเจ้าพนักงานเรือนจำที่ควบคุม นช.ทักษิณไปโรงพยาบาลตำรวจทุกนาย และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าพนักงานเรือนจำที่ควบคุม นช.ทักษิณ ทุกนายและผู้ตรวจเวรที่ไปเฝ้า นช.ทักษิณทุกวันว่าได้พบ นช.ทักษิณหรือไม่ มีการบันทึกภาพหรือไม่ และมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่ โดยขอให้กันข้าราชการที่ให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยานด้วย

4. การออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2566 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เร่งรัดบังคับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการออกระเบียบให้ทันบังคับใช้ในปี 2566 หรือไม่ ขอให้ท่านมีข้อสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ส่งสำเนาการประชุมการร่างออกระเบียบดังกล่าวทุกครั้งแก่คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร และส่งสำเนาให้ข้าพเจ้าด้วยจำนวน 1 ชุด

5. ขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนกรณีกล้องวงจรปิดโรงพยาบาลตำรวจเสียทุกตัวทุกชั้นและขอให้ประสานงานสั่งการให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจภายใน 7 วันเพราะ นช.ทักษิณ ชินวัตร มีสภาพเป็นนักโทษเด็ดขาดอยู่ภายใต้กฎหมายของกรมราชทัณฑ์

6. ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2566 มีอำนาจเหนือคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำนวน 3 คดี (สิ่งที่ส่งมาด้วย 1) หรือไม่ และมีอำนาจเหนือราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 (สิ่งที่ส่งมาด้วย 2) หรือไม่ การเร่งรัดออกระเบียบฯ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นช.ทักษิณเป็นการละเมิดพระราชอำนาจตามพระบรมราชโองการที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 1 กันยายน 2566 หรือไม่ ท่านจะดำเนินการอย่างไร

7. ขอให้บังคับโทษทางแพ่ง นช.ทักษิณ ชินวัตร ชำระเงินให้แก่รัฐคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) จำนวนเงิน 189,125,644.55 บาท พร้อมดอกเบี้ย คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 4/2551 มีการบังคับคดีแล้วหรือยัง เมื่อไร ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ถ้ายังไม่ดำเนินการท่านจะสั่งการตามอำนาจหน้าที่อย่างไร

8. นช.ทักษิณ ชินวัตร พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 7 (3) ที่ต้องรายงานต่อรัฐมนตรีทราบนั้นขอให้เปิดเผยรายงานต่อพี่น้องประชาชนทั้งประเทศภายใน 7 วัน

9. ขอให้ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เดินทางไปโรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ภายใน 7 วัน เพื่อตรวจสอบว่า นช.ทักษิณ ชินวัตร ป่วยจริงหรือไม่ และอยู่โรงพยาบาลตลอดเวลาหรือไม่

10. มีข่าวว่าจะมีการทำบัญชีโยกย้ายข้าราชกรมราชทัณฑ์ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายการเมืองในกรณีนี้หลายตำแหน่ง ท่านจะให้ความยุติธรรมเบื้องต้นแก่ข้าราชการอย่างไร การกระทำของข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำตามข้อ 1 - ข้อ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างกรรมต่างวาระ ผิดประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรงจึงขอให้ท่านตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายใน 7 วันเพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐและนิติธรรม

ดังนั้นจึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทุกประเด็นในเรื่องนี้ เพื่อมาตรฐานความยุติธรรมที่เท่าเทียมกับนักโทษ 280,000 รายทั่วประเทศ รวมทั้งขอให้บังคับโทษทางอาญา นช.ทักษิณ ชินวัตร อย่างเคร่งครัด หากท่านไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่พี่น้องประชาชนร้องเรียนข้าพเจ้ามานี้ภายใน 7 วัน ข้าพเจ้าจำเป็นต้องยื่นร้องเรียนกล่าวโทษบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาเพื่อให้ ป.ป.ช.สอบสวนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกมาตราและสอบจริยธรรมร้ายแรงต่อไป และข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าท่านรักษาและปฏิบัติตามกฎหมาย ด้วยหลักนิติรัฐ นิติธรรม และจริยธรรมทรงการเมืองอย่างเคร่งครัด จึงได้ส่งหนังสือร้องเรียนมายังท่าน

อนึ่งขอให้กันข้าราชการกรมราชทัณฑ์ แพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจที่ให้การตามความจริงและเป็นประโยชน์แก่ทางราชการทุกคนไว้เป็นพยานทุกราย และเอกสารทุกข้อ ข้าพเจ้ามีความประสงค์ที่จะขอตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ขอให้จัดส่งแก่ข้าพเจ้าภายใน 30 วัน พร้อมลงลายมือชื่อรับรองเอกสารทุกแผ่น

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายโดยเร่งด่วน หากผลเป็นประการใดโปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าและพี่น้องประชาชนทราบโดยเร็วที่สุดด้วย จักขอบคุณ

‘ราชทัณฑ์’ เผย ‘ทักษิณ’ เข้าเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง-สูงวัย-เจ็บป่วยหลายโรค

(17 ม.ค. 67) ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม, นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขาฯ รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยนายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายบริหาร และนายแพทย์สมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงประเด็นสำคัญของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ เกินกว่า 120 วัน โดยในทุกห้วงเวลานับตั้งแต่รักษาตัวครบ 30 ครบ 60 และเกินกว่า 120 วัน ก็เป็นไปตามขั้นตอนที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ จะต้องมีความเห็นและรายงานไปตามลำดับชั้น ทั้งการรายงานต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อครั้งรักษาตัวครบ 60 วัน และเมื่อเกินกว่า 120 วัน ก็ต้องรายงานให้รัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งเมื่อวันที่ 12 ม.ค.67 ที่ผ่านมา นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เซ็นรับทราบการอนุญาตนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ จากนั้นวานนี้ (16 ม.ค.67) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้เซ็นรับทราบถึงการนอนพักรักษาตัวของนายทักษิณ ที่เกินมา 136 วัน ถือว่าเข้าเงื่อนไขและปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย

นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า กรณีของนายทักษิณ ที่นอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ ต้องยอมรับว่าได้ถูกตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นต้น โดยเฉพาะทางผู้ตรวจการแผ่นดิน มีตัวแทนขึ้นไปบนชั้น 14 รพ.ตำรวจ และได้พบนายทักษิณ ซึ่งส่วนตัวตนเองในฐานะข้าราชการการเมือง เชื่อมั่นว่านายทักษิณนอนพักที่ รพ.ตำรวจ จริง ไม่ได้อยู่ที่คอนโดมิเนียมอย่างที่สังคมเคลือบแคลงสงสัยแน่นอน จึงอยากให้การแถลงข่าววันนี้ได้ลงรายละเอียดลึกเพื่อให้สังคมได้เข้าใจข้อเท็จจริง

ด้านนายสิทธิ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าของระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 นั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกรมราชทัณฑ์ ได้มีการประชุมและรายงานต่อคณะกรรมการราชทัณฑ์ให้รับทราบถึงการดำเนินการ เพราะกฎกระทรวงกำหนดให้กรมราชทัณฑ์ต้องออกระเบียบนี้ ส่วนความคืบหน้าของระเบียบแนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ที่จะต้องมารองรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งในวันประชุม ทางฝ่ายเลขาก็ได้นำเสนอในที่ประชุมว่าถ้าหากคณะกรรมการราชทัณฑ์ท่านใดมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทางกรมราชทัณฑ์ก็จะต้องรับฟัง อีกทั้งในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิก็จะส่งข้อมูลให้กรมราชทัณฑ์ เพื่อเตรียมยกร่างหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณา แต่ ณ วันนี้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำยังไม่ได้มีการดำเนินการใด เพราะต้องรอระเบียบหลักเกณฑ์ แนวทางการปฏิบัตินี้ก่อน

ส่วนกลุ่มผู้ต้องขังในรายคดีใดที่จะได้รับการละเว้นจากระเบียบดังกล่าว เราต้องใช้ในการจำแนกวิเคราะห์เช่นกัน ว่ารายคดีใดจะได้ประโยชน์ หรือรายคดีใดต้องละเว้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน เพราะต้องไปศึกษาให้รอบคอบก่อนว่าจะแบ่งกลุ่มอย่างไร ส่วนจำนวนผู้ต้องขังล็อตแรกที่จะใช้พิจารณาก็ยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอการศึกษาให้รอบด้านก่อน และต้องรอฟังความเห็นจากคณะกรรมการราชทัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยเพื่อความรัดกุมที่สุด

นายสิทธิ กล่าวถึงประเด็นโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ว่า เรื่องนี้เป็นประโยชน์ของผู้ต้องขังที่มีสิทธิ์ได้รับ แต่การพิจารณาว่าผู้ต้องขังรายใดจะเข้าเกณฑ์โครงการดังกล่าวนั้น ทาง ผบ.เรือนจำฯ แต่ละแห่งจะเป็นผู้พิจารณาว่าใครมีความเหมาะสมหรือผ่านคุณสมบัติได้รับการพักโทษ ทั้งแบบกรณีมีเหตุพิเศษและแบบปกติ ซึ่งผู้ต้องขังจะไม่สามารถเสนอตัวเองได้ เป็นการจัดทำประมวลเรื่องโดยเรือนจำนั้นๆ อย่างไรก็ตาม เรือนจำแต่ละแห่งจะมีการพิจารณาผู้ต้องขังที่ผ่านเกณฑ์พักโทษในทุกเดือน แล้วจึงจะเสนอรายชื่อมายังกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ ที่จะประชุมในทุกเดือน ทั้งนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ โดยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังไม่ได้รับรายงานจากนายนัสที ทองปลาด ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถึงประเด็นรายชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร ว่าเข้าเกณฑ์โครงการพักการลงโทษหรือไม่

“สำหรับคุณสมบัติของนายทักษิณ หากดูจากหลักเกณฑ์ที่ว่าเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลาง สูงวัย และมีอาการเจ็บป่วย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาในโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป (นักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป) แต่อย่างไร ณ วันนี้ทางกรมยังไม่ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงยังไม่มีข้อมูลตรงนี้ ส่วนกระบวนการหากนายทักษิณผ่านเข้าโครงการดังกล่าวจริง จะเป็นการดำเนินการโดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติว่าจะจัดทำเรื่องเอกสารอะไรอย่างไร รวมถึงกรณีการติดกำไล EM จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพักการลงโทษที่จะพิจารณาเหตุต่างๆ หากจะไม่ติดกำไล ก็ต้องมีเหตุผลประกอบ” นายสิทธิ กล่าว

นายสิทธิ กล่าวถึงระบบพักการลงโทษว่า หากผู้ต้องขังรายใดเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ ตามขั้นตอนแล้วก็จะมีต้องมีรายชื่อของผู้อุปการะ ซึ่งกรมคุมประพฤติจะต้องไปสืบเสาะว่าใครจะเป็นผู้อุปการะผู้ต้องขัง และเมื่อพักโทษจะประกอบอาชีพอะไร และจะต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติอย่างไรบ้าง หรือกำหนดอาณาเขตว่าห้ามพ้นรัศมีเท่าใด หรือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ส่วนบทบาททางการเมือง ในระหว่างการพักโทษ สามารถกระทำได้หากไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือไปทำอะไรที่ผิดระเบียบ

‘ทักษิณ’ พลิกเกม!! ข้ามคดี ม.112 พร้อมกู่ก้อง ‘พักโทษกรณีพิเศษ’

ต้องขอบคุณ อ.วิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปปท.) ที่ทำหนังสือสอบถามความคืบหน้าคดีที่ นายทักษิณ ชินวัตร ถูกกล่าวหามีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีไปจ้อที่เกาหลีใต้...และมีคนร้องเอาผิดว่า ‘หมิ่นฯ’ จนกลายเป็นคดีนอกราชอาณาจักร และอัยการสูงสุด (อสส.) ต้องรับผิดชอบ...

ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อสส. ในขณะนั้นมีความเห็นเมื่อ 19 ก.ย.ว่า ‘ควรสั่งฟ้อง’ ตามที่พนักงานสอบสวนเสนอมา...แต่ช่วงนั้นอย่างที่รู้ ๆ กันว่าทักษิณกำลังหนีคดีทัวร์เที่ยวโลก ทาง อสส. จึงให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับ โดยคดีจะหมดอายุความ 21 พ.ค. 2567

นั่นแหละ!! อ.วิรังรอง จึงต้องทำหนังสือสอบถามทั้งพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี คือ กองบังคับการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และสำนักงานอัยการสูงสุด...

และวันนี้ (6 ก.พ. 67) ประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดมือโปร จึงนำทีมมาแถลงข่าวเรื่องนี้…โดยสรุปสาระสำคัญที่สุดได้ว่า...หลังจากทักษิณเดินทางกลับไทยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเมื่อ 22 ส.ค. 67 แล้ว เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 67 ทางสำนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา-พฤติการณ์คดีให้ทักษิณรับทราบพร้อมบันทึกคำให้การ ซึ่งนายทักษิณได้ยื่นเรื่องขอความเป็นธรรม...

ที่สุดของที่สุดจึงต้องรวบรวมเรื่องราวเสนอให้ อสส. พิจารณาเพื่อฟันธงอีกครั้ง ซึ่งการฟันธงมีความเป็นไปได้ 3 ทางคือ 

1) สั่งสอบเพิ่ม 
2) สั่งฟ้อง 
3) สั่งไม่ฟ้อง

โดยที่ระหว่างนี้หากวันที่ 18 หรือ 22 ก.พ. 67 หากทักษิณได้รับการพักโทษ ก็อยู่ที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการอย่างไร...ต้องดูด้วยว่าการดำเนินรวบรวมพยานหลักฐาน ข้อร้องเรียนต่าง ๆ ของทางอัยการเรียบร้อยหรือยัง...

ครับ...นั่นคือสาระจากด้านอัยการ แต่อีกด้านหนึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์...นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ ให้สัมภาษณ์ยอมรับแล้วว่าคนชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เข้าข่ายหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษคือ อายุเกิน 70 ปี ป่วย และรับโทษครบ 6 เดือน เพียงแต่ นายสหการณ์ เขินอายที่จะบอกว่าผู้ที่ได้รับการพักโทษในเดือนนี้มีชื่อทักษิณหรือไม่ แต่ยอมรับว่าเมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาผู้ได้รับการพักโทษได้จบสิ้นไปแล้ว...

ถึงบรรทัดนี้ก็ต้องขมวดลงตรงประเด็นสรุปว่า...จะด้วยความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมที่ถูกโกงความยุติธรรมหรือเพราะเหตุผลกลใดก็ตาม...มีแนวโน้มสูงยิ่งที่ ‘ทักษิณ’ จะได้รับการพักโทษโดยไม่ต้องไปตัดผมสั้น หรือต้องนุ่งกางเกงขาสั้นชุดนักโทษในเรือนจำ...ขณะที่คดี ม.112 ก็ยังคาราคาซัง คาสำนักงานอัยการต่อไป...

วันปล่อยตัวทักษิณ...ก็ไม่น่าจะมีใครได้เห็นหน้าเห็นตา...อีกต่างหาก

สวัสดีประเทศไทย

‘นพ.วรงค์’ โพสต์เฟซ ‘ทักษิณ’ ยกดัมเบล เล่นน้ำเริงร่ากับหลาน ชี้นี่คือ ‘นักโทษที่สภาพย่ำแย่’ หรือเป็น ‘นักโทษที่เย้ยกฎหมาย’ 

(8 เม.ย.67) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับกรณีที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์ภาพ นายทักษิณ ชินวัตร ยกดัมเบล เล่นกับหลานในสระน้ำ โดย นพ.วรงค์ ได้ระบุว่า ...

#คนอื่นตายช่างมัน

การที่อุ้งอิ้งโพสต์ภาพ นักโทษที่อยู่ในระหว่างพักโทษกรณีพิเศษ ยกดัมเบลเล่นกับหลานในสระน้ำ .........นี่หรือนักโทษที่ต้องพักโทษกรณีพิเศษเพราะอายุเกิน70 ปีและช่วยตัวเองไม่ได้

ไม่รู้ว่าอุ้งอิ้งรู้หรือไม่ว่า หลักการพักโทษกรณีพิเศษ จากเงื่อนไขอายุเกิน 70 ปี และช่วยตัวเองไม่ได้ จากการประเมินคะแนนช่วยเหลือตัวเองได้ 9 คะแนน นั่นหมายถึงสภาพที่ย่ำแย่

มีปัญหาทั้งการกินอาหาร ใส่เสื้อผ้า เดินไปมา ขึ้นลงบันได ลุกจากเตียง ล้างหน้าแปรงฟัน อาบน้ำ ใช้ห้องน้ำ กลั้นอุจจาระ กลั้นปัสสาวะ

เขาใช้หลักมนุษยธรรม เพื่อให้มาใช้ชีวิตบั้นปลาย สำหรับคนที่ช่วยตนเองไม่ได้ และไม่ให้เป็นภาระกับทางเรืนจำ จึงให้การพักโทษกรณีพิเศษ

สุดท้ายนี้ อนุกรรมการพักโทษ รวมทั้งอธิบดี รัฐมนตรี ต้องมารับผิดชอบแทน เพราะพวกคุณประเมินคะแนน ต่ำกว่าความเป็นจริง เข้าหลักขอให้กูรอด คนอื่นตายช่างมัน 

การท้าทายกฏหมาย ก็คือการท้าทายประชาชน

‘ปูติน’ ต้อนรับ 'พลเมืองรัสเซีย' ที่ถูกปล่อยตัว หลังบรรลุ ‘ดีล’ แลกนักโทษ กับชาติตะวันตก

เมื่อวานนี้ (2 ส.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ ประธานาธิบดีรัสเซีย เดินทางไปต้อนรับพลเมืองรัสเซียหลายคนที่ได้รับการปล่อยตัวภายใต้ข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษกับประเทศตะวันตก 

เที่ยวบินพิเศษที่ขนส่งชาวรัสเซียกลุ่มนี้ลงจอดที่ท่าอากาศยานวนูโคโว-2 ในกรุงมอสโก โดยมีการปูพรมแดงและมีกองทหารเกียรติยศจากหน่วยทหารพิเศษของประธานาธิบดีรัสเซียรอต้อนรับ ขณะที่ปูตินได้จับมือและกอดทักทายผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวแต่ละคน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘วาดิม คราซิคอฟ’ ที่ได้รับการปล่อยตัวจากเยอรมนี

อังเดร เบลูซอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และอเล็กซานเดอร์ บอร์ตนิคอฟ ผู้อำนวยการหน่วยความมั่นคงกลางของรัสเซีย ได้มาร่วมต้อนรับชาวรัสเซียที่เดินทางกลับมาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ปูตินได้กล่าวแสดงความขอบคุณต่อความภักดีของชาวรัสเซียกลุ่มดังกล่าว และแสดงความยินดีกับพวกเขาที่ได้เดินทางกลับรัสเซีย

จดหมายจาก ‘ขนุน-สิรภพ’ ผู้ต้องขังคดี 112 บรรยายถึง ‘ฤดูหนาวที่แสนร้อน’ ในโลกหลังกำแพง

(29 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเฟซบุ๊กบัญชี Sirapob Phumphengphut ของ ขนุน สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หนึ่งในแกนนำม๊อบเมื่อช่วงปี 2563 ซึ่งปัจจุบันถูกจำคุกจากการกระทำความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ได้โพสต์ว่า..

20 นาทีในทุกวันกับ จดหมาย 1 ฉบับที่มีค่าทางจิตใจ

ฤดูหนาวที่แสนร้อนนนนนนนนน

28/10/2024
สวัสดีครับแม่ เมื่อคืนที่ผ่านมาอากาศร้อนมากจนทำให้ การนอนนั้นยากมาก จากเหงื่อ ไอร้อน ทั้งสัญญาณที่บอกว่าฤดูหนาวกำลังจะมาเยือน (แม้จะเย็นแค่วันสองวันก็ตาม) อย่างพระอาทิตย์ที่ลับขอบฟ้าอย่างรวดเร็ว ฝนที่ค่อย ๆ จากไป ท้องฟ้าที่ค่อนข้างโปร่ง (จากบทสนทนาพี่อานนท์กับพี่หนุ่ม) แต่สิ่งหนึ่งที่หายไปคือ ความหนาวเย็น  นอนไม่หลับ ร้อน!!!!!!

รูปที่เห็นคือภาพที่หนุนวาดหลังพี่อานนท์ชี้ท้องฟ้าที่ค่อยๆมืด ไม่รู้สิถ้าหนุนได้อยู่บ้านคงดีกว่านี้ "ถึงจะร้อนก็มีแอร์เย็น ๆ" "ถึงจะร้อนก็มีน้ำเย็น ๆ ให้ดื่ม" "ถึงจะร้อนก็ได้ออกไปห้างฯ หอสมุด ร้านกาแฟเพื่อหลบร้อน" แต่พอหนุนถูก พรากสิทธิการประกัน สิ่งทั่วไปพวกนี้กลับดูราวเป็นเพียงความฝันที่ทำได้เพียง ระลึกถึง "ไม่มีที่ใดสุขเท่าบ้าน"

หนุนหวังว่า กระบวนการอำนวยความยุติธรรม จะเกิด/ ปฏิบัติกับ ผู้ต้องขังทางการเมือง ในเร็ววัน การประกัน คือหัวใจสำคัญที่จะสามารถ พาหนุนกลับบ้านได้ สุดท้ายหนุนไม่อยากอยู่ในสภาพอากาศร้อน ๆ แบบนี้ เพราะผื่นร้อนขึ้นง่ายมาก ทั้งการอ่านหนังสือก็ทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร หนุนอยากกลับบ้าน จะได้กลับไปทำตามความฝันดังที่ควรจะเป็นซักที

"คิดถึงแม่ ป๊า นะครับ"
ปล. เวลาร้อนชวนคิดอะไรไม่ออก

18.00 น. 27/10/2024
สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ
ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top