Monday, 20 May 2024
นักเรียนไทย

ศธ. รับนโยบายปรับหลักสูตรปลูกฝังเด็กนักเรียน เน้นรัก ‘ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์’ หวงแหนแผ่นดินเกิด

เมื่อวันที่ 26 พ.ย.นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้มีความน่าสนใจ และมีนโยบาย 8+1 กำหนดโครงสร้างเวลาเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ออกมา 1 รายวิชา เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจรักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอดและนำมาปรับประยุกต์ในปัจจุบัน 

โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ‘การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน’ และพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 เพื่อเป็นแนวทางให้ต้นสังกัดของสถานศึกษา และสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายอนุชา กล่าวว่า ในร่างประกาศ ศธ. ฉบับดังกล่าว กําหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ 1 รายวิชา โดยจัดเวลาเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ระดับประถมศึกษา 40 ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี (1 หน่วยกิตต่อปี) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง (2 หน่วยกิต) ซึ่งสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและต่อยอดประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ การบูรณาการประวัติศาสตร์กับรายวิชาอื่น และการศึกษานอกสถานที่และแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เป็นต้น หากบอร์ด กพฐ.พิจารณาให้ความเห็นชอบ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามในประกาศ ศธ. จะมีการแยกรายการประเมินผลการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ใหม่ โดยในแบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา (ปพ.3) จะมีการแสดงผลการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์แยกออกมา จากเดิมที่รวมอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 

‘สาวกิมจิ’ ชี้!! ชีวิต นร.เกาหลีใต้หดหู่ ต้องเรียน ‘เช้าจรดดึก’ เทียบ นร.ไทย ‘ดีกว่า’ เลิกเรียนเวลาปกติ แถมมีชีวิตอิสระ

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีวิดีโอที่เป็นไวรัลอยู่ในโลกออนไลน์ เป็นวิดีโอของหญิงสาวชาวเกาหลีใต้ที่ออกมาเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนในเกาหลีใต้ และเน้นย้ำว่าชีวิตนักเรียนเกาหลีใต้น่าสงสาร แตกต่างจากนักเรียนไทยที่ดีและมีอิสระมากกว่า…

หญิงสาวชาวเกาหลีใต้เจ้าของวิดีโอมีชื่อว่า ‘ริซชี่’ ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมาแล้ว 15 ปี โดยเธอได้ระบุในวิดีโอว่า เรื่องที่ไทยดีกว่าเกาหลีใต้ มีหลายเรื่องมาก ๆ หนึ่งในนั้นคือเรื่องชีวิตประจำวันของนักเรียน โดยที่เกาหลีใต้จะมีตารางเรียนให้นักเรียน ซึ่งเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม ใน 1 วันเรียนทั้งหมด 7 วิชา และต้องกินข้าวกลางวันและข้าวเย็นที่โรงเรียน

เธอยังระบุอีกว่า วิชาสุดท้ายเรียนจบตั้งแต่ช่วงห้าโมงเย็นแล้ว แต่ทางโรงเรียนบังคับนักเรียนให้อ่านหนังสือต่อจนถึงสี่ทุ่ม หลังจากอ่านหนังสือเสร็จก็ยังไม่ได้กลับบ้าน เพราะต้องไปเรียนพิเศษต่อ โดยจะมีรถบัสเรียนพิเศษมารอรับที่โรงเรียนเลย และเรียนพิเศษจนถึงเที่ยงคืน สำหรับการเรียนพิเศษ ต้องไปทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้หยุด ทำให้เด็กนักเรียนเจอคุณครูมากกว่าพ่อแม่เสียอีก

สาวเกาหลีใต้รายนี้ยังระบุอีกว่า จริง ๆ ก็เรียนไหว ไม่ได้แย่ขนาดนั้น เพราะตอนที่เรียนมีเพื่อนอยู่ด้วยทุกคน เธอยังบอกอีกว่าสาเหตุที่ต้องเรียนโหดขนาดนี้ เพราะว่าการแข่งเกาหลีสูงมาก ๆ เพื่อให้ได้งานดี ๆ ก็ต้องเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ให้ได้ก่อน ซึ่งแตกต่างจากฝั่งตะวันตกที่สอนว่าความสามารถของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต่อให้เรียนไม่เก่งก็ยังสามารถมีความสุขได้ แต่สำหรับที่เกาหลีใต้นั้นมีทรัพยากรไม่มากพอ ทำให้โรงเรียนและผู้ปกครองพยายามสอนนักเรียน ต้องเรียนให้เก่ง เพื่อหางานดี ๆ จะได้มีชีวิตที่ดีในอนาคต 

ริซชี่ระบุทิ้งท้ายว่า ตัวเธอเองไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเกาหลี และหวังว่าในอนาคตอยากเห็นนักเรียนที่เกาหลีใต้มีชีวิตที่ดี และสามารถเลิกเรียนได้ตามเวลาปกติเหมือนเด็กนักเรียนไทย 

‘แม่มณี’ วิเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทย ‘ครู-เด็กไทย’ ได้เวลาต้องปรับเปลี่ยน

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 23 ก.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณมณีรัตน์ ลิมป์รัตนกาญจน์ หรือ ‘แม่มณี’ อดีตคณะทำงานรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ดีกรีนักกฎหมายจาก King’s College London, นักธุรกิจมากความสามารถ, นักขับเคลื่อนงานด้านประชาสังคม พ่วงบทบาทในแวดวงการเมืองร่วม 10 ปี และอดีตผู้สมัครผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย ได้พูดคุยในมุมมองปัญหาการศึกษาไทย กับ การนำสื่อดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาด้านการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ ว่า... 

“ปัญหาการศึกษาไทยควรลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาไทย” คุณมณีรัตน์ เริ่มบทสนทนา พร้อมทั้งกล่าวต่อว่า ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเด็กประถม หรือมัธยม ที่อยู่ในต่างจังหวัดห่างไกล ค่อนข้างเข้าถึงคุณครู หรือแม้แต่เนื้อหาต่างๆ ได้ยากกว่าเด็กที่อยู่กรุงเทพมหานคร หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ ขณะเดียวกันความน่าสนใจในการสอนก็เป็นอีกปัญหาที่ทำให้การซึมซับและเรียนรู้ลดลง ซึ่งถ้าเด็กเหล่านี้ได้เรียนกับครูที่มีสไตล์การสอนที่ดึงดูดอย่างน่าสนใจ เนื้อหาเข้มข้นหลากหลาย จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กเหล่านี้อย่างเท่าเทียม 

คุณมณีรัตน์ กล่าวว่า “ทางออกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยให้ครูหรือติวเตอร์ชื่อดัง สอนผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อให้เด็กต่างจังหวัดได้มีโอกาสเรียนกับครูเก่งๆ แทนที่จะหวังแต่ผลิตครูเก่งๆ ซึ่งเอาจริงๆ ก็สามารถทำควบคู่กันได้ แต่อาจใช้ระยะเวลานานกว่า นี่คือทางแก้ในส่วนของเด็ก

“ขณะเดียวกัน ในส่วนของปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครูทั้งจำนวนและคุณภาพ ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง โดย คุณมณีรัตน์ มองว่า การสอนของครูในปัจจุบันอาจต้องปรับแนวคิดการสอนให้มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัยของนักเรียน ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลทั้งคุณภาพของนักเรียนและคุณภาพของครูไปพร้อมๆ กัน”

เมื่อถามถึงอีกปัญหาสำคัญของเด็กไทยที่ยังอ่อนภาษาอังกฤษ? คุณมณีรัตน์ ชี้ว่า “เนื่องจากปัจจุบันเราอาจยึดติดกับการสอนภาษาอังกฤษแบบเดิมๆ (เรียนไปไม่ได้ใช้จริง) ซึ่งหากเรามองตัวอย่างหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนต่างชาติ เขาจะมีหลักสูตรการสอนไม่เหมือนเรา เราอาจะต้องปรับรูปแบบการสอนและหลักสูตรให้เด็กรักการอ่านมากขึ้น หรือสร้างแพลตฟอร์มการศึกษาผ่านออนไลน์ โดยใช้ Big Data ที่รวบรวมทุกหลักสูตร แบ่งเป็นวิชา เนื้อหา แล้วให้นักเรียนมีโอกาสได้นำมาศึกษาด้วยตัวเองควบคู่ไปด้วย”

คุณมณีรัตน์ เสริมอีกด้วยว่า “รูปแบบของหลักสูตรต่อจากนี้ ก็อย่ายึดหลักแบบที่เป็นอยู่เท่านั้น แต่ควรมีหลักสูตรอื่นๆ เช่น การฝึกพูดภาษาอังกฤษ, การบริหารธุรกิจ, การเล่นดนตรี, การทำอาหาร ฯลฯ จากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ทั้งจากไทยและต่างประเทศ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษามากขึ้นเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต” 

เมื่อถามถึงการศึกษากับความสอดคล้องต่อตลาดแรงงาน? คุณมณีรัตน์ มองว่า “ควรถึงเวลาส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา เรียนจบมาได้ทำงานที่ตรงสายกับที่เรียนมา และสอดคล้องกับตลาดแรงงาน ส่งเสริมการฝึกอาชีพระหว่างเรียน ทำให้เกิดทักษะวิชาชีพ ได้พัฒนาในหลายๆ ด้านและมีรายได้จริง”

เมื่อถามถึงในอนาคต AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) จะเข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานมากขึ้น จนทำให้หลายคนกลัวว่า AI จะมาแย่งงานมนุษย์แค่ไหน? คุณมณีรัตน์ กล่าวว่า “จริงๆ แล้วเราควรมองว่าทำอย่างไรให้แรงงานไทยทำงานร่วมกับ AI ได้ในอนาคต ควรฝึกเด็กทำงานร่วม AI กันตั้งแต่ตอนเรียน เมื่อทำงานจริงก็สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างไม่มีรอยต่อ”

คุณมณีรัตน์ ยังให้มุมคิดต่อผู้เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบต่ออนาคตของชาติไว้อย่างน่าสนใจทิ้งท้ายด้วยว่า ควรส่งเสริมให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) และ ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ควบคู่กันไป โดยเฉพาะครอบครัวและสถานศึกษาต้องช่วยกันปลูกฝังให้เด็กโตมามีความฉลาดทางอารมณ์ รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ควบคุมอารมณ์ได้อย่างมีทิศทางที่ถูกต้องเป็นพลังบวก 

หากเดินหน้ากระบวนทัศน์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทยสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืน จนกลายเป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศชาติได้ต่อไป

‘หนูน้อย’ กำลังสอบคณิตฯ ต้องนับนิ้วบวกลบ แต่คงไม่พอ ถึงขั้นงัดวิธีคิดเลขในตำนานขึ้นมาช่วย ทำชาวเน็ตแห่เอ็นดู

(30 ก.ย.66) ผู้ใช้ TikTok : pudong87 เผยคลิปน่าเอ็นดู ของน้องนักเรียนที่ต้องเข้าสอบวิชาคณิตศาสตร์ โดยหนูน้อยคนนี้พยายามใช้นิ้วมือขึ้นมานับเลข แต่ไม่พอ จึงต้องใช้นิ้วเท้าขึ้นมานับด้วย ซึ่งเชื่อว่าใครหลายคนที่เห็นคลิปนี้ก็อดยิ้มตามไม่ได้ ทำให้มีพี่ๆ ชาวเน็ตเข้ามาคอมเมนต์จำนวนมาก จินตคณิตต้องเข้าแล้วละ เห็นเด็กๆ เขานับง่ายๆ มาก, ผมนับหัวเพื่อนเอาบางทีไม่พอก็รวมหัวครูไปด้วย 5555, อยากให้ทุกๆ รร.มีหลักสูตรจินตคณิต นร.จะได้เก่งทุกคนแบบไม่ต้องไปเรียนพิเศษ, เพื่อความชัวร์ ทำไปลูก เอาที่เราถนัด, หนูมีความตั้งใจ มุ่งมั่น บากบั่น เพียรพยายาม และจดจ่อรับผิดชอบต่อหน้าที่, วิธีคิดเลขในตำนานค่ะ 555, ขอโทษด้วยนะลูกป้าขำจนน้ำพุ่งเพราะเหมือนหนูเหมือนลูกสาวป้าเลย 

สิทธิ์ให้ทุน ‘นักเรียนไทย’ มาเรียนต่อ ‘จีน’ อาจน้อยลง หลังพบเด็กไทยโกงข้อสอบ HSK โดยมีผู้คุมสอบช่วย

เมื่อวานนี้ (17 ม.ค.67) ผู้ใช้ติ๊กต็อก mikeawzmeaw หรือ อดีตนักเรียนไทยทุนจีน ได้โพสต์คลิปวิดีโอหัวข้อ ‘สิทธิ์ให้ทุนนักเรียนน้อยลง เพราะโกงข้อสอบ’ ซึ่งในคลิประบุว่า…

“สิทธิ์ให้ทุนนักเรียนไทยมาเรียนต่อที่ประเทศจีนอาจจะลดน้อยลง เพราะว่านักเรียนไทยทําสิ่งนี้…” ซึ่งอันนี้คือการสอบครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา มีเด็ก ‘โกงข้อสอบ’ โดยมีผู้คุมสอบ HSK5 ช่วยกันลากเมาส์ในพาร์ททั้งกาและเขียน ซึ่งตอนนี้กําลังอยู่ในส่วนของการตรวจสอบข้อมูลกันอยู่ว่าความเป็นไปเป็นมามันเป็นยังไงบ้าง

ดังนั้น จะบอกได้ว่าตอนนี้ทุนที่เขาให้นักเรียนไทยไปเรียนต่อที่ประเทศจีนมันลดน้อยลงไปอยู่แล้ว และมีข่าวนี้อีก ถ้าให้ภาษาบ้าน ๆ ก็เรียกได้ว่างามหน้ามาก ๆ ซึ่งเอาจริง ๆ ไม่คิดว่าเด็กไทยจะทำเรื่องแบบนี้ จึงอยากจะขอย้ำขอเตือนในฐานะที่เป็นหนึ่งคนที่เคยได้ทุนในการเรียนต่อที่ประเทศจีน ทุนนี้เขาให้เปล่าแล้วก็ให้ฟรีด้วย ทุกคนไม่ต้องใช้เงินทุนคืน แต่สิ่งที่คุณทําอยู่มันไม่ใช่แค่ส่งผลต่อตัวเอง แต่มันส่งถึงระดับประเทศระดับชาติ แล้วชื่อของคุณมันก็จะถูกแบล็คลิสต์ไป และมีโอกาสที่จะไม่ได้ใช้วีซ่าเข้าประเทศจีนอีกต่อไป ดังนั้น เพื่อน ๆ คนไหนที่คิดจะทําเรื่องนี้อยู่ ขอแนะนําว่าอย่าทําเด็ดขาด…”

หมายเหตุ : (HSK หรือ Hanyu Shuiping Kaoshi เป็นการสอบวัดระดับความสามารถภาษาจีนที่จัดขึ้นโดย Chinese Test International (CTI) ซึ่งเป็นองค์กรที่วิจัยพัฒนาข้อสอบวัดระดับภาษาจีนของชาวต่างชาติมาอย่างยาวนาน)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top