Sunday, 19 May 2024
นักวิจัย

'นักวิจัย' เผย ผลสำรวจพบ 'องคชาต' ของผู้ชายทั่วโลก เพิ่มขึ้นถึง 24% ตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

(21 ก.พ. 66) ทีมนักวิจัยทางการแพทย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะ (urology) จากสหรัฐฯ และอิตาลี ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดลงในวารสาร The World Journal of Men’s Health โดยระบุว่า ขนาดของอวัยวะเพศชายขณะแข็งตัวเต็มที่นั้น ดูเหมือนว่าจะขยายยาวเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้

ขนาดของอวัยวะเพศชายดังข้างต้น เป็นค่าเฉลี่ยที่ได้จากการสำรวจประชากรบุรุษทั่วโลก 55,761 คน ในการสำรวจหลายครั้งที่จัดทำขึ้นระหว่างปี 1942-2021

ทีมผู้วิจัยบอกว่า ค่าเฉลี่ยดังกล่าว มีความน่าเชื่อถือในระดับสูง เพราะการตรวจวัดขนาด 'น้องชาย' ในการสำรวจทุกครั้ง ทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้เครื่องมือได้มาตรฐาน โดยไม่นำเอาข้อมูลจากการวัดขนาดด้วยตนเองของกลุ่มตัวอย่างมาพิจารณาร่วมด้วย

ผลการสำรวจพบว่า ความยาวของอวัยวะเพศชายขณะแข็งตัวเต็มที่ ในหลายภูมิภาคของโลกและในทุกกลุ่มอายุ เพิ่มขึ้นถึง 24% ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญอย่างสูง โดยความยาวของอวัยวะเพศชายขณะแข็งตัวเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยเดิมที่ 12.3 เซนติเมตร (4.8 นิ้ว) ไปเป็น 15.2 เซนติเมตร (6 นิ้ว) ในปัจจุบัน

‘นักวิจัย มก.’ พบ ‘กุ้งเต้นปั่นท่อ’ ชนิดใหม่ของโลก  บริเวณแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม

(18 ธ.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘Kasetsart University’ โพสต์ข้อความระบุว่า “ทีมนักวิจัย มก. พบกุ้งเต้นปั่นท่อชนิดใหม่ของโลกบริเวณแม่น้ำแม่กลอง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นรายงานแรกที่พบในอ่าวไทยและในแม่น้ำ

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ดร. กรอร วงษ์กำแหง นางสาวชนิกานต์ เกตุนวม และ ดร.ทศพล แซ่ตั้ง กีฏพิชญกุล ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Assoc. Prof. Dr. Azman Abdul Rahim จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia) ร่วมกันพบกุ้งเต้นปั่นท่อชนิดใหม่ของโลกบริเวณแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม

โดยทั่วไปกุ้งเต้นปั่นท่อชนิดอื่น ๆ พบกระจายบริเวณชายฝั่งในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก การค้นพบครั้งนี้เป็นรายงานแรกของกุ้งเต้นปั่นท่อในอ่าวไทย และเป็นรายงานแรกที่พบกุ้งเต้นปั่นท่อในแม่น้ำ ผศ.พงษ์รัตน์ ดำรงโรจน์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานจึงได้ตั้งชื่อให้ว่า Cerapus rivulus ซึ่งหมายถึงแหล่งอาศัยของกุ้งเต้นปั่นท่อที่พบในแม่น้ำนั่นเอง

แม่น้ำแม่กลอง เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลลงสู่อ่าวไทยโดยมีปลายทางคือจังหวัดสมุทรสงคราม มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ บริเวณที่เป็นน้ำจืดคือในเขตอำเภอบางคนทีมีการทำเกษตรกรรม และอำเภออัมพวาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง ส่วนปากแม่น้ำบริเวณดอนหอยหลอดก็เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศ

ในปีที่ผ่านมามีการค้นพบกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลกที่อำเภออัมพวา 2 ชนิดและเมื่อศึกษาต่อเนื่อง ในปีนี้ทีมสำรวจได้สำรวจไกลขึ้นไปในเขตอำเภอบางคนที และได้พบกุ้งเต้นปั่นท่อสร้างท่อติดไว้กับเครื่องมือวิจัยที่ติดไว้ที่ท่าน้ำบริเวณหน้าโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ กุ้งเต้นชนิดนี้มีการปรับรยางค์ให้ดำรงชีวิตอยู่ในท่อได้ตลอดชีวิต

ทีมงานวิจัยได้ลองเลี้ยงและบันทึกพฤติกรรมในการสร้างท่อ การสืบพันธุ์และการกินอาหารพบว่ากุ้งเต้นปั่นใยจับตะกอนแขวนลอยในมวลน้ำกินเป็นอาหาร ช่วยให้น้ำในพื้นที่นั้นสะอาดขึ้น

นอกจากนี้ใยที่กุ้งเต้นปั่นท่อสร้างออกมาจากขาเดินคู่ที่ 3 และ 4 ยังมีคุณสมบัติที่เหนียวและสามารถยึดกับวัสดุใต้น้ำได้ มีรายงานการพบกุ้งเต้นปั่นท่อในพื้นที่ที่น้ำไหลค่อนข้างแรงจึงทำให้มีการปรับตัวที่น่าสนใจ

การค้นพบดังกล่าวอาจนำไปต่อยอดในแง่ของชีวลอกเลียน (Biomimic) ในการสร้างกาวที่มีความยืดหยุ่นสูงและยึดติดใต้น้ำได้ โดยได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยค้นพบกุ้งเต้นปั่นท่อเผยแพร่ลงในวารสาร Zoosystematics and Evolution เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://zse.pensoft.net/article/107974/

‘นักวิจัย มข.’ เปลี่ยน ‘กากต้นเฉาก๊วย’ เป็น ‘เชื้อเพลิงอัดเม็ด-ตัวซับสารพิษ’ ช่วยลดปริมาณขยะฝังกลบ-ต่อยอดของเสีย สู่ ‘ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า’

(9 ม.ค.67) มข.วิจัย ‘กากต้นเฉาก๊วย’ หนุนภาคอุตสาหกรรมไทย ต่อยอดจนนำไปสู่การสร้างขยะหรือของเสียให้มีมูลค่าเพิ่ม จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงอัดเม็ด และตัวดูดซับสารปนเปื้อนได้สำเร็จ ยกระดับจาก Zero waste ให้กลายเป็น Waste to value ได้สำเร็จ

มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ภายใต้การอำนวยการของ รศ.นพ.ชาญชัยพาน ทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รายงานถึงสถานการณ์ ท่ามกลางความพยายามในการจัดการกับของเสียหรือขยะจากภาคอุตสาหกรรม นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่เพียงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้โจทย์ปัญหา Zero waste แต่ยังต่อยอดจนนำไปสู่การสร้างขยะหรือของเสียให้มีมูลค่า หรือ Waste to value ซึ่งเป็นเทรนด์ของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกในขณะนี้ รศ.ดร.ยุวรัตน์ เงินเย็น อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ น.ส.ฉัตรลดา ไชยวงค์ นักศึกษาปริญญาโท และทีมนักศึกษาปริญญาตรี จึงได้จับมือกับเฉาก๊วยแบรนด์ดังอย่าง “เฉาก๊วยเต็งหนึ่ง” นำกากต้นเฉาก๊วยซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการผลิตที่ถูกฝังกลบทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ปีละหลายพันตันมาเพิ่มมูลค่าจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงอัดเม็ด

รศ.ดร.ยุวรัตน์ เงินเย็น อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า “ทีมวิจัยของเรานับเป็นที่แรกของโลกที่นำกากต้นเฉาก๊วยมาสร้างเป็นเชื้อเพลิงอัดเม็ดและตัวดูดซับสารปนเปื้อนได้สำเร็จ มีประสิทธิภาพสูง ใช้งานได้จริง ยกระดับจาก Zero waste ให้กลายเป็น Waste to value ได้สำเร็จ”ด้วยคุณสมบัติของกากต้นเฉาก๊วยที่ให้ค่าความร้อนที่สูงอยู่แล้ว การนำมาแปรรูปเป็น ‘เชื้อเพลิงอัดเม็ด’ จะยิ่งช่วยลดพื้นที่ในการจัดเก็บ รวมทั้งลดต้นทุนการขนส่ง ผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็มีความแข็งแรงทนทานมาก และไม่ต้องใช้ตัวประสานในการอัดเม็ด จึงทำให้ลดต้นทุนในการผลิตต่างจากชีวมวลชนิดอื่น ทั้งยังมีคุณลักษณะเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (มอก.) ไม่เพียงเชื้อเพลิงอัดเม็ด รศ.ดร. ยุวรัตน์ ยังชวนทำความรู้จักกับถ่านชีวภาพ (Biochar) และถ่านกัมมันต์ (Activated carbon) หรือชื่อที่หลายคนคุ้นเคย คือ ชาร์โคล ซึ่งเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

โดยทีมวิจัยได้นำกากต้นเฉาก๊วยมาผ่านกระบวนการสร้างรูพรุนด้วยการให้ความร้อนและสารเคมี เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวของวัสดุให้มีคุณสมบัติในการดูดซับ ก่อนจะพัฒนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้าน wastewater treatment โดยดูดซับไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และดูดซับสีย้อมเมทิลีนบลู (Methylene Blue Dye) ซึ่งเป็นสีย้อมที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เพื่อลดมลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม ‘ประสิทธิภาพของถ่านชีวภาพจากกากต้นเฉาก๊วยนั้นดียิ่งกว่าถ่านชีวภาพจากซังข้าวโพดหรือเมล็ดทานตะวันด้วย รวมถึงถ่านกัมมันต์จากวัสดุชีวมวลอีกหลาย ๆ ชนิด’

ทั้งนี้ รศ. ดร. ยุวรัตน์ กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า ผลงานวิจัยที่ถูกสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพืชเฉาก๊วยที่ไม่น้อยไปกว่าชีวมวลชนิดอื่น ๆ โดยหลังจากนี้ ทีมวิจัยจะยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกากต้นเฉาก๊วยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำขี้เถ้าที่เหลือภายหลังการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงอัดเม็ดจากกากต้นเฉาก๊วยมาทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น อาจนำมาสร้างเป็นอิฐบล็อกจากขี้เถ้ากาก ซึ่งต้องบูรณาการการทำงานกับคณะหรือสาขาอื่น ๆ เพื่อนำองค์ความรู้มาร่วมกันต่อยอดต่อไป ไม่ให้งานวิจัยหยุดอยู่เพียงบนหิ้งเท่านั้น

นักวิจัย ม.ทักษิณ และคณะ ค้นพบ 'เห็ดกรวยส้มทักษิณา' เห็ดชนิดใหม่ของโลกในพื้นที่จังหวัดพัทลุง

อาจารย์ ดร.ภูมิน นุตรทัต คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ จับมือ ดร.นครินทร์ สุวรรณราช และ ดร.จตุรงค์ คำหล้า สำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัณณิดา ขุนนามวงษ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันสำรวจและศึกษาวิจัยจนค้นพบ “เห็ดกรวยส้มทักษิณา” เห็ดชนิดใหม่ของโลก ซึ่งจัดอยู่ในสกุล Gloeocantharellus ที่ขึ้นอยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จากความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่ คาดว่าจะพบเห็ดชนิดใหม่อีกหลายชนิดที่รอการยืนยันและการศึกษาเชิงลึกต่อไป

การศึกษาวิจัยในครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อมูลฐานชีวภาพภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบระบบนิเวศป่าสาคู ซึ่งอยู่ภายใต้หัวข้อวิจัย “เห็ดป่าในป่าสาคูจังหวัดพัทลุงสู่การนำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาต่อยอดทางอุตสาหกรรมเกษตร” เพื่อศึกษาความหลากชนิดของเห็ดในป่าสาคู ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยมูลฐาน (Fundamental Fund) ประจำปีงบประมาณ 2566  จากมหาวิทยาลัยทักษิณ

ทีมวิจัยยังได้สำรวจความหลากชนิดของเห็ดเบื้องต้นในรั้วมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และจากการสำรวจและวิจัยของทีมวิจัยได้ค้นพบเห็ดชนิดใหม่ของโลก “เห็ดกรวยส้มทักษิณา” ซึ่งจัดอยู่ในสกุล Gloeocantharellus ที่เป็นเห็ดเอกโตไมคอร์ไรซากับพืชถิ่นของมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Gloeocantharellus thailandensis” ทั้งยังเป็นการรายงานครั้งแรกของเห็ดสกุลนี้ในประเทศไทยอีกด้วย

ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้ใช้หลักอนุกรมวิธานสมัยใหม่ในการบ่งบอกชนิดเห็ดสกุลนี้ จากข้อมูลสัณฐานวิทยาร่วมกับศึกษาข้อมูลทาง DNA ของลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีนไรโบโซม internal transcribed spacer (ITS) และ large subunit (LSU) รวมถึงการใช้ลำดับนิวคลีโอไทด์ของโปรตีนในส่วน mitochondrial ATPase subunit 6 เพื่อใช้ศึกษาแผนภูมิวิวัฒนาการของเห็ดสกุลนี้ จนสามารถยืนยันได้ว่าเห็ดที่ศึกษานี้เป็นเห็ดชนิดใหม่ของโลก

ปัจจุบันเห็ดสกุล Gloeocantharellus มีรายงานการค้นพบแล้ว 19 ชนิดทั่วโลก โดยเห็ดชนิดใหม่ที่ค้นพบในมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ถือเป็นชนิดที่ 20 ที่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสมาชิกใหม่ของโลก และงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ในหัวข้อ “Gloeocantharellus thailandensis (Gomphaceae, Gomphales), a new macrofungus from southern Thailand”

จากการศึกษาความหลากชนิดของเห็ดเบื้องต้นในครั้งนี้ยังพบเห็ดที่คาดว่าเป็นเห็ดชนิดใหม่อีกหลายชนิดในรั้วมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ที่รอการยืนยันชนิดและการศึกษาเชิงลึกต่อไป

การพบเห็ดชนิดนี้อยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ถือเป็นการสะท้อนบ่งบอกว่าพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศเป็นอย่างดี และสมควรที่จะต้องดูแลรักษาไว้ โดยมหาวิทยาลัยทักษิณสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และสนับสนุนการจัดการพื้นที่สีเขียวภายในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ของมหาวิทยาลัยยังคงเป็นพื้นที่สีเขียวมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่มหาวิทยาลัยทั้งหมด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top