ออกหมายจับ ‘ธาริต' หลังเบี้ยวศาลนัดอ่านฎีกาครั้งที่ 7 อ้างพักฟื้นผ่าตัด แต่อาจหลบหนีศาลคดีสลายชุมนุมปี 53
(2 ก.พ. 66) ที่ห้องพิจารณา 811 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำสั่ง/ คำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 7 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี 2553 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐาน "เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสี่ โจทก์ ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์ แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสี่กระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับ ให้จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 3 ปี ลดโทษให้1ใน3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี
จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกา อ้างว่า มีพยานหลักฐานใหม่ในคดี ขอให้ศาลฎีกา พิจารณา พิพากษาใหม่ และนายธาริต จำเลยที่ 1 มอบหมายให้ทนายความยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อนโดยให้เหตุผลต่างกันหลายครั้ง โดยครั้งหลังสุด ขอเลื่อนโดยให้เหตุผลเนื่องจากต้องผ่านิ่วในไตทั้ง 2 ข้าง ใช้เวลารักษานานราว 4 เดือน รวมทั้ง นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมล หรือน้องเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตที่วัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 และญาติผู้เสียชีวิตราย อื่นๆ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความที่สามในคดีด้วย
ศาลอาญาจึงมีคำสั่งให้ส่งคำร้องทั้งหมดให้ศาลฎีกา พิจารณาเพื่อมีคำสั่งคำร้อง โดยองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาจะพิจารณาผ่านระบบจอภาพผ่านศาลอาญา
นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาวันนี้ ทนายโจทก์ที่ 1-2 จำเลยที่ 2-4 ทนายจำเลยที่ 1 พนักงานอัยการในฐานะทนายจำเลยที่ 3,4 ผู้รับมอบอำนาจนายประกันจำเลยทั้ง4มาศาล ส่วนจำเลยที่ 1 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา
ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าตามที่ได้แถลงต่อศาลในนัดที่แล้วว่า จำเลยที่ 1 เจ็บป่วยเป็นโรคนิ่วในไตทางด้านซ้ายและด้านขวา ต่อมาในวันที่ 29 มกราคม 2566 จำเลยที่ 1 ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ โดยแพทย์ได้ทำการผ่าตัดส่องกล้องผ่านท่อไตและใส่สายระบายเลือดไว้ในท่อไตทั้งสองข้าง จำเลยที่ 1 จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อพักฟื้นและต้องติดตามอาการเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อประเมินสภาพไตและก้อนนิ่วอีกครั้ง รายละเอียดตามคำร้องขอเลื่อนคดี ฉบับลงวันที่ 1 ก.พ.66 พร้อมเอกสารแนบท้าย
