Tuesday, 21 May 2024
ธรณ์ธำรงนาวาสวัสดิ์

‘ดร.ธรณ์’ เปรียบเทียบ ‘อ่าวมาหยา’ ในอดีตและปัจจุบัน ไร้นักท่องเที่ยว แต่เป็นความสงบที่สวยงาม

(24 มี.ค. 66) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Thon Thamrongnawasawat' เปรียบเทียบสภาพแวดล้อมของอ่าวมาหยาในอดีตและปัจจุบัน โดยระบุว่า…

“ไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ สักคำให้ลึกซึ้ง
ไม่ต้องบรรยายอะไรให้สวยเลิศเลอ…”

'ผศ.ดร.ธรณ์' ฟาด!! ทัวร์ดำน้ำ แต่ไม่รักทะเล ที่เกาะร้านเป็ด ตอบโต้พฤติกรรมก้าวร้าว 'ปลาวัวไททัน' ด้วยการ 'ฆ่า'

(29 เม.ย.66) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Thon Thamrongnawasawat’ หลังจากได้เห็นข้อความและภาพเหตุการณ์น่าเศร้าจากการกระทำของ ทัวร์ดำน้ำ แต่ไม่รักทะเลรายหนึ่ง ณ จุดดำน้ำชุมพร ที่ได้โพสต์ข้อความออกมาว่า...

“ดำน้ำอยู่เฉยๆ ไม่เคยยุ่งกันน้าาา แต่มากัดเราก่อนน้าาาา มึงตาย !!!... ‘ปลาวัวไททัน’ (Trigger Fish) ตัวนี้เป็นตำนานที่เกาะร้านเป็ด ดุมาก กัดลูกทัวร์ทั้ง Freedive และ Scuba หลายคนแล้ว วันนี้โดนกับตัวเอง ยอมไม่ได้ และเพื่อป้องกันมันไปโจมตีนักดำน้ำท่านอื่น กูจัดให้เน้นๆ ทำเมนูอะไรเด่วมาอัปเดต”

โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ได้โพสต์ตอบโต้กลับว่า...

ในบ้านทุกบ้านมีกติกา พฤติกรรมก้าวร้าวของสัตว์น้ำมีที่มา มีการหวงรัง/หวงพื้นที่ มีการดูแลปกป้องที่อยู่และให้กำเนิดลูกน้อย

หากเราไม่สามารถรับกติกาในบ้านคนอื่น เราไม่ควรไปเยี่ยมเยือนบ้านของพวกเธอ ยังมีที่อื่นๆ อีกมากที่มนุษย์เป็นคนกำหนดกติกา เราเลือกไปในที่เหล่านั้นได้

ทราบว่าเจ้าหน้าที่/ผู้เกี่ยวข้องรู้เรื่องแล้ว หวังว่าจะมีการดำเนินการที่เหมาะสมในไม่ช้าครับ


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid027HuM7HA2GaW1BE3RRcFHvb4jSSTwkaxeY6T6MJWV9xXUnxDEHYybWzzvVfMSDGJYl&id=100000156385897&mibextid=Nif5oz

‘ดร.ธรณ์’ โพสต์ความประทับใจ กับ ‘ปลาฉลาม’ ย้ำ มีความสุขที่ได้ทำงานอนุรักษ์สัตว์น้ำ และท้องทะเลไทย

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กถึงความประทับใจกับฝูงปลาฉลาม โดยมีใจความว่า ... 

หากทะเลดี เราจะมีอะไร ? คำตอบคือมีฉลามไงครับ ตั้งแต่เช้าถึงตอนนี้ นับได้ 20+ ตัว
ฉลามพวกนี้ว่ายมาที่ preserved coral patch พื้นที่อนุรักษ์ปะการังน้ำตื้นติดฝั่ง Crossroads Maldives ที่ผมขอให้ทำไว้ตั้งแต่เริ่มพัฒนาเกาะ

ปัจจุบันปะการังโตเอาๆ ขยายพื้นที่จาก 489 ตร.ม. (2016) กลายเป็น 5,013 ตร.ม. พวกเธอโตเร็วขนาดนั้น

จากนั้นฉลามก็มา… ฉลามตัวโตๆ มาจนติดชายฝั่ง ไม่นับลูกฉลามที่เห็นได้แทบทุกเวลาที่เดินไปริมหาด เช้าที่ผ่านมาจึงเป็นงานแสนสุข ตามดูฉลามทั้งทางอากาศและในทะเล เก็บสถิติบันทึกไว้ต่อเนื่อง รวมถึงงานวิจัยที่ไปอีกขั้น เช่น การพิสูจน์อัตลักษณ์ฉลาม
ฉลามคือราชาแห่งท้องทะเล และงานองครักษ์พิทักษ์ราชา คืองานที่ผมทำแล้วมีความสุขมากมายครับ

‘ดร.ธรณ์’ ชี้!! 2 เหตุการณ์ใหญ่สะท้อน ‘ทะเลไทยกำลังผิดปกติ’ หลังแพลงก์ตอนบลูมเกิดผิดช่วงเวลา-เต่ามะเฟืองวางไข่ผิดฤดู

(30 ก.ค. 66) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางทะเลที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยระบุว่า…

2 เหตุการณ์แปลกในทะเลไทยที่ควรจับตามอง คือ 1.) น้ำเขียวที่เกาะล้าน 2.) เต่ามะเฟืองวางไข่ที่ภูเก็ต ซึ่งทั้ง 2 เรื่องแสดงถึงทะเลที่อาจเปลี่ยนไปครับ

เริ่มจากเรื่องแรก เมื่อวานมีข่าวเรื่องแพลงก์ตอนบลูมที่เกาะล้าน ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยว ผมเคยพูดเรื่องนี่หลายครั้งว่าทะเลเรากำลังผิดปรกติ โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนใน/EEC จึงอยากขยายความเพิ่มขึ้นกับเหตุการณ์ที่กำลังปรากฏ แพลงก์ตอนบลูมเป็นเรื่องธรรมชาติ เกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝน (ธาตุอาหาร) แสงแดด ทิศทางลม/กระแสน้ำ และปัจจัยอื่นๆ ในทะเล

แต่ระยะหลังเริ่มปั่นป่วนเพิ่มขึ้นในทางที่แย่ลง เพราะมนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้อง เกี่ยวโดยตรงคือธาตุอาหารที่เพิ่มขึ้นจากหลายสาเหตุ การเกษตร น้ำทิ้ง ฯลฯ ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยตอนในเป็นพื้นที่ค่อนข้างปิด น้ำวนอยู่นาน อิทธิพลจากแม่น้ำลำคลองมีเยอะ เกี่ยวข้องทางอ้อมคือโลกร้อน ตอนนี้แรงขึ้นจนอาจใช้คำว่า “โลกเดือด”

… แล้วเกี่ยวกับเอลนีโญบ้างไหม?

ปกติแล้วเอลนีโญจะทำให้ฝนตกน้อย น่าจะทำให้แพลงก์ตอนบลูมน้อย เมื่อเทียบกับปีลานีญา แต่ปีนี้มีข่าวน้ำเขียวบ่อยครั้ง โดยเฉพาะ EEC บางทีก็ศรีราชา พัทยา หรือแม้กระทั่งเกาะล้าน
เอลนีโญในยุคก่อนๆ ไม่น่าเป็นแบบนี้ แต่เมื่อเอลนีโญเกิดในยุคโลกเดือด อะไรก็เป็นไปได้ แพลงก์ตอนบลูมเกิดในช่วงเวลาแปลกๆ และพื้นที่ตามเกาะที่ในอดีตเราไม่ค่อยเจอ และส่งผลอย่างที่เราไม่คาดคิด

ตัวอย่างง่ายๆ คือการท่องเที่ยว แม้ไม่ใช่แพลงก์ตอนพิษ แต่ใครจะอยากไปเล่นน้ำเขียวคัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ ไปเจอก็เศร้าทั้งนั้น

ช่วงนี้การท่องเที่ยวเกาะล้านกำลังคึกคัก คนไปวันละหลายพัน เป็นแบบนี้คงไม่สนุก ปัญหาคือ จะเกิดอีกไหม เกิดบ่อยไหม เกิดเมื่อไหร่ เราแก้ไขอย่างไรได้บ้าง?

โลกร้อนทำให้ทุกอย่างแปรปรวน การรับมือทำได้ยาก และจะยิ่งยากหากเรามีข้อมูลไม่พอ เกิดทีไรก็แค่เก็บน้ำ จากนั้นก็บอกว่าเป็นแพลงก์ตอนชนิดไหน (ปกติก็มีอยู่กลุ่มเดียวที่ไม่เป็นพิษ) 
มันพอสำหรับสมัยก่อน แต่สำหรับโลกยุคนี้ เราต้องการข้อมูลที่มากกว่านี้มากๆ เพื่อการรับมือและปรับตัวกับปรากฏการณ์แปลกๆ ที่กำลังเกิด และจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะโลกร้อนขึ้น 
ไม่ได้จะหยุดร้อน ไม่ได้จะจบลงใน 5 ปี 10 ปี แต่ยังแรงขึ้นเรื่อย ต่อเนื่องอีกอย่างน้อยหลายสิบปี

การช่วยชีวิตอ่าวไทยตอนใน/EEC มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจประเทศไทย หากเราไม่คิดพัฒนางานศึกษาวิจัย หากเราหยุดอยู่แค่วัดไข้ ขณะที่ทะเลอื่นในโลกเขาก้าวไกลไปถึงไหนๆ แล้ว การช่วยชีวิตอ่าวไทยก็ทำได้กระปริกระปรอย ถามมาตอบไป แพลงก์ตอนบลูมเกี่ยวกับเอลนีโญมั้ย?

ตอบไปแล้วไงล่ะ

มันจะแรงขึ้น มันจะทำนายยากขึ้น มันจะส่งผลกระทบมากขึ้น อันนี้สิคือคำตอบที่แท้จริง และเรายังไม่อยู่ในสภาพที่สามารถแจ้งเตือน รับมือ และปรับตัวได้เพียงพอ เพราะนักวิทยาศาสตร์เจอแต่คำถาม แต่ความสนับสนุนเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ ยังมีน้อยไปมากๆ ทำให้คำตอบดูคลุมเครือ ไม่กล้าฟันธง และวนไปมา

ผมมาญี่ปุ่น ผมเห็นหลายอย่างที่เขากำลังพยายามยกระดับรับมือเอลนีโญและโลกร้อน เห็นการศึกษาวิจัยที่ใช้เครื่องมือก้าวหน้า ความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อความเข้าใจที่ถ่องแท้ เพื่อระบบแจ้งเตือนที่ดี และเพื่อการปรับตัวที่ทันการณ์แพลงก์ตอนบลูมเกี่ยวข้องกับเอลนีโญไหม? 
คำถามที่แท้จริงควรเป็นว่า เราพร้อมช่วยชีวิตอ่าวไทยในยุคทะเลเดือดไหม?

นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามวัดไข้ทะเล แต่ถ้ามีความสนับสนุนอย่างที่บ้านเมืองอื่นเขากำลังทำ เราจะทำได้ดีกว่าวัดไข้ เช่น ยกระดับการสำรวจและเฝ้าระวังทะเล ติดตามสภาพความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ปรับปรุงอุปกรณ์และสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาวิจัย จัดจุดติดตามถาวร บูรณาการข้อมูลและ GIS ใช้เทคโนโลยีทันสมัย/รีโมทเซนซิง จัดทำโมเดลอ่าวไทย/EEC จัดทำระบบแจ้งเตือนผู้ใช้ประโยชน์ ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล/สมุทรศาสตร์แบบเรียลไทม์ จัดทำแผนการลดผลกระทบด้านธาตุอาหารจากแหล่งแม่น้ำลำคลอง สำรวจและดูแลอาขีพชาวประมงการท่องเที่ยวรายย่อย ฯลฯ

ในขณะที่คนทั่วไปสามารถช่วยได้ด้วยการลดผลกระทบด้านต่างๆ อย่าซ้ำเติมธรรมชาติ เช่น ลดโลกร้อน ลดขยะ บำบัดน้ำ สนับสนุนกิจการท้องถิ่น แจ้งเหตุผิดปรกติ ฯลฯ เราจะลดความสูญเสียได้มหาศาลครับ

ยังมีอีกข่าวคือแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ที่ภูเก็ต นั่นเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ที่น่าสงสัยคือทำไมแม่เต่าวางไข่ตอนนี้ ปกติเต่ามะเฟืองจะวางไข่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม ตุลาคมยังพอว่า แต่กรกฎาคมเนี่ยนะ?

ผมไม่เคยได้ยินว่ามีมาก่อน โดยเฉพาะกับสัตว์ที่แม่นยำต่อเวลาและสถานที่เช่นเต่ามะเฟือง การวางไข่ในช่วงเวลาที่ผิดปกติ อาจส่งผลต่อเนื่อง ลูกเต่าฟักออกจากไข่ในอีก 60 วัน ประมาณปลายกันยา ยังไม่หมดลมมรสุมดีด้วยซ้ำ แล้วลูกเต่าจะฝ่าคลื่นลมออกไปกลางทะเลไหวไหม
ในขณะที่ลูกเต่าทั่วไปจะออกทะเลช่วงกุมภาพันธ์/มีนาคม ทะเลอันดามันสงบ มันมีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ ในโลกยุคนี้ที่ธรรมชาติแปรปรวนอย่างไม่เคยเกิดมาก่อนครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top