Wednesday, 21 May 2025
ธนาคารโลก

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! มุมมอง 3 องค์กรระดับโลก ยก ‘ไทย’ สุดยอดประเทศแห่งการฝ่าวิกฤติ

(8 ก.พ. 66) เมื่อเวลา 11.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ้คส่วนตัว ว่า ในช่วงปลายเทอมของรัฐบาลนี้ ขอรวบรวมมุมมองของชาวโลกที่มีต่อบ้านเมืองของเรา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย และความสำเร็จในแง่มุมต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากการทำงานและฝ่าวิกฤตร่วมกันมาอย่างสมัครสมานสามัคคีของทีมประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยคนไทยทุกคน จากทุกภาคส่วน ดังนี้

1.) องค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นอันดับที่ 44 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิภาพในการขจัดความยากจน การศึกษาที่มีคุณภาพ การสุขาภิบาลและแหล่งน้ำสะอาด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม ตลอดจนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

2.) ธนาคารโลก (World Bank) จัดทำรายงาน "ตามติดเศรษฐกิจไทย : นโยบายการคลังเพื่อสังคมที่เสมอภาค และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ธันวาคม 2565” โดยระบุว่านโยบายการคลังของไทยมีประสิทธิภาพสูงกว่าประเทศอื่น สามารถช่วยบรรเทา ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้ดี โดยในระยะสั้นนั้นใช้มาตรการทางภาษี เงินช่วยเหลือ และการอุดหนุนรายได้ครัวเรือน สามารถกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนในระยะยาวใช้การสนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณสุข ส่งเสริมการศึกษา และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างมียุทธศาสตร์

'องค์กรระดับโลก' ชี้!! ทักษะ 'การอ่าน' ของคนไทยต่ำกว่าเกณฑ์  อยู่ในระดับไม่สามารถอ่านและทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ ได้

เมื่อไม่นานมานี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยรายงานเรื่อง Fostering Foundational Skills in Thailand ซึ่งทำการสำรวจ ‘ทักษะทุนชีวิต’ (Foundational Skills) ของเยาวชนและแรงงานไทยเป็นครั้งแรก โดยทำการสำรวจ 3 ทักษะที่สำคัญ ได้แก่ 1.ทักษะการรู้หนังสือการอ่าน 2.ทักษะด้านทุนดิจิทัล และ 3.ทักษาะทางด้านอารมณ์และการเข้าสังคม

โดยผลสำรวจประชากร ช่วงอายุ 15 - 64 ปี จำนวน 7,300 คนจากทั่วประเทศทุกภูมิภาค พบว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติทักษะทุนชีวิต โดยเยาวชนและผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มีทักษะทุนชีวิตที่ ‘ต่ำกว่าเกณฑ์’ กล่าวคือพวกเขาไม่สามารถอ่านและทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ ได้ ไม่สามารถใช้งานเครื่องมือดิจิทัลแบบง่ายๆ ได้ เช่นเดียวกับไม่มีแนวโน้มที่จะคิดริเริ่มทางสังคมหรือมีความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็น

เกือบ 2 ใน 3 ของเยาวชนและผู้ใหญ่ในประเทศไทย หรือ 64.7% มีทักษะด้านการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์ แปลว่าพวกเขาไม่สามารถอ่านและทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาได้ เช่น การอ่านและทำตามฉลากยา เป็นต้น

ผลสำรวจ 3 ใน 4 หรือ 74.1% มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์ แปลว่าพวกเขาไม่สามารถใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง (เมาส์) และแป้นพิมพ์ (คีย์บอร์ด) บนคอมพิวเตอร์พกพา เพื่อใช้ทำงานง่ายๆ ได้ เช่น การหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าบนเว็บไซต์ซื้อขายของออนไลน์ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น 30.3% ของเยาวชนและผู้ใหญ่ในไทย มีทักษะรากฐานทางอารมณ์และสังคมที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หรือพวกเขาไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจนในการริเริ่มทางสังคม หรือมีความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น และมีจินตนาการ

วิกฤตทักษะทุนชีวิตที่สังคมไทยกำลังเผชิญ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ​ (Gross Domestic Product หรือ GDP) หายไปประมาณ 20.1% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท ในปี 2022 กล่าวคือเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ “มีรายได้น้อย” กว่ากลุ่มคนที่มีทักษะสูงกว่าเกณฑ์ หรือมีรายได้แตกต่างมากถึง 6,324 บาทต่อเดือน ซึ่งถือเป็นความแตกต่างที่เยอะมาก 

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าประเทศไทยมีเยาวชนและผู้ใหญ่เกือบ 1 ใน 5 หรือ 18.7% ที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เนื่องจากขาดทักษะทุนชีวิตทั้ง 3 ด้าน ซึ่งหมายถึงพวกเขาเหล่านั้นแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง และมีแนวโน้มที่จำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่นเพื่อชดเชยวิกฤตด้านทักษะ

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยเสนอ 5 ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพและสมรรถนะทางการศึกษาสำหรับการเสริมสร้างทักษะทุนชีวิต ดังต่อไปนี้ 

- ปรับปรุงคำแนะนำเชิงกลยุทธ์สำหรับนักการศึกษา เพื่อทำความเข้าใจและตอบสนองต่อวิกฤตทักษะทุนชีวิต
- เพิ่มประสิทธิภาพและความครอบคลุมเรื่องการส่งมอบการเรียนรู้แบบกระจายอำนาจ
- ปรับใช้เครื่องมือที่เป็นนวัตกรรม เพื่อช่วยปรับปรุงการเรียนการสอน
- เสริมสร้างการประกันคุณภาพ
- ใช้ประโยชน์จากพลังของแคมเปญการให้ความรู้และข้อมูลต่างๆ 

ส่องระดับรายได้ 11 ชาติอาเซียน ประเทศไทยอยู่กลุ่มไหน?

สิงคโปร์มี GNI (Gross National Income) หรือ รายได้ประชาชาติ โดยมีรายได้ประชากรต่อหัวสูงที่สุด และมีรายได้สูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้!!

ทั้งนี้ ธนาคารโลก ได้จัดหมวดหมู่เศรษฐกิจโลกออกเป็นสี่กลุ่มรายได้ ได้แก่ ต่ำ, กลางล่าง, กลางบน และสูง ซึ่งอัปเดตทุกปีในวันที่ 1 กรกฎาคม โดยอิงตาม GNI ต่อหัวของปีก่อน คิดเป็นดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการจัดประเภทรายได้ของธนาคารโลกมีจุดมุ่งหมายเพื่อสะท้อนระดับการพัฒนาของประเทศ โดยอาศัย GNI ต่อหัวเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

จากผลการจัดประเภทรอบนี้ สิงคโปร์ และ บรูไน เป็นสองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีรายได้สูงที่สุด ในขณะที่มาเลเซีย, ไทย และอินโดนีเซียอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เหลืออยู่จะถูกจัดในกลุ่มรายได้ปานกลางตอนล่าง

รู้จัก 'บทบาท-หน้าที่' ธนาคารโลก ทำไมถึงปรับเป้า GDP ไทย-ประเทศอื่นๆ ได้

จากข่าวล่าสุดที่ทาง World Bank หรือธนาคารโลกได้ออกมาประกาศปรับเป้า GDP ไทยปี 2024 ลง เหลือโตเพียงแค่ +2.4% หลังจากได้มีการปรับลดก่อนหน้าลงมาในเดือนเมษายนเหลือ +2.8% ทั้งๆ ที่ต้นปีธนาคารโลกเองเคยมองว่าไทยจะมีการเติบโตอยู่ที่ระดับสูงถึง +3.2% และปรับเป้า GDP ปี 2568 เหลือเพียงแค่ +2.9%

ว่าแต่ World Bank มีหน้าที่อะไร? ทำไมถึงมาปรับเป้า GDP ไทยและประเทศอื่นๆ ในโลก?

โดยประวัติความเป็นมาของธนาคารโลกนี้ ถูกจัดตั้งมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในตอนนั้น การจัดตั้งธนาคารโลก เป็นไปเพราะต้องการเป็น 'แหล่งกู้ยืมเงิน' ให้กับประเทศสมาชิก เพื่อนำเอาไปใช้ในการฟื้นฟูประเทศหลังจากสงครามโลกค่ะ แต่ต่อมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นการให้เงินกู้แก่ประเทศในโลกที่สามเป็นสำคัญ

ธนาคารโลกก่อตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ.1944 ในการประชุมที่เบร็ตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมเชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในการประชุมดังกล่าวมีการร่างกฎบัตรขึ้นมาสองฉบับสำหรับธนาคารโลกหรืออีกชื่อหนึ่งคือ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development-IBRD) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) และได้มีการรวมสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 3 หน่วยงานได้แก่ 1) บริษัทการเงินระหว่างประเทศ, 2) สมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ, 3) องค์การประกันการลงทุนหลายฝ่าย แล้วเรียกรวมกันว่า 'ธนาคารโลก' หรือ World Bank 

โดยในช่วงแรกมีประเทศสมาชิกเพียงแค่ 38 ประเทศ แต่ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 189 ประเทศ ซึ่งมี ซูดานใต้ เป็นประเทศที่ 189 ที่เข้าร่วมในปี 2012 ส่วนประเทศไทยเองเข้ามาเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 ด้วยลำดับสมาชิกที่ 47 ค่ะ

นอกจากธนาคารโลกจะมีหน้าที่ช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการให้กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และระยะยาวแล้ว ยังช่วยค้ำประกันเงินกู้ทำให้ประเทศที่กู้เงินสามารถได้รับอัตราดอกเบี้ยในเรทที่ต่ำได้ และให้คำปรึกษารวมให้ความรู้กับประเทศสมาชิก รวมถึงกระตุ้นและส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศค่ะ 

ดังนั้น สาเหตุหลักในการปรับเป้า GDP ไทย เพราะธนาคารโลก มองว่า การส่งออกและการลงทุนภาครัฐไทยดูมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง เนื่องมาจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณปี 2567 และไทยเองก็ยังมีหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง แถมยังมีปัญหาใหญ่ที่รออยู่นั่นก็คือ ปัญหาทางโครงสร้างประชากรที่ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยค่ะ โดยการปรับตัวเลข GDP นี้ ยังไม่ได้มีการรวมเอาโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป เพราะถ้าเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดไว้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเข้ามาช่วยเพิ่ม GDP ไทยได้ราว 1% เพียงแต่จะแลกมาด้วยหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นตามมา 

ส่วนในเรื่องการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นกลไกหลักในการสร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถูกมองว่าจะกลับไปที่ระดับก่อนโควิดระบาดได้ในช่วงกลางปี 2568 ขณะที่เรื่องการส่งออกไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออก ก็จะได้อานิสงส์จากการค้าโลกที่เติบโตดีขึ้นด้วยค่ะ

นอกจากประเทศไทยแล้ว ธนาคารโลกก็ยังปรับประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียงแค่ 2.6% ในปีนี้ ซึ่งได้แรงหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market และประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัวลดลงจากปี 2566 มาอยู่ที่ระดับ 4.2% ... จีนจะขยายตัวลดลงจากปีที่แล้วที่ระดับ 5.2% มาอยู่ที่ระดับ 4.8% และเศรษฐกิจแถบยูโรโซนที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ระดับ 0.4% มาอยู่ที่ระดับ 0.7% ค่ะ

‘ธนาคารโลก’ แนะแนว ‘ไทย’ หลุดพ้นกับดัก ‘เศรษฐกิจ-GDP’ โตต่ำ คลอดสมุดปกขาว-กทม.หยุดแบก-เสริมแกร่งเมืองรอง-ลุยอุตฯ ทำเงิน

เมื่อไม่นานมานี้ ‘ธนาคารโลก’ เผยแพร่ ‘รายงานการตามติดเศรษฐกิจไทย’ ฉบับล่าสุด นำเสนอหัวข้อ ‘การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง’ ระบุว่า ศักยภาพ การเติบโตระยะยาวของไทยกำลังชะลอตัวลงจากเผชิญความท้าทายจากประชากรสูงวัย ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมประมาณการอัตราการเติบโตที่มีศักยภาพสำหรับปี 2566-2573 เฉลี่ยประมาณร้อยละ 2.7 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าทศวรรษก่อนหน้า 0.5 จุด จากการลดลงอย่างต่อเนื่องของการเติบโตของผลิตภาพปัจจัยการผลิตโดยรวม (TFP) แรงงานที่สูงวัยและลดลง ตลอดจน การเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่าที่หยุดชะงัก

“ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญ จำเป็นต้องแก้ไขความท้าทายสำคัญเพื่อฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยกำลังล้าหลังภูมิภาค การเติบโตของ GDP ต่อหัวช้ากว่าคู่แข่งในภูมิภาคอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยประเทศไทยอยู่ในจุดวิกฤตที่มีความท้าทายด้านผลิตภาพและแนวโน้มประชากรที่ไม่เอื้ออำนวย จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงหากคนรุ่นปัจจุบันต้องการทิ้งมรดกแห่งความเจริญรุ่งเรืองไว้”

>>กรุงเทพฯ ‘เดอะแบก’ การเติบโตประเทศ

รายงานธนาคารโลกระบุว่า การกลายเป็นเมืองของไทยมุ่งเน้นไปที่กรุงเทพฯ ทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศที่สุดโต่ง เป็นส่วนเดียวของประเทศที่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่ กทม. ก็กลายเป็นเมืองที่แออัดมากขึ้นเรื่อย ๆ และความไร้ประสิทธิภาพและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความแออัดนั้นกำลังกลายเป็นเรื่องที่ยากจะเอาชนะ

ในแง่ของเศรษฐกิจของประเทศและความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ GDP ของกทม. เมื่อเทียบกับประเทศอื่นพบว่า ขนาด GDP ของกทม.ใหญ่กว่าเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองเกือบ 40 เท่า มากกว่าเมื่อเทียบกับกรณีของมาเลเซีย 8 เท่า อินโดนีเซีย 6 เท่า และเวียดนาม 3 เท่า ขณะที่การลงทุนในกทม. มีสัดส่วนที่ไม่สมดุลกับขนาดและนํ้าหนักทางเศรษฐกิจของเมือง ตัวอย่างเช่น ในปี 2563 ประมาณ 60% ของการใช้จ่ายสาธารณะกระจุกตัวอยู่ในกทม. แม้ว่ากทม.จะมีสัดส่วน GDP เพียง 34% ของประเทศ และ 13% ของประชากร

รายงานธนาคารโลกระบุอีกว่า การกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังหลายเมือง จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากนํ้าท่วมและสภาพอากาศ โดยเฉพาะเมืองรองสามารถเป็นจุดยึดของภูมิภาคใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของ กทม. แสดงสัญญาณของการชะงักงัน เนื่องจากการเติบโตของ GDP มีค่าประมาณเท่ากับการเติบโตของประชากร บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเมืองเติบโตเต็มที่และอาจอิ่มตัว การปล่อยให้เมืองรองยังคงมีประสิทธิภาพตํ่าก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

ดังนั้นการยกเลิกข้อจำกัดสำหรับเมืองรอง ควบคู่ไปกับการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม จะช่วยให้เมืองรองสามารถดึงดูดการลงทุนและทักษะเพิ่มผลิตภาพมากขึ้น และช่วยให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากภาวะซบเซาในปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองในระยาวให้กับประเทศไทย

>> แนะดัน 5 เมืองใหญ่ขยายเศรษฐกิจ

ธนาคารโลกยกตัวอย่าง เมืองรอง 5 แห่งที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ คือ

1.เชียงใหม่ เป็นที่รู้จักกันดีในระดับนานาชาติ และตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ใกล้กับลาว เมียนมา และจีน และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือของไทย มีภาคการท่องเที่ยว การเกษตร และโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับ digital nomads ในศตวรรษที่ 21

2.ระยอง ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญ เป็นที่ตั้งของโรงกลั่นนํ้ามันขนาดใหญ่ การผลิตเคมีภัณฑ์และยานยนต์ นอกจากนี้ยังมีท่าเรือนํ้าลึกขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำคัญของภูมิภาคในการอำนวยความสะดวกกิจกรรมการนำเข้าและส่งออก

3.นครสวรรค์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางการขนส่งและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาค ได้ขยายตัวไปสู่การผลิตและอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีศักยภาพในการพัฒนาที่ดี เนื่องจากการเชื่อมโยงด้านการขนส่งและต้นทุนที่ดินและแรงงานที่ค่อนข้างไม่แพง

4.ขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นหนึ่งในเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศไทย มีเศรษฐกิจที่หลากหลาย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเกษตร การผลิต โลจิสติกส์ และการศึกษา

5.ภูเก็ต ทำหน้าที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว การบริการ และกิจกรรมด้านสุขภาพ และยังดึงดูด digital nomads อีกด้วย มีอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งและเป็นศูนย์กลางการค้าของพื้นที่ผลิตยางที่สำคัญ ท่าเรือของภูเก็ตให้บริการเรือยอร์ชหรูและเรือสำราญ รวมถึงเรือพาณิชย์ขนาดเล็กที่จัดการการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

>>คลอดสมุดปกขาว-กระจายพัฒนา

ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ความหลากหลายช่วยป้องกันบางส่วนเมื่อภาคส่วนเฉพาะประสบกับการหยุดชะงักหรือสภาวะตลาดเปลี่ยนแปลง ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย รัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้เมืองรอง ให้อิสระในการวางแผนและตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความเป็นอิสระทางการคลัง เพิ่มเครื่องมือสร้างรายได้ท้องถิ่น ด้วยการปรับปรุงระบบภาษีท้องถิ่น เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการท้องถิ่น รวมไปถึงการส่งเสริมการกู้ยืมของเทศบาล ทั้งอนุญาตให้เมืองรองกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาตลาดพันธบัตรเทศบาล

นอกจากนี้ควรจัดทำ White Paper และโครงการนำร่อง ด้วยการพัฒนานโยบายครอบคลุมสำหรับการเงินโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น ทดลองใช้รูปแบบใหม่ในกลุ่มเมืองรองที่เลือก สร้างระบบสนับสนุน ด้วยการจัดตั้งหน่วยสนับสนุนนโยบายและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงการเพื่อสนับสนุนการเตรียมโครงการ ควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาการศึกษาและทักษะแรงงานในเมืองรองปรับปรุงการเชื่อมต่อและโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งและการสื่อสารระหว่างเมืองรองและกรุงเทพฯ

>> จีดีพีไทย 10 ปีโตเฉลี่ย 1.9%

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยขยายตัวเพียง 1.9% และช่วงไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 1.5% และหากย้อนกลับไป 10 ปี ก่อนหน้าปี 2566 จีดีพีไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียงปีละ 1.92% ตํ่าสุดในภูมิภาค ที่ส่วนใหญ่ขยายตัวที่ระดับ 5-6% ต่อปี มีปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก 

ขณะที่ปัจจุบันไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 91% ต่อจีดีพี กดทับกำลังซื้อ และการบริโภค และโครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐก็ใช้งบลงทุนไม่มาก ทำให้มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง เพราะส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมดั้งเดิม และรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) สินค้าที่ผลิตตลาดเริ่มลดความนิยมในหลายสินค้า ส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สัปดาห์ภายในที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยก็เริ่มไม่ตอบโจทย์ เพราะเทรนด์อนาคตนับจากนี้ผู้บริโภคจะหันไปให้ความนิยมรถยนต์ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถ EV มากขึ้น

ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หรือเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีเก่า และยังใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้ไทยได้แต่ค่าแรง ต่างจากมาเลเซีย และเวียดนามที่เวลานี้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันแต่เป็นสินค้าที่ไฮเทคกว่า และมีมูลค่ามากกว่า ทำให้ยอดส่งออกสูงกว่าไทย

>> ลุยปรับโครงสร้างผลิตดัน GDP

เป็นที่มาของส.อ.ท.ที่อยู่ระหว่างการเร่งยกระดับและปรับโครงสร้างภาคการผลิตของไทยให้ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก และเพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ โดยอยู่ระหว่างการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของ 46 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิก มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ โรบอติกส์ และระบบดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น มุ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) อุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) เพื่อตอบโจทย์ Climate Change และ Net Zero

“ในส่วนของภาครัฐเราต้องการการสนับสนุนในหลายเรื่องสำคัญ เช่น การทำกฎหมายให้ทันสมัยเอื้อต่อการลงทุน ช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าไฟฟ้า ดอกเบี้ย และอื่น ๆ ซึ่งหากโครงสร้างของเรายังเป็นอุตสาหกรรมเดิม ๆ เหมือนในอดีต เป้าหมายของนายกรัฐมนตรีที่จะผลักดันจีดีพีของไทยให้เติบโตได้ปีละ 5% ก็คงไปไม่ถึง ดังนั้นภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในการผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกเพื่อให้เป้าหมายเป็นไปได้”

>> คลังเร่งมาตรการสู่เป้า 3%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือโต 2.4% นั้น ใกล้เคียงกับหลายสำนักงานเศรษฐกิจที่ได้ปรับประมาณการไว้ล่วงหน้า ขณะเดียวกัน หน่วยงาน ประมาณการเศรษฐกิจที่อยู่ในประเทศ จะมีความแม่นยำสูง เนื่องจากเห็นสภาวการณ์ต่าง ๆ ซึ่งในที่สุดก็ปรับมาใกล้เคียงกัน

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังวางเป้าหมายไว้ให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตได้ 3% นั้น ก็จะมีหลายมิติที่ต้องดูแล เช่น การท่องเที่ยว ต้องเพิ่มทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และรายจ่ายต่อหัว รวมทั้งการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการทางภาษีมากระตุ้นเพิ่มเติม และจะมีมาตรการอื่น ๆ ทยอยออกมาดูแลเศรษฐกิจ เพิ่มเติมด้วย เช่น การคํ้าประกันสินเชื่อ เป็นต้น

ธนาคารโลกออกโรงเตือนเศรษฐกิจจีนชะลอตัวกระทบทั้งภูมิภาค ความขัดแย้งระดับโลกบีบให้เลือกข้าง แนะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

(8 ต.ค. 67) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า “ธนาคารโลก” คาดการณ์การเติบโตของจีนว่าจะอ่อนแอลงต่อไปในปี 2568 แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาก็ตาม ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศภูมิภาคเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้น

ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจรายครึ่งปี ธนาคารโลกยังคาดการณ์จีนอีกว่า เศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มขยายตัวช้าลงเหลือ 4.3% ในปีหน้าจากประมาณการ 4.8% ในปี 2024 จนอาจส่งผลให้การเติบโตในประเทศแถบเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รวมถึงประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลี มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามจนเหลือ 4.4% ในปี 2025 จากประมาณ 4.8% ในปีนี้

“เป็นเวลาสามทศวรรษที่การเติบโตของจีนได้ส่งผลดีต่อเพื่อนบ้าน แต่ในขณะนี้ ขนาดแรงผลักดันดังกล่าวกำลังลดลง” ธนาคารโลกกล่าวเมื่อวันอังคาร “การสนับสนุนทางการคลังที่เพิ่งประกาศอาจช่วยเพิ่มการเติบโตระยะสั้น แต่การเติบโตระยะยาวจะขึ้นอยู่กับการปฏิรูปโครงสร้างที่ลึกกว่า”

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ประมาณ 5% ในปีนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ดูเหมือนจะเข้าถึงได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซบเซา และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงสั่นคลอน โดยในปลายเดือนกันยายน รัฐบาลปักกิ่งได้เปิดตัวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมายที่มุ่งเน้นไปที่นโยบายการเงินเป็นหลัก อย่างการลดอัตราดอกเบี้ย

นอกจากการเติบโตที่ชะลอตัวของจีนแล้ว การเปลี่ยนแปลงของการค้า และการลงทุน รวมถึงความไม่แน่นอนของนโยบายโลกที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิกด้วย ธนาคารโลกกล่าว

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนได้สร้างโอกาสให้กับประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม ในการมีบทบาทในการเชื่อมโยงคู่ค้ารายใหญ่ 

“หลักฐานใหม่ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจอาจถูกจำกัดให้เล่นบทบาท ‘ตัวเชื่อมต่อทางเดียว’ มากขึ้น เนื่องจากกฎระเบียบใหม่ที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการนำเข้า และการส่งออกได้ถูกบังคับใช้” ธนาคารโลก กล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น ธนาคารยังได้ตรวจสอบเทคโนโลยีใหม่ เช่น หุ่นยนต์อุตสาหกรรมและปัญญาประดิษฐ์ ถึงผลกระทบต่อตลาดแรงงานทั่วเอเชีย

“เนื่องจากภูมิภาคนี้ยังพึ่งพาแรงงานคนเป็นหลัก ทำให้มีงานที่ถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว แต่กลับกัน ภูมิภาคนี้ก็ยังไม่ได้รับประโยชน์จากประสิทธิภาพที่ปัญญาประดิษฐ์จะนำมาให้มากพอเช่นกัน” ธนาคารโลก กล่าว

คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 เวิลด์แบงก์เชื่อจีดีพีโต 2.9% แม้หนี้ครัวเรือนพุ่ง-ส่งออกชะลอตัว

(14 ก.พ.68) ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะเติบโต 2.9% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ภายในกลางปี นอกจากนี้ นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ส่งผลให้ระดับความยากจนลดลง 8.29% ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม จีดีพีของไทยยังคงต่ำ และยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก 

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า รายงาน *Thailand Economic Monitor* ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตจาก 2.6% ในปี 2567 เป็น 2.9% ในปี 2568  

การลงทุนที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาครัฐ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และการเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวยังมีบทบาทสำคัญ โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568  

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยนวัตกรรม ผู้ประกอบการ และธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความยืดหยุ่นและพลวัตสูง จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน  

"ประเทศไทยมีกรรมเก่า คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังมีบุญเก่า คือ เสถียรภาพเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้กลับมาเป็นบวกจากการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด" นายเกียรติพงศ์กล่าว พร้อมเสริมว่า แม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะดีกว่าที่คาด แต่จีดีพีของไทยยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2569 จีดีพีจะเติบโตที่ 2.7%  

ความท้าทายสำคัญที่ไทยต้องเผชิญ ได้แก่ การลดระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และการสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมผู้สูงอายุ สงครามการค้า และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก  

ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยควรเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการคลังผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ การใช้งบประมาณอย่างมีกลยุทธ์ การขยายฐานภาษี และการให้ความสำคัญกับการลงทุนที่กระตุ้นการเติบโตในภาคโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความยั่งยืนระยะยาว  

นางเมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทยและเมียนมา เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และโครงการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ส่งผลให้อัตราความยากจนลดลงจาก 8.5% ในปี 2566 เหลือ 8.29% ในปี 2567  

“ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในอนาคต จำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่กล้าหาญ ควบคู่ไปกับการลงทุนในระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาทักษะสำหรับอนาคต และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการเติบโต ซึ่งจะช่วยให้คนไทยสามารถปรับตัวต่อความท้าทายระดับโลกและเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต” นางเมลินดากล่าว

‘ธนาคารโลก’ ห่วง!! ฐานะการคลังของประเทศไทย ชี้!! แจกเงินดิจิทัล ดัน GDP แค่ 0.3% แลกหนี้พุ่ง

(22 ก.พ. 68) ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานติดตามเศรษฐกิจไทย กุมภาพันธ์ 2568 โดยได้ประเมินเบื้องต้นว่ามาตรการเงินอุดหนุน 10,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตรอบแรกสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14 ล้านคน หรือประมาณ 42% ของประชากรในกลุ่มรายได้ต่ำสุด อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของ GDP ในปีพ.ศ. 2567 ได้ประมาณ 0.3% โดยอิงจากตัวคูณทางการคลังที่ 0.4

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวนี้มาพร้อมกับต้นทุนทางการคลังที่สูงถึง 145,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของ GDP

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในปีพ.ศ. 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าปัจจัยภายนอกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อย

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในปีพ.ศ. 2567 เป็น 2.9% ในปีพ.ศ. 2568 (แผนภาพที่ ES 5 และ ตาราง ES 1) โดยมีการฟื้นตัวของการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจแม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้าง โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดได้ภายในกลางปีพ.ศ. 2568 

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเงินอุดหนุน (ดิจิทัลวอลเล็ต) 

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคอาจเผชิญอุปสรรคจากวงจรการลดหนี้และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ในด้านการค้า การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะอยู่ในภาวะขาขึ้นก็ตาม 

สำหรับปีพ.ศ. 2569 คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณ 2.7% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะแตะระดับศักยภาพได้ภายในปีพ.ศ. 2571

ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปี พ.ศ. 2568 คาดว่าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากรายรับของภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวและต้นทุนการขนส่งที่ลดลง โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเพิ่มขึ้นจาก 2.4% ของ GDP ในปีพ.ศ. 2567 เป็น 3.6% ของ GDP ในปีพ.ศ. 2568 ด้วยแรงหนุนจากการค้าภาคบริการ อย่างไรก็ตามดุลการค้าสินค้าคาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยเนื่องจากอุปสงค์ด้านการส่งออกที่ชะลอตัวลงจากคู่ค้าหลัก

สำหรับปีพ.ศ. 2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 0.4% ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็น 0.8% แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาอาหารคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ครัวเรือนที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการบริโภคและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ในทางตรงกันข้าม ราคาพลังงานคาดว่าจะปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่อ่อนตัวลดลง

ด้วยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งบริหารงบประมาณ การดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นจาก 1.3% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็น 3.1% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นผลจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 หลังจากเกิดความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยเน้นไปที่การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้งบประมาณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 450,000 ล้านบาทที่รัฐบาลประกาศไว้ก่อนหน้านี้ซึ่งได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 140,000 ล้านบาทสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของมาตรการและแหล่งเงินทุนโดยรวมภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ยังคงไม่ปรากฏอย่างชัดเจน

ธนาคารโลกประเมินว่า นโยบายการคลังของประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสามประการ ได้แก่ การตอบสนองต่อความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ การฟื้นฟูการลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน

โดยคาดว่าระดับหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 64.8% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และมีแนวโน้มเข้าใกล้เพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ของ GDP ภายในอีกห้าปีข้างหน้า

แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังคงมีความยั่งยืนทางการคลังโดยมีหนี้สกุลเงินต่างประเทศในระดับต่ำ (1.0% ของหนี้ทั้งหมด) และมีต้นทุนการระดมทุนที่ค่อนข้างต่ำ แต่แรงกดดันในการใช้จ่ายทางสังคมและการลงทุนของภาครัฐในทุนมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ  และมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพื่อการเติบโต เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ได้เพิ่มแรงกดดันทางการคลัง ทั้งนี้ข้อเสนอแนะสำคัญในการเพิ่มความยืดหยุ่นทางการคลังท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น มีดังนี้:

• ปรับลดการอุดหนุนพลังงานที่ไม่เป็นธรรมต่อการกระจายรายได้ (เช่น ในภาคการขนส่ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ซึ่งส่งผลให้กองทุนน้ำมันของรัฐขาดดุล โดยควรเปลี่ยนไปเน้นการให้ความช่วยเหลือทางสังคมและการโอนเงินแบบมุ่งเป้ามากขึ้นเพื่อสนับสนุนครัวเรือนที่เปราะบางและบรรเทาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

• เพิ่มรายได้จากภาษี ส่งเสริมการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างพื้นที่ทางการคลัง แม้ว่าการจัดเก็บรายได้ภาครัฐจะปรับตัวดีขึ้นถึง 16% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง จึงจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่ไปกับการลดความยากจน เช่น การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีมาตรการอื่นๆ ได้แก่ การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การปรับลดแรงจูงใจทางภาษีที่ไม่จำเป็น การขยายการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง การปรับปรุงการปฏิบัติตามภาษี และการนำภาษีคาร์บอนมาใช้

• เร่งการลงทุน การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีใหม่ และทุนมนุษย์ที่สนับสนุนและส่งเสริมซึ่งกันและกัน จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนและกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคที่ล้าหลังได้ (ดูบทที่ 2 เรื่องนวัตกรรมท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง: เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ SMEs และสตาร์ตอัป และรายงานเศรษฐกิจโลกประจำประเทศไทย มิถุนายน 2567: การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง)

ธนาคารโลก ยังระบุอีกว่า แม้ว่าแนวทางการผ่อนปรนมาตรการทางการเงินอย่างระมัดระวังจะเหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การดำเนินมาตรการที่สมดุลระหว่างการบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนอย่างตรงเป้าหมายและการลดข้อจำกัดด้านสินเชื่อให้น้อยที่สุดควบคู่ไปกับรักษาเสถียรภาพทางการเงินก็ยังคงมีความจำเป็น ในระยะต่อไป 

การกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดสำหรับการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือหนี้ควรเชื่อมโยงกับกลยุทธ์การออกจากโครงการในอนาคต (Exit Strategy) เพื่อลดความไม่แน่นอนของเจ้าหนี้และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการเงิน ผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องรักษามาตรฐานการกำกับดูแลที่สำคัญ (Prudential Regulations) อย่างระมัดระวัง

เช่น กรอบการจำแนกความเสี่ยงของสินเชื่อ (Loan Classification Framework) ข้อกำหนดในการจัดสรรเงินสำรอง (Provisioning Requirements) และมาตรฐานการบัญชีที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับสากล รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนคำจำกัดความหรือการจำแนกประเภทที่อาจบั่นทอนความเข้มแข็งของระบบการกำกับดูแล

ทั้งนี้มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจควรเป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการปฏิรูปนโยบายระยะยาวและเชิงโครงสร้างโดยหน่วยงานที่มีอำนาจในภาคการเงิน อาทิการปรับปรุงการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน (Financial Consumer Protection) และการนำกรอบการกู้ยืมอย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending Framework) เช่น การกำหนดขีดจำกัดอัตราส่วนการชำระหนี้ (Debt Service Ratio Limits) และการใช้กรอบการกำกับดูแลเชิงมหภาค (Macroprudential Framework) เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top