Saturday, 10 May 2025
ท่าเรือมาบตาพุด

‘สุริยะ’ ยัน!! รับมือต่อเนื่องเหตุน้ำมันรั่วไหลลงทะเล สั่ง ‘ผู้ว่าฯ กนอ.’ ตามติด!! แม้ควบคุมเหตุได้แล้ว

‘สุริยะ’ ห่วง!! สั่งการ ‘ผู้ว่าฯ กนอ.’ เร่งตรวจสอบเหตุน้ำมันรั่วไหล บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม ท่าเรือมาบตาพุด ด้าน ‘ผู้ว่าฯ กนอ.’ เผย!! ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว พร้อมสั่งเตรียมรับมือกรณีฉุกเฉินหรือลมเปลี่ยนทิศ เล็งดึงผู้เชี่ยวชาญร่วมคิดและวางแผนดูแลและซ่อมบำรุงรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีกในอนาคต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังได้รับรายงานน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ในท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 25 ม.ค. 65 และเจ้าหน้าที่สามารถปิดวาล์วน้ำมันได้ในช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนนั้น ได้มอบหมายให้ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่เร่งเข้าตรวจสอบโดยเร็วที่สุด เพื่อติดตามสถานการณ์และหาสาเหตุพร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขต่อไป

“ผมได้สั่งการให้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกรณีเกิดกระแสลมหรือคลื่นเปลี่ยนทิศไว้ล่วงหน้าด้วย ที่สำคัญ ต้องรีบจัดการกับคราบน้ำมันดังกล่าวให้เร็วที่สุด พร้อมหาสาเหตุของการรั่วไหล” นายสุริยะ กล่าว

'กนอ.' เปิดรับฟังความเห็น 'เอกชน' หวังกระชับความต้องการนักลงทุนตรงจุด ก่อนเปิดรับการลงทุนระลอกใหม่ ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ช่วงที่ 2 ในปี 69

(4 ก.ค. 67) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การจัดงานสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนในโครงการทบทวนรายงานการศึกษา และวิเคราะห์โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นโครงการสำคัญเร่งด่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดย กนอ. เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน นำความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินงาน เพื่อเสริมสร้างการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และเกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ 

ทั้งนี้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อทบทวนการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ ที่ กนอ. จัดทำไว้แล้ว ให้เหมาะสมกับความต้องการในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต ก่อนเสนอให้ กนอ. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการนำเสนอหลักการที่ต้องการเปลี่ยนแปลง รวมถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงต่อหลักการเดิมของโครงการฯ ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบไว้ต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

ตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของธุรกิจหรือกิจการของภาคเอกชนในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และลักษณะทางกายภาพของสภาพพื้นที่ของโครงการฯ

นายคณพศ ขุนทอง รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 3) กล่าวว่า การจัดสัมมนา Market Sounding ครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็น และเสนอแนะความต้องการที่จะพัฒนาโครงการ ประกอบด้วย พื้นที่หลังท่าเทียบเรือ 350 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร ซึ่งหลังจากได้รับฟังความคิดเห็นแล้ว จะนำไปวิเคราะห์รูปแบบการประกอบธุรกิจ รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมยื่นข้อเสนอการลงทุนโครงการอย่างเหมาะสมต่อไป

นายปมุข เตพละกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายปฏิบัติการ 3 กล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 แบ่งการพัฒนาโครงการเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วยงานขุดลอกร่องน้ำ งานถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ และลงทุนธุรกิจท่าเทียบเรือก๊าซ 200 ไร่ กนอ. ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด หรือ GMTP เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2562 ระยะเวลาสัมปทานทั้งสิ้น 35 ปี

โดย กนอ. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 12,900 ล้านบาท และให้บริษัท GMTP ลงทุนท่าเทียบเรือก๊าซ 35,000 ล้านบาท ปัจจุบัน มีความก้าวหน้าการดำเนินงานไปแล้วกว่า 84% พร้อมเปิดให้บริการในปี 2569 ส่วนการดำเนินงานในช่วงที่ 2 กำลังอยู่ระหว่างทบทวนผลการศึกษาสำหรับการพัฒนาพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ประกอบด้วยพื้นที่หลังท่าเทียบเรือ 350 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร 

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการรวมที่ 6.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 5.2 หมื่นล้านบาท และภาครัฐ 1.2 หมื่นล้านบาท

ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 Gulf MTP ต้อนรับคณะศึกษาดูงานจาก สนพท. และ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศจีน

(27 พ.ย. 67)  ณ สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นำโดย นายอาณัติ จันดี ผอ.สทร. และ บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด (Gulf MTP)  นำโดย ดร.กฤษณ์ พงษ์เทพิน ผช.ผอ.ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ /ประชาสัมพันธ์ และนายศุภฤกษ์ โสภณราพงษ์ ผช.ผจก.ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์  บริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้างท่าเรือฯ ( PMSC ) และ คณะเจ้าหน้าที่จาก สทร. ร่วมต้อนรับ คณะผู้มาศึกษาดูงานจาก สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สนพท)  นำโดย นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมฯ และ สมาชิกวุฒิสภา ฯ นายนพดล แสงวิไล กรรมการ สนพท. จ.ระยอง และคณะ พร้อมด้วย สมาคมนักข่าวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นำโดย นายหลี่ เจียนหมิน ผอ. สำนักข่าวซินหัว  นายซู่ ลี่จวิน  ผอ.สถานีวิทยุเฮยหลงเจียง  นายจางผิงจ้าว บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เปาอันเดลี่  นายหวาง หย่งโป รองผู้อำนวยการ สมาคมนักข่าวสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วมกิจกรรม รวมกว่า 20 คน
บรรยากาศของกิจกรรม มีการกล่าวต้อนรับและบรรยาย โดย นายอาณัติ จันดี ผู้อำนวยการสำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร)  ที่มาและความสำคัญของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ ที่ 3 ตามนโยบายรัฐบาล และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  รายละเอียดของโครงการก่อสร้างและความก้าวหน้าของโครงการถึงปัจจุบัน ซึ่งทางคณะผู้มาศึกษาดูงานจากประเทศจีน ให้ความสนใจเป็นอย่างมากและมีการซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน หลังจากการบรรยายแล้วได้นำคณะขึ้นไปชมภาพมุมสูงที่หอควบคุมของสำนักงาน สทร. ได้ชมภาพสถานที่จริงในการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ ที่ 3 ที่ดำเนินการก่อสร้างแล้ว ก้าหน้าไปกว่า 90 % แล้ว
หลังจากนั้น คณะผู้ศึกษาดูงาน ได้เดินทางไปเยี่ยมคารวะนายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และจะไปศึกษาดูงานที่จังหวัดชลบุรี และ กรุงเทพมหานครต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top