Thursday, 24 April 2025
ท่องเที่ยวเมืองรอง

‘ครม.’ เคาะ!! มาตรการหนุนท่องเที่ยวเมืองรอง ใช้จ่ายไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ก็เอาไปหักภาษีได้

(4 มิ.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว หรือ Low Season คาดว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท แต่น่าจะทำให้การใช้จ่ายในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวรองมีมากกว่ารายได้ที่สูญเสียไปทั้งหมด

ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยอยากให้มีการจัดงานเทศกาลต่าง ๆ ในเมืองรอง โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่เป็น Low Season

“ได้ขอให้รัฐมนตรีที่เข้าประชุมครม.วันนี้ หลายคนเป็น สส.ในพื้นที่ก็คงมีข้อมูลว่าเขตพื้นที่นั้น มีเรื่องอะไรดี ๆ มาก็ให้ประสานไปที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อจะช่วยสนับสนุน และโปรโมตล่วงหน้าต่อไป” นายกฯ ระบุ

>> มาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง (สำหรับบุคคลธรรมดา) 

บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยหรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวใน ‘จังหวัดท่องเที่ยวรอง’ ได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season)

>> มาตรการภาษีกระตุ้นสัมมนาในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล)

นิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 30 พฤศจิกายน 2567 หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้

1.หักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดใน ‘จังหวัดท่องเที่ยวรอง’ หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

2.หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่นนอกจากท้องที่ตามข้อ 1 

3.ในกรณีที่การสัมมนาเกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อ 1 และข้อ 2 ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตามข้อ 1 หรือข้อ 2 และถ้าแยกไม่ได้ให้หัก 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง

รมช.คลัง กล่าวว่า ทั้ง 2 มาตรการ ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)

‘สุริยะ’ มอบ ‘ทางหลวงชนบท’ พัฒนาถนนเลียบชายฝั่งอ่าวไทย รับนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยว 'เมืองรอง' ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน

(14 มิ.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้เตรียมพร้อมแผนรองรับนักท่องเที่ยวในทุกมิติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมในทุกมิติให้มีความปลอดภัยในระดับสูงสุด เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย

ซึ่งนายสุริยะ ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) พัฒนาและยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบท สำหรับการสนับสนุนการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบัน ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย (Thailand Riviera) ถนนทางหลวงชนบทสายแยก ทล.4002 (กม. ที่ 13+100) - บ้านแหลมสันติ (ตอนที่ 2) อำเภอหลังสวน และละแม จังหวัดชุมพร เสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรแล้ว โดยจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเมืองรองอย่างเป็นรูปธรรม ให้ประชาชนสามารถเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เช่น หาดตะวันฉาย หาดละแม ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทยอย่างยั่งยืน ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทาง โดยมีจุดเริ่มต้น กม. ที่ 19+891 อยู่บนถนนทางหลวงชนบทสาย ชพ.4019 เชื่อมต่อกับ ทล.4002 (ช่วง กม. ที่ 13+100) ด้านขวาทาง ห่างจากปากน้ำหลังสวน 1.5 กิโลเมตร (กม.) ไปสิ้นสุด กม. ที่ 26+644 ห่างจากหาดละแม 1.5 กม. ผ่านมหาวิทยาลัยแม่โจ้ - ชุมพร บริเวณหมู่ที่ 5 บ้านแหลมสันติ ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร รวมระยะทาง 6.753 กม. ก่อสร้างเป็นถนนลาดยางแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีต กว้าง 7 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.5 เมตร พร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายจราจร สิ่งอำนวยความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้เส้นทาง ใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 105.440 ล้านบาท 

ทั้งนี้ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้พัฒนาเส้นทางเพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงถนนสายรองจากถนนสายหลักเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจในเมืองรอง อำนวยความสะดวกให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางได้อย่างปลอดภัยในทุกเส้นทาง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top