‘ก้าวไกล-ก้าวหน้า’ ชูนโยบาย ‘ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า’ เน้นกระจายอำนาจ - งบประมาณสู่ท้องถิ่น
ก้าวไกล จัดหนักต่อเนื่อง เปิดนโยบายทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า กางโรดแมปกระจายอำนาจเต็มสูบ เพิ่มงบท้องถิ่นสองแสนล้านบาทต่อปีภายใน 4 ปี จัดประชามติยกเลิกส่วนภูมิภาค-เลือกนายกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมยืนยันข้าราชการไม่ตกงาน-ไม่เสียสิทธิประโยชน์
วันที่ 26 พฤศจิกายน ที่อาคารอนาคตใหม่ ชั้น 7 พรรคก้าวไกลแถลงนโยบาย ‘ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า’ ซึ่งเป็นชุดนโยบายที่ 3 ต่อจาก ‘การเมืองไทยก้าวหน้า’ และ ‘สวัสดิการไทยก้าวหน้า’ โดยเป็นการแถลงร่วมกับคณะก้าวหน้า ที่นำเสนอผลงานการทำงานในระดับท้องถิ่นในรอบปีที่ผ่านมา
‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นนโยบายหลักตั้งแต่ครั้งพรรคอนาคตใหม่ โดยคณะก้าวหน้าก็สานต่อภารกิจด้วยการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่น เหตุผลที่เราผลักดันเรื่องนี้ เพราะต้องการให้ประเทศเกิดการขับเคลื่อน 2 ทางควบคู่กัน คือการขับเคลื่อนจาก “ล่างขึ้นบน” ผ่านการสร้างผู้บริหารท้องถิ่นที่มีศักยภาพ พิสูจน์ว่าท้องถิ่นพร้อมบริหาร พร้อมพัฒนาเมืองของตัวเอง โดยจากการทำงานของ อปท. คณะก้าวหน้าภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ เราสามารถแก้ปัญหาปากท้องและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ได้หลายเรื่อง เช่น น้ำประปาดื่มได้ กล่อง baby box ให้เด็กแรกเกิด ระบบจัดการขยะที่มีมาตรฐานเทียบเท่าประเทศญี่ปุ่น การสร้างงานและรายได้ผ่านการท่องเที่ยวชุมชน
ธนาธรกล่าวต่อว่า อีกทางหนึ่งคือการขับเคลื่อนจาก ‘บนลงล่าง’ ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญและแก้ไขกฎหมายเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดในการทำงานของท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่มาของการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ ที่มีประชาชนทั่วประเทศร่วมลงชื่อกว่า 76,591 คน และจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 29-30 พฤศจิกายนนี้ โดยเราหวังว่าวันหนึ่งการขับเคลื่อนทั้ง 2 ทางจะมาบรรจบกันที่เส้นชัย คือการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ก้าวหน้า หลุดพ้นจากประเทศกำลังพัฒนา
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาความเจริญและอำนาจในการตัดสินใจส่วนใหญ่ของประเทศไทยรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ และรัฐส่วนกลาง ขนาดเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ใหญ่กว่าจังหวัดอันดับ 2 อย่างชลบุรีถึง 5 เท่า ในขณะที่ส่วนกลางมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการใช้งบสูงถึง 80% ของงบประมาณทั้งหมด พรรคก้าวไกลจึงมีเป้าหมายที่จะปลดล็อกความกระจุกตัวของอำนาจและความเจริญ ด้วยการทำให้ประชาชนทุกจังหวัดมีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการกำหนดอนาคตของตัวเอง
“หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมพรรคก้าวไกลพูดแต่เรื่องกระจายอำนาจ ทำไมไม่พูดเรื่องปากท้องเฉพาะหน้าของประชาชน แต่ผมต้องบอกว่านโยบายกระจายอำนาจคือนโยบายเศรษฐกิจ คือเรื่องปากท้อง เพราะการกระจายอำนาจจะนำไปสู่การระเบิดพลังทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทำให้งบประมาณถูกใช้อย่างถูกจุดโดยคนที่ใกล้ชิดกับปัญหาและรู้ปัญหาจริง เพื่อยกระดับบริการสาธารณะ และสร้างงานใหม่ๆ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” พิธาระบุ
หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้หยิบยกการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เพื่อยืนยันถึงประโยชน์ของการกระจายอำนาจที่ถูกพิสูจน์ให้เห็นในหลายประเทศทั่วโลก การกระจายอำนาจจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตและลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ต่อหัวในแต่ละภูมิภาค ส่วนที่บางคนเชื่อว่ายิ่งกระจายอำนาจก็ยิ่งกระจายคอร์รัปชัน ผลการศึกษาในต่างประเทศกลับพบว่าหากทำควบคู่กับการเพิ่มเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาล การกระจายอำนาจกลับทำให้คอร์รัปชันลดลง
พิธากล่าวว่า นโยบาย ‘ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า’ จะพลิกประเทศทั้งในระยะสั้น-กลาง-ยาว โดยหากเป็นรัฐบาล สิ่งที่จะทำใน 100 วันแรกคือการยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช. ทั้งหมดที่ล็อกคอ-ล้วงลูกท้องถิ่น ถัดมาภายใน 1 ปี คือการทำประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับการเลือกตั้ง ‘นายกจังหวัด’ ทุกจังหวัด และยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยที่รับประกันว่าไม่มีใครตกงานหรือเสียประโยชน์ และในทุกๆปี รัฐบาลก้าวไกลจะค่อยๆ กระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะและพัฒนาพื้นที่ โดยภายใน 4 ปี ท้องถิ่นทั่วประเทศจะได้งบเพิ่มขึ้น 200,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นการเพิ่มงบ อบจ. ละ 250 ล้าน เมืองละ 100 ล้าน ตำบลละ 50 ล้านบาท ต่อปี โดยเฉลี่ย
วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า นโยบายทุกจังหวัดไทยก้าวหน้าประกอบด้วย 4 ข้อสำคัญ ได้แก่
(1) การวางโรดแมปไปสู่การเลือกตั้ง ‘นายกจังหวัด’ ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารสูงสุดในจังหวัดแทนผู้ว่าราชการที่มาจากการแต่งตั้ง
(2) การเพิ่มงบจังหวัดจัดการตนเอง
(3) การปลดล็อกกฎระเบียบให้ท้องถิ่นจัดทำบริการสาธารณะและแก้ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทั้งหมด
และ (4) การเพิ่มอำนาจประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน
นอกจากประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ วรภพกล่าวว่าพรรคก้าวไกลขอยืนยันกับข้าราชการทุกคนที่สังกัดส่วนภูมิภาคและสังกัดส่วนท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ว่า ‘ทุกตำแหน่งแห่งหนจะยังคงอยู่ ทุกสิทธิประโยชน์จะยังคงเดิม และทุกความก้าวหน้าจะยังคงมี’ โดยการปฏิรูประบบราชการครั้งนี้ เป็นเพียงการเปลี่ยนการทำงานของข้าราชการบางส่วนในแต่ละพื้นที่ จากเดิมที่ทำงานแยกกันภายใต้อธิบดีกรมหรือปลัดกระทรวงที่อยู่ที่กรุงเทพฯ เปลี่ยนเป็นทำงานร่วมกันภายใต้ผู้บริหารท้องถิ่นที่ประชาชนเลือกในพื้นที่โดยตรง โดยจะเป็นการออกแบบระบบราชการที่ทำให้ศักดิ์และสิทธิของข้าราชการทุกสังกัดเท่าเทียมกัน มีกลไกรองรับการถ่ายโอนโยกย้ายระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น
“ผมเชื่ออย่างสุดใจ ว่าภารกิจนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ทุกจังหวัดในประเทศไทยก้าวหน้า ถ้าประชาชนเป็นคนเลือกนายกจังหวัดแล้ว จะไม่มีรัฐบาลไหนเปลี่ยนกลับมาให้มีผู้บริหารจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งได้อีก นี่จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่ไม่มีวันย้อนกลับได้” วรภพกล่าว
ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การกระจายอำนาจจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอน เช่น ในช่วงเช้า คนภาคเหนือจะไม่ต้องตื่นมาสูดอากาศที่เป็นมลพิษ เพราะปัญหาไฟป่าจะได้รับการจัดการที่ดีขึ้น อาสาสมัครป้องกันไฟป่าจะได้รับการฝึกอบรม มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่เพียงพอ ลดความเสี่ยงในการสูญเสียชีวิต
ในช่วงกลางวัน คนภูเก็ตหรือคนขอนแก่น อาจได้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่ผลักดันมายาวนาน เช่น รถราง รถไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาทำไม่ได้เพราะเงินไม่พอและไม่มีอำนาจตัดสินใจ
ในช่วงเย็น ประชาชนจะมีสวนสาธารณะใกล้บ้านสำหรับพักผ่อนและเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันของคนทุกกลุ่ม แต่ที่ผ่านมาเทศบาลไม่สามารถใช้งบประมาณด้านวัฒนธรรมเพื่อจัดงานคริสต์มาสได้ เพราะส่วนกลางกำหนดให้จัดได้แค่งานวัฒนธรรมไทย
และช่วงค่ำ ประชาชนจะออกไปสังสรรค์ใกล้บ้านได้สะดวก หากกระจายอำนาจให้นายกจังหวัดจัดการผังเมืองได้ ไม่ถูกจำกัดโดยการจัดโซนนิ่งของรัฐส่วนกลาง ที่บางครั้งทำให้สถานที่สังสรรค์มีที่ตั้งอยู่ห่างไกล ดังนั้น จากตัวอย่างทั้งหมดนี้ เชื่อว่าการกระจายอำนาจจะทำให้ชีวิตของคนไทยดีขึ้น รัฐบาลท้องถิ่นใกล้ชิดประชาชน และนโยบายยึดโยงพื้นที่
