Wednesday, 22 May 2024
ที่ดินทำกิน

‘บิ๊กป้อม’ สั่งเร่งจัดหาที่ดินทำกินให้ชุมชนทั่วประเทศ โชว์ผลงาน 6 ปี จัดสรรไปแล้วกว่า 5.7 ล้านไร่

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2558 - 2564 รัฐสามารถดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลแล้ว 1,442 พื้นที่ใน 70 จังหวัด รวมเนื้อที่ 5,757,682 ไร่ ประชาชนได้รับการจัดที่ดินทำกินแล้ว 69,368 ราย เป็นพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด รวม 2,159,544 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด รวม 1,481,839 ไร่ ภาคกลาง 19 จังหวัด รวม 1,551,217 ไร่ และภาคใต้ 14 จังหวัด รวม 565,080 ไร่ โดยเข้าไปช่วยส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดควบคู่กันไปแล้วใน 62 จังหวัดจำนวน 46,820 ราย 

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับ ขอให้ยังให้ความสำคัญกับ การสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐ เพื่ออนุรักษ์และรักษาสมดุลของธรรมชาติ โดยขอให้เร่งขยายผลความสำเร็จต้นแบบของการจัดที่ดินทำกินชุมชนในแต่ละภาค ให้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งประเทศอย่างเป็นธรรมโดยเร็ว โดยเน้นการบริหารจัดการที่มุ่งความยั่งยืน พึ่งพาตัวเองได้ และเป็นไปตามความต้องการของแต่ละชุมชนในพื้นที่ โดยเฉพาะการมีที่ดินทำกินอย่างถูกกฎหมายและเป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  

ลุงป้อม รับปากจัดหาที่ดินทำกินให้ชาวสวนปาล์ม เขินหนัก โดนสาวสุราษฎร์ฯ ขอหอมแก้ม เด็กไม่เว้น มาขอกอด กองเชียร์กระหึ่ม “ลุงป้อมสู้ๆ”

(17 ต.ค. 65) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางถึงศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี ประชาชนและเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน มารอต้อนรับถือป้ายให้กำลังใจ 

ทั้งนี้ระหว่างกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องที่ดินทำกิน ได้มีผู้หญิงคนหนึ่งนำพวงมาลัยดอกดาวเรืองมาคล้อง และได้ขอหอมแก้มพล.อ.ประวิตร พร้อมขอกอด ซึ่งพล.อ.ประวิตร ได้เอียงแก้มให้หอม จากนั้น พล.อ.ประวิตร ได้เดินจับมือทักทายเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ที่มายืนถือป้ายขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ระหว่างนั้นได้มีเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ 2 คน อายุประมาณ 3-4 ขวบ เข้ามาสวมกอดพล.อ.ประวิตร ท่ามกลางเสียงตะโกนของชาวบ้านกล่าวให้กำลังใจว่า “ลุงป้อมสู้ ๆ” ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงสูงอายุ โดยตลอดการเดินพบปะชาวบ้าน พล.อ.ประวิตรมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และโบกมือทักทายชาวบ้าน อีกทั้งรับปากชาวบ้านที่เรียกร้องให้จัดหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินว่า “โอเคครับ จัดเลย”

‘บิ๊กป้อม’ พอใจแก้ปัญหาที่ดินให้ปชช. คืบหน้า ย้ำ!! ยึดหลักหนึ่งเดียวกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตปชช.

‘พล.อ.ประวิตร’ พอใจแก้ปัญหาที่ดินคืบหน้า ย้ำยึดหลักหนึ่งเดียวกัน พร้อมลงจี้กวาดล้างใหญ่ยาเสพติดทุกพื้นที่เชื่อมโยงตัวการไม่มียกเว้น

โฆษกประจำ รอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อม รมว.ดีอีเอส รมช.คลัง และคณะ เดินทางลงตรวจราชการพื้นที่ จังหวัดกำแพงเพชร ติดตามการแก้ปัญหายาเสพติด ที่ดินทำกินและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โดยรับฟังสถานการณ์ด้านการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติด และการจัดการที่ดินทำกินตามนโยบายของรัฐบาล ณ รร.ปางศิลาทองศึกษา มี ผวจ.กำแพงเพชร มทภ.3 ผบช.ภาค 6 ผอ.สคทช. เลขา สทนช.และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ให้การต้อนรับ

โดยพล.อ.ประวิตร ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเขียว-ป่าเขาสว่าง และป่าคลองห้วยทราย เนื้อที่กว่า 12,951 ไร่ มีประชาชนเข้าอยู่อาศัย 1,077 ราย ให้กับ ผวจ.กำแพงเพชร พร้อมทั้งมอบหนังสืออนุญาตสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดที่ดินทำกินในพื้นที่ อ.ปางศิลาทอง และ อ.ขาณุวรลักษณ์บุรี เนื้อที่รวมกว่า 4,233 ไร่ ให้กับประชาชนจำนวน 334 ราย 

‘บิ๊กป้อม’ รุกเข้ม ‘แก้แล้ง-ที่ดินทำกิน’ มุกดาหาร สั่งลุย!! ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องช่วยเหลือทั่วถึง

(2 ธ.ค. 65) ณ ศาลากลาง จ.มุกดาหาร พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ติดตามการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำแล้ง และรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ จ.มุกดาหาร จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

โดยภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ได้พัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วม พัฒนาแหล่งน้ำและระบบระบายน้ำ มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ เกือบ 40,000 ไร่ ครอบคลุม 17,873 ครัวเรือน และในปี 66-67 มีแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยมุก อ่างเก็บน้ำห้วยเปื่อย และระบบป้องกันน้ำท่วม ตามที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 1,063 ล้านบาท 

‘ลุงป้อม’ ปลื้มแรง!! ชาวมุกดาหารแห่รับคึกคัก หลังลงพื้นที่แก้ ‘น้ำท่วม-ภัยแล้ง’ แบบยั่งยืน

(2 ธ.ค. 65) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กอนช. พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ไปปฏิบัติราชการ ต่อเนื่องจากช่วงเช้า โดยในช่วงบ่ายได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ‘ห้วยบังอี่’ ต.โพธิ์ไทร อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร เพื่อติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้าง โดยกรมชลประทานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก สำหรับโครงการนี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานในปี 66 จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ มากถึง 3,000 ไร่ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วในช่วงฤดูแล้ง เพื่อช่วยพร่องระบายน้ำช่วงต้นฤดูฝน และเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร ประมงและอื่น ๆ ในช่วงฤดูแล้ง และใช้ป้องกันน้ำจากแม่น้ำโขงหนุน และไหลย้อนกลับเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรม จากนั้น พล.อ.ประวิตร ได้พบปะผู้นำท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ ที่มาให้การต้อนรับ อย่างอบอุ่น และเต็มไปด้วยรอยยิ้ม พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ทุ่มเทการปฏิบัติงาน ด้วยดีที่ผ่านมา

ต่อจากนั้น พล.อ.ประวิตร และคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการขุดเจาะน้ำบาดาล และสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ของ อบจ. มุกดาหาร ณ บ้านนาดี ต.ดงมอน อ.เมือง จ.มุกดาหาร  ซึ่งเป็นโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตร และการเพาะปลูกพืช ได้ตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง แม้จะเกิดฝนทิ้งช่วงก็ตาม

เมื่อนักการเมืองยื่นปลา แต่พระราชาทรงยื่นเบ็ด

เนื้อหาของบทความนี้ผมตั้งใจอยากจะเล่าเรื่องของในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ท่านวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งอีกนัยหนึ่งยังเป็น ‘วันพ่อ’ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพ่อของปวงชนชาวไทย ผมเลยขอนำเรื่องความประทับเรื่องหนึ่งมาเขียนเล่าในบทความนี้

เมื่อหลายปีก่อน ผมได้เคยเห็นภาพหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2518 จาก ‘สมุดภาพโครงการตามพระราชดำริ’ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 โดยเนื้อหาใต้ภาพระบุว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การพัฒนาที่ดินตามโครงการที่ได้ทรงเริ่มมาตั้งเเต่พุทธศักราช 2507 ที่ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้ผลเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงต้องพระราชประสงค์ที่จะขยายงานด้านการช่วยเหลือเกษตรกรให้เเพร่หลายต่อไป ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานที่นาของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งหมดรวม 51,967 ไร่ 95 ตารางวา สำหรับใช้ในการปฎิรูปที่ดินเป็นการประเดิมเริ่มเเรก โดยให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พุทธศักราช 2518”

สมุดภาพเล่มนี้รวบรวมโครงการพระราชดำริจนถึง พ.ศ. 2525 ไว้ทั้งหมด 654 โครงการ (ซึ่งปัจจุบันมี 4,000 กว่าโครงการ) จากภาพหน้า 1 หนังสือพิมพ์ที่ได้เห็นจากหนังสือ ผมก็เลยไปลองหาข้อมูลต่อ โดยเฉพาะความสนใจเรื่องของ ‘ที่ดินทำกิน’ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในยุคแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัวของคนไทย ที่เกษตรกรรมคืออาชีพหลัก และเป็นเรื่องหลักที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานให้เป็นมรดกของปวงชนชาวไทย 

ปฐมบทของเรื่องนี้ต้องย้อนไปเมื่อปี 2507 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ จ.เพชรบุรี แล้วทรงทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน 83 ครอบครัว ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ในการประกอบอาชีพจึงทรงรับกลุ่มเกษตรกรนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชทานเงินให้กู้ยืมไปลงทุน (ย้ำว่าให้กู้นะครับ) จำนวน 300,000 บาท ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับสมัยนั้น แต่ทว่าไม่มีผู้ใดสามารถนำเงินที่กู้ยืมไปมาคืนได้ (ทำไมล่ะ ?) เหล่าเกษตรกรไม่ได้ขี้เกียจนะครับ แต่มูลเหตุที่เกษตรกรเหล่านี้ไม่มีเงินมาคืนก็เพราะพวกเขา ‘ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง’ ต้องเช่าที่ดินของกรมประชาสงเคราะห์ เฉลี่ยครอบครัวละไม่เกิน 2 ไร่ ทั้งอยู่ ทั้งเพาะปลูก ซึ่งไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ พอพระองค์ทรงทราบถึงมูลเหตุแห่งการนี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ อดีตองคมนตรี ไปจัดหาที่ดินในเขต จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อมาจัดสรรให้แก่เกษตรกร (คือวัดผลกันอีกครั้ง เงินที่ให้กู้ไป ก็ช่างมัน) 

เป็นความบังเอิญที่โชคดีอย่างยิ่ง!! เพราะในขณะนั้น รัฐบาลอิสราเอล โดย เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ได้ขอทราบหลักการของโครงการเรื่องของที่ดินเกษตรในครั้งนั้นและอาสาช่วยเหลือในด้านผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ทำให้เกิดการทำสัญญาร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล โดยเริ่มโครงการ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2509 ให้ชื่อว่า ‘โครงการไทย - อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท (หุบกะพง)’ นั่นคือการต่อยอดจากพระราชดำริในการสร้างที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร 

พื้นที่โครงการเดิมเป็นป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ มีราษฎรเข้าไปจับจองอยู่บ้าง แต่ทำกินไม่ค่อยได้ผล เพราะดินไม่ดีและขาดแคลนน้ำ การทำกินจึงเป็นไปในลักษณะไร่เลื่อนลอย ย้ายที่ทำกินทุก 3-4 ปี จึงมีพระราชดำริให้กันพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ออกจากพื้นที่ป่า โดยทรงจับจองที่ดินตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วนำมาจัดให้ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนและมีความขยันหมั่นเพียร แต่ขาดแคลนที่ทำกินได้เข้าไปอยู่อาศัยและทำประโยชน์ นั่นคือจุดเริ่มต้นจนเกิดเป็นข่าวนี้ในปี พ.ศ. 2518 

เกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องที่ดิน ผมขอยกบทความของท่านอดีตประธานองคมนตรี ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เรื่อง ‘พระบารมีคุ้มเกล้าฯ’ ในหนังสือ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี’ โดยมีใจความบางส่วนบางตอนที่เล่าเรื่อง ‘การปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ดินทำกิน’ ความว่า...

“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการณ์ไกลในอนาคตว่า ยิ่งนานวันชาวไร่ชาวนาจะยิ่งไม่มีที่ดินทำกิน เพราะความยากจนของเขาเหล่านี้ พวกที่เคยมีที่ดินต้องยอมสูญเสียกรรมสิทธิ์ให้แก่นายทุน และกลายมาเป็นผู้เช่าหรือไร้ที่ดินทำกินในที่สุด จึงมีพระราชดำริที่จะปฏิรูปที่ดินทำกิน เพื่อช่วยราษฎรที่ยากจนให้มีที่ดินทำกินตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยทรงดำเนินโครงการเป็นแบบอย่างเริ่มจาก ‘โครงการจัดสรรและพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง’

“รัฐบาลแต่ละชุดหลังจากนั้น ก็ได้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาทในเรื่องปฏิรูปที่ดินตามพระราชดำริของพระองค์มาเป็นลำดับ (พระองค์ไม่ได้บังคับให้ทำตามนะครับ แต่ถ้ารัฐบาลไหนเห็นประโยชน์ตรงนี้ก็สนองพระราชดำริของพระองค์เพื่อประโยชน์ของประชาชน)”

“ตั้งแต่รัฐบาลชุดศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เสนอและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ตราพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ขึ้น ช่วงที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ พระองค์ทรงพระกรุณาฯ รับโครงการไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยการพระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน 51,967 ไร่ 95 ตารางวา ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคกลาง แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นประเดิม โดยมีพระราชประสงค์ให้ผู้เช่าที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่แต่เดิม ได้ทำกินในที่ดินนั้นต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน ตราบที่ยังยึดถืออาชีพเกษตรกรรมอยู่ แต่จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น (ให้ทำกินได้ แต่ไม่ให้ขายเพราะจะหมดที่ทำกินหากขายไป)”

“ต่อมาในสมัยรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานพระราชดำริเรื่องการปฏิรูปที่ดิน โดยทรงขอให้รัฐบาลดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่ช้านัก แต่เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้มีเวลาอยู่ในหน้าที่ไม่นาน (เป็นรัฐบาลผสมยิบย่อยมาก ๆ) จึงยังไม่มีโอกาสสนองพระราชดำริเต็มที่ การปฏิรูปที่ดินตามพระราชดำรินั้น จึงเริ่มดำเนินการในสมัยรัฐบาลชุดของผม (รัฐบาลของ ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร) ตามที่ได้มีพระราชดำรัสแนะนำ คือ ให้มีการแจกเอกสารสิทธิแก่ราษฎรผู้ไร้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน และจัดให้มีการบูรณาการต่อไปด้วยการสร้างถนน สะพาน ขุดคลอง สร้างอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงคุณภาพดิน แจกปุ๋ย ฝึกอบรมสาธิตการเพาะปลูกพืชต่างๆ ที่ดูแลง่าย โตเร็ว ให้ราคาสูง และจัดสรรเงินทุนของกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกษตรกรกู้ยืมเพื่อการเกษตรด้วย…”

ถึงตรงนี้จบเรื่องราวที่ดินในบทความเล่าเรื่อง ‘การปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ดินทำกิน’

น่าสังเกตว่าโครงการหุบกะพงที่ทรงดำเนินโครงการเป็นแบบอย่างนั้น มีการทดลองปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ วางแผนผังการจัดที่ดิน บำรุงรักษาพัฒนาแหล่งน้ำรวมกลุ่มเกษตรจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร เพื่อการผลิต การจำหน่าย จัดหาสินเชื่อ มีการส่งเสริมการเกษตรและพัฒนาอาชีพ ครบวงจร 

ที่น่าสนใจ คือ พระองค์พระราชทานที่ดินเพื่อใช้ประเดิมสำหรับการดำเนินงานปฏิรูปที่ดินในท้องที่ภาคกลางด้วย โดยรัฐบาลในขณะนั้นเริ่มทำการปฏิรูปที่ดินที่ได้รับพระราชทานมาทั้ง 50,000 ไร่เศษก่อน โดยมีที่ดิน ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถปฏิรูปได้ 43,902ไร่ จากนั้นก็บุกเบิกปฏิรูปที่ดินในท้องถิ่นทุรกันดารอื่น ๆ ตามพระราชดำริ รวมอีก 17 จังหวัด ปฏิรูปไปถึงท้องที่ ที่แห้งแล้งที่สุดในอีสาน คือ ทุ่งกุลาร้องไห้!! (วันนี้ไม่มีกุลามาร้องไห้ มีแต่ข้าวเจ้าที่อร่อยมาก ๆ) 

ต่อจากนั้น รัฐบาลชุดต่อ ๆ มาก็ได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามพระราชดำรินี้จวบจนถึงปัจจุบัน จนสามารถช่วยเกษตรกรไทยให้มีที่ดินทำกิน และมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ยังได้พระราชทานพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพิ่มเติม โดยทรงชี้แนะด้วยว่า การปฏิรูปที่ดินในแต่ละท้องที่ จะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อให้เกษตรกรเห็นผลโดยไม่ชักช้าส่วนเงินชดเชยค่าที่ดินที่ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทาน ซึ่งรัฐบาลจะต้องทูลเกล้าฯ ถวายตามกฎหมายนั้น เพื่อพระราชทานให้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับดำเนินงานของสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดินเหล่านั้น (คือเงินพระองค์ที่ชาวบ้านมาใช้ที่ดินของพระองค์พระองค์ไม่รับ ที่จ่าย ๆ กันมาให้เอาไปหมุนเวียนในสหกรณ์) พูดง่าย ๆ ว่า ทรงให้ทั้งที่ดินทำกิน ให้ทั้งเงิน แล้วยังให้พัฒนาทรัพยากรเพื่อการผลิตอื่น ๆ พร้อมด้วยความรู้ในการผลิตและการดำเนินการต่อไปด้วย

'บิ๊กป้อม' ลงพื้นที่อ.เมืองลำปาง-อ.แม่เมาะ มอบที่ดินทำกิน จี้แผนขุดลอก-ฟื้นฟู เร่งเก็บกักน้ำ

(16 ม.ค. 66) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดลำปาง โดยในช่วงเช้าเป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ณ ศาลากลาง จังหวัดลำปาง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวต้อนรับพร้อมบรรยายภาพรวมของจังหวัด ก่อนเยี่ยมชมนิทรรศการผลิตภัณฑ์ OTOP และพบปะประชาชน 

จากนั้น รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีมอบเอกสารใบอนุญาต คทช. มอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล และมอบเอกสาร สปก. 4-01 ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดลำปาง และติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ ณ ที่ว่าการ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและผู้ยากจนเรื่องที่ดินทำกินมาโดยตลอด และได้ดำเนินการผ่านโครงการหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐเช่น สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในภารกิจการกระจายถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ภายใต้การดูแลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้แก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่ที่อาศัยและป้องกันการสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินจากการจำนอง การขายฝาก เพื่อให้เกษตรกรยังคงมีสิทธิ์ในที่ดินทำกินของตนเอง ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่ทำกิน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

'ลุงป้อม' ปลื้ม!! แก้ปัญหาที่ดินทำกิน คืบเกือบ 8 หมื่นราย ย้ำ มุ่งหน้าทำต่อเนื่อง ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างยั่งยืน

วันนี้ (10 ก.พ. 66) เวลา 09.00 น. ณ อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนา 'สานพลังยกระดับการขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน' ในโอกาสครบรอบ 2 ปี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.)

รองนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า รัฐบาลมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยเน้นกระจายการถือครองและการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ผ่านการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ในลักษณะแปลงรวม โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ บนกรอบแนวคิดที่ต้องการแก้ไขปัญหาความยากจนลดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ได้มีสิทธิทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้ความมั่นใจในการประกอบอาชีพ สร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิต ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พอใจการขับเคลื่อนแก้ปัญหาจัดการที่ดิน และขอบคุณ สคทช. ที่ขับเคลื่อนแก้ปัญหาที่ดินมีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมมาเป็นลำดับ ตั้งแต่ ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยสามารถเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายไปแล้ว จำนวน 1,491 พื้นที่ เนื้อที่ประมาณ 5.7 ล้านไร่ ครอบคลุม 70 จังหวัด และสามารถจัดคนเข้าใช้ประโยชน์ให้ได้มีที่อยู่อาศัย มีที่ดินทำกิน เลี้ยงชีพได้แล้ว จำนวน 78,109 ราย

‘บิ๊กป้อม’ ลงพื้นที่ตรวจแผนพัฒนาแหล่งน้ำ - มอบที่ทำกิน ขจัดความยากจน - พา ปชช. ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำ

(13 ก.พ. 66) เวลา 14.00 น. พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รมว.ดีอีเอส, รมว.ศธ., รมช.คลัง, รมช.กห. และคณะ ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการ เพื่อติดตามการพัฒนาทรัพยากรน้ำ และแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี

โดยเมื่อเดินทางถึง ที่ทำการโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หนองฝ้าย อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ได้ร่วมประชุมหารือและรับฟังการบรรยายสรุป จาก ร.ท.ทศพล ไชยโกมินทร์ ผวจ., รองเลขาฯ สทนช., อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล, กรมชลประทาน ,ผอ.สคทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปภาพรวม จ.กาญจนบุรี อยู่ในพื้นที่ ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำท่าจีน ปัญหาน้ำท่วมมักเกิดจากน้ำหลากจากเทือกเขาต้นน้ำ ลำน้ำระบายได้ช้า เนื่องจากมีสิ่งกีดขวาง และลำน้ำตื้นเขิน ปัญหาภัยแล้งเกิดจากภาวะฝนน้อย และฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และความต้องการจากการเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ทั้งงบปี 61-65, งบกลางปี 65 และงบบูรณาการปี 66 รวมทั้งอีก 3 โครงการสำคัญ วงเงิน 16,669 ล้านบาท ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์ 75,469 ครัวเรือน ได้แก่ โครงการขยายความจุอ่างเก็บน้ำลำอีซู และโครงการผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ระยะที่ 1 และโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ รวมทั้งดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล และขยายระบบส่งน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะ อ.เลาขวัญ และอ.ห้วยกระเจา ซึ่งประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดเรียกว่าเป็น ‘อีสาน จ.กาญจนบุรี’

'ลุงป้อม' เตรียมลุย 'เมืองจันทร์-ตราด' 20 ก.พ.นี้ เยี่ยมชมวิสาหกิจ-ตรวจโครงการแก้มลิงหนองฉุงใหญ่

(17 ก.พ. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์บริหารจัดการน้ำ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่า ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ มีกำหนดลงพื้นที่ปฎิบัติราชการที่จังหวัดจันทบุรี โดยช่วงเช้าเดินทางไปตรวจเยี่ยมวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรุ่นใหม่พัฒนา ตำบลทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี

จากนั้นเป็นประธาน เปิดงาน 'บจธ. มอบสิทธิ มอบสุขในที่ดินทำกิน' มอบป้ายสัญลักษณ์สิทธิในที่ดินให้แก่ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนฯ จำนวน 10 คน และมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกทำกินในชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ให้กับผู้แทนประชาชน จำนวน 5 คน และเยี่ยมชมร้านค้าจำหน่ายผลผลิตเกษตรในพื้นที่ และชมแปลงเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top