Monday, 13 May 2024
ทำแท้ง

‘สภาฝรั่งเศส’ รับรองสิทธิ ‘การทำแท้ง’ ในรัฐธรรมนูญ หลังออกกฎหมายอนุญาตทำแท้ง เมื่อกว่า 50 ปีก่อน

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐสภาฝรั่งเศสเห็นชอบแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้ ‘การทำแท้ง’ เป็นเสรีภาพของพลเมืองภายใต้กฎหมายสูงสุด ถือเป็นชาติแรกของโลก

ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่บัญญัติเสรีภาพการทำแท้งไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายสูงสุดของประเทศ นั่นหมายความว่า สิ่งอื่นใดจะมาล้มล้างเสรีภาพนี้ไม่ได้

โดยหลักการทางกฎหมาย เสรีภาพคือภาวะโดยอิสระของมนุษย์ แม้จะไม่มีกฎหมายรับรองหรือคุ้มครองไว้ บุคคลก็ยังคงมีเสรีภาพนั้น เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา ที่ไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องนับถือศาสนาใด และทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกศาสนาที่จะนับถือ

ในทำนองเดียวกัน เสรีภาพในการทำแท้งนี้ก็หมายความว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการตัดสินใจทำแท้ง โดยที่ใครก็มาละเมิดความคิดหรือบังคับไม่ให้ทำไม่ได้

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส จะต้องมีเสียงข้างมาก 3 ใน 5 ซึ่งในการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายทำแท้งให้เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภานิติบัญญัติจากสภาสูงและสภาล่างของรัฐสภาฝรั่งเศส ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ถึง 780 ต่อ 72 เสียง

การลงคะแนนเสียงล่าสุดถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการนิติบัญญัติ หลังก่อนหน้านี้วุฒิสภาฝรั่งเศสและรัฐสภาต่างเห็นชอบการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอย่างท่วมท้นเมื่อต้นปีนี้

การแก้ไขระบุว่า เพื่อให้ “การทำแท้งเป็นเสรีภาพที่พลเมืองในฝรั่งเศสจะได้รับอย่างแน่นอน” แต่ผู้ร่างกฎหมายบางกลุ่มเรียกร้องให้มีการเรียกการทำแท้งอย่างชัดเจนว่าเป็น ‘สิทธิ’ ไม่ใช่แค่เสรีภาพ

ฝ่ายนิติบัญญัติยกย่องความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าเป็นหนทางสร้างประวัติศาสตร์ให้กับฝรั่งเศสในการส่งสัญญาณที่ชัดเจนของการสนับสนุนสิทธิการเจริญพันธุ์ ขณะที่อิสระในการทำแท้งกำลังถูกคุกคามในสหรัฐฯ และบางส่วนของยุโรป เช่น ฮังการี

หลังจากการโหวต หอไอเฟลก็สว่างไสวด้วยคำว่า ‘ร่างกายของฉัน ทางเลือกของฉัน’

นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส กาเบรียล แอตทาล กล่าวก่อนการลงคะแนนเสียงว่า ฝ่ายนิติบัญญัติเป็น ‘หนี้’ ผู้หญิงทุกคนที่ในอดีตเคยถูกบังคับให้ทนทำแท้งผิดกฎหมาย และบอกว่า “เหนือสิ่งอื่นใด เรากำลังส่งข้อความถึงผู้หญิงทุกคน ร่างกายของคุณเป็นของคุณเอง”

ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง กล่าวว่า รัฐบาลจะจัดพิธีอย่างเป็นทางการเพื่อเฉลิมฉลองการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ในวันที่ 8 มี.ค. ซึ่งเป็นวันสิทธิสตรีสากล

ฝรั่งเศสออกกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งเป็นครั้งแรกในปี 1975 หลังจากการรณรงค์ที่นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ซิโมน เวล

ในฝรั่งเศส การทำแท้งเป็นเรื่องที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง สมาชิกสภานิติบัญญัติหลายคนที่ลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขนี้ไม่ได้ทำเช่นนั้นเพราะพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง แต่เพราะพวกเขารู้สึกว่ามาตรการนี้ไม่จำเป็น โดยสิทธิการเจริญพันธุ์ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว

การลงคะแนนเสียงครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 25 ที่รัฐบาลฝรั่งเศสแก้ไขรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐในปี 1958

คริสตจักรคาทอลิกเป็นหนึ่งในไม่กี่กลุ่มที่ประกาศต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดย Pontifical Academy for Life ซึ่งเป็นหน่วยงานของวาติกันซึ่งมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวจริยธรรม กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ในยุคของสิทธิมนุษยชนสากล เราไม่มี ‘สิทธิ’ ที่จะปลิดชีวิตมนุษย์”

'เดนมาร์ก' จ่อให้หญิงสาวอายุ 15 ปีทําแท้งได้ โดยไม่ต้องมีความยินยอมจากผู้ปกครอง

รัฐบาลเดนมาร์กประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 พ.ค.67) ว่าจะอนุญาตให้หญิงสาวสามารถทําแท้งได้จนถึง 18 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ แทนที่จะเป็น 12 สัปดาห์ เป็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านการทําแท้งครั้งแรกของประเทศในแถบนอร์ดิกเป็นเวลา 50 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ หญิงสาวอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจะมีสิทธิที่จะทําแท้งได้โดยไม่ต้องมีความยินยอมจากผู้ปกครอง รัฐบาลลดอายุขีดจํากัดให้เป็นไปตามอายุที่ยอมรับในการมีเพศสัมพันธ์ของประเทศ

“การเลือกว่าจะทําแท้งหรือไม่เป็นสถานการณ์ที่ยากลําบาก และฉันหวังว่าเด็กหญิงจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองของพวกเธอ แต่ถ้ามีความไม่ลงรอยกัน สุดท้ายแล้วต้องเป็นการตัดสินใจของเด็กหญิงเองว่าเธอต้องการเป็นแม่หรือไม่” มารี เบเยอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลและความเสมอภาคเพศ กล่าว

ในปัจจุบัน หญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปีสามารถทําแท้งได้ แต่ต้องมีความยินยอมจากผู้ปกครอง

กฎหมายสุขภาพฉบับแก้ไขจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายนของปีหน้า (2568)

เดนมาร์กเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในยุโรปตะวันตกที่เสนอการทําแท้งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในปี 1973 แต่ก็อนุญาตให้ทําแท้งได้จนถึง 12 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิเท่านั้น ปัจจุบันหญิงสาวในเดนมาร์กจะสามารถทําแท้งได้เป็นเวลานานกว่าประเทศใดๆ ในยุโรปส่วนใหญ่

ตามหน่วยงานข้อมูลสุขภาพแห่งชาติเดนมาร์ก จํานวนการทําแท้งที่เกิดขึ้นในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วงหลัง ในปี 2565 มีการทําแท้งทางการแพทย์ 14,700 ราย เทียบกับ 14,500 รายในปี 2557 จํานวนสูงสุดเกิดขึ้นในปี 2518 เมื่อการทําแท้งได้รับการยอมรับว่าถูกต้องตามกฎหมาย มีจํานวน 27,900 ราย

เมตต์ เธียเซน สมาชิกรัฐสภาจากพรรคประชาชนเดนมาร์กซึ่งเป็นพรรคป็อปปูลิสต์ ได้แสดงความเสียใจต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่า “เป็นวันที่แย่มาก กฎหมายใหม่ที่แย่มาก” เธียเซนกล่าวกับสถานีวิทยุโทรทัศน์ดีอาร์ว่า “มีความสมดุลที่ละเอียดอ่อนระหว่างสิทธิของหญิงในร่างกายของตน แต่ก็มีสิทธิในชีวิตของวิญญาณที่อยู่ในครรภ์ของแม่ด้วย”

ในเดือนมีนาคม ประเทศฝรั่งเศสได้กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่รับรองสิทธิในการทําแท้งไว้ในรัฐธรรมนูญ ทําให้ 'สิทธิในการทําแท้ง' ในฝรั่งเศสกลายเป็น 'ไม่สามารถถอนกลับได้'


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top