Saturday, 19 April 2025
ทำเนียบขาว

‘ทำเนียบขาว’ สั่ง จนท.รัฐ ลบแอป ‘TikTok’ ขีดเส้นตายภายใน 30 วัน หวั่นโดนล้วงข้อมูล

สำนักงานการบริหารและงบประมาณ (OMB) ของทำเนียบขาวออกคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางดำเนินการลบแอปพลิเคชันติ๊กต๊อกออกจากอุปกรณ์ทุกชนิดของรัฐบาลภายใน 30 วัน หลังสหรัฐ อเมริกา ยกระดับการตรวจสอบติ๊กต๊อกของบริษัทไบต์แดนซ์จากจีน ด้วยข้อวิตกด้านความมั่นคง

ทั้งนี้ OMB ระบุว่า การออกแนวทางปฏิบัติดังกล่าวในวันจันทร์ (27 ก.พ.) เป็น 'ขั้นตอนสำคัญในการแก้ปัญหาความเสี่ยงที่ติ๊กต๊อกมีต่อข้อมูลที่อ่อนไหวของรัฐบาล' โดยหน่วยงานบางส่วน เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ กระทรวงการต่างประเทศ และทำเนียบขาวได้สั่งห้ามใช้ติ๊กต๊อกอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่การออกแนวทางดังกล่าวนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานรัฐบาลที่เหลือปฏิบัติตามภายใน 30 วัน

เทียบภาพถ่ายเป็นทางการของ 'โดนัลด์ ทรัมป์' วาระแรก vs สมัยสอง ปธน.สหรัฐคนที่ 47

(16 ม.ค.68) โลกโซเชียลต่างฮือฮา เมื่อสำนักประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เปิดเผยภาพถ่ายอย่างเป็นทางการของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 47 ที่จะใช้ในโอกาสสถาปนารับตำแหน่งวันที่ 20 มกราคมนี้ ซึ่งทรัมป์มีท่าทางขึงขังอย่างชัดเจน แตกต่างกับภาพถ่ายอย่างเป็นทางการช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรกช่วงปี 2017-2021 ซึ่งเป็นภาพที่ทรัมป์แสดงรอยยิ้มอย่างชัดเจน

จากข้อมูลของทำเนียบขาวระบุว่า ภาพถ่ายของทรัมป์ ในสมัยแรกเมื่อปี 2017 ถูกถ่ายโดย Shealah Craighead หัวหน้าช่างภาพประจำทำเนียบขาวช่วงปี 2017 – 2021 ขณะที่ภาพถ่ายอย่างเป็นทางการของทรัมป์ที่ใช้ในปี 2025 นี้นั้นยังไม่ได้รับการเปิดเผยว่าช่างภาพคนใดเป็นผู้ถ่าย

อย่างไรก็ตาม หลังมีการเปิดเผยภาพถ่ายสมัยที่ 47 บรรดาชาวเน็ตอเมริกันหลายคนต่างแสดงความเห็นว่า การวางใบหน้าของทรัมป์คล้ายคลึงอย่างมากกับรูปถ่ายของทรัมป์เมื่อเดือนสิงหาคม 2023 ที่เรือนจำฟุลตันเคาน์ตี้ในแอตแลนตาหลังจากที่เขายอมมอบตัวในคดีกรรโชกทรัพย์เพื่อการเลือกตั้ง

ทรัมป์เจาะสื่อใหม่!! ไฟเขียวทำเนียบขาวรับอินฟลูฯ ทำข่าว ยอดขอรับบัตรสื่อทะลุ 7,400 ในวันเดียว

(31 ม.ค.68) ทำเนียบขาวสร้างกระแสใหญ่หลังประกาศเปิดโอกาสให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ และพอดแคสเตอร์ เข้าร่วมการแถลงข่าวได้อย่างเป็นทางการ ล่าสุด มีคำขอรับบัตรประจำตัวสื่อมวลชนมากกว่า 7,400 รายการ ในเวลาเพียงหนึ่งวันเท่านั้น หลังประกาศนโยบายนี้เมื่อวันอังคารที่ 25 มกราคม  

แคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว เปิดเผยว่า การตัดสินใจครั้งนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของชาวอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาเสพข่าวผ่านพอดแคสต์ บล็อก และโซเชียลมีเดีย แทนสื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์  

ผลสำรวจล่าสุดจากศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ยืนยันว่า อินฟลูเอนเซอร์และสื่อออนไลน์กลายเป็นแหล่งข่าวหลักสำหรับคนอายุต่ำกว่า 30 ปี โดยเกือบ 40% ของกลุ่มนี้พึ่งพาอินฟลูเอนเซอร์ในการติดตามข่าวสารและการเมือง การเปิดพื้นที่ให้สื่อทางเลือกเหล่านี้จึงเป็นโอกาสให้พวกเขาตั้งคำถามกับรัฐบาลได้โดยตรง  

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา พรรคเดโมแครตได้เชิญคอนเทนต์ครีเอเตอร์กว่า 200 คนมาร่วมรายงานข่าวการเลือกตั้ง ขณะที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีก็ร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์หลายสิบคนในการทำข่าวโอลิมปิกปารีส 2024 โดยมอบบัตรผู้สื่อข่าวให้เหมือนนักข่าวมืออาชีพ  

นอกจากนี้ กลยุทธ์การสื่อสารผ่านพอดแคสต์ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังถูกมองว่าประสบความสำเร็จในการดึงดูดผู้มีสิทธิเลือกตั้งวัยรุ่นชายที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม โดยทรัมป์เคยให้สัมภาษณ์กับพอดแคสเตอร์ชื่อดังอย่าง โจ โรแกน, โลแกน พอล และธีโอ วอน ซึ่งช่วยเพิ่มความนิยมในกลุ่มนี้อย่างมาก

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของทำเนียบขาวไม่เพียงสะท้อนถึงการปรับตัวต่อเทรนด์สื่อสมัยใหม่ แต่ยังเป็นการท้าทายบทบาทของสื่อดั้งเดิมที่อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในยุคที่ทุกคนสามารถเป็น 'ผู้สื่อข่าว' ได้

ทรัมป์คุมสื่อ!! จำกัดนักข่าว AP-Reuters-Bloomberg อ้างปรับสมดุล แต่สื่อใหญ่ฟาดกลับ คุกคามเสรีภาพ

รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มใช้มาตรการใหม่ในการควบคุมการเข้าถึงของสื่อมวลชนภายในทำเนียบขาว โดยการจำกัดการเข้าร่วมของนักข่าวบางสำนักในกิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้ AP, Reuters และ Bloomberg ออกแถลงการณ์ประณามว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพสื่อและขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ (26 ก.พ.68) ตามเวลาท้องถิ่น การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกของรัฐบาลทรัมป์มีการเลือกสำนักข่าวที่สามารถเข้าถึงข้อมูลในทำเนียบขาว โดยเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวได้คัดเลือกสื่อที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วม ซึ่งนักข่าวจาก AP, Reuters, HuffPost และ Der Spiegel ถูกปฏิเสธ ไม่ให้เข้าร่วมงาน ในขณะที่สำนักข่าวที่ได้รับอนุญาตกลับเป็น ABC News, Newsmax, Axios, Bloomberg และ NPR

มาตรการนี้เป็นไปตามคำแถลงของทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ซึ่งระบุว่า ทำเนียบขาวจะเป็นผู้กำหนดว่าใครสามารถทำข่าวในพื้นที่สำคัญ เช่น ห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของการบริหารงานของประธานาธิบดี

ยิ่งไปกว่านั้น รายงานยังเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้สั่งให้พนักงานทุกคนยกเลิกการสมัครสมาชิกสื่อที่ถูกมองว่าเป็น 'ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล' เช่น The Economist, New York Times, Politico, Bloomberg, AP และ Reuters ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าถึงข้อมูลจากสำนักข่าวเหล่านี้ในระดับโครงสร้าง

ไม่เพียงแค่ทำเนียบขาวและกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Pentagon) ก็ได้มีการถอดสำนักข่าวใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ NBC News, The New York Times, NPR และ Politico ออกจากพื้นที่ของเพนตากอน พร้อมเปิดโอกาสให้สื่อขนาดเล็ก เช่น One America News Network (OAN), New York Post, Breitbart News Network และ HuffPost เข้ามาทำข่าวแทน ซึ่งถูกอธิบายว่าเป็น 'การปรับโครงสร้างการรายงานข่าว'

การตัดสินใจดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากหลายฝ่ายในวงการสื่อและนักวิเคราะห์ ที่มองว่าเป็นความพยายามในการจำกัดการเข้าถึงของสื่อที่มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่สนับสนุนทรัมป์มองว่าเป็นการ 'ปรับสมดุล' ให้กับสื่อมวลชนที่มีอคติต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ขณะนี้ยังไม่มีการตอบโต้จากทำเนียบขาวเกี่ยวกับแถลงการณ์ของ AP, Reuters และ Bloomberg แต่คาดว่า ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทรัมป์และสื่อหลักจะทวีความรุนแรงในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top