วิกรม กรมดิษฐ์ เศรษฐีสุดใจบุญแห่งปี
นับว่าเป็นที่สุดของการแบ่งปัน ที่ทำเอาสังคมลุกขึ้นมาชื่นชมอย่างไม่ขาดสาย เมื่อนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ ได้ออกมาประกาศว่า ตนเองได้ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินส่วนตัวให้กับมูลนิธิอมตะมูลค่ากว่า 95% ของทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ มูลค่า 20,000 ล้านบาท เนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิดปีที่ 70 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 66 ที่ผ่านมา
“อายุ 70 ปีแล้ว สะท้อนว่าเราเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง และมองไปเมื่อวัยเด็กเราเคยลำบากแต่ไม่ใช่ยากจนนะ ครอบครัวเราเป็นนักธุรกิจตั้งแต่ปู่ทวด ร่ำรวยสุดในกาญจนบุรีแต่ถูกพ่อใช้งานหนักมาก ได้ทุนไปเรียนที่ไต้หวันกำลังจะต่อปริญญาโทวิศวกรรมอวกาศ ที่มหาวิทยาลัยโทรอนโต ปี 1975 แต่ไม่มีทุนเรียนต้องกลับมาหาเงิน
เราจึงคิดว่า ถ้าเราได้ดิบได้ดี เราจะนำมาแบ่งปัน ผมจึงตั้ง ‘มูลนิธิอมตะ’ ขึ้นมาเมื่อ 27 ปีก่อน โดยใช้เงินส่วนตัว 100% เพราะกำหนดเรื่องที่อยากจะทำได้ และที่สำคัญการทำธุรกิจที่ผ่านมา เงินที่ได้มาจากแผ่นดินนี้ สังคมนี้ จึงต้องคืนกลับไป จึงทำพินัยกรรมมอบให้กับมูลนิธิอมตะ และถ้าเสียชีวิตก็จะโอนทั้ง 100% ให้มูลนิธิทั้งหมด” นายวิกรม กล่าวถึงที่มาของเจตนารมณ์ในการมอบทรัพย์สิน
สำหรับ ‘มูลนิธิอมตะ’ ได้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยมีโครงการภายใต้วัตถุประสงค์ เช่น โครงการรางวัล นักเขียนอมตะ, โครงการทุนเรียนดี, โครงการประกวดศิลปกรรม อมตะ อาร์ต อวอร์ด, โครงการด้านนวัตกรรม, โครงการหนังสือดีมีประโยชน์สร้างการเปลี่ยนแปลง และโครงการปรับปรุงอุทยานเขาใหญ่สู่อุทยานมาตรฐานโลกภายในเวลา 10 ปี ฯลฯ
ด้านประวัติส่วนตัวของนายวิกรม ที่เผยแพร่โดยเว็บไซต์มูลนิธิอมตะ นายวิกรม กรมดิษฐ์ เกิดวันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2496 จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรชายคนโตของตระกูล มีน้องมารดาเดียวกันและต่างมารดารวม 21 คน จบการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์เครื่องกล จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน
เนื่องจากนายวิกรมมีความสนใจการค้าตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้เมื่อเรียนจบ ปี พ.ศ. 2518 เขาจึงได้กลับมาเปิดบริษัท วี แอนด์ เค คอร์ปอเรชัน จำกัด เป็นธุรกิจนำเข้าส่งออก ต่อมาหันมาบุกเบิกธุรกิจด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งในประเทศไทยและอีก 1 แห่งในประเทศเวียดนาม มีโรงงานกว่า 1,300 โรง มียอดการผลิตที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองประเทศมูลค่าการผลิตกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีประชากรที่ทำงานในนิคมทั้งหมดกว่า 3 แสนคน
กระทั่งในปี พ.ศ. 2547 นายวิกรมได้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในต่างจังหวัดเรื่อยมา โดยมุ่งมั่นถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดผ่านการเขียนหนังสือมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเขาได้ได้นำประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่วัยเด็กมาเรียบเรียงเขียนเป็นหนังสือ และได้เผยแพร่ไปแล้วกว่า 11.6 ล้านเล่ม และยังคงจะเขียนต่อไปเพื่อให้สังคมสามารถเรียนรู้ และนำไปปรับใช้ได้ในโอกาสต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามความตั้งใจ หลังจากที่ได้เรียนรู้ ฝึกฝนชีวิตกับวิกฤตต่าง ๆ จนขับเคลื่อนให้ธุรกิจกลุ่มอมตะประสบความสำเร็จในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้เป็นเมืองนวัตกรรมเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ด้วยแนวคิดที่ว่า “เราเกิดมาจากศูนย์และจากไปเป็นศูนย์ ระหว่างศูนย์เราควรสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ และคุณค่าฝากไว้ให้กับสังคมในระยะยาวตลอดไป”
ภารกิจของ ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ที่หลากหลายทั้งผู้บริหารอมตะ การทำงานเพื่อสังคม รวมไปถึงในฐานะนักเขียน ทำให้เขามีฐานแฟนคลับทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังส่งผลให้ชื่อ ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ติดอยู่บนทำเนียบ ‘มหาเศรษฐีใจบุญปี 2023’ จาก ‘ฟอร์บส์ เอเซีย’ ซึ่งถือเป็น ‘คนไทยเพียงคนเดียว’ ที่ติดอันดับในครั้งนี้ด้วย
THE STATES TIMES ไม่อาจกล้าหยิบยกคำใดมาเชิดชู แค่อยากให้รู้ว่า “เราภูมิใจในตัวคุณ”
