Sunday, 19 May 2024
ทางเท้า

เพจ 'เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์' ตำหนิ ร้านจิ้มจุ่มย่านนวนคร ตั้งโต๊ะรับลูกค้าบนทางเท้า สร้างความลำบากคนเดินสัญจร

เพจ "เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์" ตำหนิ ร้านจิ้มจุ่มย่านนวนคร ตั้งโต๊ะรับลูกค้าบนทางเท้า เพิ่มความลำบากทำให้คนเดินสัญจร วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าพูดคุย

จากกรณี มีการรีวิวร้านอาหารจิ้มจุ่มย่านนวนคร จนกลายเป็นที่สนใจของชาวเน็ต เนื่องจากการตั้งร้านโต๊ะ เก้าอี้ ยึดพื้นที่ทางเท้าเป็นบริเวณยาว โดยไม่เห็นใจประชาชนคนอื่น ที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ พบว่า เพจ "เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์" ได้แชร์คลิปวิดีโอดังกล่าว พร้อมตำหนิความมักง่ายของร้านจิ้มจุ่มดังกล่าว โดยได้มีการระบุข้อความว่า

"พื้นที่สาธารณะ คือพื้นที่สาธารณะครับ ถ้าจะอนุมัติให้ตั้ง ควรอยู่ในขอบเขต ไม่ใช่ยึดไปทำมาหากินหมดแบบนั้น"

‘กทม.’ ยกระดับสร้าง ‘ทางเท้า’ มาตรฐานใหม่ 16 เส้นทาง เน้นความแข็งแรงทนทาน - ลุยนำศิลปะมาใช้กับฝาท่อ

เมื่อวานนี้ (25 เม.ย. 67) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายณัฐพล นาคพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนก่อสร้างและบูรณะ 1 สำนักงานก่อสร้างและบูรณะ สำนักการโยธา นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน นำคณะสื่อมวลชนสำรวจทางเท้าบริเวณถนนราชดำริและถนนเพลินจิต และชมการปรับปรุงฝาท่อที่ออกแบบให้มีความโดดเด่นและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ประจำย่านราชดำริ-เพลินจิต โดยทางเท้าบริเวณนี้ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางนำร่องในการใช้มาตรฐานทางเท้าใหม่ที่จะมีความมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น มีความเป็น Universal Design มากขึ้น และมีการปรับให้ทางเข้าออกอาคารกับทางเท้ามีความสูงที่ใกล้เคียงกัน

โดยโฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีเป้าหมายในการพัฒนาทางเท้าของกรุงเทพมหานครให้เดินได้ เดินดี และน่าเดิน โดยในระยะแรกตั้งเป้าไว้ 1,000 กิโลเมตร ผ่าน 3 วิธี คือ การทำใหม่ทั้งเส้นทาง การปรับปรุงซ่อมแซมจุดที่ชำรุดเป็นการเร่งด่วน และการปรับใช้นวัตกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่

>> มุ่งเป้าทำทางเท้ามาตรฐานใหม่ 16 เส้นทาง

โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการทำใหม่ทั้งเส้นทางมีการดำเนินการ 2 รูปแบบ โดยในส่วนพื้นที่ชั้นในและเส้นทางที่มีผู้คนสัญจรหนาแน่นจะปูโดยใช้กระเบื้องตามมาตรทางเท้าใหม่ ซึ่งฐานรากจะต้องเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหนา 10 เซนติเมตร ที่จะสามารถเพิ่มความแข็งแรงของทางเท้าได้ ปัจจุบันทางเท้าของ กทม. ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงทั้งเส้นทางด้วยมาตรฐานทางเท้าใหม่มี 16 เส้นทาง ยกตัวอย่างเช่น ถนนราชดำริ เพลินจิต อุดมสุข เป็นต้น และมีภายในปี 2567 นี้มีแผนจะดำเนินการตามมาตรฐานทางเท้าใหม่ในลำดับต่อไปอีก 38 เส้นทาง และ 22 เส้นทางในปี 2568

ในส่วนพื้นที่ชานเมืองบางเส้นทางซึ่งการสัญจรไม่หนาแน่นจะใช้วิธีปูด้วยแอสฟัลต์ ขณะนี้ได้ดำเนินการเส้นทางนำร่องแล้วที่ถนนพุทธบูชา (เขตทุ่งครุ) และทั้งสองฝั่งของถนนคุ้มเกล้า (เขตลาดกระบัง) และกำลังขยายไปยังถนนทางรถไฟสายเก่า (ปากน้ำ) ถนนพุทธมณฑลสาย 1 และถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ด้วย

โดยการปรับปรุงแต่ละเส้นทางก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างออกไป เช่น ถนนเพลินจิตและราชดำริ มีการนำศิลปะมาใช้กับฝาท่อ ผ่านการออกแบบให้มีความโดดเด่นและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ประจำย่านราชดำริ-เพลินจิต ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง รวมทั้งจะพัฒนาในเส้นทางอื่น ๆ ให้กลายเป็น 1 ในสัญลักษณ์ของเมืองเหมือนกับญี่ปุ่นที่มีการดึงเอาฝาท่อกับสัญลักษณ์ประจำเมืองมาผสมผสานกัน

นอกจากนี้ ยังปรับรางระบายน้ำตลอดแนวถนน จากรูปแบบเดิมที่เป็นช่องระบายน้ำติดกับฟุตบาท มาเป็นรางระบายน้ำตลอดแนวถนน เพื่อช่วยระบายน้ำท่วมขังบนถนนได้เร็วขึ้น

โฆษกกรุงเทพมหานคร ยังกล่าวอีกว่า กทม.จะยึด 5 แนวทางในการพัฒนาปรับปรุงทางเท้า คือ 1.แก้ไขตามประเด็นเรื่องร้องใน Traffy Fondue 2.พัฒนาปรับปรุงตามแนว BKK Trail 500 กม. 3.ภายในรัศมี 500 เมตรรอบสถานีรถไฟฟ้า ทางเท้าต้องดี 4.ปรับปรุงในเส้นทางที่มีคนสัญจรหนาแน่น ตามข้อมูล Heatmap ที่เก็บได้นอกเหนือจากรัศมีรถไฟฟ้า 5.คืนสภาพจากหน่วยงานสาธารณูปโภค โดยติดตามเร่งรัดการจัดการสาธารณูปโภคที่ทำให้เกิดผลกับพื้นผิวจราจรและทางเท้า อาทิ ประปา ไฟฟ้า การนำสายไฟลงดิน

>> มาตรฐานใหม่ 10 ข้อ เริ่มนำร่องกับ 16 เส้นทางในกรุงเทพฯ

นายณัฐพล นาคพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนก่อสร้างและบูรณะ 1 กล่าวถึงมาตรฐานใหม่ของทางเท้ากรุงเทพฯ 10 ข้อ คือ

1. ลดระดับความสูงคันหินทางเท้า เป็นแบบรางตื้นสูง 10 เซนติเมตร
2. ลดระดับความสูงคันหินทางเท้าบริเวณทางเข้าออกอาคารหรือซอยต่าง ๆ ให้สูง 10 เซนติเมตร จากเดิม 18.50 เซนติเมตร
3. เปลี่ยนพื้นทางเท้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ด้วยคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร และเสริมเหล็ก 6 มิลลิเมตร
4. ปรับทางเข้า-ออกอาคารให้มีระดับเสมอกับทางเท้า เพื่อให้ผู้ใช้ทางเท้าทุกคนสามารถผ่านได้อย่างต่อเนื่อง สะดวกสบาย
5. ปรับทุกทางเชื่อมและทางลาดให้มีความลาดเอียง 1:12 ตามมาตรฐานสากล
6. เพิ่มรูปแบบทางเลือกวัสดุปูทางเท้า เป็นแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลาย
7. เปลี่ยนช่องรับน้ำจากแนวตั้งให้เป็นแนวนอน เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ
8. วางแนวทางการจัดตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางผู้ใช้ทางเท้า
9. วางอิฐนำทาง (Braille Block) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา
10. ปรับปรุงแบบคอกต้นไม้ด้วยวัสดุพอรัสแอสฟัลต์ เพื่อขยายพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น

>> ทางเท้าชำรุด เน้นรู้ไว ซ่อมเร็ว สภาพดี เพื่อความปลอดภัย

นายณัฐพล กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการปรับปรุงและซ่อมแซมทางเท้าที่ชำรุด กทม. โดยสำนักการโยธาและสำนักงานเขตที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่จะใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็ว (BEST) ออกดำเนินการซ่อมแซมให้เร็วที่สุด และให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย หากจุดไหนสามารถทำเป็นทางเท้ามาตรฐานใหม่ได้จะมีการปรับปรุงด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาในการแจ้งผ่าน Traffy Fondue เมื่อพบเห็นจุดที่ชำรุดหรือเสี่ยงต่ออันตราย ทำให้เขตรับทราบปัญหาอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการลงพื้นที่สำรวจด้วยตนเอง

สำหรับเส้นทางที่ไม่เหมาะสมในการทำทางเท้าขึ้นมา หรือ เช่น ในตรอกซอกซอย หรือในพื้นที่ที่มีทางเท้าแคบ ได้มีการรื้อย้ายสิ่งกีดขวางทางเท้า และใช้หลากหลายวิธีให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ เช่น การขีดสีตีเส้นช่วยแบ่งแนวให้คนเดินเท้า การนำพอรัสแอสฟัลต์ซึ่งน้ำซึมทะลุได้มาล้อมคอกต้นไม้เพื่อเพิ่มความกว้างของทางเท้าให้มากยิ่งขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับการดูแลทางเท้าใหม่ นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กล่าวว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทำความสะอาด เจ้าหน้าที่เทศกิจกวดขันหาบเร่แผงลอย และตรวจจับรถจักรยานยนต์ที่ขับขี่บนทางเท้า เพื่อรักษาทางเท้าให้มีสภาพสมบูรณ์มากที่สุด 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top