Sunday, 20 April 2025
ทอผ้า

กาฬสินธุ์ - สองสามีภรรยาเกษตรกร ต้นแบบเลี้ยงโคขุน - ทอผ้าขาย สร้างรายได้ตลอดปี!!

สองสามีภรรยาเกษตรกรต้นแบบชาวอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ทิ้งอาชีพทำนา ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง หันมาทำฟาร์มเลี้ยงโคขุน 3 สายพันธุ์ เลี้ยงง่าย รายได้ดี และสบายกว่าทำการเกษตรที่ต้นทุนสูงราคาขายผลผลิตไม่แน่นอน ทั้งยังมีเวลาว่างรวมกลุ่มกับเพื่อนบ้านทอผ้าไหมแท้เป็นสไบแพรลายตาคู่  ซึ่งเป็นลายประจำตำบล จำหน่ายสร้างรายได้ตลอดปี

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชน ที่มีพื้นที่ทำกินนอกเขตใช้น้ำชลประทานในช่วงฤดูแล้ง หลังเก็บเกี่ยวผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลังเสร็จสิ้น ซึ่งพบว่าส่วนมากว่างงาน เนื่องจากขาดแหล่งน้ำทำการเพาะปลูกพืชประจำฤดู เป็นสาเหตุของการอพยพแรงงานออกนอกพื้นที่ ปล่อยผู้สูงอายุอยู่เฝ้าบ้าน เลี้ยงหลาน และทำอาชีพเสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ พอมีรายได้และอาหารจุนเจือครอบครัว

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้ง มีครอบครัว 2 สามีภรรยา ชาวบ้านโพนสวาง หมู่ 4 ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้หันหลังให้กับอาชีพการเกษตร ทั้งทำนา ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง โดยได้เปลี่ยนอาชีพใหม่ คือการทำฟาร์มเลี้ยงโคขุน 3 สายพันธุ์ ทั้งบรามันห์ ชาโรเลส์และแองกัส ใช้เวลาเพียง 3 ปีประสบความสำเร็จ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านปศุสัตว์ระดับอำเภอ ทั้งยังมีเวลาว่างปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหมจำหน่าย สร้างรายได้ตลอดปี โดยในแต่ละวันจะมี “นายฮ้อย” และผู้ประกอบการค้าขายโค รวมทั้งมีคณะศึกษาดูงานจากต่างถิ่น แวะเวียนมาติดต่อและสอบถามอย่างต่อเนื่อง

นายประเสริฐ นครชัย อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 155 หมู่ 4 บ้านโพนสวาง กล่าวว่า เดิมครอบครัวตนทำนา 9 ไร่ ปลูกอ้อย 10 ไร่ และปลูกมันสำปะหลัง 10 ไร่ ระยะหลังประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากปุ๋ยแพง ค่าแรงสูง บางปีฝนทิ้งช่วง ผลผลิตตกต่ำ ไม่คุ้มทุน ทำมากี่ปี ๆ ก็ย่ำอยู่กับที่ เมื่อปี 2561 จึงคิดหาทางออกที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความชอบของตนเอง คือการเลี้ยงโคเนื้อ เนื่องจากเนื้อโคเป็นที่นิยมของผู้บริโภคตลอดปี และราคาซื้อขายเริ่มขยับสูงขึ้น เริ่มแรกตัดสินใจหาซื้อแม่โคลูกผสม สายพันธุ์บราห์มันที่กำลังตั้งท้องมา 5 ตัว เพื่อประหยัดเวลาในการเลี้ยงและเห็นผลผลิตเร็ว

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า เมื่อแม่โคทั้ง 5 ตัวออกลูกมา ก็ได้จำนวนโคในคอกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ตัว ก็เลี้ยงมาเรื่อยๆ มีโอกาสก็หาซื้อแม่โคที่กำลังตั้งท้องเพิ่มเข้ามา จำนวนโคก็ทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็กลายเป็นฟาร์มโคย่อมๆขึ้นมาเพียงเวลาไม่นาน ทั้งนี้เมื่อลูกโคโตขึ้นได้ขนาดและน้ำหนักพอขาย ก็จะขายเพศผู้ออกไป เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้อโคเพศเมียเข้ามา เพิ่ม โดยจะเลี้ยงและรักษาโคตัวเมียเพื่อขยายพันธุ์ในฟาร์ม ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค นอกจากจะเลี้ยงหรือขุนโคสายพันธุ์บรามันห์แล้ว ยังนำสายพันธุ์ชาโรเลส์ และแองกัส ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วไปมาเลี้ยงด้วย

“การเลี้ยงโคขุนของตนทำง่าย ๆ โดยขังอยู่ในคอกและอยู่ในบริเวณจำกัด ไม่ได้ปล่อยเลี้ยงกลางทุ่ง อาหารมีทั้งหญ้าสด ฟาง และอาหารเสริม ซึ่งมีกินพอเพียงตลอดปี เนื่องจากเปลี่ยนพื้นที่ทำนา 9 ไร่ เป็นนาหญ้า 8 ไร่ ขุดบ่อกักเก็บน้ำ 1 ไร่ เพื่อหล่อเลี้ยงนาหญ้า ขณะที่พื้นที่ที่เคยปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง รวม 20 ไร่ ให้เพื่อนบ้านเช่าทำกิน จึงมีเวลาดูแลโคขุนในฟาร์มอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ได้ลงนามความร่วมมือกับผู้ประกอบการรับซื้อโคขุน โดยขายทั้งตัวราคาซื้อขายทุกสายพันธุ์ราคาเดียวกัน คือกิโลกรัมละ 100 บาท โดยโคอายุ 2 ปี น้ำหนักตัวละประมาณ 400-500 กิโลกรัมเริ่มจำหน่าย ซึ่งจะได้ราคาตัวละ 40,000-50,000 บาท” นายประเสริฐกล่าว

ด้านนางเกสร ฆารไสย อายุ 52 ปี ภรรยานายประเสริฐ กล่าวว่า หลังจากเปลี่ยนอาชีพจากการทำเกษตรมาเลี้ยงโคอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งมองเห็นอนาคตการเลี้ยงโคขุนจะมีอนาคตดีกว่าทำนา ปลุกอ้อยและมันสำปะหลัง จึงได้ร่วมกับเพื่อนบ้านที่ต้องการเลี้ยงโค ไปขอคำปรึกษากับทางปศุสัตว์ อ.สหัสขันธ์ และ ธ.ก.ส.สาขาสหัสขันธ์ จากนั้นเข้าร่วมโครงการสร้างอาชีพ เพื่อขอสินเชื่อเป็นทุนจัดซื้อแม่โคมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมามีการเลี้ยงโคเนื้อและโคขุน จำหน่ายหมุนเวียนเรื่อยมา ทำให้มีรายได้ใช้หนี้และจัดซื้อแม่โคเพิ่มเข้ามา ปัจจุบันมีโคในฟาร์ม 40 ตัว

นางเกสรกล่าวต่อว่า การเลี้ยงโคขุนเลี้ยงง่าย ไม่ต้องปล่อยเลี้ยงกลางทุ่ง ไม่ยากลำบาก ไม่เหนื่อย เหมือนทำการเกษตร เพียงแต่ไปตัดหญ้าที่นาหญ้า และซื้อฟางข้าวอัดก้อนมาตุนไว้ให้โคกิน ถึงเวลาก็ให้อาหารเสริมเท่านั้น จึงมีเวลาว่างเยอะ ทำให้มีโอกาสที่จะทำอาชีพอื่นเสริมมากขึ้น ซึ่งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้า ถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านเราทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายอยู่แล้ว เพียงแต่หาเวลาทำไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น หลังจากเลิกทำนา เลิกปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง จึงมีเวลาที่จะสานต่ออาชีพทอผ้าอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ โดยการสนับสนุนของทางอำเภอสหัสขันธ์ และพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ได้รวมกลุ่มแม่บ้านตั้งกลุ่มปลูกหม่อนไหมเหลืองบ้านโพนสวาง มีสมาชิกกลุ่ม 16 คน กิจกรรมกลุ่มมีปลูกหม่อน เลี้ยงไหม รวมทั้งทุกกระบวนการทั้งสาวไหม เข็นไหม ทอผ้า ตัดเย็บและแปรรูป

 

‘เพจดัง’ แจง!! ปมต่างชาติโจมตีเรื่องใช้ ‘แรงงานเด็กทอผ้า’ ชี้!! เป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ในเวลาหลังเลิกเรียน

เมื่อไม่นานมานี้ เพจเฟซบุ๊ก ‘ผ้าทอมือหมักโคลนบัวแดงชายคิม’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอหัวข้อ 
‘โดนต่างชาติโจมตีเรื่องการใช้แรงงานเด็ก​ เราจะอธิบายอย่างไรดี?’ โดยระบุว่า…

ตอนนี้เราอยู่กับ ‘น้องแก้ม’ ซึ่งหลายต่อหลายคนต่างคอมเมนต์เข้ามาว่าทําไมถึงให้น้องทํางานหนัก หรือทำไมถึงต้องใช้แรงงานเด็ก…โดยขอเรียนแจ้งแบบนี้ อันนี้คือเป็นเวลาว่างหลังจากเลิกเรียนและเลิกเล่นแล้ว ซึ่งเป็นการจัดการเวลาของน้องเองเพื่อให้เป็นการสืบสานภูมิปัญญาไปด้วย ซึ่งเด็กสมัยนี้ถ้าอายุ 13 ขวบ เขาจะเล่นมือถือเป็นส่วนใหญ่ในประเทศไทยของเรา และการมีกิจกรรมที่เป็นการสืบสานทางภูมิปัญญาแบบนี้มาให้ทุกท่านได้เห็นกัน ซึ่งปกติเขาก็จะไม่ถ่ายทำลงในโซเชียล แต่เราอยากให้มองในเรื่องของการเรียนรู้ อยากให้มองถึงเรื่องการสืบสานการทอผ้าไว้ให้ลูกหลานหรือคนไทยทั่วประเทศได้รับชมกัน

ถ้าหากเราไม่ได้หัดหรือไม่ได้ฝึกกันไว้ตั้งแต่เด็ก ๆ แบบนี้ เขาก็คงไม่มาทำให้เรา ถ้าหากจะให้เขาเรียนจบมาแล้วค่อยมาทํา เขาก็จะไปทํางานตามโรงงาน ตามโรงแรม ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นเงินเดือน หรือเป็นมนุษย์เงินเดือน แต่ ณ ที่นี่ เราอยากให้เห็นว่าทํางานอยู่ที่บ้านมันก็สามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับตัวเขาเอง และก็จะเป็นการปลูกฝังให้เขาได้ทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องห่างไกลจากครอบครัว นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเขาเองได้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราจะสอนและปลูกฝังไว้ตั้งแต่เด็ก ๆ แบบนี้

อย่างไรก็ตาม ฝากเป็นกําลังใจให้พวกเราด้วย เพราะตอนนี้โดนโจมตีค่อนข้างเยอะเหมือนกัน  เพราะมีชาวต่างชาติเข้ามาโจมตีในเรื่องของการใช้แรงงานเด็ก แต่ถ้าคนไทยด้วยกัน เราก็จะรู้ว่าเราทําเพื่ออะไร

พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า เราไม่ได้บังคับ ให้ทํางานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งแบบนั้นก็คงจะไม่ใช่

ทั้งนี้ หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปต่างมีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็น อาทิ…

- โบราณว่า ‘ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก’ การจะฝึกฝนอะไรก็ต้องฝึกฝนตั้งแต่ที่สมองสามารถรับรู้ได้เต็มที่ จึงมีเด็กในวัยอ่อนตั้งแต่ 2-3 ขวบขึ้นไปหลายคน มีทักษะที่น่าทึ่งหลาย ๆ อย่าง ที่บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเราเองก็ยังทำไม่ได้ในช่วงวัยเดียวกัน ซึ่งมันก็เป็นทักษะพื้นฐานที่ดีที่คนจะต้องเรียนรู้ตั้งแต่ยังเด็ก ๆ จึงจะทำให้พลเมืองเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพค่ะ จากเรื่องราวนี้จะเห็นว่าน้องมีความสามารถในการทำกิจกรรมและสืบทอดภูมิปัญญาของท้องถิ่น รักษาศิลปะวัฒนธรรมของชาติได้อย่างดีทีเดียวค่ะ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมากกว่า อะไรที่เป็น ๆ เรื่องดีงามเราก็ต้องส่งเสริม

- เป็นงานหัตถกรรมที่เกิดความคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก เป็นรากเหง้าของคนในท้องถิ่น ที่คนไม่ได้เกิดที่นี่จะไม่เข้าใจในวัฒนธรรมตะวันออก และไม่ควรวิจารณ์แบบผิด ๆ

- ถูกค่ะ เราต้องปลูกฝังต้นกล้าน้อย ๆ เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้ค่ะ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยจะมีเด็กสนใจเลย เก่งมากลูกสาว 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top