Friday, 9 May 2025
ทรูคอร์ปอเรชั่น

‘True’ แจง ‘Single Grid’ ช่วยเพิ่มคุณภาพเน็ตเร็วขึ้น 110% แถมเป็นการลดเสาซับซ้อน ที่อาจก่อให้เกิดสัญญาณรบกวนได้

(5 พ.ย.66) ทรู คอร์ปอเรชั่น แจงข้อมูลประเด็นการรื้อถอนสถานีฐานกระทบคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ต ชี้การทำ Single Grid ช่วยเพิ่มคุณภาพสัญญาณให้ครอบคลุม และประสิทธิภาพโดยรวมดีขึ้น

ซึ่งสำหรับโครงการรวมโครงสร้างเสาสัญญาณระบบโครงข่ายเดียว (Single Grid) โดยควบรวมสถานีฐานในพื้นที่เดียวกันผสานจุดแข็งเสาสัญญาณของทรูและดีแทค เพิ่มประสิทธิภาพการประสานการทำงานของโครงข่ายในทุกคลื่นสัญญาณ ลดเสาที่ซ้ำซ้อนและอาจก่อให้เกิดสัญญาณรบกวนลง 30%

โดยในการลดเสากระจายสัญญาณจะมีการนำอุปกรณ์สถานีฐานจากเสาเดิมย้ายไปติดตั้งในจุดใหม่ ทำให้ในภาพรวมจำนวนสถานีฐานไม่ได้ลดลง มีแต่การลดเสาสัญญาณที่อยู่ในพื้นที่ซ้ำซ้อน และอาจทำให้เกิดการรบกวนกันในพื้นที่

ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงความเป็นผู้ให้บริการที่มีจำนวนเสาโทรคมนาคมมากที่สุดในประเทศ โดยการทดสอบพื้นที่ที่ทำระบบ Single Grid เสร็จสมบูรณ์พบว่าเน็ตมือถือเร็วขึ้นสูงสุดราว 110% พร้อมมุ่งสู่ผู้นำอันดับ 1 ด้านความเร็วในการให้บริการ 5G และ 4G ของไทย

ในส่วนของประเด็นเรื่องราคา ทรู คอร์ปอเรชั่น มุ่งหน้าสร้างประโยชน์สูงสุดทุกมิติเพื่อลูกค้ามากสุดในไทย ด้วยการนำเสนอแพกเกจที่มาพร้อมกับสิทธิประโยชน์สุดคุ้ม เพิ่มคุณค่าที่หลากหลายซึ่งตรงกับความต้องการไลฟ์สไตล์และทุกคนสามารถเข้าถึงได้

จาก 6 เดือนที่ผ่านมาหลังการควบรวมกิจการ ได้ผสานสร้างสรรค์สิทธิพิเศษที่ดียิ่งกว่าตรงใจยิ่งขึ้น โดยมีลูกค้าแลกรับสิทธิประโยชน์มากกว่า 120 ล้านสิทธิ และจำนวนรายการสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 54% ครอบคลุมสิทธิพิเศษที่หลากหลาย เช่น ร้านอาหารและบริการชื่อดัง บริการสุขภาพ ห้างร้าน ชอปปิ้งออนไลน์มากมาย พร้อมด้วยสิทธิประโยชน์ยอดนิยมอย่าง รับฟรีค่าเน็ต ค่าโทร และกิจกรรมลุ้นรับทองคำและของรางวัลใหญ่ให้แลกลุ้นกันทุกวัน เป็นต้น

ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยืนยันคุณภาพสัญญาณมือถือ ลุยสร้างเครือข่ายที่เหนือกว่า เร่งเดินหน้าโครงการ ‘Single Grid’ เพื่อลูกค้ากว่า 50 ล้านราย บทพิสูจน์หลังควบรวมทรู-ดีแทค ยกระดับประสบการณ์สัญญาณมือถือ 5G และ 4G เผยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยสู่การจัดการโครงข่าย ลดจุดเสาซ้ำซ้อน ไม่ลดสถานีฐาน เพิ่มความครอบคลุมพื้นที่ใช้งานทั่วไทย พร้อมประสานคลื่นความถี่ รวมพลังอัปเกรดสัญญาณอย่างรวดเร็วด้วยศักยภาพความพร้อมในฐานะบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย

‘ทรู-ดีแทค’ ประกาศ ‘เลิกใช้กระดาษ’ ในศูนย์บริการ 100% เดินหน้าใช้ AI ช่วยเซฟเวลาทำงาน 5 แสนชั่วโมงต่อปี

(7 ธ.ค.66) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น บริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย ยกเลิกการใช้เอกสารแบบฟอร์มกระดาษทั้งหมดในศูนย์บริการทรูและดีแทค ด้วยระบบการทำงานแบบดิจิทัลที่เร็วกว่าและปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าดียิ่งขึ้น การให้บริการแบบไร้กระดาษ (Paperless) จะช่วยให้บริษัทฯ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) จากกิจกรรมการทำงานของบริษัท และเป็นส่วนหนึ่งที่เดินหน้าใช้ระบบอัตโนมัติ 100% ในงานพื้นฐานประจำวันที่ซ้ำๆ ภายในปี 2570 โดยการพลิกโฉมการดำเนินงานในครั้งนี้จะช่วยประหยัดเวลาดำเนินการในศูนย์บริการได้รวม 400,000 ชั่วโมงต่อปี

นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “นี่คือการมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าในทุกศูนย์บริการและทุกช่องทาง เรากำลังนำนวัตกรรมโซลูชัน อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์เสมือน เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการและปกป้องข้อมูลของส่วนบุคคลของลูกค้า ทั้งนี้ จากการยกเลิกการใช้เอกสารแบบฟอร์มกระดาษ 100% ในศูนย์บริการทำให้ลูกค้าของเราใช้บริการได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น การใช้ระบบดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบยังช่วยปกป้องข้อมูลลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเราอีกด้วย”

ทั้งนี้ จากเดิมก่อนปรับเป็นระบบดิจิทัล หรือไร้กระดาษ (Paperless) 100% ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้มีการใช้เอกสารในรูปแบบต่างๆ สำหรับการทำรายการ 24 ประเภท ซึ่งการทำธุรกรรมต่างๆ ลูกค้าต้องกรอกเอกสารที่ใช้เวลานาน และการใช้กระดาษยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว แบบฟอร์มกระดาษอาจจะเกิดความเสี่ยงข้อผิดพลาดในการนำข้อมูลมาป้อนลงในระบบ แพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่จะพลิกโฉมขั้นตอนนี้และเพิ่มการปกป้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าให้เข้มงวดยิ่งขึ้นในการเข้าถึงได้

นอกจากการพลิกโฉมสู่การดำเนินการแบบไร้กระดาษ ทรู คอร์ปอเรชั่นยังปรับระบบการทำงานสู่รูปแบบอัตโนมัติ โดยนำระบบหุ่นยนต์เสมือนมาช่วยในส่วนของการทำงานที่สิ้นเปลืองเวลามากแต่มีการปฏิบัติซ้ำๆ และชัดเจน ซึ่งสามารถจัดการกระบวนการที่ลูกค้าต้องรอในร้านค้าได้ถึง 80% ทำให้ดำเนินการได้เร็วขึ้นทันที นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อดำเนินการอัตโนมัติเพิ่มอีก 20% เพื่อให้ประหยัดเวลาของลูกค้าโดยรวมได้มากขึ้นจาก 400,000 เป็น 500,000 ชั่วโมงต่อปีในไตรมาสที่ 1 ปี 2567

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับเพื่อทำให้ช่องทางบริการทรูและดีแทคเป็นอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น ขณะนี้ ศูนย์บริการทรูและดีแทค พร้อมกับตัวแทนร้านค้าได้นำโซลูชัน AI มาใช้งาน ทำให้สามารถวินิจฉัยปัญหาและเสนอแนะได้ทันที ลดเวลาในการจัดการลง 35% รวมถึงการนำ AI มาใช้กับแชทบอท บริการลูกค้าประมาณ 150,000 รายการต่อเดือน

ระบบอัตโนมัติเป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มกว่า 100 โครงการที่ทรู คอร์ปอเรชั่นกำลังดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ Synergies มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 2.5 แสนล้านบาท ระหว่างปี 2566-2573 โดยส่วนหนึ่งของ Synergies ประมาณ 65,000-70,000 ล้านบาทมาจากการผสานองค์กรและการดำเนินงานแบบครบวงจร ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงการดำเนินการให้ทันสมัยและระบบอัตโนมัติ

นอกเหนือจากการติดตั้ง AI ไว้ในระบบการให้บริการและการดำเนินงานของบริษัทแล้ว ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับลูกค้ากลุ่มธุรกิจอีกด้วย โดยกลุ่มทรู ดิจิทัล ได้พัฒนาโซลูชั่นด้านการค้าปลีก เกษตรกรรม และสุขภาพ โดยผสานข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT การใช้งาน 5G และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine learning) เข้าด้วยกันเพื่อการใช้งานรูปแบบต่างๆ ดังนั้น จึงสามารถยกระดับสู่โรงพยาบาลอัจฉริยะไปจนถึงฟาร์มอัจฉริยะและการค้าปลีกอัจฉริยะ รวมถึงการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine learning) ยังมาช่วยเพิ่มความปลอดภัย การขนส่งสินค้ารวดเร็ว และลดการใช้พลังงาน

“ในฐานะบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย เรามุ่งมั่นที่จะสร้างมาตรฐานนำเสนอบริการที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่า และยั่งยืนยิ่งขึ้นเพื่อลูกค้าของเรา เรายังมุ่งมั่นในการนำโซลูชันเพื่อพัฒนาทุกภาคส่วน และยกระดับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลของประเทศร่วมกัน” นายชารัด กล่าวในที่สุด

‘รัฐบาล’ บูรณาการร่วมมือ ‘ภาคเอกชน’ สร้างระบบ ‘แจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ’ คาด!! เสร็จต้นปี 2568 พร้อมใช้ได้ถึง 5 ภาษา ‘เศรษฐา’ สั่งเดินหน้าให้ต่อยอดความสำเร็จ

(6 ก.ค.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ผลสำเร็จจากการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงาน กสทช. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมจัดทำ Cell Broadcast Service หรือ CBS ระบบเตือนภัยฉุกเฉินในพื้นที่จริงครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ทั่วโลกใช้งาน สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการทุกเครื่อง โดยทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถรับข้อความได้พร้อมกันทันที เพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที ช่วยสร้างความมั่นคง ปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน CBS เป็นเครื่องมือสำคัญในการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน สามารถแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้ 5 ภาษา ทั้ง ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ซึ่งครอบคลุมผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า โดยจะส่งข้อความแจ้งเตือนภัยในรูปแบบ ข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ และเสียง ทั้งยังมีสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดงบนหน้าจอ (Pop up) รวมถึงรองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความ ทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือน แก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นอีกด้วย

สำหรับระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน CBS สามารถตั้งระดับการเตือนได้ 5 ระดับ ตามฟังก์ชั่นการใช้งาน โดยใช้ความร่วมมือกับฐานข้อมูลของภาครัฐ ประกอบด้วย 
1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที 
2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือ ภัยจากคนร้าย เป็นต้น 
3. การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือคนหาย รวมทั้งการลักพาตัวเพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวัง และช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์ รายงานผล ถ้าพบคนหายหรือคนร้าย 

4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่ หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น 
5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่าง ๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่าง ๆ ต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า เนื่องจากเป็นระบบใหม่ในประเทศไทย จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม เรื่องอุปกรณ์ และการติดตั้งทั่วประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568 ซึ่งเมื่อระบบพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ ประชาชนทั่วประเทศจะได้รับการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยให้คนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชื่นชมการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉิน ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ ด้านสาธารณภัยของประเทศ ทั้งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ พร้อมสั่งการให้ต่อยอดเพิ่มความปลอดภัยให้คนไทย และนักท่องเที่ยวในทุกพื้นที่” นายชัย กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top