Wednesday, 8 May 2024
ทรงผมตำรวจ

'ก้าวไกล' ก้าวต่อ ขอทวงคืน 'ทรงผม' ให้ตำรวจ  'สั้น-ยาว' ได้ ขอแค่ 'สุภาพ-เรียบร้อย'

‘ปฏิรูปตำรวจ’ ไม่จริง ‘สารวัตรเพียว’ สะท้อน เสียงข้างน้อยแพ้โหวต ‘กระจายอำนาจ’  ยืนยัน ‘ก้าวไกล’ เป็นรัฐบาลขอปรับโครงสร้างตำรวจใหม่ เผย สัปดาห์หน้าสู้ต่อ ‘ทวงคืนทรงผม’ ให้ตำรวจ

พันตำรวจตรี ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หรือสารวัตรเพียว แสดงความเห็นต่อบรรยากาศการพิจารณา พ.ร.บ.ตำรวจ วาระที่ 2 ซึ่งเป็นการพิจารณารายมาตราช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สามารถพิจารณาไปได้เพียง 14 มาตราจาก 172 มาตรา เท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีหลายมาตราที่ตนในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้สงวนความเห็นเอาไว้ หากผ่านก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตำรวจ ทำให้ตำรวจไทยดีขึ้นได้ทันที โดยเฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจไปให้จังหวัด ลดการรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับที่องค์กรตำรวจญี่ปุ่นใช้ โดยทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นองค์กรตำรวจที่ดีอันดับต้นๆ ของโลกและมีบริบทที่คล้ายคลึงกันไม่ว่าการเป็นรัฐเดี่ยวหรือการเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

พันตำรวจตรี ชวลิต กล่าวต่อไปว่า ในการอภิปรายมาตรา 13  กรรมาธิการเสียงข้างมากมีการเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ต่อจากมาตรา 13 หลายมาตรา ตนจึงได้ขอเพิ่มใหม่เช่นกันเพื่อไปสู่ข้อเสนอสำคัญคือ การกำหนดให้มี ‘กรรมการนโยบายตำรวจจังหวัด’ และ ‘กรรมการนโยบายตำรวจนครบาล’ และเป็นข้อเสนอที่ภูมิใจที่จะบอกว่า เป็นการปฏิรูปได้เต็มปาก

“การจัดโครงสร้างอำนาจแบบที่ผมเสนอจะเปลี่ยนระบบราชการตำรวจให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้ แต่ถึงสภานี้โหวตให้ข้อเสนอไม่ผ่าน อย่างน้อยก็จะเป็นพื้นที่ที่ทำให้ประชาชนทางบ้านได้เห็นว่า รัฐบาลก้าวไกล ในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะถึงจะพลิกเปลี่ยนระบบราชการไทยให้มีประสิทธิภาพ มีอนาคตที่สดใส เทียบประเทศที่เจริญแล้วได้อย่างไร”

พันตำรวจตรี ชวลิต กล่าวต่อไปว่า การบริหารองค์กรยุคใหม่ต้องเลิกสายบังคับบัญชาที่ยาว ทำให้ระบบงานอุ้ยอ้าย เปลี่ยนเป็นสายบังคับบัญชาสั้นลง เคารพกันมากขึ้น เจ้านายเคารพลูกน้อง ลูกน้องเคารพเจ้านาย
เปลี่ยนจากโครงสร้างที่ต้องให้เจ้านาย กด ขี่ ควบคุม ลูกน้อง เจ้านายถูกเสมอ ใช้อำนาจแบบบนลงล่าง
เปลี่ยนเป็น โครงสร้างที่ให้ความสำคัญกับคนหน้างาน โดยเจ้านายเป็นผู้สนับสนุนทรัพยากร ให้ลูกน้องทำงานได้ดี ทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน การจะเปลี่ยนอนาคตให้เป็นแบบนี้ได้ จะต้องทำลายโครงสร้างอำนาจแบบรัฐรวมศูนย์

ตอนอภิปรายในมาตรา 7 เราเห็นปัญหางบประมาณ เพราะจากส่วนกลางคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นหน่วยรับและจัดงบ กว่าจะไหลหยดไปทีละชั้น ก็มองแต่อะไรใกล้ตัว จนกลายเป็นงบซื้อเครื่องบิน สร้างตึกหรู ทำให้งบที่ไหลลงตำรวจภาคเหลือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น พอไปถึงระดับตำรวจภาคก็ทำแบบเดียวกัน กว่าจะถึงสถานีตำรวจ คนหน้างานที่บริการรับใช้ประชาชนก็ขาดแคลนงบตลอดเวลา

สำหรับการจัดโครงสร้างอำนาจใหม่ให้เป็นการกระจายมากกว่าเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ พันตำรวจตรี ชวลิต อภิปรายว่า ต้องทำให้สายบังคับบัญชาสั้นลง โดยตัดอำนาจบังคับบัญชาระหว่างตำรวจภาคกับตำรวจจังหวัด และตัดอำนาจบังคับบัญชาระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับตำรวจนครบาล แล้วเปลี่ยนจากอำนาจบังคับบัญชาให้เป็นการสนับสนุน จากนั้นจึงให้มี ‘คณะกรรมการนโยบายตำรวจจังหวัด’ และ ‘คณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาล’ มาเป็นผู้บังคับบัญชาแทน เพื่อให้สามารถดูแลจัดการพื้นที่ได้ตามสภาพแต่ละจังหวัดที่มีบริบทแตกต่างกันไป

สำหรับคุณสมบัติหรือที่มาของ คณะกรรมการนโยบาย ได้เสนอให้ คณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาล มาจาก ‘ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ สรรหามาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ ในทางด้านนิติศาสตร์ การบริหารรัฐกิจ การเงินการคลัง จิตวิทยาองค์การ และสังคมวิทยา ด้านละหนึ่งคน และให้ สภา กทม. รับรอง ส่วนของจังหวัดแต่ละจังหวัด ก็ทำไปในกระบวนการลักษณะเดียวกัน และกำหนดให้ตั้งอนุกรรมการทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ติดตามผลการดำเนินงานและรับเรื่องร้องเรียน การประชุมต้องโปร่งใส ประชาชนเข้าถึงรายงานการประชุม และมติการประชุมได้ง่าย

“โครงสร้างอำนาจแบบกระจายอำนาจแบบนี้ เอาแบบมาจากตำรวจญี่ปุ่น พ.ร.บ. ตำรวจ ญี่ปุ่น วางโครงสร้างไว้ตั้งแต่หลังจบสงครามโลก โดยไม่แก้เลยเป็นเวลา 70 ปีแล้ว ผลก็คือได้รับการจัดอันดับให้เป็นองค์กรตำรวจที่ดีอันดับต้นๆ ของโลก นี่คือพิสูจน์มาแล้ว ประเทศไทยคงไม่ต้องมาลองผิดลองถูกอีกแล้ว การปรับนิดๆ หน่อยๆ แต่ยังคงความเป็นอำนาจรวมศูนย์เหมือนเดิมไม่ใช่การปฏิรูป การปฏิรูปตำรวจ จริงๆ คือ ต้องกระจายอำนาจให้เกิดขึ้นจริง”

‘พิธา’ ฝาก!! เป็นนายกฯ วันแรกจะเซ็นเลิกขาว 3 ด้าน หลัง 'ก้าวไกล' พ่ายโหวต 'ทวงคืนทรงผมตำรวจ'

(1 ก.ค. 65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้า การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการพิจารณาครั้งที่ 6 โดยเริ่มจากมาตรา 120 ซึ่งภาพรวมการพิจารณาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จนกระทั่งเวลา 10.35 น. มาตรา 143 ระบุว่า ให้อำนาจฝ่ายบริหารออกกฎกระทรวง กำหนดลักษณะ ชนิด และประเภทของเครื่องแบบตำรวจ โดยพ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อย ได้สงวนความเห็นเพิ่มวรรคสอง ระบุว่า... 

ข้าราชการตำรวจทุกเพศ มีสิทธิ เสรีภาพ ในการไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้โดยสุภาพเรียบร้อย การออกกฎระเบียบ คำสั่ง ให้จำกัดสิทธิเสรีภาพได้เท่าที่จำเป็น เพื่อความสุภาพเรียบร้อยเท่านั้น จะเห็นว่าไม่ได้เป็นการให้สิทธิเสรีภาพทรงผม แต่ยังคงให้อำนาจฝ่ายบริหารจำกัดสิทธิเสรีภาพตำรวจในการไว้ทรงผมได้เท่าที่จำเป็น เพราะทรงผมสุภาพเรียบร้อยมีหลายทรงไม่ใช่แค่ทรงขาวสามด้าน การที่ตนเสนอวรรคนี้เพื่อให้ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจ เมื่อแต่งกายชุดข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2561 ข้อที่ให้ข้าราชการตำรวจชายต้องตัดผมสั้นด้านข้างขาวทั้ง 3 ด้าน ด้านบนยาวได้ไม่เกิน 3 ซม. ที่ออกโดยพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ให้มีผลถูกยกเลิกไปโดยปริยาย เป็นการทวงคืนทรงผมให้ตำรวจ 

ส่วนเหตุผลที่ต้องเสนอเพิ่มในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากประเด็นนี้สำคัญเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นครอบคลุมทุกมิติ เป็นการเปลี่ยนแปลงให้สิทธิความเป็นธรรมแก่คนหน้างาน การทวงคืนทรงผมถือเป็นการปฏิรูป เดิมผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจสั่งการจำกัดสิทธิผู้ใต้บังคับบัญชาเกินความจำเป็น ทำให้อึดอัดทำลายคุณค่า ทำลายความมั่นใจ ซึ่งเป็นปัญหา จึงต้องปรับปรุงให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น

“ผมเคยอยู่ทันคำสั่งทรงผมบ้าบอ ๆ ของผบ.ตร.เป็นปี ๆ ก่อนจะลาออกมา ผมเห็นปัญหาต่าง ๆ ขององค์กรตำรวจมาตลอด ข้องใจมาตลอดว่าระบบราชการทำไมห่วยขนาดนี้ โดยเฉพาะตำรวจแย่กว่าองค์กรอื่น ๆ ยิ่งมีรัฐประหาร ยิ่งทำให้องค์กรตำรวจย่ำแย่หนัก คำสั่งทรงผมขาว 3 ด้าน ช่วงแรกที่สั่งมาตำรวจไม่ทำตามยื้อมาได้ครึ่งปี ผบ.ตร.ที่บ้าอำนาจไม่สามารถบังคับได้ สุดท้ายใช้วิธีเชือดไก่ให้ลิงดู เอาตำรวจกลุ่มหนึ่งไปธำรงวินัย แล้วทำไอโอส่งไปตามกลุ่มไลน์ตำรวจให้เกิดความกลัว เป็นบรรยากาศของการถูกบังคับสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรหดหาย ซึ่งตำรวจไม่ใช่ต้องทำตามคำสั่งจากความหวาดกลัวของคนหัวโบราณ” พ.ต.ต.ชวลิต กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top