Sunday, 20 April 2025
ถังดับเพลิง

‘อ.เจษฎ์’ คาดต้นเหตุสลด โรงเรียนดังย่านนางเลิ้ง ขณะซ้อมดับเพลิง บรรจุแก๊สเพิ่ม-วางตากแดด-ไม่มีวาล์วเซฟตี้

กรณีเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.66 เวลา 11.22 น. เกิดเหตุระเบิดในโรงเรียนมัธยมชื่อดัง ย่านนางเลิ้ง เบื้องต้นมีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

โดยมีรายงานว่า ทางโรงเรียนได้เชิญเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามเสนมา ทำการซักซ้อมการควบคุมเพลิง พร้อมวิธีการอพยพให้กับเด็กนักเรียน ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เปิดแก๊สถังขนาด 20 กก. และทำการจุดไฟเพื่อสาธิตวิธีการดับไฟเบื้องต้น แก๊สได้รั่วไหลออกมาจนเป็นเหตุให้ระเบิดจนทำให้ผู้เสียชีวิตกระเด็นไปไกลกว่า 10 เมตร ขณะที่เจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่เป็นวิทยากร ได้รับบาดเจ็บด้วยเช่นกัน

ต่อมา อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของเหตุถังดับเพลิงระเบิด คาดว่า เป็นเพราะถังดังกล่าวถูกนำไปบรรจุแก๊สเพิ่ม และวางตากแดดเป็นเวลานานจนอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ทำให้แรงดันขยายตัวและระเบิด เนื่องจากไม่มีวาล์วเซฟตี้ติดตั้งอยู่ครับ
พร้อมแนะนำเรื่องการเก็บรักษาดูแลถังดับเพลิง ดังนี้

หลีกเลี่ยงการติดตั้งไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง มีความชื้นสูง หรือเกิดความสกปรกได้ง่าย เช่น ตากแดด ตากฝน หรือติดตั้งใกล้จุดกำเนิดความร้อนต่างๆ เช่น เตาไฟ หรือเครื่องจักรที่มีความร้อนสูง
ทำความสะอาดตัวถัง และอุปกรณ์(สายฉีด, หัวฉีด) เป็นประจำเพื่อตรวจดูสภาพตัวถังและอุปกรณ์อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และมีสภาพใหม่อยู่เสมอ

หากเป็นเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ควรยกถังพลิกคว่ำ-หงาย ประมาณ5-6ครั้ง ทุกๆ3-6เดือน เพื่อให้ผงเคมีมีการเคลื่อนตัวและไม่จับตัวเป็นก้อน
เครื่องดับเพลิงที่มีอายุเกิน 5 ปีขึ้นไป ควรส่งมาตรวจสอบที่บริษัทเพื่อตรวจเช็คสภาพของตัวเครื่องและทำการถ่ายเคมีออกและบรรจุใหม่

ถ้าแรงดันในถังเกิน (OVERCHARGE) สูงกว่าแรงดันปกติ (195 psi)สภาพถังอาจจะบวมหรือแตกออก หากแรงดันขึ้นสูงเกิน 1000psi อาจทำให้เกิดอันตรายเนื่องจากถังอาจระเบิดได้!!! ควรติดต่อบริษัทให้ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน หมายเหตุ:
เครื่องดับเพลิงชนิด CO2 จะไม่มีมาตรวัดแรงดัน ผู้ใช้สามารถตรวจวัดก๊าซ ภายในถังได้โดย วิธีชั่งน้ำหนัก หากน้ำหนักก๊าสภายในถังลดลงต่ำกว่า80 % ควรติดต่อบริษัทเพื่อทำการดำเนินการบรรจุใหม่ในทันที

‘อัครเดช’ จี้ตรวจสอบถังดับเพลิงแบตรถ EV หลังสืบพบติด มอก. โดยไม่ได้รับอนุญาต

(17 ต.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงข่าวของ กรรมาธิการอุตสาหกรรมฯว่า

จากปัจจุบันประชาชนได้หันมาใช้รถยานยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV ซึ่งใช้แบบเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ การดับเพลิงจะทำได้ยากกว่าเหตุเพลิงไหม้ทั่วไป ซึ่งทางคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมได้มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งในเรื่องนี้ จึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาประสิทธิภาพการระงับเหตุเพลิงไหม้จากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขึ้นมาโดยเฉพาะ 

คณะทำงานชุดดังกล่าวได้รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง จากหลายภาคส่วน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย, สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร, สมาคมดับเพลิงและช่วยชีวิต พบข้อมูลเบื้องต้นว่าประสิทธิภาพของทั้งอุปกรณ์ และสารเคมีดับเพลิงในการระงับเพลิงไหม้ที่เกิดจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร

ดังนั้นจึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดับเพลิงที่เกิดจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เพื่อลดการสูญเสียในชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน 

นอกจากนี้คณะทำงานชุดดังกล่าว ยังได้พบว่าในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์ดับเพลิง หรือ ถังดับเพลิง ซึ่งอ้างว่าสามารถใช้ดับเพลิงที่เกิดจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนหรือรถ EVได้ และยังมีตรา มอก. กำกับ แต่อย่างไรก็ดีจากการสืบสวนในทางลับของคณะทำงาน พบว่ามีโอกาสที่จะเป็นการลอบประทับตรา มอก. โดยไม่ได้รับอนุญาต คณะทำงานจึงนำเรื่องมาเพื่อหารือกับคณะกรรมาธิการ 

ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ จึงได้ประสานงานไปยังเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า บริษัทดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองคุณภาพจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย รวมถึงมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปแล้วอีกด้วย

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่อาจจะส่งผลร้ายในอนาคตขึ้นได้ เนื่องจากประชาชนที่ใช้อุปกรณ์ดับเพลิงดังกล่าวในการดับเพลิงรถ EV หรือเพลิงไหม้จาก แบตเตอรี่ลิเที่ยมไอออนแต่ไม่สามารถดับได้จริง ย่อมจะทำให้เกิดการสูญเสียในทรัพย์สิน และอันตรายถึงชีวิตของพี่น้องประชาชนได้

นอกจากนี้ยังมีเอกสารหรือ การกล่าวอ้างอีกว่าบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัท ในเครือ ปตท. จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่จะต้องมีธรรมาภิบาลในการดำเนินการ โดยกิจการในกำกับต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด  และ ผู้บริหารต้องมีส่วนรับผิดชอบ

ดังนั้นตนจึงเรียกร้องไปยังบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ว่าบริษัทที่ทำผิดกฎหมายมาตรฐานอุตสาหกรรมเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท.หรือไม่ รวมทั้งออกมาชี้แจงให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว และหากบริษัทดังกล่าวถือหุ้นโดย ปตท. จริงจะต้องมีมาตรการดำเนินการเพื่อลดความเสียหายให้กับประชาชน และจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร รวมถึงดำเนินการกับผู้กระทำความผิดกฎหมายอย่างไร 

นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้าคณะทำงานของกรรมาธิการอุตสาหกรรมที่พิจารณาเรื่องนี้อยู่จะดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องดับเพลิงหรือสารดับเพลิงของบริษัทดังกล่าวที่มีการใช้ตราสินค้ามาตรฐานอุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตว่ามีประสิทธิภาพในการระงับเพลิงจาก แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรือไม่อย่างไร ซึ่งได้มีการทดสอบไปแล้วอยู่ระหว่างการสรุปผล เสนอกรรมาธิการอุตสาหกรรมเพื่อพิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน

คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไฟไหม้รถยนต์เหมือนที่เพิ่งเกิดขึ้นมากับรถแก๊สที่สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับพี่น้องคนไทยทั้งประเทศจึงจะเร่งดำเนินการ กรณีดังกล่าวกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top