Tuesday, 22 April 2025
ถนนยุบ

‘รองผู้ว่าฯ’ สงสัย!! เพราะ ‘โครงสร้างพัง’ หรือ ‘ขนหนักเกิน’ หลังเกิดเหตุ ‘ถนนยุบ’ กลืนรถบรรทุกหายไปเกือบทั้งคัน

(8 พ.ย.66) ที่ปากซอยสุขุมวิท 64/1 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุฝาท่อปิดถนนทรุด ซึ่งมีรถสิบล้อตกลงไป เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ ซึ่งบ่อดังกล่าวเป็นบ่อร้อยสายไฟของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งต้องตรวจสอบว่าเป็นเพราะสาเหตุใดถึงยุบตัว โดยอาจเกิดจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน ได้ติดต่อประสานทางหลวง มาตรวจวัดว่ารถบรรทุกดังกล่าวน้ำหนักเกินหรือไม่ รวมทั้งปัญหาของการปิดเปิดฝาที่เปิดไว้ เพื่อดำเนินการร้อยสายไฟลงดิน อาจมีปัญหาเรื่องความแข็งแรง

บรรยากาศช่วงหนึ่งของการลงพื้นที่ นายวิศณุ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า บทสรุปตอนนี้จะมีการยกรถขนดินออก โดยมีการคุยว่าเราต้องชั่งน้ำหนักรถก่อน แต่เนื่องจากรถมีน้ำหนักเยอะ จึงจะต้องแยกชั่งน้ำหนักดินออกแล้วนำไปเก็บไว้อีกคัน ซึ่งตอนนี้สงสัยเรื่องการบรรทุกน้ำหนักเกิน ทำให้โครงสร้างถนนพัง หรือน้ำหนักปกติ แต่โครงสร้างเกิดการพังเอง ก็ต้องพิสูจน์กัน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เราก็จะเก็บข้อมูล โดยการเอาตาชั่งเข้ามาวัด แต่เร่งด่วนที่สุดตอนนี้ คือเร่งเปิดการจราจร จะต้องมีการยกรถออก เสร็จแล้วการไฟฟ้านครหลวง ก็จะเสริมเสาบ่อใหม่ โดยใช้คานเหล็กใหม่เป็น 2 ตัว จากเดิมที่มีตัวเดียว ซึ่งตามการออกแบบมันเพียงพอ แต่ต้องเผื่อไว้ และปิดฝาบ่อ ซึ่งอาจจะเปิดการจราจรได้เร็วที่สุดภายในเย็นนี้ ให้ทัน เพราะรถจะติดมาก แต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยงการจราจรเส้นนี้ ถ้าไม่จำเป็นก็หลีกเลี่ยงไปก่อน ตอนนี้จะรีบยกออกก่อน แล้วก็ปิดฝาบ่อให้ได้ เสริมโครงสร้าง แล้วก็เปิดการจราจร อันนี้คือเรื่องด่วนที่สุดแล้ว” นายวิศณุกล่าว

นายวิศณุ กล่าวอีกว่า เรื่องการดำเนินการเอาผิด ตอนนี้ก็ต้องดูเรื่องน้ำหนักรถบรรทุก ต้องเอาเครื่องชั่งที่กำลังเข้ามาชั่งว่า รถบรรทุกคันนี้น้ำหนักเท่าไหร่ เราก็เข้มงวดในเรื่องของการ ควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก ความจริงแล้วตั้งแต่เกิดเหตุที่มักกะสันมา เราได้รับแจ้งเหตุจาก กรมทางหลวง แต่ กทม.ไม่มีเครื่องมือวัดน้ำหนักรถบรรทุก

“ช่วงระยะสั้น เร่งด่วนที่สุดเลย ก็ประสานงานขอความร่วมมือจากกรมทางหลวง และจะขอความร่วมมือไปยังกรมทางหลวงชนบทด้วย เพื่อขอทีม Mobile Unite หรือ หน่วยวัดเคลื่อนที่ ไปวัดตามจุดเสี่ยงที่จะเกิด เช่น ใกล้ไซต์งานก่อสร้าง ที่เราจะเข้มงวดกวดขันมากขึ้น” นายวิศณุ กล่าว

นายวิศณุ กล่าวอีกว่า บทลงโทษค่อนข้างแรง ตามกฎหมายพ.ร.บ.ทางหลวง การบรรทุกน้ำหนักเกินมีโทษรุนแรง ด้านเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่อยู่ภายความดูแลของ กทม. ก็คือเจ้าหน้าที่ทางหลวงท้องถิ่น หรือ เส้นทางที่อยู่ในพื้นที่ของกรมทางหลวง ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงจะเป็นคนกำกับดูแล เราตรวจจับได้แล้วส่งตำรวจ ซึ่งตำรวจจะเป็นคนทำสำนวนเพื่อแจ้งข้อหาต่อไป โทษรุนแรง

'ดร.เอ้' ชี้!! ควรมี #องค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ เสียที หลังฝาบ่อกลางถนนสุขุมวิท ยุบลึก น่ากลัว รถติด เดือดร้อนลุกลาม

เมื่อวานนี้ (8 พ.ย. 66) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘เอ้ สุชัชวีร์’ ระบุว่า…

ฝาบ่อกลางถนนสุขุมวิท ยุบลึก น่ากลัว รถติด เดือดร้อนถึงบางนา

จากภาพ ลองตั้งคำถามง่าย ๆ 
1. รถบรรทุก น้ำหนักเกินมาตรฐานหรือไม่ 
หรือ 2. การก่อสร้างสาธารณูปโภคกลางถนนกทม. ได้มาตรฐานหรือไม่ 
หรือ 3.ไม่ได้มาตรฐานทั้งสองข้อ 

แบบนี้ก็จบกัน 

ทางป้องกัน แก้ไข ทำให้ถนนกทม.ปลอดภัย

1. กทม. ในฐานะหน่วยงานกลาง ต้องระบุได้ว่า ถนนสายใด ตรงไหนมีความเสี่ยง ไม่ปลอดภัย ทำได้ทันที เพราะมีข้อมูลครบที่สุด 

2. ใช้เทคโนโลยีสแกนใต้ถนน ตรงจุดเสี่ยง หรือ ทดสอบความสมบูรณ์ด้วยหลักวิศวกรรม ในจุดที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนมาก เช่น ถนนสุขุมวิท พหลโยธิน พระรามสอง พระรามสาม พระรามสี่ และถนนที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า เพื่อซ่อมแชมก่อนเกิดอันตราย 

3. จริงจังกับการควบคุมรถบรรทุก เกินมาตรฐาน ที่เข้ามาทำลายถนน และปล่อยฝุ่นพิษ PM2.5 

4. เจ้าของโครงการก่อสร้างที่รถบรรทุกผิดกฎหมายเข้ามาส่งของให้ ควรมีโทษปรับ และรับผิดชอบ ไม่งั้นบ้านเมืองพัง 

และผมยังมั่นใจว่า ถึงเวลาเสียที ที่ประเทศไทยต้องมี #องค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ มาดูแลเรื่องความปลอดภัย แก้ปัญหาซ้ำซากนี้เสียที ช่วยกันเสนอกฏหมายตั้งองค์กรนี้ที่ suchatvee.com นะครับ เราต้องช่วยกัน

ผมเสนอด้วยหลักการ และด้วยความห่วงใย
ไม่อยากให้เกิดความสูญเสียครับ 

ศาตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

‘มาเลเซีย’ ระดมกำลัง ค้นหาร่างนทท.ชาวอินเดีย หลังตกหลุมลึก 8 เมตรกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์

กลายเป็นงานใหญ่ระดับชาติไปเสียแล้ว สำหรับภารกิจค้นหาร่างนักท่องเที่ยวหญิงชาวอินเดียวัย 48 ปี ที่เคราะห์ร้ายตกลงไปในหลุมยุบที่มีความลึก 8 เมตร ใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในช่วงเช้าของวันที่ 23 สิงหาคม 67 ที่ผ่านมา ขณะที่เธอเดินไปทำบุญที่วัด แต่ผ่านไปแล้วถึง 5 วันจนถึงวันนี้ ก็ยังหาไม่พบ

จากงานที่คาดว่าน่าจะค้นหาร่างของหญิงอินเดียได้ในเวลาไม่นาน กลับยากมากกว่าที่คิดมาก โดย ซูลิซมี สุไลมาน รองผู้บัญชาการตำรวจเขตดังวางี ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า อุปสรรคใหญ่ในการค้นหาเกิดจากกระแสน้ำใต้ดินที่ไหลเชี่ยวรุนแรงบริเวณรอบท่อระบายน้ำ จากฝนที่ตกหนักก่อนหน้านี้ 

และยังมีเศษซากคอนกรีต และหินต่าง ๆ กีดขวางช่องทางใต้ดิน ที่การใช้เครื่องพ่นน้ำแรงดันสูงเพื่อทำลายเศษซากต่าง ๆ ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องนำเทคนิคการระเบิดและสลายวัตถุมาปรับใช้ด้วย 

ทางหน่วยกู้ภัยประสานงานให้รัฐบาลกรุงกัวลาลัมเปอร์จัดกระสอบทรายมาเพิ่มอีก 100 กระสอบ มาตั้งกำแพงปิดทางน้ำไหลใต้ดินเพื่อลดอุปสรรคในการค้นหา และได้ตรวจสอบโรงงานบำบัดน้ำเสียอินดาห์ ที่บันไต ดาลัม ที่เป็นปลายทางของระบบท่อระบายน้ำใต้ดินในกรุงกัวลาลัมเปอร์ 

เมื่อสื่อมาเลยเซียสอบถามว่า จะมีการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศในภารกิจการค้นหาครั้งนี้ด้วยหรือไม่ ซูลิซมี อธิบายว่า เบื้องต้นทางการมาเลเซียได้ระดมกำลังผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายหน่วยงานของประเทศเข้าร่วมการค้นหาอย่างเต็มที่แล้ว และหวังว่าจะสัมฤทธิ์ผลในไม่ช้านี้ 

โดยได้มีการจัดตั้งกองกำลังพิเศษซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมแร่ธาตุและธรณีวิทยาและกรมโยธาธิการ เพื่อศึกษาสภาพดินและธรณีวิทยาในพื้นที่ เกณฑ์กำลังตำรวจเพิ่มเพื่อกันประชาชนออกจากพื้นที่ และกั้นเขตขยายพื้นที่ค้นหาเพิ่ม

ด้านนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมแห่งมาเลเซีย ได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อครอบครัวนักท่องเที่ยวอินเดียเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และสั่งการให้ดูแลคนในครอบครัวของ นาง วิจายาลักษมี ที่บางส่วนเดินทางมาจากอินเดียเพื่อมานั่งรอ เฝ้าติดตามภารกิจอย่างใกล้ชิด โดยขยายวีซ่าให้อีก 1 เดือน พร้อมที่พัก อาหาร และบริการด้านการให้คำปรึกษา และยืนยันว่า มาเลเซียจะมุ่งมั่นค้นหาร่างของนาง วิจายาลักษมี อย่างเต็มกำลัง 

ส่วนกรณีหลุมยุบขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นกลางเมืองหลวง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงข่าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ ต้องรอรายงานฉบับสมบูรณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งคาดว่าจะสรุปได้หลังจากปฏิบัติการเสร็จสิ้น

แต่รัฐบาลมีแผนในการป้องกันไม่ให้หลุมยุบเกิดขึ้นซ้ำ โดยเตรียมที่จะทำแผนที่เชิงธรณีวิทยาใหม่ จากข้อมูลที่รวบรวมจากกรมแร่ธาตุและธรณีวิทยา เพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และเขตใกล้เคียงยังคงเป็นพื้นที่ปลอดภัย

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ชาวกรุงกัวลาลัมเปอร์เคยมีประเด็นถกเถียงอย่างร้อนแรงในโลกโซเชียลมาก่อนตั้งแต่ปี 2558 ว่ามีหลุมยุบซ่อนเร้นอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นจำนวนมาก ที่พร้อมยุบตัวได้ทุกเมื่อ และเคยวิจารณ์ว่ากรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นเมืองที่ไม่ปลอดภัยที่สุดในมาเลเซีย 

โดยครั้งนั้น นายกเทศมนตรีของกัวลาลัมเปอร์ได้ออกมาโต้แย้งข้อกล่าวหาของชาวเน็ต และรับประกันว่า กัวลาลัมเปอร์เป็นเมืองที่ปลอดภัยสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top