Wednesday, 26 June 2024
ตั๋วช้าง

'โรม' จัด ‘ตั๋วช้าง’ ภาค 2 พร้อมเซอร์ไพรส์ แฉ 'ประยุทธ์' ควัก 937 ล้าน กลบหนี้ ‘กองบินตำรวจ’

‘ตั๋วช้าง’ ภาค 2 ฉายแล้ววันนี้ ‘โรม’ จัดให้ BIG SURPRISE แฉแหลก ทำไม ‘ประยุทธ์’ ยอมควักงบกลาง 937 ล้าน อุ้ม พล.ต.ต.ก กลบหนี้เน่าทุจริต ‘กองบินตำรวจ’

22 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุมสุริยัน สัปปายะสภาสถาน รัฐสภา รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการตำรวจ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ กรณีปล่อยปละละเลยทุจริตที่เกิดขึ้นในกองบินตำรวจ ทั้งยังมีการยอมให้ใช้ ‘ตั๋วช้าง’ อีกประเภทหนึ่งเป็นเกราะกำบังเพื่อไม่ให้ใครหรือหน่วยงานใดกล้าตรวจสอบได้

รังสิมันต์ กล่าววว่า คดีนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ พล.ต.ต.ก หรือชื่อจริงคือ กำพล กุศลสถาพร ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบินตำรวจ (บ.ตร.) โดยระหว่างนั้นได้ดำเนินการเซ็นสัญญาโครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน กับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ดำเนินการซ่อมและจัดหาอะไหล่ ตามงบประมาณปี 2563 จำนวนกว่า 950 ล้านบาท แต่ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2564 การบินไทยได้ยื่นหนังสือทวงหนี้มายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงทำให้พบว่ากองบินตำรวจ โดย พล.ต.ต.กำพล และพวก ได้สั่งจ้างสั่งซื้อเพิ่มเติมเกินกว่างบประมาณที่วางไว้ รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการเป็นจำนวนถึง 2,774 ล้านบาท ซึ่ง 2 ใน 3 ของทั้งหมดนี้ กองบินตำรวจไม่สามารถเบิกจากคลังมาจ่ายได้ และกว่า 784 ล้านบาท ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซ่อมเครื่องบินเลย เช่น ซื้อถังน้ำดับไฟป่า 8 ล้านบาท หรือซื้อตะขอเกี่ยวสินค้า 6.3 ล้านบาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบกลับถูกเตะถ่วง ทำให้ล่าช้า และทำซ้ำไปมา ทั้งนี้ กระบวนการตรวจสอบครั้งแรก เริ่มต้นจากการเสนอเรื่องให้ ผบ.ตร. สั่งให้จเรตำรวจตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ในเดือนมีนาคม 2564 แต่กลับใช้เวลากว่า 3 เดือน จึงจะสามารถตั้งคณะกรรมการตรวจสอบได้ และเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม 2564 

“ทว่าภายหลังกระบวนการตรวจสอบโดยจเรตำรวจสิ้นสุด กลับมีคำสั่งให้ส่งเรื่องไปกองวินัยตำรวจเพื่อตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่อีก ขนาดว่าทางกองบินตำรวจทวงถามเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบสวนไปอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็มีคำตอบกลับมาว่ายังร่างคำสั่งไม่เสร็จ และกว่าจะได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่กันจริง ๆ คือช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าตั้งมาแล้วผ่านไปอีกหนึ่งเดือนก็ยังวุ่นอยู่กับการเปลี่ยนตัวกรรมการไม่เลิก” รังสิมันต์ ระบุ 

รังสิมันต์ ยังได้ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดของตำรวจ ได้ทราบเรื่องนี้ตั้งแต่ที่ สตช. ทำหนังสือขอความช่วยเหลือมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 และต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามท้ายหนังสือรับทราบเรื่องนี้ด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายก็ยังปล่อยปละละเลยไม่เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง หน่วงเวลาจนกระทั่งกรมบังคับคดีซึ่งดูแลเรื่องการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยส่งหนังสือทวงหนี้ 1,824 ล้านบาท มายัง สตช. อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะปฏิเสธหนี้ก้อนนี้ได้ เพราะตามขั้นตอน สตช. มีเวลาในการปฏิเสธหนี้ภายใน 14 วัน แต่ สตช. กลับล่าช้าทำหนังสือปฏิเสธหนี้ตอบกลับไปเกินเวลาที่กำหนด ทำให้ สตช. ต้องชำระหนี้การบินไทยเป็นจำนวนถึง 937 ล้านบาท ส่วนสาเหตุที่หนี้ลดลงจากเดิม เนื่องจากทางตำรวจไปขอต่อรองกับการบินไทยให้ยกเลิกรายการบางส่วนที่ยังไม่ได้รับพัสดุมาได้

“ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จึงใช้วิธีอนุมัติงบกลางเพื่อใช้หนี้ใน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 และในวันที่ 12 เมษายน 2565 ครม.ก็อนุมัติอีกที รวมถึงยังอนุมัติให้ สตช. สามารถก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าที่กำหนดไว้ในงบประมาณปี 2563 ด้วย มตินี้จึงเหมือนเป็นทั้งการฟอกขาวให้ไปในตัว ทั้งยังนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายให้กับการทุจริตที่เกิดขึ้นในกองบินตำรวจอีกด้วย”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top