Friday, 18 April 2025
ตลาดหุ้นไทย

'ผู้เชี่ยวชาญ' แนะ!! จังหวะตลาดหุ้นไทย 'ร่วงแรง'  ช่วงเวลาน่าสนใจ ซื้อ RMF/SSF เก็บเข้าพอร์ต

(15 มี.ค.66) จากเฟซบุ๊ก 'Invest Like A Pro' ได้โพสต์ข้อความหลังเมื่อวานตลาดหุ้นไทยร่วงแรงแบบผิดคาด ว่า...

ปัญหาเกิดที่แบงก์ในสหรัฐฯ แต่ที่ตกใจกลัวที่สุด คือ ตลาดหุ้นไทย 
ต้องยอมรับว่า ที่ SET ร่วงแรงแบบนี้ ผิดคาดมาก เคยคิดว่า 1580 เอาอยู่ นี่เลยมาจนเกือบจะถึงแนวรับถัดไปที่ 1520 แล้ว

พยายามคิดทบทวนอยู่หลายรอบว่า ปัญหา SVB และแบงก์อื่นๆ ในสหรัฐฯ กระทบธนาคารไทยไหม ก็คิดว่า น่าจะไม่กระทบ … SET ที่ลงมาแรงช่วงนี้ จึงน่าจะเกิดจาก Sentiment ‘ความกลัว’ เป็นหลัก มีหลายท่านถามว่า ควรซื้อไหม ขอแนะนำเบื้องต้นว่า ถ้าใครกำลังรอจังหวะซื้อ RMF/SSF ผมว่าจุดนี้ น่าสนใจครับ ส่วนคนที่อยากซื้อเพื่อลุ้นเด้งกลับ ก็ลองดูแนวรับที่ 1520 ครับ 

ดัชนีหุ้นไทยปิดต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี 4 เดือน ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงตลอดสัปดาห์ท่ามกลางปัจจัยลบหลายด้าน

ดัชนีหุ้นไทยปิดต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี 4 เดือน ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงตลอดสัปดาห์ท่ามกลางปัจจัยลบหลายด้าน โดยในช่วงต้น-กลางสัปดาห์บรรยากาศตลาดในภาพรวมถูกกดดันจากประเด็นเฉพาะของบริษัทผู้ผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลและแรงขายหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง เนื่องจากเข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance ประกอบกับยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนในช่วงปลายสัปดาห์หุ้นไทยปรับตัวลงตามทิศทางหุ้นต่างประเทศหลังประธานเฟดยังคงส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ในวันศุกร์ (23 มิ.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,505.52 จุด ลดลง 3.45% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,473.82 ล้านบาท ลดลง 6.38% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.64% มาปิดที่ระดับ 463.22 จุด

สำหรับสัปดาห์นี้ (26-30 มิ.ย. 2566) มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,490 และ 1,475 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,520 และ 1,545 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนพ.ค. ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนพ.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน รวมถึงกำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. และ ดัชนี PMI เดือนมิ.ย. ของจีน

‘ทิสโก้’ ชี้ไตรมาส 3 หุ้นไทยอาจแตะ 1,400 จุด สะท้อนการเมืองวุ่น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย

บล.ทิสโก้ กังวลการเมืองในประเทศวุ่น ผนวกกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย คาดกดดันหุ้นไทยทดสอบระดับ 1,400 จุด แนะเดือนกรกฎาคมใช้กลยุทธ์ปรับพอร์ตแบบสมดุลระหว่างหุ้นเชิงรับและหุ้นเชิงรุก 

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกตลาดหุ้นไทย (SET Index) ให้ผลตอบแทน -10% ถือว่าแย่มากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก (MSCI World Index) ที่ให้ผลตอบแทน +12% นอกจากนี้ หากไม่รวมความเคลื่อนไหวของหุ้น DELTA ระดับ SET Index จะอยู่ที่ประมาณ 1,400 จุดต้น ๆ เท่านั้น สาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยสร้างผลตอบแทนไม่โดดเด่น ส่วนหนึ่งเพราะปัจจัยการเมืองในประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง  รวมทั้งประมาณการกำไรของตลาดที่ยังมีแนวโน้มถูกหั่นลงอยู่ ทำให้ครึ่งแรกของปีนี้ ต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปแล้วมากกว่า 1 แสนล้านบาท 

สำหรับภาพรวมไตรมาส 3 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะปัจจุบันดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่หลุดระดับ 1,500 จุดกำลังสะท้อนภาพการเมืองในประเทศที่ส่อแวววุ่นวาย คือ การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าและมีชุมนุมประท้วง โดยบล.ทิสโก้มองว่า ดัชนีหุ้นไทยในไตรมาส 3 มีโอกาสลงทดสอบบริเวณ 1,450 จุด และในกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยมาผสมโรงด้วย SET Index มีโอกาสลงทดสอบบริเวณ 1,400 จุด แต่น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี ก่อนมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในช่วงปลายปีนี้ 

“การเมืองไทยนับถอยหลังการโหวตเลือกนายกฯ ในช่วงครึ่งหลังเดือนกรกฎาคมนี้ ในกรณีฐาน บล.ทิสโก้ยังคงมุมมองเดิมว่าพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและคุณพิธาได้รับการโหวตเลือกเป็นนายกฯ แม้สถานการณ์ปัจจุบันความเป็นไปได้กรณีนี้จะลดลงก็ตาม อย่างไรก็ดี บล.ทิสโก้อยากแนะนำให้จับตาการโหวตเลือกประธานสภาฯ เป็นลำดับแรกก่อน หากผลการโหวตเลือกประธานสภาฯ ไม่ใช่ตัวแทนที่มาจากพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามกระแสข่าวที่ปรากฎก่อนหน้านี้ บล.ทิสโก้มองจะเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ดีว่าการโหวตเลือกนายกฯ ในลำดับต่อไปอาจยืดเยื้อ-ไม่ราบรื่น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตลาด และจะเพิ่มโอกาสเกิดการพลิกขั้ว-จับคู่ใหม่ในการจัดตั้งรัฐบาล ในกรณีหลังนี้ก็จะสุ่มเสี่ยงเกิดการชุมนุมประท้วงได้” นายอภิชาติกล่าว   

นอกจากนี้ บล.ทิสโก้มองทิศทางดอกเบี้ยยังมีความเสี่ยงที่จะปรับขึ้นสูงและนานกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยในอดีตธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าอัตราเงินเฟ้อเสมอประมาณ 1-2% จึงจะช่วยกดเงินเฟ้อให้ปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมายได้สำเร็จ แต่ระดับอัตราดอกเบี้ย FED ในปัจจุบันอยู่เท่ากับระดับอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น และแนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) อาจยังมีความหนืดอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 5% ต่อปีจากแนวโน้มราคาสินค้าเริ่มปรับตัวสูงขึ้น  

สำหรับการลงทุนในเดือนกรกฎาคม บล.ทิสโก้แนะนำกลยุทธ์การลงทุนเป็น 2 ส่วนแบบสมดุลระหว่างหุ้นเชิงรับและหุ้นเชิงรุก (Barbell Strategy) 1.หุ้นเชิงรับ บล.ทิสโก้ยังชอบหุ้นบลูชิพขนาดใหญ่ที่มีค่า Beta น้อยกว่า 1 ต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว เพราะน่าจะทนทานต่อความไม่แน่นอนของตลาดเดือนนี้ แนะนำ ADVANC, BBL, BDMS และCPALL และ 2.หุ้นเชิงรุก บล.ทิสโก้แนะนำหุ้นที่กำไรไตรมาส 2/2566 จะเติบโตได้และราคาปรับตัวลงลึกทำให้กลับมามี Upside น่าสนใจ แนะนำ EGCO, HANA, MENA และ SISB  ดังนั้น หุ้นเด่นของบล.ทิสโก้ในเดือนกรกฎาคม คือ ADVANC, BBL, BDMS, CPALL, EGCO, HANA, MENA และ SISB  ด้านแนวรับสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่ 1,450- 1,460 จุด แนวรับถัดไปที่ 1,420- 1,430 จุด  และแนวต้านสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่  1,520-1,540 จุด และ 1,575 จุดตามลำดับ 

มหากาพย์เบี้ยวหนี้ ‘หุ้นกู้’ 3.9 หมื่นลบ. ส่อเกิดวิกฤตความเชื่อมั่นตลาดหุ้นกู้

ปี 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทยอย่างมาก ทั้งจากกรณีทุจริตทางบัญชีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไปจนถึงการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ที่ทยอยผุดออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปีมาจนถึงปัจจุบัน

แน่นอนว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ย่อมสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และสร้างความเข็ดขยาดให้กับนักลงทุนรายย่อย รวมไปถึงเจ้าหนี้หุ้นกู้รายใหญ่ ที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้เงินคืน

อย่างที่ทราบกันดีว่า หุ้นกู้ภาคเอกชน คือ “ตราสารหนี้" เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ออกโดยภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอยืมเงินจากคนที่มีเงินเอามาใช้ในกิจการต่างๆ ของบริษัท เช่น เพื่อการลงทุนขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ หรือเพื่อก่อสร้างโรงงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโซลูชั่นที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับบริษัท

แต่ทว่า หลังจากเผชิญวิกฤตโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 ส่งต่อสภาพคล่องของบริษัทที่ออกหุ้นกู้อย่างหนัก กระทั่งเกิดสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2566 จนถึงคิดเป็นมูลค่ากว่า 39,000 ล้านบาท 

โดยนายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทายดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง สงครามความขัดแย้ง และเศรษฐกิจประเทศที่เกี่ยวข้องกับไทยยังมีปัญหา ทำให้ภาพการลงทุนอยู่ในโหมดระมัดระวัง แต่ยอมรับว่าคาดเดายากว่าจะมีหุ้นกู้ที่มีปัญหาหรือเสี่ยงที่จะเป็นหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย พบว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระ 6 ราย มูลค่ารวม 16,363 ล้านบาท ได้แก่...

- หุ้นกู้ บมจ.ช.ทวี (CHO) 4 รุ่น มูลค่า 409 ล้านบาท
- หุ้นกู้ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) 5 รุ่น มูลค่า 9,198 ล้านบาท
- หุ้นกู้ บมจ. ออลล์อินสไปร์ (ALL) 7 รุ่น มูลค่า 2,334 ล้านบาท
- หุ้นกู้ บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) 7 รุ่น มูลค่า 3,212 ล้านบาท
- หุ้นกู้ บจ. เดซติเนชั่น รีสอร์ทส์ (DR) 2 รุ่น มูลค่า 1,210 ล้านบาท
- หุ้นกู้ บจ. พี พี ฮอลิเดย์ (PPH) 1 รุ่น มูลค่า 392 ล้านบาท

ส่งผลให้มูลค่าคงค้างที่มีปัญหา ณ สิ้นปี 2566 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 39,412 ล้านบาท 

ขณะเดียวกัน เพียงเริ่มต้นปี 2567 ได้เพียงไม่กี่วัน ก็มีข่าวใหญ่ในตลาดทุนไทยออกมาให้นักลงทุนสะท้านกันอีกระลอก เมื่อ หุ้นกู้ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ (ITD) ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของไทย ส่อแววจะผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้มูลค่าสูงถึง 14,500 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทจะจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 17 มกราคมนี้ เพื่อที่จะเจรจาขอยืดหนี้ 2 ปี

นอกจากนี้ ยังมี บจ.สยามนุวัตร จำกัด (SWD) ได้ขอเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 มูลหนี้รวม 520 ล้านบาท ออกไปเป็นปี 2568

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มเข็ดขยาดและหวาดวิตกต่อการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนพอสมควร จนส่งผลต่อแผนระดมทุนด้วยหุ้นกู้ของหลายบริษัทไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่สามารถขายหุ้นกู้ได้หมดตามกรอบวงเงินที่วางไว้

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย พบว่า ในปี 2567 จะมีหุ้นกู้เอกชนระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระคืนกว่า 890,000 ล้านบาท โดยหุ้นกู้กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่มีอันดับเครดิตตํ่ากว่า BBB- และหุ้นกู้ที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต (Non Rating) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% หรือ 89,000 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงว่าอาจไม่สามารถขายหุ้นกู้ใหม่เพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม หรือ Rollover Bond ที่จะครบกำหนดได้ จนส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัท 

หากสถานการณ์เลวร้ายลง คงต้องพึ่งพาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงแนวทางแก้ไข ซึ่งอาจจะใช้วิธีก่อตั้งกองทุนดูแลหุ้นกู้ขึ้นให้ความช่วยเหลือ เพราะถ้าปล่อยให้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทจดทะเบียนมีเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากนี้ จะยิ่งสร้างความหวั่นวิตก และทำให้นักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อระบบตลาดทุนไทยอย่างแน่นอน

'กูรูหุ้น' แง้ม!! ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสแตะ 2,000 จุดใน 10 ปีข้างหน้า ชี้!! 'แร่หายาก' จุดแข็งไทยดึงดูดนักลงทุน โดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาล

(1 ก.ค.67) Business Tomorrow สรุป 5 ประเด็นสำคัญเรื่องหุ้นไทยและจุดแข็งประเทศไทย จากคุณกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ Head of Research and Content สายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.พาย ดังนี้...

1. คุณกวีมองว่าปัจจุบันตลาดหุ้นไทยควรถึงจุดต่ำสุดได้แล้ว และมองภาพไปอนาคตว่าอย่างน้อยอีก 10 ปีข้างหน้า หากตลาดหุ้นเติบโตปีละ 5-6% บวกกับเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนอีก 2-3% ตลาดหุ้นไทยอาจไปถึง 2,000 จุด แต่หากเราคาดหวังไป 3,000 - 4,000 จุด ตอนนี้ยังมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

2. คุณกวียังศรัทธาในหุ้นไทยและมองว่าประเทศไทยยังมีเสน่ห์ เพราะหากตอนนี้เราลองมองย้อนกลับมาดูตัวเราเอง (ประเทศไทย) จะพบว่าประเทศเรามีจุดภูมิศาสตร์ที่ดีหรืออยู่ท่ามกลางประเทศที่มีพัฒนาแล้วและมีการขยายของประชากรกว้างมากขึ้น อาทิ ฝั่งตะวันตกของไทยที่มีอินเดียและศรีลังกากำลังขยายตัวมีประชากร 2,000 ล้านคน ฝั่งข้างบนของเราก็เป็นพี่ใหญ่อย่างจีน 1,500 ล้านคน ฝั่งใต้ของเรารวมอินโดนีเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น ก็รวมเป็น 2,000 ล้านคน จะเห็นได้ว่าไทยอยู่ศูนย์กลางของประเทศที่มีประชากรราว 4-5 พันล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของโลก

3. แล้วประโยชน์ของไทยที่อยู่ท่ามกลางประเทศที่มีประชากรครึ่งค่อนโลกคืออะไร? คุณกวีกล่าวว่า ไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการค้า ศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ ทุกประเทศจำเป็นต้องผ่านเรา อย่างน้อยที่สุดหากมีประเทศที่เกิดการค้ากัน เวลาจะส่งของยังต้องผ่านไทยของเรา หากเรามาดูแหล่งแร่ธาตุในโลก จริงอยู่ที่ว่าไทยไม่ได้มีจุดเด่นด้านแร่ธาตุ แต่ไทยถูกล้อมรอบไปด้วยแหล่งแร่หายากของโลก นี่คือข้อดีของประเทศไทย 

4. ซึ่งแร่ธาตุหายากอาทิ ลิเทียม โคบอลต์ ซิลิกอน โซเดียม ฯลฯ เหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ EV อุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีและเซมิคอนดัคเตอร์ ดังนั้นข้อดีหรือเรื่องแร่เหล่านี้ ทำให้คุณกวีมองว่า “ประเทศไทยได้ประโยชน์จากเรื่องเหล่านี้ โดยที่ไม่ต้องอาศัยรัฐบาล” คุณกวีจึงมองว่านี่แหละคือ 'Soft Power' ของประเทศไทย 

‘หยวนต้า’ วิเคราะห์!! ‘นักลงทุนต่างชาติ’ เริ่มกลับมาสนใจซื้อหุ้นไทย หลังได้นายกฯ คนใหม่-ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว มีโอกาสฟื้นตัวใน 1-2 เดือน

(20 ส.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Business Tomorrow’ โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘1,400 จุดแค่เอื้อม ฝรั่งเล็งเดินเครื่องช้อนหุ้นไทย ‘หยวนต้า’ ชี้เป็นจุดน่าซื้อที่สุดรอบ 2 ปี’ ระบุว่า…

คุณภาดล วรรณรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทาง Live สด กับ Business Tomorrow เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2567 กล่าวว่า…

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ดีขึ้นจากปัจจัยการเมืองไทยคลายล็อกจุดเปลี่ยนสำคัญคือก้าวขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เบื้องต้นประเมินว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีโอกาสเห็นการฟื้นตัวของดัชนีฯ แตะ 1,400 จุดภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า 

สำหรับปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน คาดว่าเกิดจากกระบวนการแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะเห็นโฉมหน้า ครม.ชุดใหม่ภายในสิ้นเดือน ส.ค. และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเริ่มทำงานในเดือน ก.ย.นี้ 

นอกจากนี้ ตลาดจับตาการทบทวนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต อาจจะเห็นการเปลี่ยนรูปแบบในมิติลดความเสี่ยงภาระหนี้ของประเทศ หรืออาจปรับเปลี่ยนให้เกิดผลบวกต่อการบริโภคในประเทศโดยตรง เป็นลักษณะนโยบายประชานิยม ส่วนหนึ่งเพื่อปูทางสู่การเลือกตั้งในอีก 3 ปีข้างหน้า

"ตอนนี้ต้องบอกว่าแนวโน้มหุ้นไทยโดยรวมอยู่ในช่วงที่มีนารีขี่ม้าขาวมาช่วย ไม่ใช่ม้าธรรมดาแต่เป็นม้าบินจะพาหุ้นไทยติดปีก ทำให้คาดหวังได้ว่าใน 1-2 เดือนข้างหน้ามีโอกาสเห็น 1,400 จุด และในปีนี้ต้องบอกว่าหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ในความรู้สึกส่วนตัวมองว่าหุ้นไทยกำลังเป็นบรรยากาศที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในรอบ 2 ปีทั้งจากปัจจัยต่างประเทศที่เอื้อและการเมืองไทยคลายกังวล" คุณภาดล กล่าว 

คุณภาดล ยังประเมินอีกว่า มีโอกาสสูงที่นักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับมาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง เนื่องจากค่าเงินบาทส่งสัญญาณแข็งค่า ทำให้ต่างชาติรับส่วนต่างกำไรเพิ่มขึ้นจากค่าเงิน ถึงแม้ว่าเมื่อวันที่ 19 ส.ค. ต่างชาติมีสถานะขายสุทธิเกือบ 1.05 หมื่นล้านบาท แต่หากพิจารณาพบเป็นผลกระทบจากรายการบิ๊กล็อตหุ้น SCCC มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ฉะนั้นหากตัดรายการดังกล่าวจะพบต่างชาติกำลังเดินเครื่องซื้อสุทธิหุ้นไทยราว 1.5 พันล้านบาท

ฟังสัมภาษณ์หุ้นไทยจะบินหรือจะตก ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ นายกฯ คนใหม่ (ภาดล วรรณรัตน์)
https://www.youtube.com/watch?v=RhrjqiQk-g4

'ขุนคลัง' ชี้!! การเมืองนิ่งมีส่วนทำตลาดหุ้นไทยขึ้นแรงกว่า 30 จุด แง้ม!! ปมขึ้นค่าแรง 400 บาท เตรียมหาทางช่วยผู้ประกอบการแล้ว

(5 ก.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล ‘นายพิชัย ชุณหวชิร’ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีสถานการณ์การลงทุนที่ตลาดหุ้นไทยในวันนี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเกือบ 30 จุด ว่าถือเป็นเรื่องที่ดี และน่ายินดี

เมื่อถามว่าการตอบรับของตลาดหุ้นมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนใช่หรือไม่? นายพิชัย ระบุว่า "ก็คงมีส่วนด้วย แต่ก็มีหลายประเด็นที่เป็นปัจจัยเกี่ยวข้องกัน"

เมื่อถามว่ามาตรการเรื่องภาษีที่กระทรวงแรงงานอยากให้กระทรวงการคลังเสนอเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 ต.ค.นี้? นายพิชัย กล่าวว่า "ตอนนี้ได้รับแจ้งความคืบหน้าเข้ามาแล้ว อยู่ระหว่างการรอพิจารณามาตรการทางภาษีที่จะเสนอเข้ามาอีกครั้ง"

10 ปีตลาดหุ้นไทยทำไมยังย่ำอยู่กับที่? แล้วเราอยู่ตรงไหนในอาเซียน?

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2014-2024) ตลาดหุ้นไทย หรือดัชนี SET Index ดูเหมือนจะ 'ย่ำอยู่กับที่' โดยตลาดเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 1,300-1,800 จุด โดยสิ้นปี 2024 ปิดที่ 1,402 จุด ลดลงจาก 1,416 จุดในสิ้นปี 2023 ซึ่งสะท้อนถึงผลตอบแทนที่ค่อนข้างคงที่และไม่มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ที่เติบโตอย่างน่าประทับใจ สถานการณ์นี้เริ่มทำให้นักลงทุนและผู้ติดตามตลาดทุนเริ่มตั้งคำถามว่า “เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นไทย?” และ “เรายังมีโอกาสก้าวหน้าในภูมิภาคนี้อีกหรือไม่?”

เมื่อมองย้อนกลับไป ตลาดหุ้นไทยไม่ได้แสดงถึงการเติบโตที่ชัดเจน โดยผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (CAGR) แทบจะเท่ากับศูนย์ ในขณะที่ตลาดหุ้นเพื่อนบ้านในอาเซียนเติบโตในระดับที่น่าประทับใจ อย่างเช่น

ตลาดใหม่, การเติบโตของธนาคารและอสังหาฯ
(ไม่นับรวมลาวที่ตลาดเคลื่อนไหวช้า เมียนมาที่มีปัญหาการเมืองทำให้ตลาดไม่เติบโต และบรูไนที่ไม่มีตลาดหุ้น)​​

เหตุผลที่ตลาดหุ้นไทยไม่โต มาจาก
​1.​โครงสร้างตลาดที่กระจุกตัว โดยหุ้นในดัชนี SET50 มีสัดส่วนกว่า 70% ของมูลค่าตลาดรวม โดยพึ่งพากลุ่มพลังงาน ธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเติบโตช้าและอิ่มตัว
​2.​เศรษฐกิจที่โตต่ำ GDP ไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 2-3% ต่อปี ขณะที่เวียดนามโต 6-7% และไทยเองก็มีหนี้ครัวเรือนสูงเกิน 90% ของ GDP ส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศ
​3.​ความไม่แน่นอนทางการเมือง จากประเด็นความเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลและนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น
​4.​ขาดหุ้นในอุตสาหกรรมใหม่ เพราะไทยเองยังขาดหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีหรือธุรกิจนวัตกรรมที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนระยะยาว

และบทเรียนจากตลาดหุ้นเพื่อนบ้านที่เราควรนำเอามาศึกษา คือ 
​1.​เวียดนาม: นับเป็นตลาด The Rising Star เพราะมีการสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) และการเติบโตของอุตสาหกรรมส่งออกช่วยดันตลาดหุ้นเวียดนามให้เติบโตเร็วที่สุดในอาเซียน
​2.​อินโดนีเซีย: มีประชากรคือพลัง จากฐานประชากรกว่า 270 ล้านคนช่วยผลักดันการบริโภคในประเทศและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
​3.​สิงคโปร์: เสถียรภาพคือจุดเด่น เป็นประเทศตลาดหุ้นเน้นหุ้นที่มีเสถียรภาพ เช่น ธนาคารและ REITs ซึ่งดึงดูดนักลงทุนที่มองหาความมั่นคง

ตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอาจดูเหมือน 'นิ่ง' แต่ก็มีทั้งความท้าทายและโอกาสที่รอการปลดล็อก หากสามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการเพิ่มความหลากหลายของหุ้นในตลาด สนับสนุนธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยี พลังงานสะอาด และธุรกิจสุขภาพ การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ การลดข้อจำกัดด้านภาษีและนโยบาย พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมือง การสร้างนโยบายระยะยาวที่ต่อเนื่อง การเร่งดำเนินโครงการเมกะโปรเจกต์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และผลักดันธุรกิจในประเทศ ก็อาจจะทำให้เราอาจเห็นตลาดหุ้นไทยกลับมาโดดเด่นอีกครั้งในเวทีอาเซียน คำถามสำคัญคือ เราพร้อมจะเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาให้ตลาดหุ้นไทยของเราก้าวหน้าต่อไปหรือยังคะ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top