Saturday, 19 April 2025
ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้

ตลท. จับมือ ‘ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้’ แลกเปลี่ยนข้อมูล เชื่อมโยงโอกาสลงทุน ระหว่าง 2 ตลาดหุ้น

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange: SSE) เชื่อมโยงข้อมูลการลงทุนให้หลักทรัพย์ไทยและจีนเป็นที่รู้จัก ผ่าน www.settrade.com และ www.csindex.com.cn เป็นครั้งแรก เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าถึงข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 2 ประเทศ 

(27 มี.ค. 66) นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เชื่อมโยงข้อมูลการลงทุนให้หลักทรัพย์ไทยและจีนเป็นที่รู้จัก โดยความร่วมมือนี้อยู่ภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านดัชนี (Index Cross-border Cooperation) ที่จัดทำขึ้นระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัท China Securities Index Company Limited (CSI) ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดทำและเผยแพร่ดัชนีในเครือตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เพื่อแลกเปลี่ยนการเผยแพร่ข้อมูลดัชนี โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นำข้อมูลดัชนีของตลาดทุนไทยไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ CSI เพื่อชูศักยภาพและความน่าสนใจลงทุนของตลาดทุนไทย และเพื่อให้ผู้ลงทุนในประเทศจีนได้นำข้อมูลไปวิเคราะห์ก่อนการตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ CSI มีเครือข่ายผู้ใช้ข้อมูลเฉลี่ย 8,000 รายต่อวัน ความร่วมมือด้านดัชนีครั้งนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเชื่อมโยงโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้เป็นผลจากการหารือเชิงลึกระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการตลาดทุนระหว่างสองตลาด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียนด้านดัชนี ทั้งนี้ นายจาง จื่อหมิง ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท China Securities Index Company Limited (CSI) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การเชื่อมโยงข้อมูลดัชนีนี้ เพื่อเพิ่มช่องทางในการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างตลาดทุนจีนและอาเซียน ซึ่ง CSI มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ทั้งสองแห่ง ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มการรับรู้และความน่าสนใจในดัชนีของจีนในระดับสากล

ทั้งนี้ผู้ลงทุนสามารถติดตามข้อมูลการเผยแพร่ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ไทย ประกอบด้วย ดัชนี SET Index, SET 50 Index และ SET THSI Index ได้ที่ www.csindex.com.cn และดัชนีของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ประกอบด้วย ดัชนี SSE Composite Index, SSE 50 Index, SSE Science and Technology Innovation Board 50 Index, CSI 300 Index และ CSI Smallcap 500 Index ที่ www.settrade.com ภายใต้เมนู Global โดยใช้ชื่อว่า “International Index Cooperation”

สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันตั้งแต่ปี 2553 เพื่อขยายโอกาสให้หลักทรัพย์ไทยและจีนเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น พร้อมเปิดโอกาสการเชื่อมโยงทั้งสองตลาดเพื่อเพิ่มทางเลือกในการระดมทุน ซึ่งที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนบุคลากรและจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง

'ไต้หวัน' โวย!! จีนแย่ง 'วิศวกรด้านชิป-ความลับทางการค้า' ทำลายขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมไฮเทค

(6 ก.ย.67) เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ รายงานว่า บริษัทเทคโนโลยีของจีน 8 แห่ง ซึ่งรวมถึงยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์ผลิตชิปอย่าง ‘นอราเทคโนโลยีกรุ๊ป’ (Naura Technology Group Co.) ถูกทางการไต้หวันกล่าวหา แย่งชิงคนเก่งที่มีความสามารถไปอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนั้น ยังขโมยความลับด้านการค้าของไต้หวันไปอีกด้วย

สำนักงานสืบสวนในสังกัดกระทรวงยุติธรรมไต้หวัน ได้มีการแถลงทางเว็บไซต์เมื่อวันพุธ (4 ก.ย. 67) ที่ผ่านมาว่า ได้บุกตรวจค้นสถานที่ 30 แห่ง และสอบสวนบุคคล 65 คนใน 4 เมือง รวมถึงไทเปและซินจู๋ โดยบริษัทจีนตกเป็นผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดดังกล่าว ซึ่ง ‘ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความสามารถในการแข่งขันของไต้หวันในด้านอุตสาหกรรมไฮเทค’

โดยบริษัทอีก 7 แห่งได้แก่ ไอคอมม์เซมิ (iCommsemi), เซี่ยงไฮ้นิววิชั่นไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Shanghai New Vision Microelectronics), หนันจิง เอเวียคอมม์ เซมิคอนดักเตอร์ (Nanjing Aviacomm Semiconductor), อีโมติบอต (Emotibot), ทงฟาง (Tongfang), เฉิงตูอะนาล็อกเซอร์กิตเทคโนโลยี (Chengdu Analog Circuit Technology) และเฮสเทียเพาเวอร์ (Hestia Power)

ทั้งนี้ ‘นอรา’ ซึ่งมีฐานในกรุงปักกิ่ง เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีน เช่น SMIC YMTC และหัวหงเซมิคอนดักเตอร์กรุ๊ป (Hua Hong Semiconductor Group) โดย นอรา ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ตามล่าวิศวกรด้านอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ แต่ทางบริษัทยืนยันว่า สำนักงานในไต้หวันดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบและข้อกฎหมายของท้องถิ่น

หลายบริษัทที่ถูกกล่าวหา รวมถึงไอคอมม์เซมิ และเซี่ยงไฮ้นิววิชั่นไมโครอิเล็กทรอนิกส์นั้น เชี่ยวชาญด้านการออกแบบชิป ส่วนอีโมติบอตเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์อัตโนมัติ โดยอาศัยเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การประมวลผลภาษาธรรมชาติ และการเรียนรู้เชิงลึก

สำนักงานสืบสวนระบุอีกว่า หลายบริษัทที่ถูกกล่าวหา เช่น ‘เฮสเทียเพาเวอร์’ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัสดุชิปในเซี่ยงไฮ้ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ผ่านกองทุนสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ ที่เรียกกันว่า ‘Big Fund’

ส่วนบริษัททงฟาง ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ มีผู้ก่อตั้งคือ ‘มหาวิทยาลัยชิงหวา’ ในปี 2540 บริษัทรู้จักกันในชื่อเดิมว่า ‘ชิงหวาทงฟาง’ แต่ปัจจุบันอยู่ในความควบคุมของบริษัทนิวเคลียร์แห่งชาติจีน โดยดำเนินธุรกิจในภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค พลังงาน และสิ่งแวดล้อม

สำนักงานสืบสวนกล่าวหา บริษัททงฟางแย่งตัวพนักงานด้านการวิจัยและพัฒนาเกือบหนึ่งร้อยคนผ่านบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในไต้หวัน

ข้อกล่าวหาของไต้หวันมีขึ้นในขณะที่รัฐบาลจีนทุ่มเทความพยายามเพิ่มเป็นสองเท่าเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองด้านเซมิคอนดักเตอร์ท่ามกลางมาตรการจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงของสหรัฐอเมริกาให้แก่จีน

ด้าน แพลตฟอร์ม ‘Qichacha’ ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทต่างๆ ของจีนระบุว่า เมื่อเดือนที่แล้วเทศบาลกรุงปักกิ่งได้เปิดตัวกองทุนเพื่อการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ด้วยทุนจดทะเบียน 8,500 ล้านหยวน ซึ่งเกิดขึ้น 3 เดือน หลังจากที่จีนจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนด้านชิปก้อนใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งเป็น ‘Big Fund’ เฟสที่ 3 ด้วยทุนจดทะเบียน 344,000 ล้านหยวน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top