Friday, 10 May 2024
ณัฏฐา_มหัทธนา

‘โบว์ ณัฏฐา’ ชี้!! สังคมพูดเรื่อง ‘หยก’ โดยไม่ดูข้อเท็จจริง ฟากพ่อแม่นิ่งเฉย ส่วนโรงเรียนต้องรับมือความปั่นป่วนรายวัน

(12 ก.ย. 66) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊ก ‘โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา - Nuttaa Mahattana’ ระบุข้อความว่า…

หลายคนพูดเรื่องหยกโดยไม่ดูข้อเท็จจริงเลยค่ะ ประเด็นสำคัญที่ต้องเข้าใจตรงกันคือ 

📍โรงเรียนจะรับเด็กให้มีสถานะเป็นนักเรียนของโรงเรียนได้จะต้องมีผู้ปกครองมารับรอง เพราะการดูแลนักเรียนคือการทำงานร่วมกันระหว่างบ้านกับโรงเรียน หากไม่มีผู้ปกครอง เด็กจะต้องอยู่ในความดูแลของรัฐและได้รับการศึกษาในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการคุ้มครองสิทธิเพื่อสวัสดิภาพของเด็ก

📍แม่ของหยกเคยไปยืนยันความเป็นผู้ปกครองไว้กับโรงเรียนเพื่อขอผ่อนผันการมอบตัวแล้ว โรงเรียนจึงไม่สามารถรับรองบุคคลอื่นที่อ้างตนเป็นผู้ปกครองโดยปราศจากการมอบอำนาจได้ โดยเฉพาะบุคคลที่มีอายุห่างกับเด็กไม่ถึง 15 ปีและมีปัญหาคุณสมบัติหลายประการ 

📍ก่อนครบกำหนดการมอบตัว โรงเรียนพยายามติดต่อแม่และมีครูฝ่ายปกครองเดินทางไปตามที่บ้านไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง โดยปราศจากความร่วมมือของหยกและบุ้งในการประสาน 

📍หลังจากนั้นมีการโอนเงินค่าเทอมจากบัญชีรับบริจาคของกลุ่มทะลุวังเข้าบัญชีโรงเรียน เมื่อการมอบตัวไม่เคยเกิดขึ้น โรงเรียนจึงโอนเงินคืน แต่ยังต้องรับมือกับสถานการณ์ความปั่นป่วนอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏในข่าว

📍นักเรียนในโรงเรียนเริ่มทนไม่ไหวหลังอยู่กับสถานการณ์มาสี่เดือน โรงเรียนได้รับความกดดันทั้งจากนักเรียนและผู้ปกครองให้ปกป้องสิทธิของเด็ก ๆ ที่เหลือในโรงเรียน ให้สามารถมีสมาธิเรียนในบรรยากาศที่เป็นปกติ ปราศจากการรบกวนของกลุ่มบุคคลภายนอก 

📍กระบวนการแก้ปัญหาตามกฎหมายเรื่องการมีผู้ปกครองยังต้องดำเนินอยู่โดยปราศจากความร่วมมือของหยกและกลุ่มบุคคลที่น้องไปอาศัยอยู่ด้วย และโรงเรียนยังต้องใช้ทรัพยากรบุคคลและอาคารสถานที่ในการรับมือกับสถานการณ์รายวัน 

📍เพราะคำว่า ‘เด็ก’ และแรงกดดันจากคนบางกลุ่ม จึงไม่มีใครกล้าดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ผลเสียนั้นเกิดต่อตัวเด็กเอง และน่าจะคลี่คลายในเร็ววัน

'โบว์ ณัฏฐา' กังขากระบวนการสอบคุกคามทางเพศ 'ก้าวไกล' ที่เพิ่งจบไป คือ กระบวนการที่เชื่อถือได้แล้วจริงหรือ?

(3 พ.ย. 66) จากกรณีการประชุมร่วมกันของกรรมการบริหารพรรคและ สส.ของพรรคก้าวไกลกรณีสมาชิกพรรคมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ โดยมีมติขับนายวุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี พ้นสมาชิก และคาดโทษ นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม. เขตจอมทอง-บางขุนเทียน-ท่าข้าม ขณะที่นายวุฒิพงศ์แฉกลับฝ่ายหญิงส่งคลิปเปลื้องผ้า 50 คลิป ยืนยันไม่เคยมีเพศสัมพันธ์

ด้าน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ถึงเรื่องดังกล่าวว่า...

หากเป็นการพิจารณาคดีในศาล จะมีกระบวนการพิจารณาคดี และข้อมูลข้อเท็จจริงในคดีจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ สังคมจะรู้ว่าผู้ถูกตัดสินมีความผิดหรือไม่ด้วยเหตุใด มีรายละเอียดเหตุการณ์เป็นอย่างไร ข้อกฎหมายใดที่ใช้ประกอบการพิจารณา และมีอะไรบ้างที่เป็นองค์ประกอบความผิด

แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่มีหรือไม่ปรากฏต่อสังคมในการดำเนินกระบวนการของพรรคก้าวไกล สังคมจึงต้องมาต่อจิ๊กซอว์เอาเอง ซึ่งไม่มีทางครบ

ปัญหาวิธีคิดและกระบวนการในการทำงานเพื่อนำมาซึ่งความยุติธรรมของพรรค เป็นเรื่องที่สังคมควรให้ความสนใจยิ่งไปกว่าเรื่องคดีความที่สามารถพิสูจน์กันได้ในชั้นศาล

เพราะนั่นคือสิ่งที่สะท้อนทัศนคติและศักยภาพของ 'พรรคการเมือง' ที่อาสามาทำงานนิติบัญญัติและบริหารประเทศ ถ้าไม่รอบคอบ ถ้าเป็นไปตามกระแสหรือตั้งต้นด้วยอคติมากกว่าเป็นไปเพื่ออำนวยความยุติธรรมจริงๆ ก็ยิ่งน่ากังวล

ส่วนหนึ่งของการแถลงวันนี้ที่ปรากฏในข่าวนี้ เป็นส่วนที่ถูกตัดออกไปจากสื่อส่วนใหญ่ นี่ไม่ใช่สิ่งที่แสดงความบริสุทธิ์ของผู้ถูกร้อง (นั่นคือสิ่งที่ต้องถูกพิสูจน์ในศาล) แต่เป็นสิ่งที่ชวนให้ตั้งคำถามว่า กระบวนการที่เพิ่งจบไป คือกระบวนการที่เชื่อถือได้แล้วจริงหรือไม่?

ขอบคุณนักข่าวที่ตั้งคำถามถึง 'ข้อเท็จจริง'

'หมออั้ม-คุณโบว์' อารยะขัดขืน!! สังคม Toxic ในทวิตเตอร์ (X) หยุดใช้บริการ พร้อมชวนพักสนับสนุนแพลตฟอร์มไร้สำนึก

(15 ม.ค.67) 'หมออั้ม' อิราวัต อารีกิจ อดีตนักร้องชื่อดังและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'อั้ม อิราวัต' ระบุว่า...

"..เพราะเป็นสังคมที่ไร้ความรับผิดชอบ หลัง ๆ เริ่มมีแต่คนป่วย Toxic อวตารไร้ตัวตน (คนปกติที่เล่น ไม่ต้องร้อนตัวนะครับ)ผมขอส่งอีก 1 เสียง แสดงออกถึงการต่อต้าน ไม่สนับสนุนแพลตฟอร์มไร้สำนึกนี้
จนกว่าจะมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้ เสียเวลาชีวิตผมเปล่าๆ.."

ปิดถาวรครับ

นอกจากนี้ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงเรื่องนี้ด้วยว่า...

เหตุผลที่โบว์เลิกใช้ Twitter X … 

การออกแบบระบบและนโยบายของทวิตเตอร์ X ทำให้เกิดอาชญากรรมและพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ละเมิดกฎหมายมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ 

ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกลไกการสนทนาที่ไม่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การปราศจากการยืนยันตัวตนทำให้ผู้ใช้งานปลอดความรับผิดชอบ และการปล่อยเสรีคอนเทนต์ลามกอนาจารค้าประเวณีและการค้ามนุษย์โดยไร้การคัดกรองเพื่อปกป้องเยาวชนจากอาชญากรรมทางเพศ… 

ชวนกันออกมาค่ะ อย่าไปสนับสนุนธุรกิจที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการใช้งานต่อ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลทำหน้าที่ปกป้องเยาวชนจากแพลตฟอร์มที่เป็นภัยสังคมนี้

'โบว์-ณัฏฐา' สะท้อน!! โลกนี้มีผู้ฟังอยู่ 2 ประเภท ฟังแล้วนำมุมดีไปใช้ต่อ กับฟังแล้วตีโพยตีพาย 

จากกรณี CK Cheong (ซีเค เจิง) CEO เว็บไซต์ Fastwork ได้แสดงความคิดเห็นเรื่อง ทุกคนมีเวลาเท่ากัน อย่าอ้างว่าไม่มีเวลา แต่สามารถดูสตรีมมิ่งได้ 8 ชม. การดูสตรีมมิ่งไม่ผิด แต่อย่าลืมเอาเวลามาพัฒนาตัวเอง ซึ่งหลังจากวิดีโอถูกแชร์ออกไป ชาวเน็ตก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนกลายเป็นกระแสดรามา

ล่าสุด (8 ก.พ.67) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงเรื่องนี้ด้วยว่า...

เห็นมีคนพูดเรื่องการบริหารเวลา แนะนำให้จัดลำดับความสำคัญ ถ้าคุณมีเวลาดูซีรีส์ อย่าบอกว่าไม่มีเวลาจะทำอะไรเพื่อพัฒนาตัวเอง…แล้วก็มีคนโวยวาย เข้าไปด่า

โลกนี้มีคนที่ฟังอะไรแล้วหยิบส่วนที่เป็นประโยชน์ไปใช้ต่อ กับคนที่ฟังอะไรแล้วตีโพยตีพาย จับผิดคนพูดแทนการจับประเด็น เพราะอยากได้การโอ๋มากกว่าความจริง อยากได้ข้ออ้างให้กับความล้มเหลวของตัวเองมากกว่าแรงผลักดันเพื่อพัฒนา 

มีพี่คนนึงเคยพูดไว้ว่าถ้าเราให้ความสำคัญกับอะไร เราจะมีเวลาให้มันเสมอ ตอนจีบใคร ยุ่งแค่ไหนก็หาเวลาไปดูหนังได้ ไปเจอกันได้ ดังนั้นในชีวิตอย่าอ้างว่าไม่มีเวลาที่จะทำสิ่งที่ควรทำ ซึ่งจริงมาก…แต่ตอนนั้นไม่มีทัวร์ลง เพราะมันยังไม่มีเทรนด์ของการโยงทุกอย่างเข้ากับคำว่าความเหลื่อมล้ำ เพื่อจะบอกว่าชีวิตฉันดีขึ้นไม่ได้หรอกถ้าคนยังไม่เท่ากัน

'โบว์ ณัฏฐา' มองงานบอล 'จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์' มาตรฐานหดหาย ผลจากโควิดตัดขาดการส่งต่อ 'ความรู้-ความเป็นทีม' แบบรุ่นสู่รุ่น

(1 เม.ย.67) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงงานเทศกาลงานกีฬาฟุตบอลสานสัมพันธ์ 'จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์' CU-TU Unity Football Match 2024 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค.67 ณ สนามศุภชลาศัย ว่า...

ที่คุณภาพของงานบอลออกมาแย่ขนาดนั้น ส่วนหนึ่งเพราะช่วงล็อกดาวน์โควิดสองสามปีมันไม่มีการส่งต่อความรู้ ความเป็นทีม และวิธีทำงานจากรุ่นสู่รุ่นด้วย การไม่ได้เจอใครเลยตลอดปีการศึกษา ทำให้ Team Spirit มันหายไป และไม่ได้ฟื้นขึ้นมาได้แบบจตุรมิตรที่เขามีเวลาใช้ชีวิตอยู่ในสถาบันยาวนานกว่าแค่สี่ปี 

คิดว่าฟื้นไม่ได้แล้ว เพราะพอมาตรฐานหายไปก็ไม่มีอะไรไว้ส่งต่อ และด้วยวัฒนธรรมปัจจุบันที่ต่างคนต่างอยู่กับตัวเองเป็นหลัก งานแบบนี้ยังไงก็จะค่อย ๆ ย่อส่วนลง โควิดเป็นแค่ตัวมาเหยียบคันเร่ง ให้ผู้คนเห็นความแตกต่างชัดจนคนตกใจในความหยาบของผลงาน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top