Sunday, 5 May 2024
ซีรีส์เกาหลี

มองประเทศกำลังพัฒนา! ผ่านจริต 'ฉันรักผัวเขา-​เขารักผัวฉัน-​ผัวเรารักกัน'​ | MEET THE STATES TIMES EP.51

📌ตัดเกรดประเทศกำลังพัฒนา!! ผ่านจริตแห่ง​ 'ฉันรักผัวเขา -​ เขารักผัวฉัน -​ ผัวเรารักกัน'​!!
📌ดูละครสะท้อนสังคม! สื่อที่ ‘เสพ’ สะท้อนบริบทของคนในชาติอย่างไร?!

ในรายการ MEET THE STATES TIMES

ดำเนินรายการโดย หยก THE STATES TIMES

.

.

ยลความงาม 'โลหะปราสาท' วัดราชนัดดารามวรวิหาร หลังปรากฏในฉากของซีรีส์ดัง King The Land

(17 ก.ค. 66) เพจ 'โบราณนานมา' ได้โพสต์เนื้อหาตามรอยซีรีส์เกาหลี เรื่องดังอย่าง King The Land ที่นำแสดงโดย อี จุนโฮ และอิม ยุนอา ซึ่งตอนที่ 10 ของเรื่อง เป็นการมาเที่ยวประเทศไทย และสถานที่ที่จะนำเสนอวันนี้ คือ 'โลหะปราสาท' วัดราชนัดดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร มีรายละเอียดดังนี้...

'โลหะปราสาท' เป็นโลหะปราสาทองค์แรกและองค์เดียวของไทย และถือเป็นองค์ที่ 3 ของโลก สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ตั้งอยู่ในพื้นที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร และอยู่ในบริเวณลานพลับพลามหาเจษฏาบดินทร ยอดปราสาทประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

และสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 'โลหะปราสาท' องค์นี้คือ การก่อสร้างและการบูรณะ

นับตั้งแต่รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา ยังไม่เคยก่อสร้างให้แล้วเสร็จบริบูรณ์เลย ได้ก่อสร้างไว้แต่เพียงโครงก่ออิฐสลับศิลาแลง และยังปล่อยทิ้งให้ปรักหักพังตลอดมา จนถึงการบูรณะครั้งเมื่อปี 2506

ก่อนหน้าบูรณะครั้งใหญ่นี้ก็มีการบูรณะ 'โลหะปราสาท' มาเนือง ๆ แต่การบูรณะครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2506 สภาพโลหะปราสาท ณ เวลานั้น ชำรุดทรุดโทรมมาก ถูกทิ้งให้ปรักหักพังเรื่อยมาเป็นเวลานาน โดยการบูรณะได้รื้อตัวปราสาทเดิมออกทั้งหมด ทำตัวปราสาทเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยพยายามรักษาแบบแผนดั้งเดิมของโลหะปราสาทในสมัยรัชกาลที่ 3 ไว้ให้มากที่สุด บูรณะโดยกรมโยธาเทศบาล การบูรณะครั้งนี้ใช้งบประมาณ 6 ล้านบาท บูรณะแล้วเสร็จในปี 2515 ใช้เวลาบูรณะทั้งสิ้น 9 ปี

เราเรียกว่า 'โลหะปราสาท' ก็จริง แต่ตอนนั้นทั้งปราสาทมีแต่ปูนไม่มีโลหะเลย จึงเกิดการบูรณะครั้งต่อมาในปี 2537 โดยจะบูรณะยอดมณฑปทั้ง 37 ยอด ให้เป็นโลหะและทองแดงรมดำ โดยรมดำเพื่อป้องกันการเกิดสนิม การบูรณะครั้งนี้ใช้งบประมาณ 155 ล้านบาท บูรณะแล้วเสร็จในปี 2550 ใช้เวลาบูรณะทั้งสิ้น 11 ปี ครั้งนี้ที่บูรณะนานกว่าครั้งไหน สาเหตุมาจากช่วงที่บูรณะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการบูรณะ

ต่อมาเกิดการบูรณะครั้งล่าสุดในปี 2555 กรมศิลปากร ต้องการปิดทองยอดมณฑปทั้ง 37 ยอด เพราะเดิมรัชกาลที่ 3 มีพระราชดำริให้สร้างโลหะปราสาทหลังนี้ให้มียอดสีทอง ดูได้จากจิตรกรรมโลหะปราสาท ที่ฝาผนังวิหารพระพุทธไสยาส วัดโพธิ์ จิตรกรรมโลหะปราสาทนี้ เป็นประจักษ์พยานสำคัญอันหนึ่ง ที่สะท้อนถึงพระราชดำริที่จะปิด หรือหุ้มยอดโลหะปราสาทด้วยทอง อันเป็นโลหะที่มีค่าสูงที่สุดในหมู่โลหะทั้งปวง แต่เมื่อสิ้นรัชกาลจึงไม่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยการปิดทองยอดมณฑปทั้ง 37 ยอดที่โลหะปราสาท บูรณะแล้วเสร็จในปี 2561 ใช้เวลาบูรณะทั้งสิ้น 6 ปี

‘อาจารย์น้ำนุ่น’ ชี้!! ข้อจำกัด ‘ละครไทย’ สร้างภายใต้ปัจจัยเหนี่ยวความบูม ต่างจาก ‘เกาหลีใต้’ เสรีคอนเทนต์ สร้างสรรค์ได้อิสระจนของดีล้นตลาด

จากกรณีเมื่อไม่นานนี้ ที่ ‘คุณบอย เอนเตอร์เทน’ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “ดาราไทยกำลังตกงาน ล่าสุดละครลดการผลิต รายการทีวีขอลดค่าตัว ดาราหันไปหาอาชีพใหม่หนีตายแล้ว ไม่ดังอยู่ยาก เรื่องเยอะก็ไม่จ้าง ดาราไทยมูลค่าการตลาดสูงลิ่ว ค่าตัวแพงสวนทางคุณภาพ พัฒนาแค่เรื่องหล่อสวย แต่ขาดความยั่งยืนเรื่องฝีมือ หรือจะเรียกว่ามีตัวจริงไม่กี่คนก็ได้” ซึ่งสวนทางกับเกาหลีใต้ ที่ปัจจุบันนี้เกาหลีใต้มีซีรีส์ที่ล้นตลาดกว่าหนึ่งร้อยเรื่องที่ยังหาคิวออนแอร์ไม่ได้ 

จากกรณีดังกล่าวนี้ ทางรายการ ‘ถลกข่าว ถลกปัญหา’ ประจำวันที่ 5 ก.ย. 66 โดยสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES เผยแพร่ผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES, MAYA Channel ช่อง 44, NAVY AM RADIO AM 720 kHz และวิทยุ KCS RADIO ดำเนินรายการโดย คุณสถาพร บุญนาจเสวี ได้เชิญ ผศ.ดร.อาทิตยา ทรัพย์สินวิวัฒน์ หรือ ‘อาจารย์น้ำนุ่น’ อาจารย์ประจำสาขานวัตกรรมการสื่อสาร วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาร่วมถกในเชิงวิชาการ ถึงข้อจำกัดในวงการ ‘ละครไทย’ โดย อ.น้ำนุ่น เผยว่า...

หากย้อนไปดูทีวีบ้านเราตอนนี้ เช่น ช่อง 3 จะเห็นว่าเริ่มนำละครเก่ามารีรัน ส่วนช่อง 7 รีรันได้สักพักใหญ่แล้ว และบางช่องอย่าว่าแต่รีรัน มีการไปเอาซีรีส์เกาหลี หรือซีรีส์จีนมาออนแอร์ โดยที่ไม่ผลิตละครอีกแล้ว ซึ่งจริงๆ มันเป็นมาสักพักแล้ว และดิฉันเองก็เคยเขียนเรื่องนี้ลง THE STATES TIMES เมื่อหลายปีก่อน และพอผ่านมาหลายปี เราก็ยังไม่เดินไปไหนเลย ในขณะที่รอบบ้านเราเริ่มเร่งเครื่องกันแล้ว 

อันที่จริงประเทศไทยเรามีทรัพยากรที่ดีและมีคนที่เก่ง แต่เวลาเราจะพัฒนาอะไร ควรต้องไปด้วยกันทั้ง ‘อุตสาหกรรม’ จะพัฒนาไปแค่ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นสถานี หรือเป็นช่องที่ผลิตไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เปรียบเหมือนวงการกีฬา ที่บางชนิดกีฬามักไม่ได้รับความนิยมเหมือนกันกับกีฬาหลักๆ 

ทีนี้ถ้าหากหันไปมองเกาหลีใต้ เราก็ต้องยอมรับว่า เขามีนโยบายในการสนับสนุน Soft power ล่วงหน้าก่อนเรามาราว 20 ปีที่แล้ว แปลว่าเขาไม่ได้เกิดจากความฟลุ้ก แต่เกิดได้จากสิ่งที่รัฐบาลได้วางนโยบายไว้ว่าเขาต้องการจะผลักดัน Soft power ผ่านซีรีส์ ผ่านละครต่าง ๆ และก็ทําอย่างเป็นระบบ

หลังจากนั้น พอมันบูม ก็จะเริ่มมีเงินหมุนเวียนเข้ามาในอุตสาหกรรม ทําให้เขาพัฒนาได้ต่อเนื่องและไปไกลก่อนเรามาก มากขนาดที่สามารถเข้าไปตีได้ทุกตลาดและทุกช่วงเวลา อย่างตอนที่โควิด19 ระบาดหนัก เขาก็สามารถนำซีรีส์ต่างๆ เข้าเจาะช่องทางอย่าง Netflix ที่กินเวลาชีวิตผู้คนในช่วงนั้นได้ทันที เพราะเนื้อหา โปรดักชัน มีความน่าติดตาม พอ Netflix เห็นแบบนี้ ก็กล้าให้เงินสนับสนุนมาทำ ทำให้มีเงินทุนหนุนเข้าสู่อุตสาหกรรมซีรีส์เกาหลีใต้ได้หลากหลายทาง

"วันนี้อุตสาหกรรมรอบข้างไทยอย่างเกาหลีและจีน มีซีรีส์มหาศาลที่พร้อมเทมาบ้านเรา ยิ่ง Netflix ที่เพิ่งประกาศลงทุน 85,000 ล้านบาท เพื่อสร้างคอนเทนต์เกาหลี ซึ่งเป็นการลงทุนเพิ่มขึ้นสองเท่าจากปี 2016 เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าคนทั่วโลกดูคอนเทนต์จากทางเกาหลีมากที่สุด ก็ยิ่งทําให้ Netflix กล้าเอาเงินไปลงทุนกับทางฝั่งของเกาหลีค่อนข้างมากขึ้น ซึ่งนั่นก็จะทำให้เราต้องเจอคอนเทนต์เกาหลีไหลเทตามมาอีกมากมาย”

"ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า การที่เขาแข็งแรงและได้รับการตอบรับจากผู้ชมไม่ใช่แค่คนไทยนั้น ล้วนมาจากเนื้อหาที่เป็นจุดเด่น ซึ่งมันใหม่และแตกต่าง ขณะเดียวกันกองเซ็นเซอร์ของเขาน้อยกว่าบ้านเรา อย่างบ้านเราเห็นเหล้าไม่ได้ แต่เกาหลีกระดกโซจูโชว์ จนทําให้โซจูกลายเป็น Soft power ของเกาหลีไปโดยอัตโนมัติ แต่บ้านเรายังมีข้อจํากัดอีกหลายอย่างที่แตะประเด็นอ่อนไหวไม่ได้อย่างเราจะพูดถึงประเด็นพระในวัดอีกมุมหนึ่ง ที่เราเห็นข่าวว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ทําไมพอเป็นหนังกลับสร้างไม่ได้ คือประเทศไทยมีการปิดกั้นในการสร้างเนื้อหา เพราะมีกองเซ็นเซอร์”

"ดิฉันไม่ได้ต้องการจะบอกว่าอะไรผิดหรือถูก แต่การทำงานของพวกเขา (เกาหลีใต้) อยู่ภายใต้การทําอะไรที่ได้มากกว่าบ้านเรา มันเลยไม่ไปจํากัดความคิดสร้างสรรค์ของคนทํางาน และนั่นก็ทำให้หลายๆ อย่างในซีรีส์เกาหลีที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากตัวซีรีส์ กลายเป็น Soft power ไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็น อาหาร การแต่งกาย วัฒนธรรม หรือสถานที่ท่องเที่ยว ที่ถูกสอดแทรกเข้าไป"

อย่างไรก็ตาม อ.น้ำนุ่น ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่เริ่มดีขึ้นในไทย หลังจากเริ่มมีหน่วยงานในไทยพยายามเข้ามาสนับสนุน Soft Power ในเชิงอุตสาหกรรมบันเทิง ผ่านกระแส T-pop ที่เริ่มขยายวง ควบคู่ไปกับการรีรันละครที่ขายได้ตลอด เช่น บุพเพสันนิวาส หรือ ทองเนื้อเก้า ซึ่งเป็นละครดีรีรันกี่ทีก็ยังขายได้ รวมถึงละครรีเมกบางเรื่องที่ยังตราตรึงหัวใจคนไทยอยู่

ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยยังเปิดรับคอนเทนต์ดีๆ เสมอ และฐานคนดูก็ไม่ได้น้อยลง แต่อย่างใด ยกตัวอย่าง เช่น ‘มาตาลดา’ ตอนจบมีการรับชมผ่านออนไลน์ 7 แสนกว่าวิว ซึ่งไม่น้อยเลย…เขาแค่เปลี่ยนช่องทางในการรับชม แปลว่าคนดูไม่ได้ดูน้อยลง และประชากรพร้อมดู คำถาม คือ คุณพร้อมที่จะเสิร์ฟผลงานให้เขาได้ดูหรือเปล่าเท่านั้นเอง ในระยะนี้อาจจะได้เห็นละครรีรันเพราะช่องอยากจะลดค่าใช้จ่าย เนื่องจาก ‘เงินเฟ้อ’ ขึ้นตามสถานการณ์โลก ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เลยแพงขึ้น ค่าออกกองแพงขึ้น ก็เลยไม่แปลกที่เห็นละครรีรัน แต่ในอนาคตพอมันกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ เราควรจะได้เห็นละครน้ำดีใหม่ๆ เยอะขึ้น

เมื่อถามถึงแนวโน้มในเมืองไทยกับการลดกำลังผลิต การลดค่าตัว หรือละครรีรันที่ถูกรีรันอยู่เรื่อยๆ ตอนนี้ จะลากยาวไปอีกนานแค่ไหน? อ.น้ำนุ่น มองว่า...

"เรื่องนี้ต้องมอง 2 มุม อย่างมุมแรกการนำละครฮิตมารีรัน มันคือช่วงโควิด-19 ด้วยส่วนหนึ่ง เพราะออกกองไม่ได้ เขาก็เลยต้องรีรันละคร ส่วนสถานการณ์จะเป็นอีกนานไหม มันต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของสถานี อาจจะบอกไม่ได้ เพราะส่วนหนึ่งเราไม่ใช่คนที่อาจจะอยู่ในฝั่งของการออกนโยบายของสถานี”

"แต่อีกมุมหนึ่ง มองว่า ช่องกําลังหยั่งเชิงอะไรอยู่หรือไม่ ว่าละครประเภทไหนกําลังจะมา…เช่นตอนนี้เอาบุพเพสันนิวาสมาปูก่อน อาจจะเป็นไปได้ว่าเขาจะมีบุพเพสันนิวาส 2 หรือเปล่า นั่นก็คือ 'พรหมลิขิต' ซึ่งตรงนี้อาจเป็นการปูทางเพื่อดูว่าคนยังสนใจละครแนวนี้อยู่หรือไม่...สิ่งนี้น่าสนใจ”

"ส่วนเรื่องค่าตัวนักแสดงหรือทีมงานอันนี้ คงตอบยาก เพราะเท่าที่พอทราบ เบื้องหน้าเขายังรู้สึกว่ารายได้หรือค่าตัว ยังไม่คุ้มกับการทํางานของเขา แต่ก็มีข่าวออกมาว่า คนเบื้องหน้าบางรายอาจจะได้ค่าตัวที่มันสูงแล้ว จนทําให้การรับงานมันน้อยลง"

ส่วนข้อคำถามที่ว่า ‘คนกลัวว่าถ้าทําละครมาแล้วดาราไม่ดัง จะขายยาก แล้วนักแสดงหน้าใหม่จะเกิดได้ยังไงนั้น? อ.น้ำนุ่น มองว่า...

"จริง ๆ แล้ว เราจะเห็นว่าทุกช่อง มีการปูนักแสดงหน้าใหม่ไว้อยู่แล้ว เวลาจะมีละครสักเรื่องหนึ่ง นักแสดงหน้าใหม่คงไม่ได้เล่นเลยหรอก แต่จะไปเป็นตัวสองตัวสามก่อน เพื่อดูกระแส หรือเอานักแสดงเบอร์ใหญ่มาเพื่อเล่นประกบคู่บทพระ-นาง ซึ่งมันจะเป็นการ ‘หมุนเวียนคน’ แต่ถ้าทั้งเรื่องเป็นนักแสดงใหม่หมดเลย...มันยาก!! นอกจากซีรีส์ ซีรีส์ที่เราดูกันทางช่อง GMM25 หรือ ONE ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของเขาคือ ‘วัยรุ่น’ จะเป็นคนละแบบ อันนั้นเราอาจจะได้เห็นนักแสดงหน้าใหม่ที่เขาไปตีตลาดออนไลน์ ขายจิ้น และพอไปตีตลาดทางออนไลน์ได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็ค่อยกลับเข้ามาเล่นในช่องสถานี ซึ่งเราก็จะได้เห็นการเติบโตของนักแสดงที่มาจากสายวายและเซ็นสัญญากับทางช่อง ในเชิงของละครโดยเฉพาะละครหลังข่าว ภายใต้การประกบกันระหว่างนักแสดงเก่ากับนักแสดงใหม่ ที่มาเล่นรวมคละๆ กัน เพื่อให้เกิดการส่งต่อระหว่างรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง”

ท้ายสุด อ.น้ำนุ่น ยังได้แนะนำให้วงการละครไทยคิดต่ออีกด้วยว่า "โอกาสของละครไทย กับทิศทางการซื้อลิขสิทธิ์ละครเกาหลีเข้ามาทำใหม่ อาจจะไม่ได้ต่อยอดอะไรให้กับช่องได้จริง เพราะการสร้างละครเอง มันได้ทั้งเรตติ้ง ได้ทั้งโฆษณา ได้ทั้งลิขสิทธิ์เป็นของตน ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การปั้นนักแสดงให้ดัง แล้วไปเก็บกินข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์ พรีเซนเตอร์ ดังนั้นส่วนตัวก็ยังเชื่อว่าละครหลังข่าวของบ้านเรา คงจะยังไม่ยอมให้ซีรีส์เกาหลีมาทดแทนช่วงเวลานี้ในช่วงระยะเวลาอันใกล้"

‘เกาหลีเหนือ’ สั่ง 2 วัยรุ่น ใช้แรงงานหนัก 12 ปี หลังถูกจับได้ว่าลักลอบดูซีรีส์ของเกาหลีใต้

(22 ม.ค. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีการเผยแพร่คลิปเจ้าหน้าที่รัฐบาลเกาหลีเหนือ ลงโทษวัยรุ่น 2 คน ให้ไปใช้แรงงานหนัก 12 ปี จากความผิดฐานแอบดูซีรีส์เกาหลีใต้

สำนักข่าวรอยเตอร์ เผยแพร่คลิปวิดีโอขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลเกาหลีเหนือ นำตัววัยรุ่นชายอายุ 16 ปี 2 คนที่ถูกใส่กุญแจมือ มาตัดสินลงโทษให้ไปใช้แรงงานหนักเป็นเวลา 12 ปี จากความผิดข้อหาลักลอบดูซีรีส์ หรือ ละครที่ผลิตโดยเกาหลีใต้ ท่ามกลางสายตาวัยรุ่นหลายร้อยคนเป็นประจักษ์พยานรับรู้เรื่องนี้ ถือว่าเป็นบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากในอดีต ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับในลักษณะนี้ หากว่ายังเป็นวัยรุ่นก็จะถูกส่งตัวไปยังค่ายใช้แรงงานเยาวชน และระยะเวลาของการลงโทษส่วนใหญ่ยังน้อยกว่า 5 ปี อีกด้วย

สำหรับภาพที่ถูกเผยแพร่ออกมาครั้งนี้ ให้รายละเอียดว่าบันทึกไว้เมื่อปี 2022 ถือว่าเป็นคลิปวิดีโอที่หาชมได้ยาก เนื่องจากปกติแล้ว เกาหลีเหนือจะมีกฎห้ามบันทึกภาพถ่าย วิดีโอ และหลักฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้หลุดไปสู่สายตาของคนภายนอก แต่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือจงใจเผยแพร่คลิปนี้ เพื่อเป็นการเตือนให้ชาวเกาหลีเหนืออย่าทำเป็นเยี่ยงอย่าง

หากอ้างอิงตามข้อมูลจากคลิปที่หลุดออกมาแล้วสามารถสรุปได้ว่า เกาหลีเหนือห้ามผู้คนดูภาพยนตร์ และละคร รวมถึงฟังเพลงที่ผลิตจากเกาหลีใต้ ที่พวกเขามองว่าเป็นระบอบหุ่นเชิด นอกจากนี้ ยังห้ามผู้หญิงแต่งตัวในรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการย้อมสีผม ใส่กางเกงขาสั้น และรองเท้าแตะอีกด้วย อย่างไรก็ดี แม้จะเสี่ยงที่จะถูกลงโทษสถานหนัก แต่เชื่อว่ามีวัยรุ่นเกาหลีเหนือจำนวนไม่น้อย ก็พร้อมยอมเสี่ยงที่จะถูกลงโทษเพื่อแลกกับการได้ชมละครหรือซีรีส์จากเกาหลีใต้ประเทศเพื่อนบ้าน ที่ได้รับความนิยมไปทั่วเอเชียและทั่วโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top