Sunday, 19 May 2024
ซีรีส์วาย

‘ททท.’ จับมือพันธมิตร นำเสนอจุดเด่นการท่องเที่ยวภาคตะวันออก ผ่านซีรีส์วาย 6 เรื่อง หวังปลุกกระแสรับนทท.รุ่นใหม่ หนุนเที่ยวยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (26 ก.ย.66) นายอัครวิชย์ เทพาสิต ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. ร่วมกับ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ฮาล์ฟ โทสท์ จำกัด เปิดตัวโครงการ ‘Y JOURNEY (STAY LIKE A LOCAL)’ ยกคอนเซปต์ ‘Amazing 5F and More’ โดยเฉพาะ F-Food และ F-Film กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ Gen X Y และ Millennial และ SDGs ถ่ายทอดผ่านมินิซีรีส์ 6 เรื่อง นำแสดงโดย 12 นักแสดงวัยรุ่นชื่อดังที่จะชวนทุกคนไปสัมผัสเสน่ห์และอัตลักษณ์ของการท่องเที่ยวภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างแรงบันดาลใจสู่การท่องเที่ยวจริง

นายอัครวิชย์ กล่าวว่า เราจะนำเสนอจุดเด่นของการท่องเที่ยวภาคตะวันออก อาทิ แหล่งท่องเที่ยว อาหาร สินค้าและกิจกรรมท่องเที่ยว ผนวกเข้ากับแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการออกเดินทางท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience-based-Tourism) ตามรอยภาพยนตร์ สร้าง Meaningful Relationship รับประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและความหมาย และนำไปสู่การกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป

นายอัครวิชย์ กล่าวว่า โครงการประชาสัมพันธ์ ‘Y JOURNEY (STAY LIKE A LOCAL)’ ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ฮาล์ฟ โทสท์ จำกัด เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานมินิซีรีส์ทั้ง 6 เรื่อง โดยมี 12 นักแสดงวัยรุ่นชื่อดังร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดในภาคตะวันออก ทั้ง 6 จังหวัด โดยแต่ละเรื่องจะมีรูปแบบการท่องเที่ยวที่แตกต่างกันออกไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

มินิซีรีส์ 1 เรื่อง ‘เพื่อนรักแอบรักเพื่อน’ นำแสดงโดย ‘แฟรงค์-ธนัตถ์ศรันย์ ซําทองไหล’ และ ‘หล่งซื่อ ลี’ ถ่ายทอดเรื่องราวการท่องเที่ยวสายมู เส้นทางแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ วัดหงษ์ทอง วัดอโศกการาม วัดจีนประชาสโมสร ตลาดบ้านใหม่ ผสมผสานกับวัฒนธรรมอาหารถิ่น เช่น ข้าวห่อใบบัว ขนมเกสรลำเจียก ขนมเปี๊ยะสดนายเล้ง ผัดไทนายแกละ ออกอากาศเป็นตอนแรกในวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566

มินิซีรีส์ 2 เรื่อง ‘คำสารภาพ’ นำแสดงโดย ‘เน็ต-สิรภพ มานิธิคุณ’ และ ‘เจมส์-ศุภมงคล วงศ์วิสุทธิ์’ ถ่ายทอดเรื่องราวการลดขยะอาหาร Zero Food Waste ด้วยการแปรรูป ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดจันทบุรี ชุมชนตลาดเก่าริมน้ำจันทบูร น้ำตกพลิ้ว ศาลเจ้าตั้วเล่าเอี๊ย และเพ็ญทิวาทุเรียนทอด และอาหารท้องถิ่น เช่น ยำมังคุดกุ้งสด กวยจั๊บป้าไหม แกงหมูใบชะมวง ไอติมจรวด แกงมัสมั่นทุเรียน ออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2566

มินิซีรีส์ 3  เรื่อง ‘เฮียไม่ปลื้ม’ นำแสดงโดย ‘ฟลุ้ค-ณธัช ศิริพงษ์ธร’ และ ‘ยูโด-ธรรม์ธัช ธารินทร์ภิรมย์’ ถ่ายทอดเนื้อหาวิถีชีวิตและการจ้างงานชุมชนท้องถิ่น ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดตราด ชุมชนท่าระแนะ ประภาคารแหลมงอบ หาดตาลคู่ สะพานวัดใจ พร้อมสอดแทรกอาหารท้องถิ่น เช่น ข้าวผัดพริกเกลือ อาหารซีฟู้ด ปลาโคกหว่น ปลาทราย-ปลาซิวทอด  เป็นต้น ออกอากาศในวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566

มินิซีรีส์ 4 เรื่อง ‘คู่กัดออกทริป’ นำแสดงโดย ‘แม้ก-กรธัสส์ รุจีรัตนาวรพันธุ์’ และ ‘ณฐ-ณฐสิชณ์ เอื้อเอกสิชฌ์’ ถ่ายทอดเนื้อหาการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ผ่านเรื่องราวของเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดนครนายก อ่างเก็บน้ำทรายทอง-เขาช่องลม และจังหวัดปราจีนบุรี น้ำตกเขาอีโต้-วัดพระใหญ่-ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าปราจีนบุรี ผสมผสานอาหารท้องถิ่น ได้แก่ ไผ่ตงหวาน ต้มหน่อไม้ ส้มตำไผ่บงหวาน ออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566

มินิซีรีส์ 5 เรื่อง ‘สมมติว่าเป็นแฟน’ นำแสดงโดย ‘มอส-ภาณุวัฒน์ โสประดิษฐ’ และ ‘แบงค์-มณฑป เหมตาล’ ถ่ายทอดเนื้อหาของการรีไซเคิลพลาสติกที่มาจากทะเล ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดระยอง เขาแหลมหญ้า สะพานคู่หาดแม่รำพึง วิสาหกิจชุมชนแยกขยะวัดชากลูกหญ้า และอาหารท้องถิ่น เช่น ยำผักกระชับ แกงส้มปู แกงคั่วเล เส้นหมี่น้ำแดงโบราณ ต้มหมูชะมวง เป็นต้น  ออกอากาศในวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2566

มินิซีรีส์ 6 เรื่อง ‘ตามหาความทรงจำ’ นำแสดงโดย ‘ยุ่น-ภูษณุ วงศาวณิชชากร’ และ ‘ดิว-นิติกร ปานคร้าม’ ถ่ายทอดเนื้อหาการใช้พลังงานทดแทน ผ่านเรื่องราวจังหวัดชลบุรี ในแหล่งท่องเที่ยวสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา หาดบางแสน อ่างเก็บน้ำบางพระ แกรนด์แคนยอนชลบุรี และอาหารถิ่น เช่น ข้าวหลามหนองมน ข้าวเกรียบอ่อน ไก่ย่างบางแสน เป็นต้น ออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566

ทั้งนี้ มินิซีรีส์ดังกล่าว มีกำหนดเผยแพร่ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.00 น. เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566 ผ่านช่องทาง แอปพลิเคชัน AIS PLAY, YouTube ของ AIS และ YouTube Channel : Amazing Thailand

‘ททท.’ เร่งเครื่องดันซอฟต์พาวเวอร์ ส่ง ‘ซีรีส์วาย’ บุกตลาดญี่ปุ่น  กระตุ้น ‘นทท.ต่างชาติ’ ต้องเดินทางมาเยือนไทยสักครั้งในชีวิต

(1 ต.ค. 66) ถึงแม้ ยุทธศักดิ์ สุภสร จะอำลาตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตามวาระแล้ว แต่ยังคงทำหน้าที่อย่างแข็งขันในทุกวินาทีจนพ้นตำแหน่งตามวาระ

โดยนำทีมเจ้าหน้าที่ ททท. พร้อมสื่อมวลชน บินไปนครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ร่วมงาน ‘Amazing Thailand Fest 2023 in Osaka’ ณ ศูนย์การค้า Abeno Q’s Mall ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดขึ้น เพื่อเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ปลุกพลังการท่องเที่ยวด้วย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) ของไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หัวเรือหลักในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวไทย ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ต้องเป็น ‘ททท.’ หน่วยงานหลักในการทำตลาดท่องเที่ยว ทั้งการประชาสัมพันธ์ กำหนดเป้าหมาย และวางกลยุทธ์เพื่อเดินหน้าไปตามเป้าหมายที่วางไว้

โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลมีนโยบายในการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย ให้กลับมาเป็นเครื่องจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป

ททท.จึงเฟ้นหาจุดขายในการโปรโมตภาคการท่องเที่ยวไทย ดึงซอฟต์พาวเวอร์ 5F ได้แก่ Food-อาหาร, Film-ภาพยนตร์, ซีรีส์ Fashion-เครื่องแต่งกายร่วมสมัย, Festival-คอนเสิร์ต เฟสติวัล และ fight-ศิลปะการต่อสู้ของไทย

โดยเน้นเป็น Film-ภาพยนตร์ ซีรีส์ เนื่องจากเป็นซอฟต์เพาเวอร์ ที่สามารถแทรกซึมเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย ผ่านการชมภาพยนตร์ หรือซีรีส์ ที่ถือเป็นสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบกลับมาวนใหม่ได้เรื่อยๆ

ความพิเศษอยู่ที่ประเทศไทยในขณะนี้ ภาพยนตร์หรือ ‘ซีรีส์วาย’ (ความรักระหว่างผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ) กำลังได้รับความนิยมสูงมาก สะท้อนได้จากซีรีส์วาย ที่เป็นซีรีส์ความรักระหว่างเพศเดียวกัน ทั้งชาย-ชายและหญิง-หญิง สามารถเติบโตสวนทางกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในช่วงโควิด-19 โดยซีรีส์วายสามารถทำเงินได้กว่า 1,000 ล้านบาทจากทั่วโลกในช่วงโควิด มีฐานคนดูที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเกิดเป็นธุรกิจใหม่คือ ‘วายอีโคโนมี’ หรือธุรกิจวาย ซึ่งมีตัวเลขที่น่าสนใจคือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พบว่า เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซีรีส์วายมีการผลิตอยู่ไม่กี่เรื่อง แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ อัตราการผลิตซีรีส์วายเติบโตขึ้นกว่า 270% ถือว่ารวดเร็วมาก สะท้อนให้เห็นถึงฐานคนดูที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงจากข้อมูลยังชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตซีรีส์วายของเอเชีย เป็นฮับที่หลายประเทศจับตามองมากที่สุด โดยซีรีส์วายไปบุกตลาดต่างประเทศ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน ที่ซีรีส์วายไทยได้ฉายบนแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของจีน ที่มีสมาชิกนับร้อยล้านคน

จึงเป็นที่มาของการจัดงาน ‘Amazing Thailand Fest 2023 in Osaka’ เมื่อวันที่ 21-23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่อดีตผู้ว่า ททท.นำคณะไปโอซากา พาชมงานด้วยตัวเอง โดยการจัดงานครั้งนี้ของ ททท. เพื่อต้องการส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวผ่านสินค้าและบริการของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากการจัดงาน 2 ครั้งที่ผ่านมา ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และนครบาร์เซโลนา ราชอาณาจักรสเปน

โดย ททท.มุ่งเดินหน้าส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวที่มีความหมาย (Meaningful Travel) อย่างต่อเนื่อง ผ่านซอฟต์พาวเวอร์ไทย ให้ผู้ที่เข้ามาร่วมงานได้สัมผัสประสบการณ์จริงอย่างใกล้ชิดกับบรรยากาศและกิจกรรมที่สนุกสนาน สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่จะสร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือน เนื่องจากเมื่อมีการจัดงานแบบนี้ ททท.จะขนกิจกรรมพิเศษไปให้ผู้ร่วมงานได้ลองประสบการณ์สุดพิเศษด้วยตัวเอง อาทิ การสาธิตทำอาหารไทย แสดงศิลปะมวยไทย รวมถึงการเปิดตัวศิลปินดาราซีรีส์วายที่กำลังได้รับความนิยมสูงในญี่ปุ่นด้วย

ทั้งนี้ ททท.ตั้งเป้าหมายทั้งปี 2566 จะต้องมีชาวญี่ปุ่นเข้ามาเที่ยวไทยไม่น้อยกว่า 5 แสนคน เพื่อผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมของทั้งปีนี้ อยู่ที่ 25-30 ล้านคน และสร้างรายได้จากตลาดต่างประเทศ ให้กลับมาในอัตรา 80% ของปี 2562 ที่ 1.5 ล้านล้านบาท พร้อมมุ่งสู่เป้ารายได้รวม 2.38 ล้านล้านบาทให้ได้ หากในช่วง 3 เดือนสุดท้ายนี้ (ตุลาคม-ธันวาคม) ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) มีการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 3 ล้านคนต่อเดือน ก็น่าจะเห็นภาพถึงแนวโน้มดังกล่าวว่าเป็นไปได้ และหวังกระแสการเดินทางดีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 ซึ่งตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 35 ล้านคน ปูทางสู่ภารกิจสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวให้ได้ถึง 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2570 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยถึง 80 ล้านคน

ซึ่งหากประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-25 กันยายน 2566 รวมอยู่ที่ 19,499,116 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 815,597 ล้านบาท ก็เท่ากับว่าเหลืออีกประมาณ 8-10 ล้านคน ที่ต้องเร่งสปีดให้ได้ในอีก 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายท้าทายสูงสุดที่ 30 ล้านคน

การตีเหล็กจะต้องตีตอนร้อนๆ ททท.จึงไม่พลาดช่วงเวลาที่ดี โดยได้ร่วมกับ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ฮาล์ฟ โทสท์ จำกัด เปิดตัวโครงการ ‘Y JOURNEY (STAY LIKE A LOCAL)’ ยกคอนเซ็ปต์ ‘Amazing 5F and More’ โดยเฉพาะ F-Food และ F-Film กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ Gen X, Y และ Millennial และ SDGs ถ่ายทอดผ่านมินิซีรีส์ 6 เรื่อง นำแสดงโดย 12 นักแสดงวัยรุ่นชื่อดังที่จะชวนทุกคนไปสัมผัสเสน่ห์และอัตลักษณ์ของการท่องเที่ยวภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างแรงบันดาลใจสู่การท่องเที่ยวจริงด้วย

เรียกได้ว่าเป็นการบุกตลาดซีรีส์วายทั้งในประเทศและต่างประเทศไทยไปพร้อมกัน แบบไม่มีการปล่อยให้ฝั่งใดฝั่งหนึ่งต้องน้อยเนื้อต่ำใจ

ภาพตลาดซีรีส์วายที่ขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นโอกาสที่ใช้ต่อยอดในการสานต่อกิจกรรมเชิงการท่องเที่ยวอีกมากมาย อาทิ การตามรอยซีรีส์ ทั้งการเดินทางตามสถานที่ต่างๆ และเส้นทางอาหาร ลิ้มชิมรสเมนูที่เห็นผ่านหน้าจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการจัดงานที่นำศิลปินนักแสดงซีรีส์วายเข้าร่วมงาน ก็จะเห็นการพร้อมใจเข้าร่วมของแฟนคลับอย่างเหนียวแน่น อย่างที่เห็นเป็นปรากฏการณ์ห้างสรรพสินค้าแตกกันมาหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะตลาดวายในต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ก็มีเหมือนไทยเช่นกัน อาทิ มังงะ หรือการ์ตูน รวมถึงซีรีส์วายของต่างประเทศก็เข้ามาโด่งดังในไทยด้วย

ยิ่งในปัจจุบัน ดารานักแสดงซีรีส์วายที่กำลังโด่งดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ได้มีจำนวนหลักหน่วยเท่านั้น แต่มีจำนวนหลักหลายสิบคนด้วย ยิ่งเป็นโอกาสในการทำตลาดที่มากขึ้นอีก ทำให้ในอนาคต คาดว่าจะมีการประชาสัมพันธ์และทำตลาดท่องเที่ยวไทยผ่านมิติในด้านภาพยนตร์ หรือซีรีส์วายมากขึ้น

สิ่งที่มองข้ามไม่ได้และควรใช้เป็นหัวใจหลักในการทำตลาดคือ การสนับสนุนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง มีพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตในประเทศไทยได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์เชิงบวกกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีความสบายใจที่จะอยู่อาศัย ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เกิดความอยาก หรือต้องการเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ที่ดีในประเทศไทยด้วยตัวเอง

เป็นโจทย์ที่ภาคการท่องเที่ยวไทยตั้งไว้ จะต้องเดินหน้าทำให้นักท่องเที่ยวคิดว่า “ครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องได้มาเที่ยวประเทศไทยสักครั้งให้ได้”

นักวิชาการ เจ้าของเพจดัง เผย ‘ชุดนักเรียนไทย’ ขายดีมากที่ ‘จีน’ ชี้!! เป็นกระแสจากสื่อบันเทิง ที่ตัวละครหลัก มักเป็น ‘นักเรียน’

(18 พ.ค. 67) อาจารย์ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจอ้ายจง ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับเรื่องที่ชุดนักเรียนของไทย กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศจีน โดยได้ระบุว่า ...

เมื่อช่วงมีนาคมปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ให้สัมภาษณ์ทางสื่อที่ไทย เกี่ยวกับการวิเคราะห์กระแสชุดนักเรียนไทยในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน และก็เริ่มเห็นใส่ในเมืองจีนมากขึ้น ซึ่งผมเคยเขียนวิเคราะห์ไว้แล้ว แต่อยากจะขอรีรันวิเคราะห์อีกครั้ง 

1. ทำไมกระแส 'ชุดนักเรียนไทย' ถึงจุดติดในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนขนาดนี้? 
นอกจากเรื่องที่ดาราใส่แล้ว มีประเด็นอื่น ๆ เช่น ปัจจัยด้านสังคม วัฒนธรรม อะไรพวกนี้หรือไม่?

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา คนจีนไม่น้อยมีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวของไทยเป็นอย่างมาก ทั้งผ่านสื่อบันเทิงพวกภาพยนตร์ละครที่เข้าไปตีตลาดในจีน โดยเฉพาะภาพยนตร์ละครซีรีส์วัยรุ่น โดยถ้ายุคบุกเบิกเลย ก็อย่างเช่น รักแห่งสยาม สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก ซึ่งล้วนแต่ปรากฏชุดนักเรียนไทยอยู่ในเรื่อง 

โดยเฉพาะหนังไทยเรื่อง 'สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก' ที่ในสื่อและโลกออนไลน์จีน เมื่อนำเสนอกระแสชุดนักเรียนไทย ก็จะมีการอ้างอิงถึงภาพยนตร์เรื่องนี้

โดยบันเทิงไทยในยุคหลังจากยุคบุกเบิกในจีน ตามที่ผมระบุไปข้างต้น ก็มีอีกหลายเรื่องที่มีตัวละครหลักเป็นวัยเรียน วัยมัธยม อย่างเช่น ฉลาดเกมส์โกง 

และต้องยอมรับว่าซีรีส์วายหลายเรื่องที่เป็นที่นิยมในจีน ณ ปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องราวของวัยรุ่น ทั้งระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย ซึ่งปรากฏชุดนักเรียน ชุดนักศึกษา ทำให้คนจีนได้เห็นและรับรู้ว่า นี่คือชุดนักเรียน นักศึกษาของในไทยนะ 

2. ชุดนักเรียนไทย มีความแตกต่างจากในจีนพอสมควร เนื่องจากถ้าในระดับโรงเรียนประถมและมัธยมจีนจะเป็นลักษณะของชุดวอร์ม ภายในชุดวอร์มนั้นจะใส่เป็นเสื้ออะไรก็ได้ทั่ว ๆ ไป 

ส่วนถ้าเป็นมหาวิทยาลัย จะใส่ชุดอะไรก็ได้แบบที่บ้านเราเรียกว่า 'ไปรเวท' ความแตกต่างตรงนี้จึงทำให้เกิดความสนใจ และกลายเป็นภาพจำไปแล้วว่า นั่นคือเครื่องแต่งกายของนักเรียนนักศึกษาไทย

3. หากดูแคปชัน และความคิดเห็นของคนจีนที่โพสต์เรื่องราวชุดนักเรียนไทย ในแพลตฟอร์มโซเชียลจีนหลัก ๆ ที่เป็นกระแส ก็คือ โต่วอิน (Douyin เป็นชื่อ TikTok เวอร์ชันจีน) และรวมถึงใน Xiaohongshu (เทียบเคียงได้กับ Instagram) อีกหนึ่งโซเชียลที่คนจีนนิยม ซึ่งเป็นโซเชียลไลฟ์สไตล์ คนจีนชอบโพสต์แชร์ โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ชีวิตไปเที่ยว อะไรต่าง ๆ 

จะพบว่า แคปชันไม่น้อย จะมีอ้างถึงคำว่า JK ซึ่งมาจาก Joshi Kousei ภาษาญี่ปุ่น อันหมายถึง นักเรียนหญิงมัธยมปลาย ซึ่งคำนี้ว่ากันตามตรง ก็ใช้ได้ทั้งแบบกลาง ๆ และด้านมืด 

4. แต่ในความหมายที่คนจีนใช้คู่กับประเด็นชุดนักเรียนไทย ก็คือ เป็นJK เวอร์ชันไทย หมายถึง ชุดนักเรียนไทย นั่นเอง 

สื่อให้เห็นว่า ความเป็นจริงแล้ว "คนจีนรับรู้เกี่ยวกับชุดนักเรียนของประเทศอื่น โดยให้ความสนใจของชุดนักเรียนญี่ปุ่นมาก ในลักษณะของเอามาใส่เป็นชุดทั่วไป ชุดใส่เที่ยว ชุดแฟชั่น หรือชุดคอสเพลย์ (Cosplay)" แม้แต่ในไทยเอง 

"ทำให้พอชุดนักเรียนไทยเป็นกระแส ก็อยากจะใส่ตาม ซึ่งคิดว่าใส่ได้ เหมือนกับชุดนักเรียนญี่ปุ่น"

5. อ้ายจงยังได้วิเคราะห์ข้อมูลจากปริมาณการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องบน Baidu ซึ่งยังคงเป็นแพลตฟอร์มค้นหาข้อมูล (ลักษณะเดียวกับ Google) ที่คนจีนยังนิยมใช้เป็นหลัก ก็พบว่า เมื่อเทียบเวลาเดียวกัน คนจีนค้นหาคำว่า ชุดนักเรียนญี่ปุ่น มากกว่า ชุดนักเรียนไทย ประมาณเท่าตัว และถ้าเทียบกับคำว่า JK制服 ซึ่งหมายถึง ชุดยูนิฟอร์มนักเรียนหญิง มัธยมปลายญี่ปุ่น ที่มีขายทั่วไปบนโลกออนไลน์จีน พบว่าต่างกันหลายสิบเท่า โดยชุดนักเรียนไทย จะค้นหาเพียงหลักร้อยต่อวัน ในขณะที่ JK制服 ค้นหาหลายพันต่อวัน

6. เมื่อวิเคราะห์เพิ่มเติมไปอีก ทำให้พบอีกว่า จริง ๆ แล้วคำว่า ชุดนักเรียนไทย มีปริมาณการค้นหาใน Baidu ในหลักหลายพันใน1วัน ในช่วงปลายเดือนตุลาคมปี 2555 (2012) ซึ่งมากที่สุด นับตั้งแต่มีการค้นหาคำนี้ใน Baidu และ มากกว่า ณ ตอนนี้ที่กำลังเป็นกระแสเสียอีก 

เมื่อไล่ตามไปดูข้อมูลที่ปรากฏบน Baidu ในช่วงเวลาดังกล่าว ปี 2555 พบว่า มีคอนเทนต์ที่รีวิวเกี่ยวกับชุดนักเรียนประเทศต่าง ๆ และระบุว่า ชุดนักเรียนชุดนักศึกษาไทยเป็นหนึ่งในชุดที่มีความน่าสนใจที่สุด และยังเป็นช่วงที่หนัง LOST IN THAILAND หนังที่มีการถ่ายทำในไทย ถ่ายทอดเรื่องราวในไทย ที่ดังเป็นพลุแตกในจีน จนเกิดการเที่ยวตามรอยของคนจีนในประเทศไทย 

7. ในช่วงปี 2566 ผมได้ถามทางเพื่อนคนจีน และ นศ.จีน พบว่า จำนวนไม่น้อย รู้สึกว่าเป็นกระแสในโลกออนไลน์เท่านั้น ยังไม่เห็นคนใกล้ตัว หมายถึงในประเทศจีนเอง ในเมืองของที่พวกเขาอยู่มีการเอามาใส่จริงจัง ถ้าเทียบกับชุดนักเรียนหญิงญี่ปุ่น โดยชุดนักเรียนไทย พวกเขาบอกว่า เห็นแต่ในโลกโซเชียล ที่คนจีนไปไทยแล้วไปใส่

แต่ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน 2567 ระยะเวลา 1 ปี ได้เห็นคนจีนในมหาวิทยาลัย และคนใกล้ตัวผม เริ่มใส่ชุดนักเรียนไทยมากขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมไปปักกิ่ง และหนานจิง ก็เห็นมีคนใส่

8. อ้ายจงได้ตรวจสอบบน E-commerce ภายใต้คำถามที่ว่า "ในจีนมีการขายและเริ่มมีการใส่ชุดนักเรียนไทยในจีนบ้างหรือไม่? หรือเกิดขึ้นแค่ในไทย ในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ไปไทย"

เมื่อค้นหาคำว่า 泰国 (ไทย) ใน Taobao (เถาเป่า) E-commerce จีน และเลือกเรียงลำดับตามจำนวนยอดขาย

สินค้าชุดนักเรียนไทยของร้านหนึ่ง อยู่ในอันดับต้น ๆ โดยบางร้านที่ขายระบุว่ามียอดขายรายเดือน มากกว่า 8000 ออร์เดอร์ และเริ่มมีรีวิวบนเถาเป่า ว่าซื้อแล้วนำไปใส่ถ่ายรูปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในจีน แต่ก็ยังไม่ถือกับเป็นกระแสหลักวงกว้าง สำหรับกรณีใส่ในจีนนะครับ

9. ขอย้ำตามที่เขียนไปข้างบน ๆ แล้วว่า การใส่ชุดนักเรียนไทย หรือชุดนักเรียนของต่างประเทศ สำหรับคนจีนมองเป็นการใส่แบบคอสเพลย์ ใส่แบบแฟชั่น ดังนั้น โดยทั่วไปจึงอาจไม่ถูกระเบียบแบบที่ใส่จริง ๆ ในไทยครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top