Friday, 9 May 2025
ชโยทิตกฤดากร

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ว่าที่ รมว.อุตสาหกรรม ในรัฐบาลนิด 1 ดีกรีมือศก.ขั้นเทพยุคบิ๊กตู่ ชายผู้ประกาศกร้าว หากทำงานไม่ดีให้มาด่า แต่อย่าด้อยค่าประเทศ

ชื่อของ หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร หรือ ‘หม่อมปืน’ ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เริ่มปรากฏตามหน้าสื่อมากยิ่งขึ้น

แม้จะใหม่ในสนามการเมือง แต่ในแวดวงธุรกิจแล้ว ชื่อของ ม.ล.ชโยทิต เป็นที่รู้จักกันดี โดยหม่อมหลวงชโยทิต นอกจากจะเป็นผู้แทนการค้าไทยและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี-ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว ยังเคยผ่านงานตำแหน่งสำคัญในภาคธุรกิจมาแล้วมากมาย เช่น กรรมการ และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) / ประธานกรรมการ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) / กรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

โดยผลงานเด่นจากรัฐบาลลุงตู่ของหม่อมปืน คือ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และยังเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรครวมไทยสร้างชาติ ในช่วงของการหาเสียงเลือกครั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ภายใต้แคมเปญที่ติดหูคนไทยทุกคนอย่าง ‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ เน้นการสานงานของรัฐบาลเดิม

อันที่จริงแล้ว ก่อนที่ ‘ม.ล.ชโยทิต’ จะเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น ท่านเคยเข้ามางานให้กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์อยู่พักหนึ่งแล้ว เป้าหมายเพราะอยากเข้ามาช่วยชาติเป็นสำคัญในวันที่วิกฤติเศรษฐกิจและโควิด19 ถาโถม 

ดังนั้นการเมืองครั้งล่าสุดนี้ จึงเปรียบเสมือนลูกติดพันที่ถ้าทำต่อ ก็จะได้เห็นความสำเร็จที่เริ่มไว้ โดยหากประเทศเสียโฟกัส เสียการขับเคลื่อนหรือผลักดันไป ประเทศอื่นจะเอาไป แล้วไทยจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว เช่น เสียอุตสาหกรรมอีวีไป หรือเสียอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไป เป็นต้น

ทั้งนี้หากตกผลึกแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ในมุมของหม่อมปืนนั้น จะพบหัวใจสำคัญหลักๆ ที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือประชาชนที่เปราะบางเป็นเรื่องสำคัญ

“เราช่วยอย่างมีวินัย และพุ่งเป้าตรง และช่วยอย่างมีโครงสร้างที่ชัดเจน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อะไรต่างๆ ที่ช่วยคนยากจน หรือผู้สูงอายุ นโยบายของรวมไทยสร้างชาติ มีครอบคลุมหมด แต่เราช่วยเขา เพื่อให้เขายืนขึ้นได้ และให้เขาปรับเปลี่ยนตัวเองในมิติใหม่ของเศรษฐกิจ เพื่อให้เขาแข็งแรงจริงๆ ไม่ใช่สอนให้เขาเป็นง่อย หรือแบมืออย่างเดียว”

หม่อมปืน เผยอีกด้วยว่า “รัฐบาลลุงตู่ได้แก้ปัญหาต่างๆ อย่างมีวินัย ไม่ให้มีผลกระทบกับสถานะการเงินการคลังของประเทศ นั่นหมายความว่า คอนเซปต์นโยบายเศรษฐกิจของรวมไทยสร้างชาติ จึงต้องช่วยทำให้มีการมาร่วมกันสร้างชาติให้แข็งแกร่งขึ้น ไม่ใช่ไปจิกเงินของใครมาแล้วเอาไปให้คนอื่น หรือกู้มาแจก สิ่งที่เยียวยาเราต้องเยียวยาเพื่อให้คนไทยแข็งแกร่งขึ้น และเราก็หวังว่ามันจะลดน้อยลง ไม่ใช่เพิ่มขึ้น”

ม.ล.ชโยทิต ยังบอกอีกว่า เมื่อพรรครวมไทยสร้างชาติเข้าไปร่วมเป็นรัฐบาล ก็มีหลายเรื่องที่ต้องเร่งเข้าไปทำไปแก้ปัญหาเช่นเรื่อง 'หนี้ครัวเรือน' ที่ต้องทำให้เสร็จ ทำให้ความไม่เป็นธรรม ได้รับการดูแลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ไปปลดโซ่ตรวนตรงนั้นและทำเรื่อง Infrastructure ต่างๆ ของประเทศ / เรื่องพลังงาน อุตสาหกรรมอีวี / Smart Electronics ต้องทำเรื่องเหล่านี้ให้เสร็จ 

“วันนี้หลายประเทศจ้องจะแย่งจากประเทศไทย หากเราไม่มีเอกภาพ มัวแต่ทะเลาะกันอยู่ ฝ่ายหนึ่งบอกว่า เศรษฐกิจประเทศไทยยังนอนอยู่ ต้องกระตุ้นก่อน เราก็จะไปผิดทางได้ เพราะว่าความเป็นจริง เราฟื้นแล้ว รัฐบาลปักธงทุกอย่างไว้แล้ว ตอนนี้ต้องทำให้มันเดิม จะถอยหลังทำไม เรื่องเหล่านี้คือเรื่องเร่งด่วนทั้งสิ้น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม จะแย่งไทยเราอยู่ทุกวัน ในทุกวันนี้”

‘ม.ล.ชโยทิต’ ย้ำด้วยว่า หากคนไทยยังแตกแยกกัน มาเสนอไอเดีย สองขั้ว สามขั้ว จะเดินหน้าไปไม่ได้ และต้องเลิกมาด้อยค่าประเทศ หากมองว่าใครทำเศรษฐกิจย่ำแย่ หรือทำงานได้ไม่ดี ให้มาโทษคนทำ

“ประเทศไทยเรามีดีครับ มันพิสูจน์ให้เห็นแล้ว เศรษฐกิจเราโตต่อเนื่องตลอด แต่คู่แข่งเราตก เราต้องมีความภาคภูมิใจในประเทศตัวเอง ไม่ใช่มาด้อยค่า ก็รู้ว่าอยากจะมาด่ารัฐบาล แต่ก็โทษคนทำสิ อย่ามาด้อยค่าประเทศ มาคุยกันตรงๆ ผมจะได้ตอบ”

และนี่ก็คือเสียงจาก ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ในยุครัฐบาลนิด 1 ที่คงต้องรอตามดูผลงานกันต่อไป
...................................

ประวัติโดยสรุป
- ชื่อ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ชื่อเล่น ปืน 
- การศึกษา : ปริญญาตรี เกียรตินิยมสาขา Economy History, University of London, UK
- ความเชี่ยวชาญ : บัญชี การเงิน การบริหารจัดการและบริหารธุรกิจ การบริหารหรือกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเศรษฐศาสตร์
- การฝึกอบรม : หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง (วตท.) รุ่นที่ 4 สถาบันวิทยาการตลาดทุน
- การอบรมหลักสูตรกรรมการ : หลักสูตร Corporate Governance for Capital Market Intermediaries (CGI 12/2016) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

ประสบการณ์ทำงานล่าสุด
- ปี 2565 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ ผู้แทนการค้าไทย
- ปี 2564 ที่ปรึกษารองนายกฯ และหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุน
- ปี 2564 ประธานกรรมการ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
- ปี 2562 – 2563 กรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด

‘มล.ชโยทิต’ ชี้!! ก.พ.67 ‘อัตราภาษีสีเขียว’ ใกล้คลอด เสริมนิเวศการลงทุนไทยยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ทุนยุโรป

(29 ม.ค.67) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นอีกกำลังหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยข้อมูลสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า การลงทุนโดยตรงสุทธิจากสหภาพยุโรป (EU) ในไทยในปี 2565 มีมูลค่า 49,220.33 ล้านบาท และประเทศที่ลงทุนเป็นอันดับ 2 จาก EU คือ เยอรมนี มูลค่า 15,530.07 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศักยภาพการลงทุนจากเยอรมนี ยังสามารถขยายความสัมพันธ์ทางการค้าให้มากขึ้นไปอีก แต่ในอนาคตเงื่อนไขทางการค้าของนักลงทุนจากยุโรปไม่ใช่แค่ ‘กำไร-ขาดทุน’ แต่คือโจทย์ด้านความยั่งยืน

ฉะนั้นในโอกาสที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือเต็มคณะ ร่วมกับ นายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นาย Michael Kellner รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนีเมื่อเร็วๆ นี้ จึงมีสาระสำคัญในประเด็นดังกล่าวอยู่อย่างชัดเจน

โดย มล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ได้เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ผลการหารือเป็นไปได้ด้วยดี สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีและใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจไทยเยอรมนี ที่ได้เน้นย้ำถึงกระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่ของไทยในประเด็นต่างๆ ได้แก่... 

1. การทำให้ประเทศไทยเป็นทางเลือกสำคัญในการลงทุนในฐานะแหล่งผลิตและภาคอุตสาหกรรมที่มีพลังงานสะอาด

2. การนำเสนอด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยมีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมของบริษัทรถยนต์เยอรมนี จะสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ในประเทศไทย

3. การพัฒนาดิจิทัล ไทยมีเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค มีการปรับปรุง พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รองรับทั้งการใช้งานส่วนบุคคลและการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม

4. การส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งหารือร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะบริษัทด้านการผลิตไมโครชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรม EV

5. การสนับสนุนความยั่งยืน ไทยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยภายในเดือน ก.พ. 2567 นี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการสร้างอัตราภาษีสีเขียว (Green Tariff) แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมให้การดูแล ติดตามทุกบริษัทที่ลงทุนในไทย รวมไปถึงการสร้างพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์จากเขื่อนกักเก็บน้ำ 7 แห่งในไทย ซึ่งทางบริษัทเยอรมันหลายแห่ง ให้ความสนใจด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเห็นพ้องที่จะส่วนร่วมในแง่ของการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในไทยต่อไป

6. ด้านการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เน้นย้ำการเจรจาร่วมกับสหภาพยุโรป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียว เพื่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ลดคาร์บอนอื่นๆ โดยข้อหารือทั้งหมดจะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองประเทศ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ EU และของฝ่ายไทยครั้งที่ 15 (15th Senior Officials' Meeting) เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศ สมาชิก EU เห็นควรให้ EU เริ่มต้นการเจรจา FTA กับประเทศไทยอีกครั้ง พร้อมทั้งแสดงเจตจำนงยกระดับความร่วมมือทวิภาคี กับฝ่ายไทย ในการนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ EU จะนำประเด็นเรื่องการปล่อยคาร์บอนมาเป็นเงื่อนไข อย่างหนึ่งในการเจรจาด้วย

ด้านประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวว่า เชื่อมั่นในการร่วมกันพัฒนาอนาคตที่สดใสร่วมกัน รวมถึงชื่นชมการมีเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ซึ่งสะท้อนว่า ไทยพร้อมเปิดกว้างสำหรับการทำธุรกิจ โดยเยอรมนีพร้อมที่จะยกระดับทางการค้าการลงทุนร่วมกัน

ขณะที่นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่า รัฐบาลจะส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมมี Roadmap ที่ชัดเจนมากที่สุดในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

สำหรับผู้แทนเอกชนเยอรมนีมาจาก 12 บริษัท ใน 5 สาขา ได้แก่ 1.สาขานิทรรศการงานแสดงสินค้านานาชาติ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ 3.พลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม 4.บริการ ดิจิทัลและการศึกษา และ 5.วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน

ในเดือน มี.ค. นี้ นายกรัฐมนตรีไทยมีกำหนดเดินทางเยือนเยอรมนี ซึ่งเป็นช่วงที่นิเวศด้านความยั่งยืนของไทยโดยเฉพาะด้านภาษีสีเขียวน่าจะแล้วเสร็จ ก็น่าจะเป็นอีกผลงานอวดโลกได้ว่า ไทยพร้อมตอบโจทย์เงื่อนไขการลงทุนที่มีความยั่งยืนเป็นหลักการสำคัญ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top