Sunday, 20 April 2025
ชัยวัชรงค์

‘โฆษกรัฐบาล’ แย้ม!! ทิศทาง ‘พรก.ฉุกเฉิน’ 3 จว.ชายแดนใต้ มีแนวโน้มผ่อนคลาย และเอื้อต่อสิทธิเสรีภาพปชช.มากขึ้น

(18 ก.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการพิจารณาขยายเวลาบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พรก.ฉุกเฉิน) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ว่า เรื่อง พรก.ฉุกเฉินเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ตนไม่อยากแถลงอะไรมาก เพราะฝ่ายความมั่นคงจะแถลงเองภายใน 1-2 วันนี้ ส่วนตนนั้นสามารถพูดได้ตอนนี้เพียงว่า ทิศทางของเรื่องนี้ จะดำเนินไปในทิศทางที่มีการผ่อนคลายมากขึ้น เอื้อต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น ส่วนคำว่าดีกว่าเดิม แล้วจะดีขนาดไหน ไม่สามารถตอบที่นี่ได้ตอบได้แค่ว่าอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ขอให้รอฟังจากฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้แถลง

‘ครม.’ เคาะสั่งลุยมาตรการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เริ่ม 1 ตุลาคมนี้

(26 ก.ย.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลา 3 ปี และ 1 ปี ตามลำดับ โดยมี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นฝ่ายเลขานุการ และพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล จำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรและบุคคลตามข้อบังคับ ธ.ก.ส. (ฉบับที่ 44 และ 45) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีต้นเงินเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติ และ/หรือเป็นหนี้คงค้างชำระ จำนวน 2.698 ล้านราย รวมต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กันยายน 2566) ระยะเวลา ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 30 กันยายน 2567 (1 ปี)

ส่วนวิธีดำเนินโครงการ เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ต้องการรับสิทธิพักชำระหนี้สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 31 มกราคม 2567 งบประมาณ รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่เข้าร่วมมาตรการในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี

นายชัยกล่าวว่า ที่ประชุมยังพิจารณาเห็นชอบการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. งบประมาณ 1,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ และสมัครใจเข้ารับการพัฒนาศักยภาพ โดยการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ

‘รัฐบาล’ เตือน ‘คนไทยในฝรั่งเศส’ เลี่ยงพื้นที่ชุมนุม-สถานที่ท่องเที่ยว  หลังทางการออกประกาศยกระดับเฝ้าระวังเหตุก่อการร้ายสูงสุด

(15 ต.ค. 66) นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชาสัมพันธ์ข่าวสารจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ประกาศเตือนคนไทยในฝรั่งเศสให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง-ท่องเที่ยว ภายหลังทางการฝรั่งเศสประกาศยกระดับการเฝ้าระวังสถานการณ์การก่อการร้ายเป็นระดับสูงสุด

จากกรณีเกิดเหตุร้ายเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งทางการฝรั่งเศสคาดว่าอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง อีกทั้งต่อมาในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ทางการฝรั่งเศสได้มีการอพยพผู้คนโดยด่วนออกจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และพระราชวังแวร์ซาย และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอื่น ๆ เนื่องจากทางการฝรั่งเศสได้รับแจ้งเตือนว่าอาจมีการวางระเบิดในพื้นที่ดังกล่าว

ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้ประกาศเตือนคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวไทยในฝรั่งเศสให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยว ตรวจสอบเส้นทางการเดินทาง และการเปิดทำการของสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการฝรั่งเศสอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากมีเหตุด่วนและฉุกเฉินต้องการความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตฯ กรุณาติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน +33 6 03 59 97 05 และ +33 6 46 71 96 94

“รัฐบาลห่วงใยสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนไทยทุกคนด้วยขอให้ติดตามข่าวสารจากช่องทางหลักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนการเดินทาง หรือก่อนวางแผนการเดินทางทุกครั้ง” นายสัตวแพทย์ชัย กล่าว

‘โฆษกรัฐบาล’ เผย ‘ไทย’ ติดอันดับ 43 นวัตกรรมโลกปี 66 ตั้งเป้า!! เดินหน้าสู่การเป็น ‘ชาตินวัตกรรม’ ในอนาคต

(16 พ.ย.66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2566 (Global Innovation Index 2023) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ซึ่งไทยได้รับการจัดอันดับที่ 43 จากทั้งหมด 132 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ และถือเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมกำหนดนโยบายส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น ‘ชาตินวัตกรรม’

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดัชนีนวัตกรรมโลกเป็นการจัดอันดับความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศและเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั่วโลก ผ่านการประเมินตัวชี้วัดทั้งสิ้น 80 ตัว เน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของนวัตกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและโลก ซึ่งในปีนี้ แม้ไทยยังคงอันดับที่ 43 เท่ากับปีที่แล้ว แต่มีปัจจัยย่อยที่ดีขึ้น ได้แก่ ปัจจัยย่อยการนำเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) อยู่ในอันดับที่ 44 (ดีขึ้น 4 อันดับ) และปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) อยู่ในอันดับที่ 43 (ดีขึ้น 1 อันดับ) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารายกลุ่มปัจจัย ไทยมีอันดับของกลุ่มปัจจัยดีขึ้น 5 จาก 7 กลุ่ม โดยกลุ่มที่มีอันดับดีขึ้นมากที่สุด คือ กลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาด (Market sophistication) ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 22 (ดีขึ้น 5 อันดับ)

ผลการจัดอันดับดังกล่าวระบุว่า ไทยมีการเติบโตของเศรษฐกิจและนวัตกรรมที่สูงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยความสามารถในการผลิตนวัตกรรมมีมากขึ้น เนื่องจากการลงทุนในด้านนวัตกรรมภายในประเทศที่มากขึ้น และไทยมีจุดแข็งในการพัฒนานวัตกรรม ได้แก่ การส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งลงทุนโดยภาคเอกชนหรือองค์กรธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงจุดแข็งในด้านการประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ตามถิ่นกำเนิด (Utility Models by origin) เป็นต้น

“ยืนยันความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศ นายกรัฐมนตรีเดินหน้าผลักดันพัฒนาการทางนวัตกรรมเสมอมา โดยสอดคล้องกับผลของการจัดอันดับที่ระบุว่า ไทยมีพัฒนาการทางด้านนวัตกรรมที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปัจจัย ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าภายใต้การดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรีจะขับเคลื่อนไทยสู่การเป็น ‘ชาตินวัตกรรม’ และไทยจะก้าวสู่อันดับที่ 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลกภายในปี 2573” นายชัย กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top