Sunday, 20 April 2025
ชลน่าน_ศรีแก้ว

'หมอชลน่าน' ชม ฝ่ายค้านทำผลงานได้ดี ฉะ!! รมต. ตอบคำถามแทบไม่ได้เลย

“เมื่อวานนายศักดิ์สยาม ไม่ตอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันแรกๆ ไม่ใช้โอกาสทองในการตอบ ภาพจำขึ้นทุกแพลตฟอร์ม เป็นภาพจำที่ซุกหุ้น ทำนิติกรรมอำพราง ผมว่ารอฟังในศาลได้เลย” 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว 
ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) 
กล่าวเมื่อ 20 ก.ค. 65

(20 ก.ค. 65) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย(พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันแรก ว่าพวกเราฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ดีมาก โดยเฉพาะการจัดอันดับการอภิปรายเมื่อวาน เราเห็นว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายและตามยุทธการเด็ดหัว สอยนั่งร้าน นั่นไม่ใช้มวย 5 ยก แต่เป็นไทยไฟต์ชก 3 ยก ดังนั้นยกแรกเราจึงจัดเต็ม ซึ่งรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายเมื่อวานนี้เป็นของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ถือเป็นนั่งร้านที่สำคัญ และเป็นการเรียงลำดับอภิปรายของฝ่ายค้านสอดประสานกัน เหมือนเป็นซีรีส์โดยเฉพาะเรื่องกัญชา หากติดตาม พรรค พท. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคประชาชาติ เห็นว่าทำงานแบบสอดประสานกัน โดยนำแต่ละประเด็น และจุดเด่นของแต่ละคนมานำเสนอได้อย่างดียิ่ง

'ชลน่าน' ยกทัพ 'เพื่อไทย' ซับน้ำตาชาวขอนแก่น หลังน้ำท่วมยาว ขาดอาหารและยา รัฐไม่เหลียว

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรค วันนิวัติ สมบูรณ์ ส.ส.ขอนแก่น มุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส.ขอนแก่น ภาควัต ศรีสุรพล ส.ส.ขอนแก่น บัลลังก์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น พชรกร อรรณนพพร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น วิภาณี ภูคำวงศ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น สุรพจน์ เตาะเจริญสุข ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น รวมทั้งสมาชิกครอบครัวเพื่อไทย เยี่ยมเยือนให้กำลังใจ พร้อมรับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย และรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้นำชุมชนและพี่น้องประชาชนใน 3 จุด จุดที่ 1 บ้านเมืองเพีย ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จุดที่ 2 บ้านท่าข่อยใต้ ต.ชนบท อ.ชนบท จุดที่ 3 บ้านวังเวิน ต.ศรีบุญเรือง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า จากการพูดคุยรับฟังปัญหา พี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยในขณะนี้ต้องการให้รัฐบาลเร่งชดเชยเยียวยาพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเต็มพื้นที่ บ้านเรือนพี่น้องประชาชนถูกน้ำท่วมมิดหลังคาเรือนเสียหายทั้งหมด ขณะที่ถนนหลัก ถนนรอง ทางเข้าหมู่บ้าน พนังกั้นน้ำ ได้รับความเสียหาย หลังจากน้ำลดแล้วอยากให้รัฐบาลเร่งเข้ามาซ่อมแซมสาธารณูปโภคเหล่านี้โดยด่วน

ทั้งนี้เมื่อครั้งที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เมื่อครั้งที่เกิดอุทกภัยในปี 2554 รัฐบาลเพื่อไทยเยียวยาพี่น้องประชาชน อย่างทันการณ์และเท่าเทียม ครัวเรือนละ 5,000 บาท จึงอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย

'ชลน่าน' ไม่เชื่อ!! ดีลลับดูไบมีจริง ย้ำ!! ใครจะเข้าพรรค ต้องฟังเสียงรอบด้าน ยึดประโยชน์ ปชช.เป็นหลัก

(9 ต.ค. 65) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรค พท. ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าวดีลลับระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ที่จะนำส.ส.พรรคศท.ย้ายกลับมาอยู่กับพรรค พท.ว่า ไม่เชื่อว่าเรื่องนี้มีอยู่จริง เพราะข่าวแบบนี้มีมาตลอด แต่ก็คงต้องเฝ้าระวังว่าใครประสงค์ร้ายกับพรรค พท. และเรายึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ การจะนำใครเข้ามาอยู่ในพรรคนั้นมีกลไก ที่สำคัญคือพรรค พท.เป็นพรรคของประชาชน เราต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกับพรรค แม้คนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค แม้มีความคิดเห็นอย่างไร เราก็ฟังความคิดเห็นตลอด ฉะนั้นการจะทำกิจกรรมอะไรต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ และต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของพรรคเป็นลำดับชั้น สุดท้ายก็จะเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคที่จะต้องมาพิจารณา 

เมื่อถามว่าโอกาสที่กลุ่มร.อ.ธรรมนัสจะกลับเข้ามาพรรค พท. เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตนขอไม่แสดงความเห็น เพราะพรรคการเมืองแต่ละพรรคมีแนวทางของตัวเอง พยายามจะแสวงหาโอกาสในการที่จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ได้มากที่สุด ส่วนเขาจะเลือกทางไหนก็แล้วแต่แนวทางของพรรค

‘ชลน่าน’ ไม่เห็นด้วยปมควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ จ่อตั้งกระทู้ถามสด - เสนอญัตติด่วนหลังสภาเปิด

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตามที่มีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคนั้น ตนกังวลและไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการที่อาจนำไปสู่การผูกขาดในธุรกิจใดๆ โดยมีความเห็นดังนี้ 

1.) ตนไม่เห็นด้วยกับการควบรวมที่เป็นการผูกขาดการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะกระทบการแข่งขันของผู้ประกอบการ สภาวะการทำธุรกิจและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และจะกระทบผู้บริโภคในท้ายที่สุด 

2.) ตนเห็นว่าการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค น่าจะมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นกิจการประเภทเดียวกัน และมีส่วนแบ่งการตลาดสูงมาก 

3.) มีหลายฝ่ายตั้งคำถามว่ามติ กสทช.ในการรับทราบการควบรวมนั้น ชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ และ กสทช.ได้ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่า กสทช.ต้องตอบคำถามนี้ 

4.) ตนกังวลและเห็นว่าการผูกขาดการประกอบธุรกิจ จะมีผลกระทบต่อสิทธิ์และประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างแน่นอน ซึ่งภาครัฐมีหน้าที่ต้องดูแลและปกป้องคุ้มครองอย่างมากที่สุด

5.) พรรคเพื่อไทยยึดมั่นในหลักนิติธรรมและระบบกฎหมาย และคัดค้านการผูกขาดไม่ว่าในธุรกิจใด 

“ดังนั้นพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการที่ผู้มีส่วนได้เสีย ที่จะดำเนินการตามกฏหมาย และยื่นเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการควบรวมกิจการดังกล่าว ในเบื้องต้นพรรคเพื่อไทยจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การตรวจสอบในสภาฯ โดยการตั้งกระทู้ถามสดในสัปดาห์แรกของการประชุมสภาฯ และเสนอพิจารณาญัตติด่วนเพื่อให้สภามีมติในเรื่องนี้ต่อไป” นพ.ชลน่าน กล่าว

'เครือข่ายโรงพยาบาล-รร.แพทย์' ร้อง 'ชลน่าน' ช่วยสางปม 'สปสช.' ค้างจ่าย ทำขาดสภาพคล่อง

สภาพคล่องในเครือข่ายโรงพยาบาล-โรงเรียนแพทย์ เริ่มก่อตัวชัด และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.สธฯ เมื่อ 14 ก.พ. เพื่อช่วยสางปัญหา สปสช.ค้างจ่าย 'รพ.- คลินิกในกทม.' หลังเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งขณะนี้ทางด้านคลินิกใน กทม.ก็มีการใส่ชุดดำ-ขึ้นป้ายประท้วงเงียบกันแล้วด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 7 ก.พ.67 นพ.พินัย ล้วนเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ และสาธารณสุข กองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม. กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาการขาดสภาพคล่องจากการบริการของ สปสช. ในพื้นที่ กทม.เริ่มชัดเจน หลังมีการเปลี่ยนแปลงจากการจ่ายเงินแบบรายหัว เป็นรายการการให้บริการ ในปี 2564 ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 มีการตั้งวงเงิน 2,685 ล้านบาท จากเงินประชากรบัตรทอง 2.52 ล้านคน จ่ายให้หน่วยปฐมภูมิ 365 แห่ง

แต่กลับพบว่ามียอดเรียกเก็บจากการบริการรับต่อ OP refer ถึง 1,900 ล้านบาท และยังต้องจ่ายให้หน่วยปฐมภูมิ 1,345 ล้านบาท ทำให้ขาดเงินและงบประมาณไม่เพียงพอถึง 560 ล้านบาท ที่ผ่านมา ทาง สปสช.มีจ่ายเงินให้กับคลินิก ในการให้บริการผู้ป่วยนอก 70% เท่านั้น

ด้าน นางศรินทร สนธิศิริกฤตย์ เจ้าของคลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ คลองเตย กล่าวว่า เคยเข้าร่วมทำ รพ.สนามคลองเตยเมื่อช่วงสถานการณ์โควิด-19 ต่อมาจึงมีแนวคิดเปิดคลินิก เมื่อ 1 ก.พ.2566 เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นแออัดในพื้นที่คลองเตย เพื่อให้บริการผู้ที่ขาดโอกาสทางสุขภาพอย่างเท่าเทียม โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นคนในสิทธิหลักประกันสุขภาพ และสิทธิ์บริการอื่นเพียง 5%

โดยเม็ดเงินที่หมุนเวียนในคลินิกมาจาก สปสช.เป็นหลัก แต่เมื่อเริ่มเปิดคลินิกพบว่า มีปัญหาคือ ไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก สปสช. ได้เต็มจำนวน มีการจ่ายเพียง 70% ของยอดเรียกเก็บ และ สปสช.แจ้งว่าจะพิจารณาจัดสรรเงินให้กับคลินิกแบบเต็มจำนวน หลังเดือน ก.ย.2566

นางศรินทร กล่าวว่า ที่ผ่านมา คลินิกต้องแบกภาระขาดทุนเดือนละ 200,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายจริงที่คลินิกอยู่ที่เดือนละ 500,000-700,000 บาท เป็นค่าตอบแทนแพทย์ - พยาบาล - นักวิชาการสาธารณสุข 450,000 บาท ที่เหลือเป็นค่ายา และเวชภัณฑ์ รวมทั้งปัญหาการส่งต่อคนไข้ไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ด้วย 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการให้ผู้ป่วยนอกไปรับยาที่จุดบริหารไหนก็ได้ หรือ OPD ANYWHERE ทำให้ตั้งแต่เปิดคลินิกมาขาดทุนไปแล้ว 10 ล้านบาท จึงอยากให้ สปสช.มาพูดคุยและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

"คลินิกใน กทม.หารือร่วมกันว่า จะตัดสินใจขึ้นป้ายดำ ใส่ชุดดำเพื่อแสดงการร้องทุกข์และสะท้อนให้เห็นปัญหาของคลินิก ที่ผ่านมา สปสช. นิ่งเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทำได้เพียงแค่โปรยยาหอมให้ใจเย็น และให้เป็นกรรมการแก้ไขปัญหา และเสนอไปยังบอร์ด แต่ทุกอย่างก็ถูกตัดทิ้ง ไม่ได้รับตอบสนอง"

รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผอ.โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.ยังคงให้บริการประชาชนตามปกติ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เมื่อกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โรงพยาบาลกำลังเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการเบิกจ่ายของ สปสช. 90 ล้านบาท คาดว่า ยอดสะสมปัจจุบันน่าจะถึง 100 ล้านบาท และหากไม่รีบแก้ไขเกรงว่า โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างสะดวก

ที่ผ่านมาทางตัวแทน เครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ ประเทศไทย (UHOSNET) ได้ทำหนังสือถึง รมว. สธ. ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. และในวันที่ 14 ก.พ.นี้ ทางตัวแทนจะไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรี และแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข

"หากไม่เร่งแก้ไข มีผลในระยะยาวแน่นอน และโรงพยาบาลคงไม่สามารถยืนต่อไปได้ ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล คนเป็นหมอ พูดเรื่องเงินทองก็ลำบากใจ ให้พูดกับคนไข้ก็ลำบาก ต้องให้รัฐมนตรีสาธารณสุข ช่วยแก้ไข"

‘ก้าวไกล’ ข้องใจ ทำไมเอาคนทิ้งพรรคอย่าง ‘สมศักดิ์’ เสียบแทน ‘หมอชลน่าน’ ชี้!! ทำหน้าที่นำทัพ อย่างเหน็ดเหนื่อย ทั้ง ‘ช่วงเลือกตั้ง-ช่วงเป็นฝ่ายค้าน’

(28 เม.ย. 67) นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม.และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) เศรษฐา 1/1ว่า ไม่ต่างจากเดิมมากนัก มีรัฐมนตรีว่าการเพียง 2 คนที่เปลี่ยนเข้ามา หากดูลึกๆ คนที่เป็นเลือดแท้พรรคเพื่อไทย ต่อสู้ฟันฝ่าในช่วงที่พรรคเพื่อไทยขาลงค่อนข้างจะไม่ประสบความสำเร็จตามหวังเท่าไหร่ ตนคิดว่าต้องไปดูว่าสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยปรับเปลี่ยนเป็นแบบนี้ มีจุดประสงค์เพื่ออะไร

“คนวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะ ว่าช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งช่วงจัดตั้งรัฐบาล คนที่เปลืองตัวที่สุด คนที่คิดว่าน่าจะต้องอยู่ตลอดรอดฝั่ง อย่างนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ที่เป็นหมอ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตรงสายที่สุด น่าจะอยู่ได้นานกว่านี้ น่าจะมีผลงานอะไรได้มากกว่านี้ กับกลายเป็นรัฐมนตรีว่าการคนแรกๆที่ถูกปรับออกในส่วนของพรรคเพื่อไทย น่าตั้งข้อสังเกตว่าเพราะเหตุใดที่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจอย่างนั้น ตัดสินใจให้อดีตหัวหน้าพรรคที่นำทัพช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ช่วงการเป็นฝ่ายค้านตลอด 4 ปี ช่วงที่ผ่านมาเกิดวิกฤตหลายอย่าง แต่วันนี้ตัดสินใจสับเปลี่ยนให้คนที่ทอดทิ้งพรรคเพื่อไทยไป แล้วกลับเข้ามาใหม่ในวันที่พรรคเพื่อไทยเจริญรุ่งเรือง สมดังหวัง ตามที่ต้องการทุกอย่าง ไม่ว่าจะอยากเป็นรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดก็แล้วแต่”

นายณัฐชา กล่าวว่า ต้องดูว่าเป็นการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีคนเดียวหรือไม่ หรือองค์ประกอบอื่นที่กำลังบีบคั้นให้นายกรัฐมนตรีต้องปรับแบบนี้ แน่นอนที่สุดว่าจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ว่าวันนี้ รัฐบาลที่ประชาชนก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทน แต่การปรับ ครม. ก็ยังไม่เห็นว่าตอบโจทย์พี่น้องประชาชน ไม่ได้ใช้คนให้ตรงกับงาน แต่เป็นการปรับเพื่อให้ตรงกับโควตาทางการเมืองเหมือนเดิม

เมื่อถามว่าเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ตำแหน่งรัฐมนตรียุคพรรคเพื่อไทยว่าเป็นสมบัติผลัดกันชมหรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า ถือว่าพรรคเพื่อไทยรักษาคาแรกเตอร์ เพราะในอดีตก็พูดกันว่า 6 เดือนเปลี่ยน ก็ไม่แตกต่างกัน และเป็นสไตล์การบริหารของพรรคเพื่อไทย แต่แน่นอนว่าจะบริหารอย่างไร ต้องสอดคล้องกับงาน ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่ารัฐมนตรีที่ไม่ตรงกับงานกลับได้อยู่ต่อ แต่รัฐมนตรีที่ถูกมองว่าตั้งตรงกับตำแหน่งหน้าที่กลับถูกปรับออกอันดับต้นๆ

เมื่อถามว่านายแพทย์ชลน่านควรนั่งรัฐมนตรีฯต่อหรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า หากมองแบบใจเป็นกลาง คนเป็นหมอควรได้ดูกระทรวงสาธารณสุขที่สุด

“คนที่วิกฤตและลำบากที่สุดในตลอดช่วงเลือกตั้ง รวมไปถึงช่วงเป็นผู้นำฝ่ายค้านตลอด 4 ปี ก็น่าจะเป็นอดีตผู้นำฝ่ายค้าน หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาจัดตั้งรัฐบาลหลังจากพ่ายแพ้ คนที่เหนื่อยที่สุด หนีไม่พ้นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น ที่ต้องแบกรับทุกสถานการณ์ทุกอย่างเป็นต้นทุนส่วนตัวที่ต้องแบกรับ แต่เมื่อถึงเวลาจะตั้งรัฐบาลได้แล้ว สิ่งแรกที่เขาดำเนินการคือปรับท่านออก ก็ถือว่าน่ากังวลใจอย่างยิ่ง”

ถามว่าเห็นใจนายแพทย์ชลน่านใช่หรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า ก็ต้องตอบตรงๆ ด้วยความที่เป็นเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำงานพรรคฝ่ายค้านด้วยกันมาตลอด 4 ปี ก็เห็นความตั้งใจ แต่วันนี้พอเป็นรัฐมนตรีว่าการที่ถูกปรับออกคนแรก แบบไม่มีเพื่อนเลย มันก็น่าเห็นใจอยู่ ว่าไหนๆจะปรับ ครม.แล้ว อย่าให้อดีตหัวหน้าพรรคได้ถูกกระทำขนาดนั้น ควรมีเพื่อนที่ถูกปรับออกบ้าง อย่างน้อยจะได้อ้างได้ว่าเป็นการปรับเพื่อผลัดเปลี่ยน หากไม่นับนายกรัฐมนตรีจะถือเป็นรัฐมนตรีว่าการคนเดียวที่ถูกปรับออก

เชือด 'ปานปรีย์-ชลน่าน' ใช้บริการ 'มาริษ-สมศักดิ์' สนอง 2 เรื่องใหญ่ 'ดันผลงานอิ๊ง-ชิงปูกลับบ้าน'

ทำไมทำมาปรับครม.เศรษฐา 1/1 ออก 4 เข้า 6...ครม.เต็มแม็ก 36 คน และพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวที่เกิดแรงกระเพื่อมมากกว่าที่นึก แถมลึกกว่าที่คิด...เพราะมองกันข้ามช็อต ท้ายสุด...สุดท้าย 'นายใหญ่' เอาอยู่...

ตอบคำถามกรณี ดร.ตั๊ก-ปานปรีย์ พหิทธานุกร 'หลานน้าชาติ' ไขก๊อกทิ้งเก้าอี้ รมว.ต่างประเทศ สักนิดว่าเพราะอะไร?...ในมุมข่าวมุมมองของ 'เล็ก เลียบด่วน'

1) ประเด็นหลัก...เพราะทำใจไม่ได้ ที่โดนริบเก้าอี้รองนายกฯ ซึ่งจะเสริมส่งให้ความเป็น รมว.ต่างประเทศแข็งแกร่งขึ้น และจริง ๆ แล้วตำแหน่งรองนายกฯ จะมีสักกี่ตำแหน่งก็ได้ พอโดนริบ รมว.ต่างประเทศก็ต้องไปอยู่ใต้กำกับของรองนายกฯ คนใดคนหนึ่ง...อาจจะเป็น 'ภูมิธรรม' หรือ 'สุริยะ'...ถ้าคนแรกก็ดีไป แต่ถ้าเป็นสุริยะอาจทำใจลำบาก...

2) ประเด็นอื่น...เมื่อสบโอกาสจากประเด็นแรกคือ โดนริบเก้าอี้ ก็ง่ายที่จะตัดสินใจไขก๊อก ไม่ต้องไปวัดดวงกับงานเสี่ยงภัยในอนาคต เช่น กรณีมีข่าวว่า...การกลับบ้านของอดีตนายกฯ ปู-ยิ่งลักษณ์ อาจต้องใช้สถานทูตไทยในต่างแดนเป็นกึ่ง 'คุกนอกเรือนจำ' ให้วุ่นวาย...รวมทั้งกรณีอื่น ๆ ที่หมิ่นเหม่จะผิดกฎหมาย อาทิ ดิจิทัลวอลเล็ต, กรณีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา...

ก็นับว่าน่าเสียดาย คนดีมีฝีมืออย่าง ดร.ปานปรีย์ ที่กำลังออกอาวุธหลายเรื่องได้ค่อนข้างดี มีอันต้องจบข่าวซะก่อน...จากนี้ไปก็ต้องตามไปดู 'อดีตทูตปู' มาริษ เสงี่ยมพงษ์ อดีตที่ปรึกษา รมว.ต่างประเทศ (ปานปรีย์) คนที่เคยรับใช้ใกล้ชิดทั้ง 'นายใหญ่' ทักษิณ ชินวัตร และ นายกฯ ปู ยิ่งลักษณ์ ซึ่งน่าจะรับประกันซ่อมฟรีว่า...ตอบโจทย์นายใหญ่และน้องสาว ได้แน่ แต่สุดท้ายจะพากันไปสุดซอยเหาะเหินเดินลงกาหรือไม่...อันนี้ไม่กล้าฟันธง...

ขอแถมท้ายด้วยกรณี 'เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าชลน่าน' สักนิด...สรุปให้ตรงประเด็นที่สุดงานนี้ ก็เพื่อตอบโจทย์ลูกสาวนายใหญ่ ที่จะต้องเร่งโชว์ฟอร์มสร้างผลงาน '30 บาทรักษาทุกที่' ให้บังเกิดทั้งเบี้ยและเม็ดงานที่งอกงาม   

ทั้งนี้ 7 เดือนที่ผ่านมานั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ที่หอบหิ้ว 'หมออ้อย' ภรรยาไปช่วยงานด้วยนั้น ว่ากันว่าเอาข้าราชการไม่อยู่...หนำซ้ำคล้าย ๆ ที่ชมรมแพทย์ชนบทแถลงออกมานั่นล่ะว่า...หลายครั้งคุณหมอถูกใช้เป็นเครื่องมือคุกคาม สปสช. ที่ดูแล 30 บาท อีกต่างหาก...

ก็ต้องเรียนท่านผู้อ่านว่า...เสือสองตัว ณ กระทรวงสาธารณสุขนั้น ฝั่งหนึ่ง 'ปลัด สธ.' ดูข้าราชการทั้งมวล อีกฝั่ง 'เลขาธิการ สปสช.' เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ดู 30 บาท งบประมาณมหาศาล...ทั้งสองฝั่งมีรัฐมนตรีกำกับดูแล ต้องใช้วิทยายุทธขั้นสูงทีเดียว...

ส่วน แพทองธาร ชินวัตร 'อุ๊งอิ๊ง' นั้น...วันนี้อยากขับเคลื่อน '30 บาทรักษาทุกที่' ให้แวววับจับต้องได้ เพราะคุณเธอนั่งคร่อมเก้าอี้ถึง 2 ตำแหน่ง คือ รองประธานกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ (นายกฯ ประธาน) และ ประธานคณะกรรมการบริหารพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ

งานนี้นายใหญ่และพรรคเพื่อไทยยอมจ่ายแพง...เชือดหมอชลน่าน ถ้า 30 บาทรักษาทุกที่ยังกระดื๊บ ๆ ก็ถือว่าไม่คุ้มค่า...แต่ทีมงานอุ๊งอิ๊งหลายคนมั่นใจว่า 'อาสมศักดิ์' เอาอยู่...ทำได้ 

ก็คอยดูกันต่อไป แต่ยังไง ๆ พรรคเพื่อไทย อย่าลืมเช็ดเลือดและน้ำตาให้คุณหมอด้วยล่ะ!!


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top