ครบรอบ 5 ปี เซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมกะโปรเจกต์เชื่อมโยงอีกหลายโครงการ ที่ถึงเวลาต้องตัดสินใจ
(25 ต.ค. 67) จังหวะเวลาช่างเหมาะเจาะเหลือเกินที่ช่วงนี้กำลังมีข่าวสารเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพราะวันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คือ วันที่มีการลงนามในสัญญาฉบับนี้ระหว่างเอกชน กับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) แบบพอดิบพอดี
สำหรับปฏิกิริยาล่าสุดจากทางสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับดูแล รฟท. โดยตรงได้ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา(22 ต.ค. 67) ว่า
การแก้ไขสัญญา เกิดจากเอกชนและภาครัฐผิดสัญญา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของชุดไวรัสโควิด- 19 ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า รัฐบาลไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ ขณะที่เอกชนก็ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงเป็นต่างคนต่างผิดสัญญา จึงต้องพิจารณาใหม่
แม้จะตอบได้อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามยังเกิดข้อครหาตามติดมาว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่
สำหรับในประเด็นนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ตอบออกมาว่า ร่างสัญญาจะถูกตรวจสอบโดยสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่แล้ว ประเด็นนี้จึงไม่น่าเป็นห่วง
สำหรับประเด็นร้อนประเด็นนี้ โดยเฉพาะเมื่อผ่านตา ‘ทีมคมนาคม’ ที่นำโดยสุริยะ ที่แม้ท่าทีจะเงียบ ๆ แต่ผลักดันแทบทุกโครงการจนสัมฤทธิ์ผล
นอกจากนี้พ่อบ้านของกระทรวงคมนาคมอย่าง ‘ชยธรรม์ พรหมศร’ ปลัดกระทรวงคมนาคม ที่เติบโตจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ทำให้สามารถมองเห็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อย่างเป็นภาพรวม
และมีเสียงลือจากกระทรวงคมนาคมว่า ปลัดคนนี้นี่เองที่เคยทำงานอยู่ในทีมสมัยแรกที่ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ นั่งเจ้ากระทรวง
ด้วยสรรพกำลังภายในกระทรวงที่เพียบพร้อมเช่นนี้ ข้อกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์เอกชนคงจะจางหายไปบ้าง
อย่างที่กล่าวไปในย่อหน้าแรก ว่าโครงการนี้ค้างคามาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว โอกาสของประเทศที่สูญเสียไปไม่ทราบเหมือนกันว่ามีเท่าไหร่กันแน่
และนอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังเกี่ยวเนื่องกับอีก 2 โครงการโดยตรง!!
สำหรับโครงการแรก คือ เมืองการบินอู่ตะเภา ที่จะพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์สนามบินหลักแห่งที่ 3 ของประเทศ
ขยายศักยภาพสนามบินหลักเดิม 2 แห่งที่ปัจจุบันรองรับเที่ยวบินจำนวนมหาศาลจนทำให้การจราจรทางอากาศติดขัดเป็นบางช่วงเวลา
แต่ก็ต้องยอมรับว่าจุดหมายปลายทางหลักคงไม่ใช่อู่ตะเภาเท่านั้นเพราะ ‘กรุงเทพ’ เมืองฟ้ายังเป็นจุดหมายปลายทางหลัก
ดังนั้นการทำให้การเดินทางเชื่อมต่อกันโดยง่ายจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ‘รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน’ คือคำตอบเดียว
หากไฮสปีดสามสนามบินล่าช้าออกไปอีก คงทำให้อีกโครงการล่าช้าต่อเนื่องไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้
สำหรับโครงการที่ 2 จะออกนอกพื้นที่ EEC คือโครงการที่มีชื่อว่า ‘รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา’
สำหรับเหตุผลว่าเรื่องนี้ทำไมล่าช้า เพราะในช่วงทับซ้อนของโครงการดังกล่าวคือช่วงบางซื่อ-สนามบินดอนเมือง ทั้งสองโครงการจะใช้ระบบรางเดียวกัน โดยผู้ที่ดำเนินการก่อสร้างคือเจ้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ดังนั้น หากยังไม่สามารถปลดล็อกการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปได้ นอกจากการก่อสร้างบางช่วงที่ติดปัญหาของรถไฟไทย-จีน แล้ว จะมาติดล็อกของโครงการรถไฟ 3 สนามบินอีกด้วย
และยังไม่รวมถึงโครงการหลักอย่าง EEC หรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่เสน่ห์เย้ายวนจะหายไปเพียงใด หากการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินสะดุด
ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่ผ่านมาจึงไม่แปลกใจนักหากรัฐบาลพร้อมที่จะเดินหน้าแก้ไขสัญญา เพราะในบางครั้งต้องมีการยอมกลืนเลือดไปเสียบาง เพื่อรักษาผลประโยชน์โดยรวม
และดูเหมือนว่าครั้งนี้กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าเต็มกำลัง เพราะหลังจากกลับมารับตำแหน่งใน ครม. ชุดแพทองธาร ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ก็จัดการยึดอำนาจกำกับ รฟท. มาไว้ที่ตนเอง พร้อมกับที่ชื่อ ‘วีริศ อัมระปาล’ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
ทั้งหมดย่อมหนีไม่พ้นการแสดงออกว่าราชรถ 1 อย่างสุริยะ ‘เอาจริง’ กับการพัฒนาระบบรางของประเทศไทยอย่างแน่นอน
