Friday, 17 May 2024
จ้างงานคนพิการ

รมว.แรงงาน แจงผลการดำเนินการโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ปี 65 จ้างงานเกินเป้า 40%

กระทรวงแรงงาน ร่วมมือสถานประกอบการภาคเอกชน ส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม สร้างโอกาสมีงานทำให้คนพิการ มีงานทำ 1,400 คน สร้างรายได้ร่วม 160 ล้าน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศอย่าง "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยกระทรวงแรงงานพร้อมสนองต่อนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยเน้นสร้างโอกาสแก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ เพื่อให้มีหลักประกันทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานจัดทำโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ประเภทจ้างเหมาบริการ เพื่อเชิญชวนนายจ้าง สถานประกอบการที่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 ให้ดำเนินการให้สิทธิแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 โดยจ้างงานคนพิการเป็นพนักงานเพื่อปฏิบัติงานสนับสนุนในหน่วยบริการสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนใกล้บ้าน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งช่วยให้คนพิการในพื้นที่ห่างไกล ได้รับโอกาสมีอาชีพ มีงานทำอย่างทั่วถึง สามารถพึ่งพาตนเองได้ทัดเทียมคนทั่วไป โดยมีการกำหนดเป้าหมายการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ปี 2565 ไว้ จำนวน 1,000 คน และเตรียมขยายการมีงานทำให้คนพิการฯ มีงานและรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 20% ภายใน 4 ปี 

อย่างไรก็ดีต้องขอบคุณความร่วมมือของสถานประกอบการภาคเอกชน จำนวน 181 แห่ง อาทิ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ บมจ.แคล - คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) สาขาเพชรบุรีและสาขาสมุทรสาคร กลุ่มบริษัท อเด็กโก้ ประเทศไทย และบริษัท รักษาความปลอดภัย การ์ดฟอร์ซ (ประเทศไทย) จำกัด  ที่ได้ให้สิทธิคนพิการฯ ตามโครงการส่งเสริมจ้างงานคนพิการเชิงสังคมในปีนี้ ถึง 1,400 คน เพิ่มจากเป้าหมายร้อยละ 40 ก่อให้เกิดรายได้ 159,943,425 บาทต่อปี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

"สถานประกอบการ" ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการจังหวัดปราจีนบุรี…เปิด “โครงการจ้างงานคนพิการ มาตรา 35” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

"นางสาวจิรฐา คงทน" ประธานชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวรายงานแก่ "นายอุดม ตระกูลษา" นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี ประธานในพิธีเปิด “โครงการจ้างงานคนพิการ มาตรา 35” (ร้าน ซัก อบ รีด) ว่าตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ใน มาตรา 33 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้ นายจ้างหรือ เจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทํางานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการ หรือหน่วยงานของรัฐ

ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกําหนดจํานวนที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทํางาน "กฎกระทรวงแรงงาน” จึงกำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไป รับคนพิการที่สามารถทํางานได้ไม่ว่าจะอยู่ในตําแหน่งใดในอัตราส่วนลูกจ้างที่มิใช่คนพิการทุกหนึ่ง ร้อยคนต่อคนพิการหนึ่งคน เศษของหนึ่งร้อยคนถ้าเกินห้าสิบคนต้องรับคนพิการเพิ่มอีกหนึ่งคน การนับจํานวนลูกจ้างให้นับทุกวันที่ 1 ตุลาคม ของแต่ละปีและกรณีนายจ้างหรือ เจ้าของสถานประกอบการผู้ใดมีหน่วยงานหรือสํานักงานสาขาในจังหวัดเดียวกันให้นับรวมลูกจ้างของ หน่วยงานหรือสํานักงานสาขาทุกแห่งในจังหวัดนั้นเข้าด้วยกัน

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ในมาตรา 35 กรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทํางานตามมาตรา 33 หรือนายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าทํางานตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 หน่วยงานของรัฐ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้น อาจให้สัมปทานจัดสถานที่จําหน่ายสินค้าหรือบริการ / จัดจ้างเหมาช่วงงาน / ฝึกงาน / หรือให้การช่วยเหลืออื่นใด แก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการแทนก็ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนดในระเบียบ

ในการนี้ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายให้แก่คนพิการ และครอบครัวคนพิการ อีกทั้งยังให้การสนับสนุนทุนประกอบอาชีพอิสระเพื่อให้คนพิการได้มีอาชีพ และมีงานทำใกล้บ้าน สามารถพึ่งพาตนเองอย่างมีเกียรติศักดิ์ศรีทัดเทียมคนทั่วไป โดยคนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน และมุ่งหวังว่าการมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากการเข้าถึงโอกาสงานและอาชีพนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลโดยตรงช่วยให้สุขภาวะในทุกมิติของคนพิการดีขึ้น และสังคมได้เห็นถึงศักยภาพโดยประจักษ์ของคนพิการในฐานะพลเมืองเข้มแข็ง ที่สามารถทำประโยชน์และเป็นกำลังสำคัญให้กับชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ได้ในภายภาคหน้าอย่างมีความสุข

จึงเป็นที่มาของ “โครงการจ้างงานคนพิการ มาตรา 35”  ซึ่งทางบริษัทฯให้การสนับสนุนคนพิการจำนวน 2 คน คือ นางสาวกันตา  วิฑูรอนันต์  และ นายเศกษดา  ทรัพย์อุดม เพื่อประกอบอาชีพ “ร้าน ซัก อบ รีด” เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 228,490 บาท

 

‘บิ๊กตู่’ หนุน โครงการจ้างงานคนพิการ หวังลดเหลื่อมล้ำ - สร้างรายได้พึ่งพาตนเอง

“บิ๊กตู่” ชื่นชมผลงานของผู้พิการ ย้ำทุกฝ่ายช่วยกันสานต่อโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้ผู้พิการพึ่งพาตนเองได้  

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 มี.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุม เวลา 08.30 น. ที่บริเวณตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน นายจ้างภาคเอกชนและผู้พิการที่ร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ประจำปี 2565 เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน เพื่อแสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่สนับสนุนโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ปี 2565 ทำให้ผู้พิการมีงานทำ สร้างโอกาสและสร้างความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการขับเคลื่อนประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เน้นการสร้างโอกาสแก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ เพื่อให้มีหลักประกันทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองและทำประโยชน์แก่ครอบครัว ชุมชน ตลอดจนสังคมได้ โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

"สกลธี" รองผู้ว่ากรุงเทพฯพร้อมภาคีเครือข่ายเปิดโครงการจ้างงานคนพิการ กรุงเทพมหานคร

วันที่ 2 มีนาคม 2565 ณ.หอประชุมมูลนิธิออทิสติกไทย เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการ "สนับสนุนการจ้างงาน สร้างอาชีพสำหรับคนพิการ" พบช่วยคนพิการมีงานทำกว่า 7,000 คน สร้างอาชีพกว่า 20,000 งาน ลดบริษัทส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการกว่า 6,000 ล้านบาท เพื่อคุณภาพชีวิตดีอย่างยั่งยืน 

โดยภาคีเครือข่ายประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิออทิสติกไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนให้คนพิการมีงานทำ สร้างอาชีพ และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี  

"นายสกลธี  ภัททิยกุล" รองผู้ว่าราชการกรุงทพมหานคร กล่าวว่า โครงการสนับสนุนการจ้างงาน สร้างอาชีพสำหรับคนพิการ กรุงเทพมหานคร ที่มีเจตนารมณ์สนับสนุน ให้คนพิการมีอาชีพและมีงานทำ ที่ผ่านมาได้ผลักดันหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครให้เร่งรับคนพิการเข้าทำงานโดยตลอด ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี 2565 สำนักพัฒนาสังคมจะต้องดำเนินการขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เพื่อรองรับการจ้างงานคนพิการเข้าทำงานให้ได้มากขึ้นประมาณ 306 คน คาดว่าจะเริ่มจ้างงานคนพิการเข้าทำงานได้ในเดือนพฤษภาคม 2565 และจะเสนอขอตั้งงบประมาณต่อเนื่องไว้สำหรับปีงบประมาณ 2566

นอกจากนี้ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคนพิการให้มีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพตรงกับความต้องการของหน่วยงาน องค์กรภาครัฐและเอกชนที่จะสามารถรับเข้าทำงานตามคุณวุฒิและคุณสมบัติที่กำหนด พร้อมจะทำงานเชิงรุกในการแก้ปัญหาเรื่องช่องทางสมัครงาน และการว่าจ้างงานที่ทำให้คนพิการไม่มีงานทำ

นายสกลธี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนพิการได้มีงานทำ 2 เรื่องหลัก ดังนี้ 1.ส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้คนพิการ โดยเปิดศูนย์ส่งเสริมทักษะอาชีพสำหรับคนพิการ ที่โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร หนองจอก และทุ่งครุ เพื่อพัฒนาศักยภาพ สร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพ นำร่องใน 5 หลักสูตร กับกลุ่มที่ต้องการประกอบอาชีพอิสระ  ได้แก่ หลักสูตรสอนการปลูกผักออแกนิค การเพราะเห็ด หลักสูตรบาริสต้า หลักสูตรคอมพิวเตอร์พื้นฐาน  และหลักสูตรการเขียนโปรแกรม และในอนาคตเตรียมขยายเพิ่มหลักสูตรอบรมให้มากขึ้นตามความต้องการของคนพิการและสังคมต่อไป

2.สร้างเว็บไซต์ bangkok.skynebula.tech เปิดพื้นที่ ให้คนพิการที่มีความพร้อมและประสงค์จะสมัครงาน และนายจ้างที่ต้องการรับผู้พิการเข้าทำงานได้พบกัน และเกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้พิการก็สามารถเลือกตำแหน่งงาน ในหน่วยงานที่ตนต้องการสมัครได้  และนายจ้างก็สามารถเข้ามาในเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อค้นหาผู้พิการที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการ เข้าสู่กระบวนการนัดหมาย สอบ สัมภาษณ์ และรับเข้าทำงาน ได้รวดเร็ว และหลากหลายขึ้น

"นายชูศักดิ์  จันทยานนท์ " ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย กล่าวว่า โครงการศูนย์ส่งเสริมทักษะอาชีพสำหรับคนพิการ กรุงเทพมหานคร  จะเป็นแหล่งการเรียนรู้ในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพให้กับคนพิการ  เพื่อให้สามารถนำความรู้และทักษะไปต่อยอดสร้างอาชีพให้ตนเองและครอบครัว หรือสามารถสมัครงานในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนได้  เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้พิการ ก่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต

ซึ่งคนพิการจำเป็นต้องมีโรงเรียนฝึกอาชีพเพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพ อาทิ หลักสูตรระยะสั้นในการเรียนรู้ให้เหมือนกับคนทั่วไป เพื่อเพิ่มทักษะและความชำนาญด้านวิชาชีพ จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยจัดฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับคนพิการ 5 วิชา ได้แก่ หลักสูตรการผลิตเห็ดเพื่อการค้า หลักสูตรการออกแบบเว็บไซต์  หลักสูตรคอมพิวเตอร์เบื้องต้น  หลักสูตรเครื่องดื่มตามสมัยนิยม  และหลักสูตรการเพาะต้นอ่อนพืชออร์แกนิค ตั้งเป้าหมายรับคนพิการทุกประเภทเข้าอบรม จำนวน 150 คน  ซึ่งการฝึกอบรมอาชีพสำหรับคนพิการจำเป็นต้องมีการออกแบบ การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของคนพิการ แต่ละบุคคลที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป

"นางภรณี ภู่ประเสริฐ" ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.กล่าวว่า “คนพิการ” คือ 1 ใน 11 กลุ่มประชากรกลุ่มเฉพาะ ที่ต้องได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาวะในชีวิตทุกมิติ เพื่อให้มี “สิทธิ ศักดิ์ศรี คุณค่า และพึ่งพาตัวเอง” ได้เหมือนคนทั่วไป ทำให้ สสส. ขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน เพื่อทำให้คนพิการมีงานทำ ภายใต้การจ้างงานเชิงสังคมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 33 และ มาตรา 35

รมว.แรงงาน ปลื้ม โครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม เกิดประโยชน์กับคนพิการ หลังนายจ้างแห่ให้สิทธิ์กว่า 2 พันราย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน  ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศอย่าง "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยกระทรวงแรงงาน ขานรับนโยบายรัฐบาล ในการเร่งสร้างโอกาส อาชีพ และการมีรายได้ที่มั่นคงให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะคนพิการซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง รวมถึงยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 

โดยตนได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานดำเนินโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ประเภทจ้างเหมาบริการ เพื่อเชิญชวนนายจ้าง สถานประกอบการที่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 ให้ดำเนินการให้สิทธิแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 โดยจ้างงานคนพิการเป็นพนักงานเพื่อปฏิบัติงานสนับสนุนในหน่วยบริการสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนใกล้บ้าน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งช่วยให้คนพิการในพื้นที่ห่างไกล ได้รับโอกาสมีอาชีพ มีงานทำอย่างทั่วถึง สามารถพึ่งพาตนเองได้ทัดเทียมคนทั่วไป

“โครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม เป็นโครงการที่ผมให้ความสำคัญมาก เพราะเกิดประโยชน์กับคนพิการอย่างแท้จริง ผู้พิการมีรายได้โดยตรงและได้ทำงานที่หน่วยงานใกล้บ้าน ซึ่งเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการและครอบครัวให้ดีขึ้น ต้องขอบคุณความร่วมมือของสถานประกอบการภาคเอกชน และชื่นชมการทำงานของกรมการจัดหางานที่ลงพื้นที่เชิงรุก เชิญชวนนายจ้าง/สถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเพิ่มช่องทางเข้าร่วมโครงการฯให้ทั้งคนพิการที่ต้องการรับสิทธิและสถานประกอบการที่ต้องการให้สิทธิตาม มาตรา 35 สามารถแจ้งผ่านระบบ e-Services ของกรมการจัดหางาน ได้สะดวก รวดเร็ว จนมีนายจ้าง/สถานประกอบการ แจ้งให้สิทธิคนพิการฯ ตามโครงการแล้วถึง 2,264 ราย” นายสุชาติ กล่าว

สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทยจัดแถลงข่าวโครงการ 'พัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายกับการจ้างงานคนพิการทางจิตอย่างยั่งยืน'

สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทยจัดแถลงข่าวโครงการ 'พัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายกับการจ้างงานคนพิการทางจิตอย่างยั่งยืน และประชุมสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๒๐' ประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี ๒๕๖๕ 

​โดยมี คุณนุชจารี คล้ายสุวรรณ (นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย) , คุณณฐอร อินทร์ดีศรี (ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) ผู้แทนกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ , แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา) , นายแพทย์ไพฑูรย์ สมุทรสินธุ์ (ที่ปรึกษาสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย และ รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจสนับสนุนและพัฒนาเครือข่ายบริการ โรงพยาบาลศรีธัญญา , คุณรัตน์ จิรธรรม (ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ) และผู้แทนสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และ คุณชัญญ์ญาณ์ ธำรงวินิจฉัย (ผู้จัดการใหญ่ กิจกรรมการตลาดศูนย์การค้าบริษัทเดอะมอลล์กรุ๊ปจำกัด)  ร่วมแถลงข่าว ในวันที่ 26 เมษายน 2566 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมแสงสิงแก้ว ชั้น 4 โรงพยาบาลศรีธัญญา จังหวัดนนทบุรี

สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย จัดงาน “โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายกับการจ้างงานคนพิการทางจิตอย่างยั่งยืน และประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี ๒๕๖๕ สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๒๐” โดยงานในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ เปิดโอกาสให้ผู้บกพร่องทางจิตได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข ทัดเทียมกับประชาชนทั่วไป และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีออกสู่สังคม นาง นุชจารี คล้ายสุวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สำหรับงานในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับรู้ว่า ปัจจุบันผู้บกพร่องทางจิตสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป และมีความสุข อยากจะให้ทุกๆคนในสังคมหันกลับมาให้ความสำคัญและให้ความเท่าเทียมกันเกิดขึ้นในสังคมไทย”
​สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรอิสระ ที่ก่อตั้งขึ้นโดย ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมด้วย พ่อแม่ ผู้ปกครอง ของผู้ทุพลภาพทางร่างกาย ในปี 2556 

ปัจจุบันมีเครือข่ายองค์กรกว่า 200 องค์กร ทั้งในองค์กรส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานองค์กรชมรม  สมาคม ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อ ให้ผู้บกพร่องทางจิตได้รับการยอมรับจากสังคม ได้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข เท่าเทียม และให้ผู้บกพร่องทางจิตเกิดความเชื่อมั่นต่อตนเองภายในสังคมอย่างบูรณาการ สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ 47 ตึกหญิง 10 โรงพยาบาลศรีธัญญา, กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top