Friday, 18 April 2025
จุลพันธ์_อมรวิวัฒน์

‘คลัง’ เตรียมเปิดลงทะเบียนร้านค้าร่วม ‘เงินดิจิทัล’ พ.ย.นี้ ยัน!! จ่าย 1 หมื่นครั้งเดียว-ไม่แบ่งงวด ใช้จริง ก.พ. 67

(10 ต.ค. 66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2566 จะเริ่มเปิดลงทะเบียนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการ คาดว่าจะสามารถเข้าร่วมโครงการได้หลังจากนี้

ดังนั้นจึงยืนยันว่า นโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet สามารถดำเนินการได้ทัน ที่จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ทั้งนี้โครงการรัฐที่ผ่านมามีประชาชนยืนยันตัวตนมาแล้ว 40 ล้านคน ที่มีอยู่ในระบบฐานข้อมูลของรัฐ แต่ยังมีผู้ที่ยังไม่อยู่ในระบบฐานข้อมูลอีกประมาณ 10 ล้านคน ด้วยกฎหมายที่กำหนด ทั้งรัฐบาลยืนยันจะเติมเงินดิจิทัลให้ทุกคนที่มีสิทธิครั้งเดียว 10,000 บาท โดยไม่มีการแบ่งจ่ายเงินเป็นงวด ๆ แน่นอน แม้ที่ผ่านมาจะมีข้อเสนอให้เปลี่ยนเงื่อนไขแบ่งเป็นงวด เพราะเห็นว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า แต่ที่ผ่านมามีข้อเสนอให้แบ่งจ่ายเป็นงวดเข้ามาจริง

สำหรับนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จำเป็นต้องเปิดให้ลงทะเบียน แต่การลงทะเบียนในโครงการ ไม่เกี่ยวข้องกับการลดจำนวนโครงการเพื่อไม่ให้โครงการต้องใช้เงินมากถึง 5.6 แสนล้านบาทใช่หรือไม่

รมช.คลังบอกว่า ไม่เกี่ยวกันเนื่องจากเมื่อมีการเดินหน้าโครงการนี้แล้วรัฐบาลก็ต้องหาแหล่งเงินมาเพื่อรองรับโครงการอยู่แล้วโดยไม่ได้รอว่าจะมีจำนวนการลงทะเบียนจำนวนเท่าไหร่ในการทำโครงการ โครงการนี้จะใช้งบประมาณเป็นหลัก เนื่องจากขณะนี้มีตัวเลือกให้กับรัฐบาลหลายทางเลือก แต่จะใช้ทางเลือกที่ดีที่สุด คือการเกลี่ยงบประมาณและปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น และขณะนี้เป็นช่วงการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567

ยืนยันว่า กระทรวงการคลังไม่มีแนวคิดที่จะขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจ หรือลดสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจลงโดยการขายหุ้นออกมากเพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการนี้อย่างแน่นอน โดยเบื้องต้นทางเลือกแรกที่รัฐบาลจะใช้คือการเกลี่ยงบประมาณและปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้งบประมาณที่เป็นไขมันส่วนเกินแล้วจะนำงบประมาณที่เหลือมาใช้ในการพัฒนาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับนโยบายของรัฐ ซึ่งสำนักงบประมาณก็จะไปดูในรายละเอียดว่ามีโครงการใดบ้างที่ไม่จำเป็น

ขณะนี้เป็นช่วงการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 อยู่ระหว่างการทำเรื่องเสนอของบประมาณไปยังสำนักงบประมาณ ดังนั้นโครงการใดที่ไม่จำเป็นหรือเป็นไขมันส่วนเกินที่สามารถปรับลดได้หรือตัดได้ โดยนำงบประมาณที่เหลือมาใช้ในการพัฒนาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับนโยบายของรัฐ ซึ่งสำนักงบประมาณก็จะไปดูในรายละเอียดว่ามีโครงการใดบ้างที่ไม่จำเป็น

‘จุลพันธ์’ ยัน!! เงื่อนไขแจกเงินดิจิทัล ไม่สนเรื่อง 'รวย-จน' ชี้!! มุ่งหวังกระตุ้น ศก. ไม่ใช่สงเคราะห์คนยากจน

(14 ต.ค.66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยัน กระแสข่าวเกี่ยวกับการตัดสิทธิ์คนที่มีรายได้สูงหรือการเตรียมวงเงินไว้เพียง 4 แสนล้านสำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทนั้น ไม่ใช่ความจริง เพราะขณะนี้โครงการยังไม่ได้สรุปรายละเอียดออกมา โดยคณะอนุกรรมการอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อนำมาเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ คาดจะได้ข้อสรุปโดยเร็วภายใน 2 สัปดาห์นี้

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นในส่วนที่มีข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งในส่วนการพิจารณาเงื่อนไขการแจกเงิน เราไม่ได้ดูเรื่องความรวยหรือจน เพราะเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่โครงการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนยากจน แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือมุมมองการใช้จ่ายของคนที่มีรายได้สูงจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่หรือเพียงเอาเงินไปออมแทน

“เราได้ให้การบ้านต่ออนุกรรมการไปพิจารณาในเงื่อนไขสำหรับกลุ่มคนที่ควรได้รับเป็นอย่างไร เช่น หลักเกณฑ์การดูคนรวยเป็นอย่างไร เช่น ควรดูที่เงินฝาก ที่ดิน หรือการเสียภาษี เราก็อยากถามกลับไปยังผู้เสนอความคิดนี้ว่ามีข้อเสนอเรื่องนี้อย่างไร รัฐบาลพร้อมรับฟังมาปรับเงื่อนไข ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมและมีความชัดเจน” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกออกมาเตือนรัฐบาลทั่วโลกให้พยายามรักษาวินัยการเงินการคลังท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เขายืนยันว่า รัฐบาลจะรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด แต่รัฐบาลก็จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการเติบโตสูงกว่าศักยภาพ

“ปัญหาเศรษฐกิจในหลายปีที่ผ่านมานั้น ทำให้เงินประชาชนขาดมือ เราจึงต้องเติมเงินเข้าไปให้ เพื่อให้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายรัฐ”นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ในแง่วงเงินที่เราจะนำมาใช้นั้น จะไม่ถึง 5.6 แสนล้านบาทแน่นอน เพราะคนที่มีอายุเกิน 16 ปี มีแค่ 5.48 ล้านคน ดังนั้น จะมีกรอบเต็มที่แค่ 5.48 แสนล้านบาท ยังไม่นับรวมเงื่อนไขที่ดูความจำเป็นของกลุ่มคนและคนที่ไม่มาร่วมโครงการ

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เขายังกล่าวถึงเงื่อนไขในการสมัครร่วมโครงการเบื้องต้นนั้น ยืนยันไม่ต้องมีการลงทะเบียน แต่ต้องทำการยืนยันตัวตนด้วยระบบเควายซี จากนั้น กดรับสิทธิ์ จะได้เข้าร่วมโครงการอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้ สำหรับผู้ที่เคยร่วมโครงการรัฐที่ผ่านมา 40 ล้านคน ที่ได้เควายซีไปแล้วก็ไม่ต้องมายืนยันตัวตน ฉะนั้น จึงเหลือเพียงสิบล้านคนเท่านั้น ที่จะต้องมายืนยันตัวตน

‘คลัง’ แย้ม!! ก.ค.นี้ เล็งเคาะวันลงทะเบียน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ พร้อมเปิดให้ ‘ปชช.-ร้านค้า’ ยืนยันสิทธิ์ ผ่านแอปฯ ‘ทางรัฐ’

(3 ก.ค. 67) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ภายในเดือน ก.ค. นี้ กระทรวงการคลังจะประกาศวันเปิดให้ประชาชน และร้านค้าที่มีสิทธิ์ลงทะเบียนเพื่อยืนยันการรับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ตอย่างเป็นทางการ ผ่านแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ โดยจะเปิดให้ผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนภายในระยะ 2 เดือนนับจากวันประกาศ ส่วนกำหนดวันแจกเงิน หรือ โอนเงินในโครงการดิจิทัล วอลเล็ตนั้น ขณะนี้เริ่มเห็นวันที่ชัดเจนแล้ว รอเพียงระบบการโอนเงินมีความพร้อม ก็จะประกาศวันโอนเงินอย่างเป็นทางการต่อไป

“ภายในเดือนนี้ กระทรวงการคลังจะประกาศวันลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ สำหรับประชาชน และร้านค้า โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนประมาณ 2 เดือน เชื่อว่ามีเวลาเพียงพอ ส่วนกำหนดวันรับเงินที่ชัดเจนนั้น คงต้องรอดูว่าระบบจะพร้อมเมื่อไหร่ แต่ขอเวลาทำงานอีกนิดหน่อย ใกล้ ๆ วันอีกหน่อย เพื่อความชัดเจน เพื่อที่วันจะได้ไม่เลื่อนไหลไปอีก” นายจุลพันธ์ กล่าว

ส่วนความคืบหน้า กรณีที่คณะกรรมาธิการ วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 แขวนการพิจารณาจัดสรรงบกลางรองรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 152,700 ล้านบาทนั้น นายจุลพันธ์ ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า หลังจากที่ได้มอบหมายให้นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กลับไปจัดทำเอกสารงบฯ เพิ่มเติม ขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้ากลับมา แต่อย่างไรก็ตามหากแล้วเสร็จจะกำหนดวันที่ชัดเจน เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาต่อสภาฯ ต่อไป

“คาดว่าจะผ่านพิจารณาของสภาฯ ได้ไม่มีไรน่าตื่นเต้น เพราะการแขวนงบไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติ สุดท้ายก็เป็นเรื่องของเสียงข้างมาก เพราะเราชี้แจงได้ และทำให้งบประมาณตัวนี้เข้าสู่วาระ 2 ได้ และมั่นใจว่า จะผ่านวาระ 3 ได้ 100%” นายจุลพันธ์ กล่าว

‘คลัง’ ปลดล็อก!! ‘ผู้ป่วยติดเตียง’ ใช้จ่ายดิจิทัลวอลเล็ตได้ ชี้!! ลงทะเบียนไม่ต่าง อาจแตกต่างที่วิธีใช้สิทธิ รอเคาะ!!

(30 ก.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ไม่มีการนำเข้าสู่การพิจารณา เนื่องจากที่ประชุม ครม.รับทราบหลักการไปแล้ว สามารถดำเนินการลงทะเบียนได้ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ และคาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.ให้รับทราบอีกครั้งเมื่อได้ยอดจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ชัดเจนอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับกระทรวงพาณิชย์ที่สามารถดำเนินการแถลงถึงความชัดเจนในเรื่องของขั้นตอน และในส่วนของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งวันเดียวกันนี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อตรวจสอบถึงความพร้อมต่าง ๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนรายละเอียดโดยเฉพาะของผู้ป่วยติดเตียงได้มีการระบุขั้นตอนที่ชัดเจนแล้วหรือยัง รวมทั้งผู้ป่วยบางประเภทที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นผู้พิการ แต่ไม่สามารถไปใช้จ่ายด้วยตัวเองได้ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยและหารือในประเด็นดังกล่าวแล้ว แต่จะต้องมีการเช็กรายละเอียดอีกครั้งร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในส่วนของผู้พิการจะต้องมีกระบวนการยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้ป่วยประเภทใด เพราะในการใช้เงินในโครงการดังกล่าวจะมีความแตกต่างกัน แต่การลงทะเบียนไม่แตกต่าง ใครมีมือถือระบบสมาร์ทโฟนก็ใช้ระบบดังกล่าว ใครไม่มีก็ใช้บัตรประชาชน ในส่วนของผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนนั้นจะมีการประกาศความชัดเจนว่าให้ลงทะเบียน ณ สถานที่แห่งใดในช่วงกลางเดือนก.ย.นี้

“ผู้ป่วยติดเตียงในที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้มีการหารือกันว่าจะมีการใช้สิทธิอย่างไร แต่ในกระบวนการใช้ลงทะเบียนเหมือนกับบุคคลทั่วไปไม่มีความแตกต่าง แต่ในกระบวนการใช้สิทธิจะมีความแตกต่าง คนมีมือถือสมาร์ทโฟนก็ลงและใช้ผ่านสมาร์ทโฟน คนไม่มีสมาร์ทโฟนก็ต้องใช้ในกระบวนการที่แตกต่าง ซึ่งจะต้องปลดล็อกในกระบวนการ Face to Face หรือซื้อขายแบบตัวต่อตัว ผู้ที่ไม่มีมือถือสมาร์ตโฟน รัฐบาลจะประกาศรายละเอียดการลงทะเบียนเงินดิจิทัลอีกครั้งในช่วงเดือนก.ย.67 ส่วนรายละเอียด ขั้นตอน และคุณสมบัติของร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้นั้น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ จะแถลงความชัดเจนในวันที่ 1 ส.ค.67” รมช.คลัง กล่าว

เมื่อถามถึงข้อกังวลของหลายฝ่ายหากสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ในวาระ 2-3 จะสุ่มเสี่ยงต่อข้อกฎหมายอะไรหรือไม่ เพราะมีการมองว่าเป็นการใช้งบเหลื่อมปีไปแล้ว นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 8 หน่วยงาน ตามที่ทุกฝ่ายร้องขอและได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจให้มีความเข้าใจตรงกัน

“การที่มีบางฝ่ายมีข้อห่วงใย ว่าจะสุ่มเสี่ยงต่อข้อกฎหมายนั้น ก็เป็นการชี้ชัดแล้วว่ามีการดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง ซึ่งหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านกฎหมายก็ยืนยันชัดเจนว่าเป็นไปตามกรอบสามารถดำเนินการได้ และทั้ง 8 หน่วยงานที่เชิญมาให้ความมั่นใจว่าเราดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว” รมช.คลัง กล่าว

‘จุรินทร์’ เหน็บ!! ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ แค่เงินยาไส้ชั่วคราว หากพ้นช่วงกู้มาแจก ปัญหาปากท้องก็ยังวนมาเหมือนเดิม

จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 9 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 31 ก.ค.67 เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในวาระ 2 และ 3 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ได้อภิปรายว่า... 

แนวความคิดทางเศรษฐกิจ อาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องธรรมดา อ่านหนังสือด้านเศรษฐศาสตร์เมื่ออ่านพร้อมกัน มาวิเคราะห์ ก็มีข้อถกเถียงกันเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ขณะนี้ รัฐบาลยืนยันถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาในช่วง 10 ปีก่อนที่อัตราการเจริญเติบโตตกต่ำ จนขณะนี้เจริญเติบโตในระดับต่ำสุดของภูมิภาค จึงยืนยันถึงความจำเป็นของการมีเม็ดเงินเติมลงไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนตัวเลขที่คณะกรรมการหลายท่านอ้างขึ้นมา เป็นตัวเลขที่รัฐบาลตระหนัก และดูอย่างใกล้ชิด สัดส่วนการชำระหนี้ต่อรายได้รัฐ ยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่มีตัวเลขใดที่สุ่มเสี่ยงจะทะลุเกินจะผิดพลาดไปตามกลไกที่เราตรากฎหมายกำกับไว้ ซึ่งก็รับทราบ เพราะมีหน่วยงานรัฐมาชี้แจงในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ว่าขณะนี้ การประมาณการไปข้างหน้าอีกหลายปี ไม่มีกรอบว่าตัวเลขใดจะเป็นปัญหา รัฐบาลยืนยันว่า ทำไปด้วยความรอบคอบ และจะไม่ให้มีปัญหาวิกฤติใด ๆ เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

ส่วนของโครงการนี้คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพียงพอ ซึ่งขณะนี้เราโตต่ำ โดยในปีนี้ด้วยการผลักดันตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งการเปิดฟรีวีซ่า เสริมความง่ายในการดำเนินธุรกิจ ตัวเลขในไตรมาส 2 โตจากไตรมาส 1 ขึ้นมา ด้วยการเร่งเครื่องของรัฐบาล และประกอบกับนโยบายที่เติมลงไป และการเติมเงิน 10,000 บาท เชื่อมั่นว่า จะดึงการเจริญเติบโตไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมคือ 4-5% ให้ได้ หากทำได้เช่นนั้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นตัวหารของหนี้ต่าง ๆ ซึ่งหากเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐ ตัวเลขที่กังวลว่าจะไปเกิน หรือไปปริ่ม ก็จะสามารถแก้เรื่องนี้ได้

ประเด็นแรก การแสดงความห่วงใยด้านการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย เกือบทุกท่านใช้คำว่าสุ่มเสี่ยง ซึ่งใจความหนึ่ง ก็หมายความว่ายังอยู่ในกรอบกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ โดยหน่วยงานได้มาชี้แจงในทุกประเด็นแล้ว ซึ่งประเด็นที่มีการอภิปรายมากที่สุดคือการใช้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ที่อาจมีการเบิกจ่ายในไตรมาส 4 จะสอดคล้องกับกฎหมายหรือไม่

ตามมาตรา 21 ของกรอบวินัยการเงินการคลัง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้เงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายปีถัดไปได้ และให้ระบุที่มาของเงิน

พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณมาตรา 4 กำหนดคำว่าหนี้ คือ ข้อผูกพันที่จะต้องจ่าย อาจจะต้องจ่ายเป็นเงิน สิ่งของ หรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นข้อผูกพันที่เกิดจากการกู้ยืม ค้ำประกัน การซื้อ หรือการจ้าง โดยใช้เครดิต หรือการอื่นใด ดังนั้น การก่อหนี้ผูกพันจึงไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะกรณีมีข้อผูกพันที่ต้องจ่ายเป็นที่แน่นอนแล้วเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงข้อผูกพันที่อาจทำให้ต้องจ่ายด้วย ซึ่งการดำเนินการโครงการของรัฐ อาจมีการทำสัญญากับประชาชนโดยตรง แต่ดำเนินการผ่านแผนงาน หรือโครงการประกอบกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณมาตรา 40 กำหนดให้การจ่ายเงิน หรือก่อหนี้ผูกพันของหน่วยงบประมาณ ต้องเป็นไปตามแผนการบริหารงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 

ดังนั้น การที่รัฐบาลทำโครงการนี้ ให้ประชาชนลงทะเบียน โดยมีการยืนยันตัวตนของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ก็เป็นข้อผูกพันที่ต้องจ่ายตามกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของหนี้ โดยในการชี้แจง ได้บอกชัดเจนในคณะกรรมาธิการว่าเป็นการเสนอ และสนอง เมื่อประชาชนกดปุ่มขอใช้สิทธิ์ ก็เสนอกับรัฐ เมื่อรัฐยืนยันสิทธิ์ คือการสนองตอบตามข้อสัญญา ก็มีนิติกรรมร่วมกันระหว่างประชาชนกับรัฐ เช่นเดียวกับโครงการในอดีตของรัฐบาล

ล่าสุด (1 ส.ค. 67) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในเดือนสิงหาคมว่า อาจจะเป็นเดือนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ในหลายกรณี เพราะมีหลายเหตุการณ์ที่ประดังกันเข้ามาในช่วงเดือนสิงหาคมพอดี แต่ถ้าดูให้ลึกจะเห็นว่า แต่ละสถานการณ์มันมีที่มาที่ไปหรือเกิดแต่เหตุ ไม่ใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งจงใจสร้างขึ้นมาได้ และหลายเหตุก็มาจากการกระทำของรัฐบาลเอง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า แต่ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไร มันก็มีทางออกของมัน ในฐานะของผู้ที่อยู่กับการเมืองจึงไม่ได้รู้สึกห่วงใยอะไรเป็นพิเศษ แต่ที่เห็นว่าน่าห่วงเป็นอย่างยิ่งคือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะชีวิตความเป็นอยู่ของคนรากหญ้าไปถึงคนชั้นกลาง ที่กำลังประสบกับภาวะความยากลำบากทางเศรษฐกิจจากการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้มากขึ้นทุกวัน ทั้งภาวะค่าครองชีพ หนี้ครัวเรือน ที่มีรายได้มาเท่าไหร่ต้องใช้หนี้ 90 กว่า% จนคนไทยต้องจมปลักอยู่กับภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง ธุรกิจจีนเข้ามากินรวบกิจการคนไทย ธุรกิจฐานรากไทยเข้าคิวปิดกิจการ เป็นต้น

“ที่สำคัญจนถึงวันนี้ยังไม่มีแสงสว่างใด ๆ จากปลายอุโมงค์ให้เห็น นอกจาก ‘เงินยาไส้ชั่วคราว’ ก้อนเดียวคือดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเมื่อพ้นจากดิจิทัลวอลเล็ตหรือเงินกู้มาแจกแล้ว ยังมองไม่เห็นว่าประชาชนจะมีอะไรหลงเหลือให้หวังได้อีก” นายจุรินทร์ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top