Sunday, 20 April 2025
จิรายุ_ห่วงทรัพย์

‘จิรายุ’ แซะ ‘พรรคร่วมฯ’ อย่าทะเลาะกันบ่อย อยากเห็น ‘ปรองดอง’ ทำนโยบายที่เคยโม้ไว้

(4 พ.ย. 65) ที่รัฐสภา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ฝ่ายค้านได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาล ฉะนั้น จึงขอฝากเตือนไปยังรัฐมนตรีหลายคนอย่าคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงนอนหลับ เพราะฝ่ายค้านทำงานตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อรวบรวมข้อมูล ซึ่งแน่นอนว่าจะนำไปสู่การเปิดเผยในสภาและเวทีนอกสภา ทั้งนี้ การตรวจสอบไม่ใช่แค่การอภิปราย ไม่ใช่แค่การใช้วาจาในสภาเท่านั้น มีการจับจริงเกิดขึ้นมาแล้วในหลายเรื่อง โดยมี 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้ยื่นเรื่องกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไป 5 สำนวน ตนไปร้องไม่ได้มีกระดาษแค่ 4 แผ่น แต่ตนไปร้องเป็นหนังสือ เอกสาร พยานหลักฐานสำคัญ 4,000 กว่าหน้า จึงขอฝากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ท่านผู้นำประเทศอย่าได้นิ่งนอนใจ นอกจากนี้จะมีสำนวนสำคัญอีก 2-3 สำนวนส่งเข้าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ที่ตนเป็นประธานอยู่

“ขอเตือนไปยังรัฐบาลอย่าลักหลับในช่วง 4 เดือนสุดท้าย ไม่ว่าท่านจะวางแผนยุบสภาหรือไม่ หรือแม้กระทั่งที่ท่านบอกว่าจะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม ซึ่งผมไม่สบายใจอย่างยิ่งที่เมื่อวานนี้ (3 พฤศจิกายน) มีสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลพูดต่อกรรมาธิการว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยุบสภาภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยไม่รออยู่ครบวาระ ซึ่งผมก็บอกว่า ผมไม่รู้ ผมไม่เชื่อ เพราะผมเคยเจอพล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่เคยไปจับเข่าคุยกับเขา ซึ่งสมาชิกฝ่ายรัฐบาลคนนั้น ก็ยังยืนยันว่าพล.อ.ประยุทธ์อยู่ไม่ครบวาระ เนื่องจากมีเงื่อนไข 180 วัน เพราะหากยุบสภาก่อน ก็จะต้องไปใช้อีกกฎหมายหนึ่ง แต่ถ้ายุบวันที่ 23 มีนาคม ก็จะครบตามที่กฎหมายบังคับคือ 180 วัน ไม่ว่า ท่านจะยุบเร็วหรือยุบช้า เรื่องของท่าน แต่เรื่องของฝ่ายค้านคือการติดตามตรวจสอบในทุกวินาทีจนกว่าท่านจะยุบสภาหรือท่านจะอยู่ครบวาระก็ตาม” นายจิรายุ กล่าว

'จิรายุ' โวย 'บิ๊กตู่' ชิ่งตอบกระทู้สด 'ทุนจีนสีเทา' ลั่น!! วันนี้ไม่มา วีกหน้าก็จะถามอีก ขออย่ายุบสภาหนีก่อน

‘จิรายุ’ จวก ‘บิ๊กตู่’ หลังชิ่งไม่มาตอบกระทู้สด 'ทุนจีนสีเทา-ตั๋วนำเที่ยววีไอพี' ยันไม่มาวันนี้ สัปดาห์หน้าก็จะถามอีก ดักคอ อย่ายุบสภาหนีก่อนซักฟอก 152 ลั่น ถ้าจะยุบก็รีบยุบเสาร์ อาทิตย์ นี้เลย!

(26 ม.ค. 66) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาในวันนี้ (26 ม.ค.) ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับหน้าที่ให้ถามกระทู้สด 2 กระทู้ และมีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ด้วย 1 กระทู้ โดยตนและพรรคก้าวไกล จะถามกระทู้เรื่องทุนจีนสีเทาในกรณีที่เข้ามาก่ออาชญากรรมและมีการข่มขู่พยาน รวมถึงตั๋ววีไอพีของนักท่องเที่ยวจีนที่มีการใช้บริการเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการขายบัตรอิดิสการ์ด ซึ่งเป็นบัตรวีไอพีให้กับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ราคา 5 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท ปรากฏว่าผู้ที่ขายคือกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้ขายให้กลุ่มทุนจีนสีเทาหลายคน ที่นักท่องเที่ยวหลายคนใช้สิทธิพิเศษนี้ผ่านตม.เข้ามา และซื้ออสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นมา จึงได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีและรมว.ท่องเที่ยวฯ แต่ทั้ง 2 ท่านปฏิเสธและบอกว่าติดภารกิจ ซึ่งเป็นคำยอดฮิต แต่ในรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนว่าคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต้องมาตอบชี้แจงกระทู้ถามสดของที่ประชุมสภาฯ

“ท่านจะอธิบายว่าไม่ทราบล่วงหน้าไม่ได้ เพราะท่านนายกฯจะต้องเตรียมสแตนบายเพื่อที่จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาตอบแทน ฉะนั้น วันนี้ (26 ม.ค.) แม้ว่าท่านจะไม่มาตอบ แต่ผมก็จะขอถามทิพย์ ถามไปอย่างนั้น ถามท่านประธานไป แม้ท่านประธานจะตอบได้หรือไม่ได้ ก็คงไม่ตอบอยู่แล้ว เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าปลายเทอมของรัฐบาลชุดนี้ ผมไม่เคยเห็นนายกฯมาตอบกระทู้เลย ครั้งที่แล้วมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯมาตอบ ก็ตอบไม่ชัดเจน ผมคิดว่าหากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ทักท้วงก็รีบ ๆ ยุบสภาไปเลย เสียเวลาประเทศชาติและประชาชน ”นายจิรายุ กล่าว

เมื่อถามว่า แม้ไม่ได้ตั้งกระทู้ถามวันนี้ (26 ม.ค.) ฝ่ายค้านจะพิจารณานำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 หรือไม่ นายจิรายุ กล่าวว่า เราเอาเวลาอันใกล้ก่อน ในเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ในรัฐธรรมนูญเขียนว่ากระทู้สดต้องรีบถาม ถ้าไม่ถามก็จะเกิดปัญหา การอภิปรายมาตรา 152 หลังวันที่ 15 ก.พ. คิดว่าช้าไป ฉะนั้น สัปดาห์หน้าตนจะยื่นถามอีก

‘อุ๊งอิ๊ง’ พาไทยผงาด ในเวทีประชุม ‘สุดยอดผู้นำอาเซียน’ ลั่น!! พร้อมเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมแก้ปัญหา ในเมียนมา

(12 ต.ค. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ ‘เสียงจากใจ…ไทยคู่ฟ้า’ ทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย  สรุปภาพรวมภารกิจของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการเดินทางเยือนสปป.ลาว ในช่วงระหว่างวันที่ 8-11 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และกำลังจะมีสมาชิกใหม่คือ ติมอร์เลสเต การเดินทางครั้งนี้ มีส่วนราชการ นักธุรกิจไปร่วม การประชุมเพื่อรวมประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม700ล้านคน จะทำให้มีพลังและอำนาจต่อรอง โดยการประชุมได้พูดคุยกรอบร่วมมือด้านต่างๆ ทั้งยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และค้ามนุษย์ น้ำท่วม หมอกควัน PM2.5 โดยในวันแรกเป็นการเยือนสปป.ลาว ในฐานะแขกของสปป.ลาว อย่างเป็นทางการ ได้รับการต้อนรับจากนายกรัฐมนตรีลาว และผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลลาวอย่างสมเกียรติ และที่ประชุมหารือปัญหาสำคัญของประเทศไทย-ลาว ที่ได้ร่วมกันจับมือแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ ปัญหาหมอกควันและยาเสพติดระหว่างชาติ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงเพื่อป้องกันอุทกภัยระหว่างกันในอนาคต

จากนั้นในวันที่ 9-11 ต.ค.นายกฯได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 44-45 และการประชุมอื่น รวมทั้งการพบปะผู้นำแต่ละชาติที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้นกว่า20การประชุม อาทิ การประชุมแบบเต็มคณะ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนอกจากนี้ยังมีการประชุมครั้งที่ 45 ซึ่งเป็นการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน ซึ่งผลของการประชุมเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาอย่างยิ่ง การประชถมอาเซียนบวกสาม

นายจิรายุ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีความหลากหลาย อาทิการประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ 27 และการประชุมสุดยอดอาเซียน - เกาหลีใต้ ครั้งที่ 25 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน กับเกาหลีใต้และการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 27 และการประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดีย ครั้งที่ 21 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 19  นอกจากนี้นายกฯ ของไทย ได้หารือทวิภาคีเพื่อแนะนำตัว และสร้างความคุ้นเคยกับผู้นำ 12 ประเทศ ได้แก่ บรูไนฯ กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา รวมทั้ง  รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯและนาย Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร WEF ที่เชิญนายกรัฐมนตรีไปร่วมการประชุม WEF ที่ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี2568 รวมถึงพูดคุยกับนายกฯแคนาดา 

นายจิรายุ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ถือว่าประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการนำเสนอและผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน รวมทั้งการส่งเสริมความเชื่อมโยง ซึ่งนายกฯ ได้หยิบยกเรื่องการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างกัน และการขยายระยะเวลาการยกเว้นวีซ่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน 

ส่วนในหลายเวทีการประชุมและการหารือกับประเทศต่าง ๆ ไทยและประเทศคู่เจรจา ยังตอบรับที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการลักลอบค้ายาเสพติด และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การรับมือภัยพิบัติ การบริหารจัดการน้ำ และการแก้ไขปัญหาหมอกควันและ PM2.5 รวมทั้งการรับมือ การเปลี่ยนแปลง สภาพอากาศจากทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา และจะเป็นประโยชน์การส่งเสริมการกินดีอยู่ดี และความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน 

ขณะที่นายกฯกล่าวในเวทีอาเซียนวันสุดท้ายของการประชุมว่า จะส่งเสริมสันติภาพ ในภูมิภาคนี้ซึ่งในส่วนของเมียนมา ไทยเสนอตัวเป็นสถานที่จัดการประชุมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในเดือนธันวาคมปีนี้ เพื่อส่งเสริมความพยายามของอาเซียนในการช่วยกันแก้ไขปัญหาในเมียนมาโดยสันติด้วย 

นายจิรายุ กล่าวสรุปว่าการประชุมทั้ง 4 วันครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามสื่อมวลชนต่างชาติ และประเทศคู่เจรจาให้ความสำคัญกับประเทศไทย และได้นำปัญหาและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน มาพูดคุยกันจนเป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่ การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของแต่ละประเทศต่อไป โดย โดยในปีหน้าประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนครั้งที่ 46 ต่อไป

สินค้าเกษตร ‘เมดอินไทยแลนด์’ ขึ้นแท่นที่ 1 ในอาเซียน ติดอันดับ 8 ของโลก ยอด 8 เดือน ส่งออกพุ่ง 4.3 แสนล้านบาท นายกฯ เล็งดันติด Top 5 โลกในปีหน้า

(27 ต.ค. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก ช่วง 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม 2567) นั้น พบว่าประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก มีมูลค่ามากถึง 19,826 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นการส่งออกไปกลุ่มประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย มูลค่า 13,774 ล้านดอลลาร์ หรือ 4.3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 69% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด

ซึ่งประเทศไทยสามารถครองแชมป์เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 8 ของโลก โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน สัดส่วนกว่า 31% ของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยทั้งหมด อาเซียน สัดส่วน 15% ญี่ปุ่น สัดส่วน 11% และเกาหลีใต้ สัดส่วน 3% ตลาดที่เติบโตได้ดี ได้แก่ อาเซียน ขยายตัว 39% อินเดีย ขยายตัว 34% ออสเตรเลีย ขยายตัว 23% สิงคโปร์ ขยายตัว 10% เกาหลีใต้ ขยายตัว 9% และญี่ปุ่น ขยายตัว 7% ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเจออุปสรรคการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ และความท้าทายจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน แต่แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยยังมีทิศทางที่ดี และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

นายจิรายุ ยังกล่าวต่ออีกว่า จากรายงานถึงสถิติการส่งออกรายเดือน พบว่าความต้องการสินค้าเกษตรไทยเพิ่มขึ้น โดยในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 1,651 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9% จากเดือนก่อนหน้า และภาพรวมของไทยกับคู่ค้าในตลาด FTA เติบโตเพิ่มขึ้น อาทิ จีน และญี่ปุ่น ขยายตัว 11%  อินเดีย ขยายตัว 24%  นิวซีแลนด์ ขยายตัว 34%  อาเซียน ขยายตัว 4% ฮ่องกง ขยายตัว 2%  ชิลี ขยายตัว 42.8%  อีกทั้ง ในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ 5 อันดับต้นของไทย ขยายตัวเป็นที่น่าพอใจทุกรายการ โดยสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกเป็นอันดับที่หนึ่ง คือ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่า 604 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21% ข้าว มูลค่า 562 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 41% ยางพารา มูลค่า 497 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9% ไก่ มูลค่า 392 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6%  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 260 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2%  

“แม้ว่าแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรไทยในอนาคตมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น ถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีนางสาวแพทองธาร ชินวัตรได้ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งลดอุปสรรคและเงื่อนไขต่างๆในข้อติดขัดเพื่อสนับสนุนให้ผู้ส่งออกของไทย ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นซึ่งจะมีโอกาสส่งผลให้ไทยติดอันดับหนึ่งใน 5 ของโลกได้ในปีหน้า โดยใช้ประโยชน์จากการดำเนินการของรัฐบาลที่เปิดโอกาส ในการสร้างข้อตกลง FTA อย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันไทยได้เจรจาจัดทำ FTA สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยทั้งสิ้น 14 ฉบับกับคู่ค้า 18 ประเทศคู่ค้า อีกทั้ง มีการลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่แล้ว อาทิ  ยางพารา 16 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว ยกเว้นจีนและอินเดีย  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 15 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทย ยกเว้นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย  ไก่แปรรูป 14 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าไก่แปรรูปจากไทย ยกเว้นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ชิลี และเปรู ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง 12 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าแล้ว ยกเว้นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวระบุทิ้งท้าย

รัฐบาลปลื้ม ไทยติดอันดับ 8 ‘ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรม’ มากที่สุดในโลก ชี้!! มาถูกทาง เตรียมขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ให้เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่

(2 พ.ย. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลสำเร็จการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย ของในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นยกระดับศักยภาพของคนไทย และทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล สร้างความประทับใจให้คนทั่วโลก

ส่งผลต่อการจัดอันดับในหัวข้อ ‘ประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก’ ประจำปี 2567 บนเว็บไซต์ U.S. News & World Report ประเทศไทยติดอันดับที่ 8 จากทั้งหมด 89 ประเทศ ถือเป็นอันดับสูงสุดของประเทศแถบเอเชีย

นายจิรายุ กล่าวว่า หลักเกณฑ์พิจารณา จะพิจารณาจากคุณลักษณะของประเทศ 5 ประการ ได้แก่ มีวัฒนธรรมที่เข้าถึงได้, มีประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง, มีอาหารที่ยอดเยี่ยม, มีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมมากมาย และมีสถานที่ท่องเที่ยวทางภูมิศาสตร์เป็นจำนวนมาก จากรายละเอียดการจัดอันดับระบุว่าประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพและเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม

และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากที่สุดในโลก ผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมกับบ้านเมืองที่ทันสมัย มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และทางธรรมชาติ หาดทรายและวัดวาอารามที่งดงาม และมีชื่อเสียงด้านการนวดแผนไทยและอาหารที่มีรสชาติยอดเยี่ยม

“สะท้อนให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเดินมาถูกทาง นายก ฯ แพทองธาร เตรียมขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ให้เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ในการสร้างรายได้ในประเทศเร่งเดินหน้าผลักดันประเทศไทยให้เป็น 1 ใน 25 ประเทศที่มีอิทธิพลด้าน Soft Power ในมิติวัฒนธรรม ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ให้มาสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยววัฒนธรรมของไทย” นายจิรายุ กล่าวทิ้งท้าย

นักลงทุนต่างชาติ เชื่อมั่น!! ประเทศไทย ลงทุนกว่า 1.3 แสนล้านบาท ชี้!! มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี วัตถุดิบที่เพียงพอ กระตุ้นให้เกิดการลงทุน

(3 พ.ย. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงตัวเลขนักลงทุนต่างชาติที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทย ว่า ตัวเลขเพิ่มขึ้น แสดงถึงศักยภาพของไทยที่ได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน โดยพบว่าตั้งแต่เดือน มกราคม-กันยายน ที่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 636 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 143 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 493 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 134,805 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 2,505 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 143 ราย คิดเป็นร้อยละ 29 มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 50,792 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60

นายจิรายุ กล่าวว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก 1.ญี่ปุ่น 157 ราย (25%) เงินลงทุน 74,091 ล้านบาท 2.สิงคโปร์ 96 ราย (15%) ลงทุน 12,222 ล้านบาท 3.จีน 89 ราย (14%) ลงทุน 11,981 ล้านบาท 4.สหรัฐอเมริกา 86 ราย (13%) ลงทุน 4,147 ล้านบาท และ 5.ฮ่องกง 46 ราย (7%) ลงทุน 14,116 ล้านบาท โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ของนักลงทุนต่างชาติช่วง 9 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติลงทุน 207 ราย (33% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 108 ราย (109%) มูลค่าการลงทุน 39,830 ล้านบาท (30% ของเงินลงทุนทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 23,690 ล้านบาท (147%) โดยเป็นนักลงทุนจาก ญี่ปุ่น 67 ราย เงินลงทุน 13,191 ล้านบาท จีน 54 ราย ลงทุน 7,227 ล้านบาท ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 68 ราย ลงทุน 14,192 ล้านบาท

ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศคือ ธุรกิจ แพลตฟอร์ม และ ซอฟต์แวร์ ที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยมีสัดส่วนการลงทุนมูลค่า 28,397.26 ล้านบาท คิดเป็น 7.27% (กลุ่มแพลตฟอร์ม 11,721.44 ล้านบาท กลุ่มซอฟต์แวร์ 16,675.82 ล้านบาท) โดยต่างชาติที่มาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ ลงทุน 9,814.28 ล้านบาท ไต้หวัน 5,953.63 ล้านบาท และ มาเลเซีย 2,237.63 ล้านบาท

นายจิรายุ กล่าวว่า ตัวเลขการลงทุนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนชาวต่างชาติให้ความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ควรแก่การมาลงทุน เป้าหมายของรัฐบาล คือการหาตลาดการลงทุนใหม่ รักษาตลาดเก่า ขยายการลงทุนให้เป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีสิทธิประโยชน์ที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานที่ดี วัตถุดิบที่เพียงพอ และมีอุตสาหกรรมที่พร้อมสนับสนุนแผนการลงทุน ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top