Friday, 17 May 2024
จรวด

ไทยเตรียมสร้างฐานปล่อยจรวด ต่อยอดกิจการอวกาศสู่เชิงพาณิชย์

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. และ Korea Aerospace Research Institute (KARI) ร่วมลงนามความร่วมมือการศึกษาความความเป็นไปได้ในการสร้างจัดตั้งท่าอวกาศยานในประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา 

โดยมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และ Mr.Sang-Ryool LEE ประธานบริหารKARI และได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และ Mr.Bae Jae Hyun อัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยานฯ ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ถนนโยธี) 

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินและอวกาศเป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งจะเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลีในครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอวกาศ (Space Industry / Space Economy) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ รวมไปถึง (ร่าง) พ.ร.บ. กิจการอวกาศที่จะเป็นกลไกสำคัญในการใช้ประโยชน์จากอวกาศสู่การพัฒนาประเทศบนฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่อไป

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงในครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ในประเทศไทย ด้วยศักยภาพและความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์สำหรับการจัดตั้ง Spaceport มากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง การได้ร่วมมือกับ KARI ซึ่งเป็นองค์กรด้านการวิจัยอวกาศที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาตินี้เกิดขึ้นหลังจากการลงนาม MOU ความร่วมมือด้านกิจการอวกาศ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

‘ระบบร่มชูชีพ’ ฝีมือจีน นำทางจรวด ให้ลงจอด จุดที่กำหนดไว้ ได้อย่างแม่นยำ

(ซินหัว) — สถาบันเทคโนโลยีจรวดขนส่งแห่งชาติจีน เปิดเผยผลการทดสอบระบบร่มชูชีพพัฒนาเองที่สามารถช่วยนำทางจรวดบูสเตอร์ (rocket booster) ร่อนลงสู่พื้นที่เป้าหมาย ระหว่างการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศ เมื่อไม่นานนี้

สถาบันฯ ระบุว่าระบบร่มชูชีพนี้ถูกใช้กับจรวดขนส่งลองมาร์ช-3บี (Long March-3B) ซึ่งบรรทุกดาวเทียมนำทางเป่ยโต่วขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 17 พ.ค. จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชาง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ โดยสามารถนำทางจรวดบูสเตอร์ลงสู่ตำแหน่งที่กำหนดไว้ และจำกัดระยะการลงจอดให้แคบลงได้ร้อยละ 80

ระบบดังกล่าวถูกออกแบบให้ควบคุมตำแหน่งลงจอดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ระหว่างร่อนลงจะสามารถเปิดพาราฟอยล์หรือร่มชูชีพโดยอัตโนมัติที่ระดับความสูงเฉพาะ ซึ่งจะนำทางจรวดบูสเตอร์สู่พื้นที่ลงจอดที่คาดการณ์ไว้

อนึ่ง จุดปล่อยจรวดสำคัญของจีนส่วนใหญ่ตั้งลึกเข้าไปในแผ่นดิน ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้ชิ้นส่วนจรวดลงสู่พื้นอย่างคาดการณ์ไม่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีกิจกรรมของมนุษย์ และถือเป็นภารกิจเร่งด่วนสำหรับบรรดานักวิทยาศาสตร์

‘จีน’ ปล่อย ‘ลองมาร์ช-2ดี’ ส่งดาวเทียมสำรวจสู่อวกาศสำเร็จ นับเป็นการบินครั้งที่ 500 ของจรวดขนส่งในตระกูลลองมาร์

(10 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ซีชาง รายงานว่า จีนปล่อยจรวดขนส่ง ‘ลองมาร์ช-2ดี’ (Long March2D) ซึ่งขนส่งดาวเทียมสำรวจระยะไกลดวงหนึ่งขึ้นสู่อวกาศ

‘จรวดลองมาร์ช-2ดี’ ทะยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชาง ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ ตอน 09.58 น. (ตามเวลาปักกิ่ง) และส่งดาวเทียม ‘เหยาก่าน-39’ (Yaogan-39) เข้าสู่วงโคจรที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ การขนส่งดาวเทียมดังกล่าวนับเป็นภารกิจการบินครั้งที่ 500 ของจรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ช

'เถาเป่า' ทดลองยิงจรวดส่งสินค้าด่วนขั้นเทพ ส่งได้ทั่วโลกภายในหนึ่งชั่วโมง แม้แต่รถยนต์

สเปซ อีพ็อก (Space Epoch) บริษัทผู้สร้างจรวดของจีน ประกาศความร่วมมือกับ ‘เถาเป่า’ แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ในเครืออาลีบาบา ทดลองส่งสินค้าตามสั่งด้วยจรวด

(1 เม.ย. 67) สตาร์ตอัปเอกชน ซึ่งมีชื่อเต็มว่า บริษัท ปักกิ่ง เซพ็อก เทคโนโลยี จำกัด (Beijing Sepoch Technology Co) ยืนยันกับโกลบอลไทมส์ สื่อของทางการจีนเมื่อวันอาทิตย์ (31 มี.ค.) ว่า จะเริ่มดำเนินการทดสอบครั้งแรกในปีนี้ ถ้าโครงการสำเร็จราบรื่น การส่งสินค้าข้ามประเทศด้วยจรวดจะสามารถทำได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ในขณะที่ตามรายงานของรอยเตอร์นั้นระบุว่า แค่ชั่วโมงเดียว

โดยการขนส่งในขั้นแรกจะใช้เซพ็อกไฮเคอร์หมายเลขหนึ่ง (Sepoch Hiker No 1) หรือ หยวนซิง - 1 ซึ่งเป็นจรวดขนส่งของเหลวขนาดกลาง ที่บริษัทเป็นผู้พัฒนา จรวดนี้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ลำตัวจรวดทำด้วยเหล็กกล้าไม่เป็นสนิม โดยเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีการผลิตทางอุตสาหกรรมร่วมกับนวัตกรรมเทคโนโลยีการรีไซเคิลทางทะเล ซึ่งช่วยลดเวลาการวิจัยและพัฒนา และลดความเสี่ยงในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากพิสูจน์แล้วว่า ประสบความเสร็จ ก็จะช่วยตอบโจทย์บริการส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งความต้องการของผู้บริโภคกำลังพุ่งทะยาน

จรวดมีพื้นที่บรรทุกสินค้าได้มากถึง 10 ตัน ด้วยการออกแบบให้มีปริมาตรความจุ120 ลูกบาศก์เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.2 เมตร ซึ่งหมายความว่า นอกจากสินค้าขนาดกลางและขนาดเล็กแล้ว ยังสามารถขนส่งสินค้าขนาดใหญ่อย่างรถยนต์ หรือแม้กระทั่งรถมินิแวนได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทสตาร์ตอัปรายนี้ยอมรับว่า การขนส่งสินค้าด้วยจรวดที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่อาจเป็นภารกิจที่ยากลำบากในระยะสั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและขีดความสามารถในปัจจุบัน แต่นั่นอาจเป็น ‘การสำรวจในระยะยาวที่มีความหมาย’ บริษัทระบุ

ทั้งนี้ ในปี 2566 สเปซ อีพ็อกได้เสร็จสิ้นการทดสอบการจุดระเบิดแบบสถิตและการกู้จรวดเซพ็อกไฮเคอร์ ที่ลงจอดในทะเล โดยมีแผนทดสอบการนำจรวดลงจอดในทะเลและดำเนินการกู้ขึ้นมาเป็นเที่ยวบินแรกในเร็ว ๆ นี้ จากนั้น จึงจะทดสอบการขนส่งสินค้าด้วยจรวดเป็นครั้งแรก ซึ่งทำภายในประเทศจีนก่อน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top