Thursday, 16 May 2024
งบประมาณปี67

'ลุงหนู' ไฟเขียว!! ร่างงบฯ ปี 67 แตะ 2.44 แสนล้านบาท ดันเมกะโปรเจ็กต์ หนุนแผนระบบขนส่งคมนาคม

‘อนุทิน’ นั่งหัวโต๊ะไฟเขียวร่างงบประมาณปี 67 กว่า 2.44 แสนล้านบาท ดันโครงการเมกะโปรเจ็กต์ หนุนแผนระบบขนส่งคมนาคม เร่งสรุปผลงบประมาณรายจ่าย ชงสำนักงบประมาณภายใน 27 ม.ค.นี้

(24 ม.ค. 66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะที่ 3.2 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างคำของบประมาณบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 108 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 244,505.6705 ล้านบาท โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันของ 7 กระทรวง 26 หน่วยงาน

ทั้งนี้แบ่งเป็น เป้าหมายที่ 1 จำนวน 11 หน่วยงาน สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม (สปค.)กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.)กรมเจ้าท่า (จท.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) (กรมการขนส่งทางราง (ขร.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) (การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รวม 88 โครงการ วงเงิน 243,660.1700 ล้านบาท คิดเป็น 99.65% มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) M6 บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี โครงการทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1065 สาย อ.พรานกระต่าย-พิษณุโลก

โครงการพัฒนาทาง และสะพานโครงข่ายทางหลวงชนบท สนับสนุนด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย โครงการศูนย์ขนส่งชายแดน จ.นครพนม โครงการปรับปรุงท่าอากาศยาน 16 แห่ง โครงการทางพิเศษ (ด่วน) สายกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต โครงการทางหลวงพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา โครงการออกแบบรายละเอียดงานโยธาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม และสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นต้น

สำหรับป้าหมายที่ 2 จำนวน 15 หน่วยงาน (จท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานสภาพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์/กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ/กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน/สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) สถาบันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ม.พะเยา ม.เชียงใหม่ ม.บูรพา และ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา รวม 20 โครงการ วงเงิน 845.5005 ล้านบาท คิดเป็น 0.35% มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนเพื่อรองรับงาน NSW

นอกจากนี้ยังมี โครงการพัฒนาระบบการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติ (NID) และเครื่องหมายประจำตัวสำหรับซากสัตว์ โครงการออกแบบและพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (ePhyto) ผ่านระบบ NSW โครงการเสริมสร้างความสามารถการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน โครงการส่งเสริมการพัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ การศึกษาเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของประเทศไทย

‘ชัยธวัช’ ชี้!! งบ'67 เบี้ยหัวแตก ไร้ยุทธศาสตร์ ไม่มีเป้างานชัดเจน  สะท้อน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เป็นเพียงรัฐบาลเพื่อแบ่งปันอำนาจ 

(3 ม.ค.67) ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วันแรก ซึ่งพรรคก้าวไกลกำหนดธีมในการอภิปรายครั้งนี้ว่า ‘วิกฤตแบบใด? ทำไมจัดงบแบบนี้’ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้อภิปรายคนแรกจากพรรคก้าวไกล กล่าวถึงภาพรวมการจัดทำงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาทของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ว่าเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ไร้ยุทธศาสตร์ ไม่มีลำดับความสำคัญ เหมือนรัฐบาลทำงานอย่างไม่มีวาระเป้าหมายชัดเจน

ชัยธวัช ระบุว่า ย้อนไปวันที่ 11 กันยายน 2566 นายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา บอกว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในประเทศ สถานการณ์ของประเทศวันนี้มี 3 วิกฤตสำคัญ คือ (1) วิกฤตรัฐธรรมนูญ (2) วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน (3) วิกฤตความขัดแย้งในสังคม นายกฯ บอกว่าเพื่อแก้ปัญหา สร้างความพร้อม และวางรากฐานอนาคตให้กับคนไทยทุกคน รัฐบาลมีกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน 

กรอบระยะสั้น รัฐบาลอ้างว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ประกอบกับการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว กรอบระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้กับประชาชนทุกคน

ในวันนั้นพรรคก้าวไกลได้อภิปรายท้วงติงไว้ว่า นโยบายของรัฐบาลไม่เหมือนกับที่เคยหาเสียงเอาไว้ ไม่มีความชัดเจน ไม่มีรูปธรรมที่จับต้องได้ ซึ่งนายกฯ ก็บอกปัดเลี่ยงตอบว่าให้รอดูแผนรายกระทรวง จะมีความชัดเจนแน่นอน แต่เมื่อตามไปดูแผนรายกระทรวง กลับพบปัญหาเต็มไปหมด ไม่เป็นไปตามการอ้างของนายกฯ แม้แต่น้อย

เนื้อหาของแผนรายกระทรวง ไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไม่สามารถวัดความสำเร็จของนโยบายได้จริง หรือไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้ หลายโครงการพบว่าเป็นโครงการเดิม ๆ ที่กระทรวงทำอยู่แล้วทุกปี เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ บ้างก็แอบยัดโครงการประจำของกระทรวงเข้ามา แล้วสวมรอยเป็นหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลจะทำ สร้างความสะเปะสะปะกันระหว่างสิ่งที่รัฐบาลจะทำกับสิ่งที่เป็นงานประจำที่หน่วยงานทำอยู่แล้วทุกปี

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลไม่ได้โทษหน่วยงานราชการ เพราะการบริหารบ้านเมืองให้บรรลุเป้าหมายในเชิงยุทธศาสตร์เรือธงของรัฐบาล รัฐบาลเองที่ต้องเป็นผู้นำ เพื่อให้ข้าราชการเป็นผู้ตามในการสนองนโยบายอย่างมีทิศทาง

ทั้งนี้ ก่อนเสนอร่าง พ.ร.บ.งบฯ ในวันนี้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ครม. ได้มีมติสั่งทบทวน พ.ร.บ. งบ 67 ใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งปรับปรุงแนวทางการจัดทำงบประมาณ และปรับปรุงยุทธศาสตร์ในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งใช้เวลากว่า 3 เดือนในการปรับปรุง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ แต่สุดท้ายกลับพบว่าหน้าตาของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญใดๆ

ในวันแถลงนโยบาย นายกฯ บอกว่ารัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนซึ่งควรสะท้อนอยู่ในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณนี้ แต่กลับต้องผิดหวัง เช่น การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน แต่ถ้าดูเนื้อใน จะพบว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ได้ตอบโจทย์จริงๆ แม้หัวข้อสวยหรู แต่ไส้ในตอบไม่ได้ว่าจะบรรลุเป้าหมายทางนโยบายอย่างไร ลักษณะเช่นนี้เกิดเต็มไปหมดในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้

เช่นเดียวกับนโยบายเร่งด่วนในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน งบประมาณเพื่อชดเชยหนี้ให้ กฟผ. จากนโยบายลดค่าไฟ ก็ไม่ได้ถูกตั้งเอาไว้ หรือนโยบายเร่งด่วนที่บอกว่าจะให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งน่าจะต้องทำประชามติถึง 1-2 ครั้งในปีนี้ รัฐบาลก็ไม่ได้ตั้งงบเอาไว้รอ กกต. ของบไป 2,000 ล้านบาท แต่ได้มาแค่ 1,000 ล้านบาท  

ส่วนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตอนแถลงนโยบายบอกว่าจะไม่กู้ จะบริหารจากงบปกติ แต่วันนี้ชัดเจนแล้วว่าไม่มีการตั้งงบใดๆ ไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบ 67 ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลต้องรอว่าจะสามารถเสนอ พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท เข้าสู่สภาฯ ได้หรือไม่

ถ้าดูภาพรวม ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3,480,000 ล้านบาท จะพบว่าเป็นงบเบี้ยหัวแตก สะเปะสะปะ ไม่มียุทธศาสตร์ เหมือนทำงานอย่างไม่มีวาระเป้าหมายชัดเจน 

หลายเรื่องหน้าปกอาจจะดูดี แต่พอเข้าไปดูไส้ใน พบว่าไม่ได้ยึดโยงกับเป้าหมายทางนโยบาย ส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิมๆ แต่เอามาเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนปกใหม่แบบมั่วๆ โครงการเก่าๆ เดิมๆ จับมาโยงกับเป้าหมายใหม่ แถมนับรวมทุกรายจ่ายแล้วเคลมว่าเป็นงบสำหรับการลงทุนใหม่ ที่ชอบทำกันมากที่สุด คืองบตัดถนน กลายเป็นงบโครงการวิเศษที่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกยุทธศาสตร์แบบงงๆ

มีโครงการที่ถูกริเริ่มขึ้นใหม่ เพียง 200 โครงการ จากทั้งหมด 2000 โครงการ ซึ่งโครงการใหม่ส่วนใหญ่ก็ได้ริเริ่มมาบ้างแล้วก่อนที่จะมีรัฐบาลนี้ด้วยซ้ำ โดยเป็นโครงการที่หน่วยงานราชการเสนอขึ้นมา ไม่ใช่การผลักดันเพื่อขับเคลื่อนวาระใหม่ของรัฐบาล ดังนั้น เราพบว่าการผลักดันโครงการใหม่ที่สะท้อนวาระของรัฐบาลจริงๆ จึงมีน้อยมาก 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่น เช่น คาดการณ์รายได้เกินจริง เกินไปมากถึงประมาณหนึ่งแสนล้านบาท ทำเช่นนั้นก็เพื่อที่จะเพิ่มแผนรายจ่ายให้ได้สูงขึ้นนั่นเอง แต่ขณะเดียวกัน รายการที่รัฐบาลต้องจ่ายจริงๆ กลับตั้งงบประมาณหรือคาดการณ์ไว้อย่างไม่เพียงพอ เช่น บำเหน็จบำนาญ เงินเดือนราชการ งบสวัสดิการต่างๆ ซึ่งวิธีการนี้ ถอดแบบความักง่ายมาจากรัฐบาลที่แล้วที่ทำแบบนี้เช่นกัน สุดท้ายจึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่าย เพื่อชดเชยใช้หนี้เงินคงคลังในภายหลัง 

หลายนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ หายไปอย่างไร้ร่องในงบฯอปีนี้ นโยบายเพิ่มเงินเดือนราชการ 10% ค่าชดเชยภาษีรถไฟฟ้า (EV) ค่าไฟชดเชยหนี้ กฟผ. จากนโยบายลดค่าไฟ งบซอฟต์พาวเวอร์ที่โฆษณาไว้ว่าจะตั้งงบกว่า 5,000 ล้านบาท ก็ไม่เห็นในงบฉบับนี้ รายจ่ายที่ไม่ได้ตั้งงบไว้พวกนี้ รวมๆ แล้วไม่น่าจะน้อยกว่า 1 แสนล้านบาท สุดท้ายก็ต้องปัดไปเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในปีถัดไป สุดท้ายก็จะไปใช้เงินจากงบกลาง ทุกอย่างโยนไปใช้งบกลาง รัฐบาลที่แล้วก็ทำแบบนี้

ด้วยสภาพเช่นนี้ เราจึงมองไม่เห็นวาระเป้าหมายของรัฐบาลผ่านการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุนโยบายเป้าหมายนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเยอะเสมอไป บางเรื่องเป็น non-budget policy ได้ 

“อย่างเช่น รัฐบาลแถลงนโยบายเร่งด่วนว่า จะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) แต่วันนี้ไม่แน่ใจแล้วว่า รัฐบาลกำลังจะทำให้สถานการณ์เรื่องระบบนิติธรรมนิติรัฐย่ำแย่ลงไปอีกหรือเปล่า เพราะสังคมกำลังถูกตอกย้ำให้ยอมรับกระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน ถูกตอกย้ำว่าเราต้องยอมรับอยู่ในระบบกฎหมายหรือเรือนจำที่มีไว้ใช้สำหรับประชาชนสามัญที่ไม่ได้มีอำนาจ บารมี หรือฐานะเงินทองเท่านั้น” ชัยธวัชกล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า ตลอด 3 วันนี้ เพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลและพรรคฝ่ายค้านทั้งหมด จะอภิปรายแจกแจงชำแหละให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าทำไมร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฉบับนี้ถึงมีปัญหาอย่างที่กล่าวมา แต่ตนอยากทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ปัญหาของ พ.ร.บ.งบประมาณ ยังสะท้อนปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น 

กล่าวคือ ที่เรามองไม่เห็นวาระเป้าหมายของรัฐบาลผ่านการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เอาเข้าจริงแล้ว รัฐบาลชุดนี้เป็นเพียงรัฐบาลรวมการเฉพาะกิจ ที่ไม่ได้มีวาระเป้าหมายทางนโยบายที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน เป็นการรวมการเฉพาะกิจเพื่อแบ่งปันอำนาจกัน แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ชั่วคราว

เราจึงเห็นการจัดตั้ง ครม. แบบผิดฝาผิดตัวเต็มไปหมด เพราะไม่ได้แบ่งงานกันตามวาระเป้าหมาย แต่แบ่งกันตามโควตาทางการเมือง วางเจ้ากระทรวงไม่ถูกกับงาน พรรคแกนนำรัฐบาลไม่ได้วางคนบริหารกระทรวง กรม หรือหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเรือธงอย่างบูรณาการ 

เราจึงเห็นการแถลงนโยบายของรัฐบาล การกำหนดแผนงานรายกระทรวง ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณอย่างที่ได้กล่าวมา วันนี้จากที่เคยบอกว่า “คิดใหญ่ทำเป็น” บางวันก็กลายเป็น “คิดไปทำไป”, “คิดสั้นไม่คิดยาว” หรือไม่ก็ “คิดอย่างทำอย่าง” 

หากการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้จะมีวาระร่วมกันจริงๆ ตนเห็นว่าคงเป็นวาระเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทางอำนาจของชนชั้นนำ เพราะสภาวะการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลชุดนี้ ได้แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่านี่เป็นการรวมตัวกันเพื่อรักษาสภาวะเดิมของสังคมไทยเอาไว้ 

เป็นการรวมตัวกันเพื่อพยายามฝืนทวนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เป็นการรวมตัวกันเพื่อปกป้องพลังทางสังคมแบบจารีต และต่อต้านพลังทางสังคมใหม่ๆ ที่ต้องการอนาคตที่ดีกว่านี้

ชัยธวัชทิ้งท้ายว่า ก่อนการรัฐประหาร 2549 สังคมไทยได้มีโอกาสเห็นความพยายามของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและดูจะเป็นความหวังแห่งการเปลี่ยนแปลง ผู้นำทางการเมืองในขณะนั้นเล็งเห็นว่า หากประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้ากว่านี้ได้ จำเป็นต้องปฏิรูประบบรัฐราชการ รวมถึงกระบวนการกำหนดนโยบายและระบบงบประมาณ ที่เดิมล้าสมัยและไม่มีประสิทธิภาพ

เราจึงได้เห็นความพยายามที่จะเปลี่ยนระบบงบประมาณ ที่เดิมงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของระบบราชการในกระทรวงต่างๆ มาเป็นระบบงบประมาณที่มุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล

ทว่าหลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา รัฐราชการและชนชั้นนำจารีตได้กลับมาควบคุมสังคมไทยอีกครั้ง เราไม่เห็นเจตจำนงและความพยายามของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในการปฏิรูปรัฐไทยอย่างจริงจังอีกเลย เพราะพลังทางการเมืองที่เคยเป็นพลังใหม่ เคยเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันกลับเข้าไปร่วมสมาคมเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจเก่าแล้ว

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่เรากำลังพิจารณาอยู่นี้ ก็สะท้อนสภาวะทางการเมืองที่เป็นจริงดังว่า เราในฐานะฝ่ายค้าน สุดท้ายอยากสื่อสารไปยังรัฐบาล ว่าเราไม่สามารถอยู่กันแบบเดิมๆ ได้อีกแล้ว รัฐบาลทราบดี หลังรัฐประหาร 2 ครั้ง รัฐราชการรวมศูนย์ของไทยกลับมาเติบโตขยายตัว รวมศูนย์มากขึ้น ดูเฉพาะงบรายจ่ายบุคลากรภาครัฐในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แทนที่รัฐจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรากลับมีบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นถึง 500,000 คน มีภาระรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรภาครัฐ 40% ของงบรายจ่ายประจำปี 

ชัยธวัชกล่าวว่า เราไม่สามารถเดินไปสู่อนาคตที่ดีกว่านี้ หากไม่พยายามปฏิรูปรัฐไทยและระบบงบประมาณอย่างจริงจัง พวกเราในฐานะฝ่ายค้าน ไม่อยากเห็น พ.ร.บ.งบประมาณที่เหมือนเดิม ที่ไม่เปลี่ยนแปลงแบบนี้อีกในครั้งต่อไป แม้เป็นฝ่ายค้าน เราพร้อมสนับสนุนรัฐบาลในการปฏิรูประบบราชการและระบบงบประมาณ เพราะเรื่องนี้สำคัญต่อการสร้างอนาคตร่วมกันของพวกเรา

“3 วันต่อจากนี้ พวกเราฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎรอย่างสร้างสรรค์และซื่อตรงต่อผลประโยชน์ของประชาชน ขอให้ฝ่ายบริหารเปิดใจรับฟังข้อวิจารณ์และข้อเสนอแนะ โดยหวังว่าการพิจารณางบประมาณของสภา จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด แม้เราจะผิดหวังกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับนี้ อย่างถึงที่สุดก็ตาม” ชัยธวัช กล่าว

บทสรุป!! อภิปรายร่างงบประมาณ 67 วาระแรก ฉลุย!! สส.ยกมือผ่านร่าง 311 ต่อ 177 เสียง

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 67 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องเป็นวันสุดท้าย

โดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสรุปว่า “การจัดงบฯ แบบนี้ ยังไม่ตอบโจทย์สะท้อนปัญหาประเทศ ต่างจากพรรคไทยรักไทย และเพื่อไทยในอดีต ท่านนายกฯ ได้รับโอกาสเป็นครั้งแรกในชีวิต ต้องทำให้สมกับว่าเป็นตัวจริง ทุกข้อติติงของพวกเรามาพร้อมกับข้อเสนอเป็นประโยชน์ต่อทุกคน อยากให้พวกเรามองไปข้างหน้า”

นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า “การเลือกตั้งครั้งหน้า โจทย์เราไม่ใช่ว่าจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ แต่โจทย์ของพวกเราคือ พร้อมเป็นรัฐบาลบริหารประเทศหรือไม่ เวทีครั้งนี้ไม่ใช่เวทีที่พวกตนจะทำลายล้างรัฐบาล แต่เป็นเวทีซ้อมมือเพื่อเอาชนะรัฐบาล ด้วยการทำงานที่เต็มเปี่ยมและข้อเสนอที่ดีกว่า พวกเราจะชนะด้วยการเก็บเกี่ยวปัญหาและรู้วิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่า มาแข่งกันเอาชนะใจประชาชน แม้พวกตนชนะการเลือกตั้ง แต่แพ้กติกาการจัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน วันนี้อำนาจอยู่ในมือรัฐบาลขอให้ทำให้ดี เพราะเชื่อว่าผู้แพ้จากการทำงาน 4 ปีต่อจากนี้จะโดนบดขยี้ด้วยฉันทามติประชาชน ทั้งนี้ พวกตนไม่สามารถโหวตเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้”

จากนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวปิดท้ายว่า “ในนามรัฐบาล ขอบคุณสมาชิกที่ร่วมกันพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ที่รัฐบาลเสนอ ขอเรียนว่าแม้การจัดงบรายจ่ายภายใต้เวลาที่เร่งด่วน และมีงบประจำ งบผูกพันที่รัฐบาลต้องดูแลอย่างเป็นธรรม แต่ยังมุ่งหวังทำชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น สำหรับงบที่พิจารณาวาระอยู่นี้ มีไฮไลต์คือ 4 เพิ่ม 1 ลด ได้แก่ จัดงบประมาณเพิ่มขึ้น, งบลงทุน เงินคงคลังเพิ่มขึ้น และรายได้เพิ่มขึ้น มั่นใจจะขยายฐานภาษีผ่านการจัดเก็บรายได้อย่างเป็นธรรม และ 1 ลด คือลดการขาดทุน แม้จะเหลือเวลาใช้งบไม่นาน จะทำให้มีประสิทธิภาพและใช้อย่างมีคุณค่า”

กระทั่งหลังจากการอภิปรายยุติลง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานการประชุมได้เปิดให้มีการลงมติ ผลปรากฏว่า มี สส.เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 จำนวน 311 คน (ลงคะแนนผ่านระบบ 310 คน แจ้งเพิ่มเติม 1 คน) ไม่เห็นด้วย 177 คน (ลงคะแนนผ่านระบบ 176 คน แจ้งเพิ่มเติม 1 คน) งดออกเสียง 4 คน เท่ากับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 ผ่านการรับหลักการในวาระแรก

หลังจากนั้น ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ จำนวน 72 คน โดยใช้เวลาในการแปรญัตติ 30 วัน นัดประชุมครั้งแรกวันที่ 8 มกราคม 2567

‘หญิงหน่อย’ ฟัน!! 3 สส.ไทยสร้างไทย โหวตสวนมติฝ่ายค้าน สั่งตั้งกรรมการสอบสวนทันที พร้อมขอโทษประชาชน

(6 ม.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีภายหลัง พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท และมีการเปิดลงให้ลงมติว่า จะรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2567 หรือไม่ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น มีผู้เห็นด้วยจำนวน 311 คน, ไม่เห็นด้วย 177 คน, งดออกเสียง 4 คน ไม่ลงคะแนนไม่มี

ซึ่งในส่วนของพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ที่เป็นฝ่ายค้าน มีเสียง 6 เสียงกลับพบว่า เสียงแตก โดย สส. 3 คน คือ นางสุภาพร สลับศรี สส.ยโสธร, นายหรั่ง ธุระพล สส.อุดรธานี และนายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ สส.อุดรธานี ลงมติ ‘เห็นด้วย’ ซึ่งถือว่า ‘สวนมติฝ่ายค้าน’ นั้น

โดยล่าสุด คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ได้โพสต์ข้อความ ใน x ระบุว่า…

“ดิฉันต้องกราบขอโทษพี่น้องประชาชน ต่อผล Vote ร่างงบประมาณรายจ่าย ที่มี สส.ของพรรค 3 คน ลงคะแนนสวนมติพรรค และมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดต่อพรรค โดยพรรคจะเร่งส่งเรื่องให้กรรมการจริยธรรมของพรรคดำเนินการไต่สวน เพื่อเสนอกรรมการบริหารพรรคพิจารณาเป็นการด่วน

ขณะนี้ ดิฉันยังอยู่ต่างประเทศ แต่ได้เฝ้าติดตามการอภิปรายงบประมาณมาโดยตลอด และไม่สบายใจอย่างยิ่งต่อกรณีที่เกิดขึ้นนี้

ดิฉันต้องกราบขอโทษพี่น้องประชาชน และสมาชิกพรรคไทยสร้างไทยอีกครั้ง”

‘รมว.ปุ้ย’ ลุยจัดการโรงงานทิ้งกากขยะ-ตั้งกองทุนเยียวยาคนในพื้นที่ ย้ำ!! ตนมาจาก สส.เขต ย่อมเข้าใจความต้องการของประชาชน

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 67 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า ขอบคุณสมาชิกที่ให้ความสนใจงบประมาณของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นพิเศษ กระทรวงอุตสาหกรรมแม้จะดูว่าเป็นกระทรวงใหญ่ แต่งบที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมีเพียง 4,559 ล้านบาทเท่านั้น แต่ต้องทำงานภายใต้การบริหาร 6 กรม มีทั้งกรมที่ส่งเสริม กรมที่ใช้ในการควบคุมภายใต้พันธกิจ การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน แม้ว่างบจะได้อย่างจำกัด แต่ข้าราชการในกระทรวงทุกคน เดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่เพื่อดูแลประชาชน

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลของสมาชิกคือ การจัดการกากขยะอุตสาหกรรม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ และนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มีความกังวลห่วงใย ซึ่งวันนี้สาเหตุของปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากมีการลักลอบทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม โดยมีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง เพราะทุกคนจะมุ่งมาที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมในการรับผิดชอบ ทางกรมโรงงานฯ เรา มีหน้าที่ออกใบอนุญาตในการตั้งโรงงาน ในการควบคุมการดูแลเรื่องกากอุตสาหกรรม เราสามารถจัดการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำอยู่เรามีทั้งทำแล้วทำอยู่ทำต่อ

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิ่มความรับผิดชอบ โดยแก้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมในการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จากเดิมโรงงานใดต้องการปล่อยน้ำทิ้งหรือทิ้งกากอุตสาหกรรมมีหน้าที่แค่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐาน หลังจากนั้นจะใช้บริษัทจำกัด หรือรับผิดชอบก็ได้ แต่วันนี้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะมีบางบริษัทประมูลในราคาที่ต่ำแล้วลักลอบนำไปทิ้งในที่ต่างๆ โดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งมาตรฐานไว้ เราจึงมีการปรับปรุงประกาศของกระทรวง พ.ศ.2566 ได้บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566 โดยเพิ่มความรับผิดชอบอย่างเต็มรูปแบบ

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ได้มีการกำหนดให้โรงงานที่ก่อมลพิษ ต้องรับผิดชอบกับกากอุตสาหกรรมนั้นด้วย ไม่ใช่เพียงให้บริษัทที่รับช่วงไปทิ้งอย่างไรก็ได้ แต่บริษัทต้องรับผิดชอบโดยต้องนำไปทิ้งอย่างถูกต้อง มาตรการที่เรากำลังทำอยู่และรอบังคับใช้คือเรื่อง การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กรมโรงงานฯ ด้วยการเพิ่มบทลงโทษจากเดิมโรงงานใดทำผิดอาจจะมีโทษแค่ปรับจำคุก 1 ปี แต่ได้เพิ่มโทษจำคุกเป็น 5 ปี ดังนั้น บริษัทใดทำผิดกฎหมาย จะยื้อเวลาในการขึ้นโรงขึ้นศาลไม่ได้แล้ว ต่อไปบทลงโทษมีมากขึ้น

“สิ่งที่กังวลที่สุดคือ ‘การฟื้นฟู’ มีบางบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Project นำร่องของกรมโรงงานที่ทำอยู่คือ โรงงานที่จังหวัดราชบุรี ปัญหาแบบนี้ไม่ใช่เกิดที่จังหวัดราชบุรีเพียวจังหวัดเดียว แต่ยังเกิดที่ จังหวัดปราจีน จังหวัดระยอง จังหวัดฉะเชิงเทรา และตามเขตอุตสาหกรรมต่างๆ โครงการนี้กรมโรงงานฯ มีงบแค่กว่า 450 ล้านบาทเท่านั้น เงินที่ใช้ในการบริหารกากอุตสาหกรรมมีแค่ 10 ล้านบาท การจัดการกากที่มีปัญหาที่ประชาชนร้องเรียน ทุกครั้ง เราต้องของบกลางจากทางรัฐบาล ดังนั้น จะหาวิธีแทนที่จะหางบกลางจากรัฐบาลจะต้องให้โรงงานช่วยกันรับผิดชอบ จึงมีการตั้งกองทุนฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรม ถ้าสมาชิกที่ร้องเรียนว่า มีโรงงานที่ลักลอบทิ้งกากแล้วเกิดปัญหากับประชาชนในพื้นที่ ถ้ามีเงิน สิ่งแรกที่ทำได้คือ เรามีเงินเข้าไปเยียวยาในพื้นที่ ไม่ต้องไปขอการสนับสนุนจากงบกลาง สิ่งนี้คือเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรม” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า มีสมาชิกห่วงใยเรื่องแบตเตอรี่ที่เกิดจากรถ EV วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้น ตั้งแต่ EV 3 มาถึง EV 3.5 ก่อนหน้านี้ เราได้ทำแล้วคือการส่งเสริมการใช้ ขณะนี้สิ่งที่กำลังทำอยู่ คือการส่งเสริมการลงทุนให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่เรากำลังทำต่อคือดูแลทั้งระบบไม่ใช่ดูแลแค่การลงทุนหรือสร้าง Local Content แต่เราต้องดูแลเรื่องแบตเตอรี่ที่ติดมากับรถ รวมถึงแบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศไทย อยากให้คลายความกังวลว่า สุดท้ายจะต้องดูแลทั้งระบบ เพราะผลกระทบคือคนไทยทั้งประเทศ

สำหรับ สิ่งที่นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติถามเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่อยากให้ยกระดับครอบคลุมถึงพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จะได้ดูแลนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องเชื่อมโยงกับโครงการแลนด์บริดจ์ด้วย เรื่องระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาคนั้น ได้ทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ที่มาทำเพื่อส่งเสริมนักลงทุน จะช่วยทั้งเกษตรกร นักลงทุน ครบทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ สิ่งที่เห็นคือจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมันได้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรมากขึ้น ไม่รวมถึงโครงการดีๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังทำขึ้น คืออุตสาหกรรมฮาลาล ไม่ใช่ทำแค่เรื่องของอาหาร แต่จะรวมถึงเครื่องสำอาง การท่องเที่ยว ที่สำคัญที่สุดเราจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน

“ดิฉันมาจากประชาชน มาจาก สส.เขต เข้าใจถึงความต้องการของประชาชนดี ขอขอบคุณที่ได้ชี้แนะและแนะนำ ขอให้มั่นใจในการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีว่า ทุกๆ วัน ทุกๆ กระทรวงที่ทำงานก็ล้วนทำงานให้กับประชาชน” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว

งบประมาณ 3.48 ลลบ. ใต้ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ กับภารกิจกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีมังกร 

ต้อนรับศักราชใหม่ ปี 2567 เริ่มต้นปี กับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะผลักดันในเศรษฐกิจไทยใน ‘ปีมังกร’ ที่น่าจะได้เห็นฝีมือทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่รับบทบาท เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีก 1 ตำแหน่ง ว่าจะมีศักยภาพในการจัดการเศรษฐกิจของไทย หลังผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ทั้ง วิกฤติ Covid-19 ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนมาถึงสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ทีมเศรษฐกิจชุดนี้ จะมีประสิทธิภาพมากน้อย เพียงใด

การลงมติร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในวาระรับหลักการ มีผู้เห็นด้วย 311 เสียงไม่เห็นด้วย 177 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียงนั้น ก็เป็นไปตามคาดการณ์ ที่จะต้องรับร่างงบประมาณ เพื่อผลักดันการใช้จ่ายเงินตามโครงการต่าง ๆ ของแต่ละกระทรวงอย่างเร่งด่วน เนื่องจาก การทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้าจากเหตุกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหากไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน กว่าจะได้เบิกจ่ายเงินงบประมาณ ก็คงเริ่มเบิกจ่ายได้ เมษายน - พฤษภาคม 2567 ถือว่าล่าช้าไปกว่าครึ่งปี

มาดูกันต่อกับวงเงินงบประมาณ ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง…

ปี 2567 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.480 ล้านล้านบาท : รัฐบาล เศรษฐา

ปี 2566 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.185 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ปี 2565 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.100 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ปี 2564 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.285 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ปี 2563 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.200 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

กลับกลายเป็นว่า วงเงินงบประมาณ 2567 ถือเป็นประวัติการณ์กับวงเงินที่สูงถึง 3.480 ล้านล้านบาท เป็นวงเงินงบประมาณที่มากที่สุดเท่าที่รัฐบาลที่ผ่านมาเคยได้จัดทำ และยังมีอัตราส่วนที่สูงขึ้นกว่าปีงบประมาณที่แล้ว กว่า 9.3% และถือว่าเป็นการเพิ่มวงเงินในสัดส่วนที่มากที่สุดในรอบ 5 ปี อีกด้วย 

อีกประเด็นที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ของ พล.อ.ประยุทธ์ เคยถูกพิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่า ได้ตั้งงบกลางสูงมากเกินไป เพราะงบกลาง จะไม่มีรายละเอียดในการใช้งบประมาณ มีเพียงหัวข้อ และวงเงินของแต่ละโครงการ แต่เมื่อดูงบกลางของรัฐบาล เศรษฐา จะพบว่า วงเงินงบกลางกลับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2.8% โดยตั้งงบกลางไว้ที่ 6.06 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16,295 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2566

ปี 2567 วงเงินงบกลาง 6.067 แสนล้านบาท 

ปี 2566 วงเงินงบกลาง 5.904 แสนล้านบาท งบค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาโควิด 3,000 ล้านบาท

ปี 2565 วงเงินงบกลาง 5.874 แสนล้านบาท งบค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาโควิด 16,362 ล้านบาท

ปี 2564 วงเงินงบกลาง 6.146 แสนล้านบาท งบค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาโควิด 40,326 ล้านบาท

ปี 2563 วงเงินงบกลาง 5.187 แสนล้านบาท 

และหากพิจารณาในหัวข้อรายการใช้จ่ายงบกลาง 5 ปี ย้อนหลัง (ปี 2563-2567) ก็พบว่า งบกลางที่มีการตั้งวงเงินที่สูงที่สุด ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการตั้งงบกลาง ในปี 2564 อยู่ที่ 6.146 แสนล้านบาท แต่สาเหตุที่ตั้งงบกลางไว้สูง เนื่องจาก มีหัวข้อค่าใช้จ่ายในการบรรเทา เยียวยา ผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 40,326 ล้านบาท หากไม่นับหัวข้อนี้มารวมในงบกลาง วงเงินงบกลางจะอยู่ที่ 5.74 แสนล้านบาท ซึ่งงบกลาง ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ไม่มีหัวข้อค่าใช้จ่ายด้านนี้ 

คงเริ่มเห็นภาพบางอย่าง ในยุคที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ที่บริหารจัดการโดย ‘นักการเมือง’ และภาพที่คนบางกลุ่มชอบเรียกว่า ‘รัฐบาลประชาธิปไตย’ กับเม็ดเงินงบประมาณ ที่จะใช้ในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับรายได้ ของประชาชนคนไทย 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top