Sunday, 5 May 2024
ค่าไฟฟ้าแพง

ปตท. ‘ยืดหนี้ - ไม่คิดดอก’ กฟผ. หวังช่วยแบ่งเบาต้นทุนค่าไฟ

ปตท .ร่วมแบ่งเบาต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชน ยืดระยะเวลาชำระหนี้ให้ กฟผ. มูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท และไม่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยล่าช้า

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แบกรับภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในการช่วยตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ตามนโยบายของภาครัฐตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์พลังงานโลกที่มีความผันผวนสูง ส่งผลให้ต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีต้นทุนสูงขึ้นมาก ประกอบกับประชาชนยังคงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 จึงมีมติอนุมัติให้ ปตท. ร่วมช่วยบรรเทาภาระต้นทุนผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยการเลื่อนกำหนดชำระเงินค่าก๊าซฯ งวดเดือนพฤษภาคม 2565 มูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท ออกไปเป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยไม่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยมูลค่าประมาณ 340 ล้านบาทที่จะเกิดขึ้น เพื่อมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับ กฟผ. ในการแบกรับต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชน

“ปตท. และ กฟผ. ต่างเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน และจากวิกฤตการณ์พลังงานดังกล่าว ทั้งสององค์กรได้หารือร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งจากกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อพิจารณาการจัดหาเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อลดกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด และคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานของประเทศตาม พันธกิจหลักของทั้งสององค์กร” นายอรรถพล กล่าว


 ที่มา: https://www.thaipost.net/economy-news/145507/

'สร้างอนาคตไทย' กระทุ้ง 'รัฐบาล' บริหารดูแลความเดือดร้อน ปชช. เปิด นโยบาย 4 โซลาร์ แก้วิกฤตค่าไฟฟ้าแพง สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทวงถามใครแตะเบรกโรงไฟฟ้าชุมชน

วันนี้ (22 ก.ย. 65) ที่พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดย ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ดร.สันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรค และประธานนโยบาย  และนายนริศ เชยกลิ่น รองหัวหน้าพรรค และโฆษกพรรค ร่วมแถลงข่าว “ชำแหละประเด็น ค่าไฟแพง แก๊สแพง ใครทำร้ายประชาชน” 

โดยดร.อุตตม กล่าวว่า สถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น สาเหตุทั้งที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครนที่ยืดเยื้อ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้คนไทยทั่วประเทศเดือดร้อนอย่างหนัก ขณะที่ภาครัฐควรต้องดูแลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว พร้อม จัดเตรียมมาตรการเพื่อให้ประเทศสามารถพลิกฟื้นได้ในช่วงเวลาต่อไป อย่างไรก็ตามมาตรการดูแลประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการในระยะแรกอย่างเร่งด่วนนั้น กลับยังไม่มีให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น กรณีราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันหลายเดือน กระทบกับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“นโยบายจะไปในทิศทางไหน รวมถึงมาตรการระยะสั้นจะดูแลอย่างไร นี่ถือเป็นโอกาสที่จะนำเรื่องพลังงานมาทบทวนกันใหม่ รื้อโครงสร้างใหม่ เพราะต้องเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และต้องทำอย่างจริงจัง เพราะพลังงานเกี่ยวข้องกับเรื่องต้นทุนการผลิต การบริการ ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง และยึดโยง สุดท้ายแล้วหนีไม่พ้นว่าภาครัฐต้องเป็นผู้ที่กำหนดนโยบายให้ส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องทำงานสอดคล้องกันในช่วงวิกฤติเช่นนี้ หวังว่ายังไม่ช้าเกินไปที่เราทั้งภาคประชาชน และภาครัฐจะมาช่วยกันปรับเปลี่ยนดูแลให้ประเทศผ่านวิกฤติช่วงนี้ไปให้ได้” ดร.อุตตม กล่าว

ด้านนายสนธิรัตน์ กล่าวว่า พรรคมีความจำเป็นต้องแถลงเรื่องนี้ เราจะปล่อยให้สถานการณ์ค่าครองชีพ เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ อีก 6-7 เดือนจะเลือกตั้ง คิดว่าประชาชนจะลำบาก วันนี้ประชาชนแบกภาระค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เรามีไฟฟ้าส่วนเกินเกือบครึ่งที่ประชาชนต้องแบกภาระบางส่วน และการเปลี่ยนผ่านสัมปทานการผลิตก๊าซที่ทำให้ปริมาณลดลงกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน

“ปัจจุบันกำลังการผลิตแก๊สในอ่าวไทยลดลงตามลำดับ ผมเคยส่งสัญญานเตือนแล้วว่าแก๊สในอ่าวไทยจะมีปัญหาจากการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ราบรื่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาแก๊สที่สูงขึ้น เพราะการบริหารการเปลี่ยนผ่านที่ล้มเหลว ทำให้เราต้องนำเข้าแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ ซึ่งแอลเอ็นจีในตลาดโลกมีราคาสูงมาก” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ด้านอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากราคาแก๊สที่แพงขึ้นมา 33 เปอร์เซ็นต์ สถานการณ์แบบนี้จะยังไม่หยุดจนถึงมีนาคมปีหน้า ที่ประชาชนต้องมาแบกรับภาระจากนโยบายพลังงาน และการบริหารที่ผิดพลาด กำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินที่เกิดขึ้น ใครได้ประโยชน์ ธุรกิจแอลเอ็นจีวันนี้ใครได้ประโยชน์สูงสุด เอกชนหรือรัฐ หรือค่าการกลั่นที่สูงมากและไม่ได้รับการแก้ไข พรรคเราเรียกร้องตลอดว่าเมื่อเกิดวิกฤติให้เอาต้นทุนจริงออกมาดู หากพรรคสร้างอนาคตไทยเข้าไปบริหารเราจะเอาประชาชนเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา คำถามคือวันนี้รัฐบาลทำอะไรอยู่ น้ำมัน แก๊ส ค่าไฟฟ้า เคยพิจารณาต้นทุนจริงหรือไม่ ภายใต้ต้นทุนที่แท้จริงมีอะไรทับซ้อนอยู่ วันนี้คือวิกฤต ในสมัยที่พวกตนบริหารกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ในช่วงสถานการณ์โควิด เรามีมาตรการช่วยเหลือประชาชนเร่งด่วนทันที เช่น มาตรการลดค่าไฟฟ้าทันที ซึ่งวันนี้ก็ยังคงเป็นแนวคิดการแก้ปัญหาที่พรรคสร้างอนาคตไทยพร้อมที่จะทำ 

“ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประชาชนจะมีส่วนเป็นเจ้าของพลังงาน หรือที่เรียกว่า Energy for all วันนี้โรงไฟฟ้าชุมชนที่ผมริเริ่มไว้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว วันนี้ผมอยากถามว่าใครแตะเบรกโรงไฟฟ้าชุมชน และทำเพื่ออะไร ทั้งที่โรงไฟฟ้าชุมชนสามารถช่วยทั้งพี่น้องประชาชน และเกษตรกรที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก แต่กลับไม่ได้รับการสานต่อเพื่อประโยชน์ของประชาชน ถึงเวลารื้อโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่ เราจะไม่ปล่อยให้ปตท.ทำงานแบบใช้โอกาสเกื้อกูล เติบโต และข่มเหงประชาชน” นายสนธิรัตน์ กล่าว

‘กรณ์’ ซัด!! ลดค่าไฟแค่ 2 สตางค์ น้อยจนน่าเกลียด ชี้!! ต้องยกเลิกค่าเอฟที 3 เดือนสุดร้อนเพื่อประชาชน

หัวหน้า ชพก. จวก ลดค่าไฟแค่ 2 สตางค์ อย่าอ้างว่าช่วย ยันต้องยกเลิกค่าเอฟที 3 เดือนสุดร้อน เพื่อประชาชน อีกแก้ปัญหาแบบขอไปที ลั่นต้องเลือกพรรคชนกับทุนผูกขาด

(23 เม.ย.66) จากกรณีมีข่าวว่า คณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) มีมติเห็นชอบตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าวงเงิน 130,000 ล้านบาท แทนประชาชนจาก 5 งวด ที่มีการเรียกเก็บค่าเอฟทีทุก 4 เดือน หรือ 20 เดือน จากงวดละ 27,000 ล้านบาท เป็น 6 งวด หรือ 24 เดือน เป็นเหลือเพียงงวดละ 22,000 ล้านบาท จึงทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดที่ 2 ของปีนี้ (พ.ค.- ส.ค.) ลดลง 7 สตางค์ ต่อหน่วย จากเดิมที่ประกาศจัดเก็บ 4.77 บาท เหลือเพียง 4.70 บาทต่อหน่วย

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า จากกระแสค่าไฟแพงที่ตนออกมาเรียกร้องเมื่อเดือนมีนาคม จนตอนนี้ปัญหาค่าไฟแพง กลายเป็นประเด็นรุนแรงทั่วโซเชียล จนคณะนุกรรมการเอฟทีชงบอร์ด กกพ. ให้ลดค่าไฟ แต่ตัวเลขที่ลดมันน้อยจนน่าเกลียด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top