Sunday, 19 May 2024
คุ้มครองแรงงาน

'รมว.เฮ้ง' ห่วงลูกจ้างบาดเจ็บ เหตุตึกทรุด ย่านพระราม 9 สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาสาเหตุ-เร่งช่วยเหลือตามสิทธิ

(13 ก.พ. 66) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงเหตุอาคารก่อสร้างทรุดตัว ย่านพระราม 9 ทำให้มีลูกจ้างบาดเจ็บ 5 ราย สั่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม หาสาเหตุและเร่งช่วยเหลือตามสิทธิ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า "กรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว เกิดเหตุอาคารก่อสร้างที่พักอาศัยถล่มทับลูกจ้างบาดเจ็บ 5 ราย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 16.00 น. ในเบื้องต้น ผมได้รับรายงานจากพนักงานตรวจความปลอดภัย สนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 เหตุเกิดในพื้นที่ใกล้เคียงกับอาคารโชว์ดีซี ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร โดยเป็นพื้นที่โครงการก่อสร้างบ้านพักอาศัย ขณะเกิดเหตุมีลูกจ้างทำงานอยู่ภายในอาคารประมาณ 130 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 5 ราย สัญชาติกัมพูชา นำส่งโรงพยาบาลเพชรเวชแล้ว จำนวน 3 ราย และไม่ประสงค์ให้นำส่งโรงพยาบาลจำนวน 2 ราย

ผมจึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่หาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ พร้อมจะเดินทางไปเยี่ยมลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาลเพชรเวช และจะเร่งดำเนินการให้ได้ลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายต่อไป"

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า พนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 (สรพ.5) จะเชิญนายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อตรวจสอบว่านายจ้างได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

‘เสี่ยเฮ้ง’ ชี้แจง กรณีสาวโรงงานถูกโฟล์คลิฟท์ชนบาดเจ็บ เผย ส่งหน่วยงานเข้าความช่วยเหลือ-เยียวยาเบื้องต้นแล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหายห่วง กรณีลูกจ้างสาวถูกโฟล์คลิฟท์ชนได้รับบาดเจ็บ หลังส่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ พบได้รับการรักษา ได้รับค่าจ้างและไม่ได้ถูกเลิกจ้างตามข่าว

(23 มี.ค. 66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกรณีมีสื่อนำเสนอข่าว ลูกจ้างโพสต์ผ่านสื่อออนไลน์ ว่าได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน นายจ้างไม่ดูแล และถูกเลิกจ้างนั้น ผมได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมลงพื้นที่สอบถามข้อเท็จจริงจากนายจ้างและลูกจ้าง

“เบื้องต้นได้รับรายงานว่า อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในโรงงานย่านสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ลูกจ้างหญิงผู้โพสต์ ซึ่งทำงานเป็นพนักงานฝ่ายผลิตกำลังเดินอยู่บริเวณถนนระหว่างอาคารผลิตกับอาคารคลังสินค้า ถูกรถโฟล์คลิฟท์ชนจนได้รับบาดเจ็บ นายจ้างได้ส่งตัวลูกจ้างเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว แพทย์ได้ทำการรักษาและให้หยุดรักษาตัวเป็นเวลา 45 วัน โดยนายจ้างเป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้ และนายจ้างยืนยันว่าไม่ได้เลิกจ้าง เจ้าหน้าที่ได้ไปเยี่ยมลูกจ้างที่บ้านพัก ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ ทราบว่านายจ้างพร้อมให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานเมื่อหายดีแล้ว แต่ลูกจ้างยังไม่ตัดสินใจ เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม สาขาสามพราน ได้ชี้แจงให้ลูกจ้างทราบถึงสิทธิประโยชน์พึงได้รับตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามผมได้กำชับให้ทั้งสองหน่วยงานเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์กรณีนี้อย่างใกล้ชิด” นายสุชาติ กล่าว

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ หนุน ‘WFH’ เป็นธรรม ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธการสื่อสารหลังเลิกงาน มีผล 18 เม.ย.นี้

ข่าวดี! พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ หนุนทำงานแบบ WFH เริ่มบังคับ 18 เม.ย.นี้ เปิดทางนายจ้าง-ลูกจ้างตกลงเวลาทำงาน พักผ่อน วันลาให้ชัดเจน ให้สิทธิงานได้ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงาน

เมื่อวันที่ (23 มี.ค.2566) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสม กับสภาพการณ์ในปัจจุบันที่รูปแบบการทำงานในองค์กรธุรกิจต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยมีการทำงานจากที่พักอาศัยของลูกจ้างหรือเวิร์กฟอร์มโฮม (WFH) หรือจากสถานที่อื่น ๆ ซึ่งอยู่นอกสถานประกอบการของนายจ้างมากขึ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขณะนี้จึงมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและออก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2566 ซึ่งได้เพิ่มเติมบทบัญญัติที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของลูกจ้างให้ได้ความคุ้มครอง เป็นประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง ตลอดจนมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาจราจร ลดการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงด้วย โดยได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันประกาศ หรือ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.นี้ 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ได้เพิ่มบทบัญญัติ มาตรา 23/1 ซึ่งมีสาระสำคัญให้นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงให้ลูกจ้างนำงานในทางการที่จ้างที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติงานนอกสถานประกอบการหรือนอกสำนักงานของนายจ้าง ไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัยของลูกจ้าง หรือตกลงให้ลูกจ้างทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใด ๆ ได้

ทั้งนี้ ในการตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างนั้น อาจตกลงให้มีรายละเอียด เช่น ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา การลา ขอบเขตหน้าที่ของลูกจ้าง การกำกับควบคุมของนายจ้าง ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็น อันเนื่องจากการทำงาน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top