Sunday, 11 May 2025
คำพยากรณ์

‘รัสเซีย’ อาวุธยุทโธปกรณ์หมด พ่ายศึก!! ‘ยูเครน’ คำพยากรณ์ที่ไม่อาจเป็นจริงของ ‘นายพลเสื้อส้ม’

เมื่อวานนี้ (9 พ.ค. 68) สหพันธรัฐรัสเซียได้จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี วันแห่งชัยชนะเหนือนาซีเยอรมนีอย่างยิ่งใหญ่ ในคืนวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 (เป็นเวลาหลังเที่ยงคืน จึงเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม ตามเวลามอสโก) รัฐบาลโซเวียตได้ประกาศชัยชนะในเช้าวันที่ 9 พฤษภาคม 1945 หลังพิธีลงนามในการตกลงยอมจำนนของนาซีเยอรมนีต่อสหภาพโซเวียตในกรุงเบอร์ลินแล้ว รัฐบาลโซเวียตและรัสเซียในปัจจุบันได้จัดให้มีการจัดการสวนสนามทางทหารอย่างยิ่งใหญ่ ณ จัตุรัสแดงกลางเมืองในกรุงมอสโก เพื่อเป็นการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพแดง และรำลึกถึงเหล่าทหารผ่านศึกของกองทัพแดงในสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย ซึ่งทำให้พลเมืองของสหภาพโซเวียตทั้งทหารและพลเรือนเสียชีวิตไปราว 20ล้านคน แม้ว่าสหภาพโซเวียตจะล่มสลายไปแล้วก็ตาม แต่สหพันธรัฐรัสเซียก็ยังคงยึดถือประเพณีปฏิบัติในการเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะเหนือนาซีเยอรมนีตามเดิมเป็นประจำทุกปีจวบจนทุกวันนี้

นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารของกองทัพรัสเซียต่อยูเครน หรือ 'สงครามรัสเซีย-ยูเครน' เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 หรือ 3 ปีมากแล้ว บรรดากองเชียร์ยูเครนหรือ 'ติ่งยูเครน' ต่างก็ปรามาสว่ากองทัพรัสเซียจะพบกับความพ่ายแพ้ในเวลาอันไม่ช้าอย่างแน่นอน ทั้งนี้เป็นเพราะกองทัพยูเครนได้รับการสนับสนุนทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ งบประมาณ และกำลังพล (ทหารรับจ้าง) จากชาติสมาชิก NATO ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาลแก่กองทัพยูเครนทำให้คลังอาวุธยุทโธปกรณ์สำรองของบรรดาประเทศยุโรปแทบหมดเกลี้ยงเลยทีเดียว ในขณะที่ 'ติ่งยูเครน' ทั้งไทยและเทศจำนวนมากต่างโพสต์บนโซเชียลด้วยความมั่นใจว่า “อาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียกำลังจะหมดลงในเวลาไม่นาน แล้วในที่สุดกองทัพรัสเซียจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้” หนึ่งในนั้นได้แก่ นายพลเสื้อส้มนายหนึ่งซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้มาตลอด 3 ปี จนถึงวันนี้ที่ Volodymyr Zelenskyy ผู้นำยูเครนกำลังถูกประธานาธิบดี Trump กดดันให้เจรจาสงบศึกกับรัสเซียแล้ว

สหพันธรัฐรัสเซียเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในระดับ First Tier อันหมายถึงประเทศที่มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่สมบูรณ์แบบและครบวงจร สามารถพัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดได้ถึงระดับสูงสุดมายาวนานนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน เช่นเดียวกับ สหรัฐอเมริกา จีน และกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหพันธรัฐรัสเซียเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานรายใหญ่ของประเทศใน โดยมีพนักงานในอุตสาหกรรมนี้ราว 3.8 ล้านคนทั่วประเทศ และคิดเป็น 20% ของงานการผลิตทั้งหมดในสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งในปี 2023 มีค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศทั้งหมดสูงถึง 7.5% ของ GDP 

ในปี 2014–18 รัสเซียครอง 21% ของยอดขายอาวุธทั่วโลก โดยตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 11% ในปี 2019–23 (ตามสถิติของ SIPRI) ในปี 2023 รัสเซียเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่เป็นอันดับสามเป็นครั้งแรก รองจากฝรั่งเศส การส่งออกอาวุธของรัสเซียลดลง 53% ระหว่างปี 2014–18 และ 2019–23 จำนวนประเทศที่ซื้ออาวุธหลักจากรัสเซียลดลงจาก 31 ประเทศในปี 2019 ในปี 2023 ลดลงเหลือ 12 ประเทศ ในปี 2019–23 อาวุธยุทโธปกรณ์ส่งออกของรัสเซียราว 68% จากทั้งหมดถูกส่งไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและโอเชียเนีย อินเดียเป็นผู้ซื้อราว 34% และจีนเป็นผู้ซื้อราว 21% 

การคว่ำบาตรระหว่างประเทศหลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2022 ไม่ได้ส่งผลในการต่อต้านการผลิตอาวุธของรัสเซีย การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการผลิตขีปนาวุธในปัจจุบันมากกว่าระดับก่อนสงคราม ปัจจุบัน รัสเซียผลิตกระสุนมากกว่าประเทศสมาชิก NATO ทั้งหมดรวมกัน ซึ่งคาดว่ามากกว่าชาติตะวันตกถึง 7 เท่า รัสเซียเพิ่มการผลิตรถถังในแต่ละปีมากขึ้นเป็นสองเท่าและผลิตปืนใหญ่และจรวดเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าจากจำนวนก่อนสงคราม ต้นทุนการผลิตของรัสเซียต่ำกว่าของประเทศคู่แข่งอย่างมาก โดยมีต้นทุนในการผลิตกระสุนปืนใหญ่ต่ำกว่ากระสุนปืนใหญ่ของนาโต้ประมาณ 10 เท่า ในปี 2024 รัสเซียผลิตกระสุนปืนใหญ่ได้ประมาณปีละ 3 ล้านนัด ซึ่งมากเป็นเกือบสามเท่าของปริมาณที่ผลิตได้จากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ตั้งแต่ปี 2023 อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของรัสเซียยังผลิตยานเกราะและโดรนเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ซึ่ง Alexander Mikheev CEO ของ Rosoboronexport รัฐวิสาหกิจส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงรายเดียวของสหพันธรัฐรัสเซียได้กล่าวว่า “นอกจากรัสเซียจะจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ แล้ว ยังให้การสนับสนุนประเทศคู่ค้าให้มีขีดความสามารถในการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เองอีกด้วย”

การผลิตอาวุธที่ขยายตัวของรัสเซียมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ โดยมีการอุดหนุนจากรัฐบาลต่อผู้ผลิตอาวุธที่ไม่ทำกำไรอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตกที่เป็นทุนนิยมซึ่งมีผู้ผลิตอาวุธที่มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลกำไรของผู้ถือหุ้นให้สูงสุด วันที่ 23 พฤศจิกายน 2024 Boris Pistorius รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของเยอรมนี กล่าวว่าขณะนี้รัสเซียได้เปลี่ยนมาใช้ 'เศรษฐกิจสงคราม' อย่างเต็มรูปแบบแล้ว และสามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์และกระสุนได้เท่ากับที่สหภาพยุโรปผลิตได้ในหนึ่งปีภายในเวลาเพียงสามเดือน ในเดือนมกราคม 2025 Mark Rutte เลขาธิการองค์การ NATO ได้ประเมินเช่นเดียวกัน วันที่ 3 เมษายน 2025 พลเอก Christopher Cavoli ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ประจำยุโรปและผู้บัญชาการสูงสุดกองกำลังพันธมิตรในยุโรปได้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่า รัสเซียสามารถทดแทนการสูญเสียอุปกรณ์และอาวุธจำนวนมากในสนามรบด้วย 'อัตราที่ไม่เคยมีมาก่อน' อันเนื่องมาจากการขยายขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสงคราม ดังนั้น ความเป็นจริงที่ปรากฏจึงสร้างความผิดหวังให้กับ 'ติ่งยูเครน' เป็นอันมาก รวมทั้งการพยากรณ์ที่ไม่อาจเป็นจริงของนายพลเสื้อส้มที่ว่า “อาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียกำลังจะหมด แล้วกองทัพรัสเซียจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้” นั้น จึงไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้เลย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top