Sunday, 19 May 2024
คอนโด

เกาะติดโซนยอดนิยม 'กทม.-ปริมณฑล' ไตรมาส 3 'ห้วยขวาง' ยืนหนึ่งคอนโด 'บางพลี' คึกคักบ้านเดี่ยว

(14 ธ.ค. 65) นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยเสนอขายรวมทั้งสิ้น ณ ช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 พบว่ามีจำนวน 198,024 หน่วย มูลค่า 984,904 ล้านบาท โดยมีจำนวนหน่วยลดลงจากไตรมาส 2 ปี 2565 จำนวน 2,188 หน่วย แต่มูลค่ากลับสูงขึ้น 8,608 ล้านบาท 

โดยเป็นโครงการบ้านจัดสรร 126,325 หน่วย มูลค่ารวม 680,615 ล้านบาท ซึ่งพบว่าบ้านจัดสรรมีการเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวเฮ้าส์ ขณะที่โครงการอาคารชุดมีหน่วยเสนอขายจำนวน 71,699 หน่วย มูลค่ารวม 304,289 ล้านบาท ซึ่งลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 1 และ 2 ปี 2565

สำหรับโซนที่มีหน่วยอาคารชุดเสนอขายสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย...

อันดับ 1 ห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง จำนวน 9,921 หน่วย มูลค่า 40,368 ล้านบาท (มูลค่าเป็นอันดับ 3) 

อันดับ 2 พระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ จำนวน 8,285 หน่วย มูลค่า 23,259 ล้านบาท (มูลค่าเป็นอันดับ 4)

อันดับ 3 เมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด จำนวน 7,144 หน่วย มูลค่า16,288 ล้านบาท (มูลค่าเป็นอันดับ 6) 

อันดับ 4 ธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด จำนวน  6,893 หน่วย มูลค่า 21,262 ล้านบาท (มูลค่าเป็นอันดับ 5) 

ผู้ว่าฯ 'ชัชชาติ' ชี้!! มีการแจ้งทักท้วง 'แอชตัน อโศก' หากขัด กม.ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

(3 ส.ค. 66) กทม. นำโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร และ รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมมพล รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร และนายสุรัช ติระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมอาคาร แถลงข่าวประเด็นโครงการแอชตัน อโศก เผยไทม์ไลน์ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ระบุ กทม. ได้มีการแจ้งทักท้วงเรื่องแบบแปลนและที่ดิน รฟม. ไปแล้ว 3 ครั้ง ระหว่างปี 2558 - 2559 

ไทม์ไลน์การยื่นแจ้งของโครการแอชตัน อโศก มีดังนี้ 

-23 ก.พ.2558 ยื่นแจ้งก่อสร้างครั้งที่ 1 (ไม่รับทราบแบบแปลน)
-26 พ.ค.2558 แจ้งขอทักท้วง เรื่องแบบแปลน

-16 ก.ค.2558 ยื่นแจ้งดัดแปลงครั้งที่ 2 (ไม่รับทราบแบบแปลน)
-27 ต.ค.2558 แจ้งขอทักท้วง เรื่องแบบแปลนและที่ดิน รฟม.

-2 มิ.ย.2559 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นฟ้อง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส.53/2559
-22 มิ.ย.2559 ยื่นแจ้งดัดแปลงครั้งที่ 3
-17 ส.ค.2559 แจ้งขอทักท้วง เรื่องแบบแปลนและที่ดิน รฟม.

-21 พ.ย.2556 บ.ยื่นแก้ไขข้อทักท้วง ยืนยันว่า รฟม. ให้ใช้ทางเข้าออกผ่านที่ดิน รฟม. ตามหนังสือที่ รฟม. 012/1139 ลว.4 ก.ค.2557 และหนังสือที่ รฟม. 014/1568 ลว.4 ก.ย.2557 ประกอบการขออนุญาตได้

-30 ม.ค.2560 กทม. มีหนังสือรับทราบแบบแปลนการยื่นแจ้งครั้งที่ 3 และแจ้งเงื่อนไขการนำที่ดิน รฟม.มาใช้
-9 มี.ค.2560 สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 450/2560
-17 พ.ย.2560 ยื่นแจ้งดัดแปลงครั้งที่ 4

-26 ธ.ค.2560 กทม. มีหนังสือรับทราบแบบแปลนการยื่นแจ้งครั้งที่ 4 และแจ้งเงื่อนไขการนำที่ดิน รฟม.มาใช้ และการออกใบรับรองการดัดแปลง
-24 ม.ค.2561 แจ้งผลว่าดัดแปลงไม่แล้วเสร็จ 

-5 ก.พ.2561 ยื่นแจ้งขอใบรับรองดัดแปลงอาคาร กทม.
-28 ก.พ.2561 แจ้งผลว่าดัดแปลงไม่แล้วเสร็จ  

-20 มี.ค.2561 บริษัทฯ ขออุทธรณ์ ว่าอาคารก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ สนย. ไม่ออกใบรับรองให้ 
-11 เม.ย.2561 สนย. ส่งเรื่องบริษัทฯ ขออุทธรณ์หนังสือ ให้ คกก.พิจารณาอุทธรณ์
-4 มิ.ย.2561 แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้เพิกถอนหนังสือแจ้งผลการดัดแปลง เนื่องจากการไม่ออกใบรับรองโดยอ้างเหตุว่ามีการฟ้องคดีที่ศาลปกครอง เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนต่อไป

-11 มิ.ย.2561 สนย. ออกใบรับรองการก่อสร้าง และแจ้งเงื่อนไข
-30 ก.ค.2564 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนใบรับแจ้งฯ ทุกฉบับโดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่ออกแต่ละฉบับ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
-24 พ.ย.2565 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้ใช้อำนาจตามมาตรา 41 และ 42 แล้วแต่กรณี ภายใน 90 วัน

-27 ก.ค.2566 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางให้เพิกถอนใบรับแจ้งฯ ทุกฉบับโดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่ออกแต่ละฉบับ

กทม. ระบุว่า การออกใบรับรองการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารลงวันที่ 11 มิ.ย.2561 เป็นการออกใบรับรองแบบมีเงื่อนไข ระบุว่า

"เรื่องที่ดินที่ตั้งโครงการซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ที่มีผู้ฟ้องคดีกรณีโครงการใช้ที่ดินของ รฟม. หากศาลมีคำสั่งพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดแล้วผลการพิพากษาทำให้อาคารของโครงการขัดต่อกฎหมาย ผู้ได้รับใบรับรองจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น"

'กรณ์' ชี้!! เร่งแก้ปัญหา Ashton Asoke เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ต้องไม่ผิดกฎหมายและต้องเยียวยาผู้ร้องได้แบบครบมิติ

(4 ส.ค.66) นายกรณ์ จาติกวณิช ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีใครต้องรับผิดชอบอย่างไร และจะแก้ไขเยียวยาให้ผู้ร้องอย่างไร ในเคส 'Ashton Asoke' ไว้ว่า...

ประเด็นนี้สำคัญครับ

เมื่อวานผู้ว่าชัชชาติแถลงว่า ให้เวลาโครงการ Ashton 30 วัน++ ในการหาทางออกใหม่ 

และเน้นว่า "แต่วันนี้ทางออกปัจจุบันยังใช้ได้เหมือนเดิม"

ในทางปฏิบัติผมว่าถูกต้อง รีบ ๆ หาทางออกให้ผู้อาศัยในอาคารเดือดร้อนน้อยที่สุด

แต่ในทางกฎหมายผมมองว่ามีประเด็นปัญหา

เพราะเมื่อวานสำนักงานกฎษฎีกาได้ออกมายืนยันว่า สำนักงานฯ ได้มีมติแจ้งไปทาง รฟม. (ผู้ที่ให้โครงการเช่าใช้ที่ของตนเป็นทางออก) ตั้งแต่ปี 2563 ว่า รฟม. ไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการนำพื้นที่ให้เอกชนเช่าใช้ ยิ่งศาลพิพากษายืนยันความเห็นนี้ สถานะยิ่งชัดว่า รฟม.ให้เอกชนเช่าใช้ที่นี่ไม่ได้

ดังนั้นประเด็นเฉพาะหน้าที่สำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรให้ รฟม. ยังสามารถคงการเปิดทางเข้า/ออกให้โครงการได้โดยไม่ผิดกฎหมาย?

ส่วนทางกทม. ผมมองว่าการให้เวลาทางโครงการไปหาทางออกใหม่ เพื่อมาขอใบอนุญาตใบใหม่นั้นเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล 

...แต่ไม่พอ!! เพราะไม่ได้บรรเทาปัญหาให้กับชาวบ้านเดิมที่ฟ้องร้อง กทม. มาตั้งแต่ปี 58 ว่าโครงการนี้สร้างผิดกฎหมาย พูดง่ายๆ คือความผิดสำเร็จแล้ว 

และที่ผู้ว่าฯ ยังไม่ได้พูดคือส่วนนี้ ว่าใครต้องรับผิดชอบอย่างไร จะแก้ไขเยียวยาให้ผู้ร้องอย่างไร และที่สำคัญที่สุด กทม. จะปรับตัวเองอย่างไรไม่ให้มีการสร้างตึกที่ผิดกฎหมายอีกในอนาคต

‘สายสีชมพู’ ปลุก ‘แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา-มีนบุรี’ คึกคัก ‘คอนโดใหม่’ ทะลัก 6.8 หมื่น ลบ. ราคาที่ดินพุ่งเท่าตัว

(8 พ.ย. 66) นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี หลังเตรียมเปิดบริการในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ส่งผลให้ตลาดคอนโดมิเนียมตลอดเส้นทางของรถไฟฟ้าสายนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง 

โดยพบว่าผู้พัฒนารายใหญ่มีการลงทุนเปิดตัวโครงการใหม่คึกคัก ทั้งย่านรามอินทรา แจ้งวัฒนะ และมีนบุรี โดย สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566  มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายตลอดแนวสายสีชมพูแล้ว 38,192 ยูนิต มูลค่า 68,700 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แนวถนนติวานนท์ และแจ้งวัฒนะมากสุดคิดเป็น 49.28 % ของจำนวนทั้งหมด และมีอัตราการขายเฉลี่ยของทุกพื้นที่อยู่ที่ 73.50%

“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมของราคาคอนโดมิเนียมแนวสายสีชมพู ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 100% หรือเฉลี่ยปีละกว่า 10% โดยช่วงก่อนหน้าการกระจุกตัวของโครงการคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่อยู่ถนนติวานนท์-แจ้งวัฒนะ และรามอินทราเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังรถไฟฟ้ามีความคืบหน้าพบว่าย่านมีนบุรี ถนนรามคำแหง 209 มีผู้พัฒนารายใหญ่ เช่น ออริจิ้น, แอสเซทไวส์ เข้าไปพัฒนาโครงการใหม่และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี” นายภัทรชัยกล่าว

นายภัทรชัยกล่าวว่า ตลาดคอนโดมิเนียมสายสีชมพูคึกขึ้น เกิดจากคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครชั้นในเริ่มมีมากขึ้นและราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องมายังโครงการคอนโดมิเนียมที่มีการปรับราคาขายที่สูงขึ้นในทุกปี ทำให้ผู้ซื้อระดับกลาง-ล่างที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดเริ่มหาซื้อคอนโดมิเนียมได้ยากขึ้น ด้านผู้พัฒนาก็ยังต้องการจับกำลังซื้อกลุ่มระดับกลาง-ล่างเอาไว้ให้มากที่สุด จำเป็นต้องมองหาทำเลใหม่ที่ราคาที่ดินยังไม่สูง ยังสามารถพัฒนาโครงการเพื่อรองรับกำลังซื้อกลุ่มนี้ได้ แต่ยังจำกัดอยู่ในบริเวณมีศักยภาพ มีศูนย์การค้า ศูนย์ราชการ ชุมชนขนาดใหญ่ เช่น แยกติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา

นายภัทรชัยกล่าวว่า ปัจจุบันราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 65,000 บาท/ตารางเมตร(ตร.ม.) มีคอนโดมิเนียมเปิดขายตั้งแต่ระดับราคา 45,000 - 90,000 บาท/ตร.ม. ขึ้นอยู่กับทำเล รูปแบบโครงการ โดยราคาขายปรับขึ้นมาจากเมื่อปี 2556 มากกว่า 100% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 10% และหากสายสีชมพูเปิดอย่างเป็นทางการคาดการณ์ว่าคอนโดมิเนียมใหม่ที่เปิดขายหลังจากนี้คงมีราคาเริ่มต้นที่ไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท/ตร.ม.แน่นอน เพราะราคาที่ดินเริ่มปรับขึ้นไปแล้วเช่นกันในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% หรือมากกว่านี้ในบางทำเล ซึ่งราคาขายที่ดินอยู่ในช่วง 80,000-300,000 บาท/ตารางวา อนาคตคาดว่าจะพุ่งขึ้นเป็นเท่าตัว จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าคอนโดมิเนียมหรือบ้านจัดสรรใหม่ ๆ ต้องมีราคาแพงกว่าปัจจุบันแน่นอน

'พฤกษา' จับมือ 'ออริจิ้น' ร่วมทุนปั้น 3 โปรเจกต์ 'โรงแรม-คอนโด-บ้านเดี่ยว' มูลค่า 8,700 ล้าน

(22 ม.ค. 67) นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH เปิดเผยว่า ‘พฤกษา’ ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับ 3 บริษัทในเครือ ‘ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้’ ได้แก่ บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด (มหาชน) หรือ ONEO บริษัท พาร์ค ลักชัวรี่ จำกัด หรือ PARK และบริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI เพื่อก่อสร้างและพัฒนา 3 โครงการ ได้แก่ 

(1) การร่วมทุนในธุรกิจโครงการมิกซ์ยูส ประกอบด้วย โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และศูนย์บริการด้านสุขภาพ ทำเลสุขุมวิท มูลค่าโครงการประมาณ 5,000 ล้ านบาท 

(2) การร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับพรีเมียม ย่านพหลโยธิน มูลค่าโครงการ ประมาณ 2,800 ล้านบาท 

และ (3) การพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวระดับพรีเมียม ย่านเพชรเกษม มูลค่าโครงการประมาณ 980 ล้านบาท ในอัตราส่วนการลงทุน 50:50

“สำหรับการร่วมทุนเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ครั้งนี้นับเป็นข้อตกลงที่ได้รับประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองบริษัท (Win-Win) และจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากการนำทรัพยากรและที่ดินของทั้งสองบริษัทที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาโครงการ แชร์เทคโนโลยีและโนว์ฮาวโดยนำจุดแข็งของกลุ่ม ‘พฤกษา’ ที่มีความแข็งแกร่งด้านเงินทุน 

พร้อมมุ่งพัฒนาการอยู่อาศัยที่ ‘อยู่ดี มีสุข’ ด้วยนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยและการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร ด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจในเครือที่หลากหลาย ทั้งธุรกิจพัฒนาและก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเฮลธ์แคร์ ได้แก่ โรงพยาบาลวิมุต และโรงพยาบาลเทพธารินทร์ พร้อมด้วยธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่พัฒนาเทคโนโลยีสมาร์ทโฮม MyHaus ตัวช่วยที่ส่งเสริมเรื่องที่อยู่อาศัย ให้ผู้คนมีชีวิตที่ง่ายและสะดวกขึ้น ไปจนถึงการสร้างที่อยู่อาศัยด้วยความใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรมแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำจากอินโน พรีคาสท์ในเครือพฤกษา ประกอบกับความเชี่ยวชาญด้านการควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง เมื่อผนึกกำลังกับจุดแข็งของ ‘ออริจิ้น’ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ 

จึงเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพ และข้อได้เปรียบจากทั้ง ‘พฤกษา’ และ ‘ออริจิ้น’ จะร่วมกันส่งเสริมให้ทั้ง 3 โครงการร่วมทุนนี้ประสบความสำเร็จ ส่งมอบความอยู่ดี มีสุขให้คนในสังคม และจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งความร่วมมือทางธุรกิจครั้งนี้ พฤกษาจะได้ประโยชน์จากการนำที่ดินที่มีอยู่ในมือมาใช้พัฒนาผ่านแบรนด์ใหม่เพื่อสร้างฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น และเป็นการเพิ่มช่องทางเพื่อการสร้างการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง (Recurring Income) อีกด้วย” นายอุเทน กล่าว

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร กล่าวว่า การได้พฤกษามาเป็นพันธมิตรร่วมพัฒนาโครงการต่าง ๆ จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนนวัตกรรม เทคโนโลยี องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ระหว่างกัน และช่วยให้ยกระดับการพัฒนาคุณภาพการก่อสร้างโครงการ การออกแบบฟังก์ชันและพื้นที่ในอาคาร เติมเต็มความต้องการของการใช้ชีวิตในแต่ละทำเลได้อย่างยอดเยี่ยม

“ในไทยเราอาจไม่ค่อยเห็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จับมือร่วมทุนกันเอง แต่ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีความร่วมมือระหว่างผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ เพราะแต่ละรายต่างมีความถนัด ความเชี่ยวชาญในเซกเมนตฺและทำเลแตกต่างกัน โดยเครือออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ มุ่งมั่นพัฒนาและสร้างสรรค์ฟังก์ชันและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยและการพักผ่อนของคนยุคใหม่ เช่น การพัฒนาคอนโดฯ สำหรับกลุ่ม Pet Lover การพัฒนาห้องแบบ Duo Space เพดานสูง 4.2 เมตร บ้านเดี่ยวที่ใส่ใจ Universal Design ทางด้านพฤกษาเองเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ มีความเชี่ยวชาญในด้านนวัตกรรมการก่อสร้าง และประสบการณ์การพัฒนาโครงการมากมายจึงเชื่อว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถมาช่วยเติมเต็มความถนัดและโอกาสซึ่งกันและกันได้ เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างออริจิ้นและพฤกษาในครั้งนี้จะเป็นมิติใหม่ของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่บริษัทระดับท็อปของตลาด 2 ราย มารวมพลังกัน พัฒนาทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยว ยกระดับการพักผ่อนและการอยู่อาศัยให้แก่ผู้บริโภค” นายพีระพงศ์ กล่าว

สำหรับ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ธุรกิจการให้บริการด้านสุขภาพ และการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับสองธุรกิจหลัง เพื่อสร้างรายได้ประจำ โดยปัจจุบัน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบ่งเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่

(1) กลุ่มผลิตภัณฑ์ทาวน์เฮาส์ ซึ่งมีโครงการที่เปิดขายภายใต้ชื่อแบรนด์ ดังนี้ บ้านกรีนเฮาส์ (Baan GreenHaus) บ้านพฤกษา (Baan Pruksa) พฤกษาวิลล์ (Pruksa Ville) เดอะ คอนเนค (The Connect) และพาทิโอ (Patio)

(2) กลุ่มผลิตภัณฑ์บ้านเดี่ยว ภายใต้ชื่อแบรนด์ เดอะ แพลนท์ (The Plant) ภัสสร (Passorn) และเดอะ ปาล์ม (The Palm)

และ (3) กลุ่มผลิตภัณฑ์คอนโดฯ ภายใต้ชื่อแบรนด์ พลัม คอนโด (Plum Condo) เดอะ ทรี (The Tree) แชปเตอร์ (Chapter) แชปเตอร์ วัน (Chapter One) เดอะ ไพรเวซี่ (The Privacy) และเดอะ รีเซิร์ฟ (The Reserve) โดยส่งมอบที่อยู่อาศัยเพื่อคนไทยไปแล้วมากกว่า 260,000 ครอบครัว 

สำหรับธุรกิจด้านสุขภาพมีโรงพยาบาลวิมุต เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของกลุ่มธุรกิจ และในปี 2564 วิมุตฯ ได้เข้าลงทุนในกิจการโรงพยาบาลเทพธารินทร์เพิ่มเติม และ PSH ได้ขยายธุรกิจใหม่ด้านอีคอมเมิร์ซด้วยการก่อตั้งบริษัท ซินเนอร์จี โกรท จำกัด เพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการขยายธุรกิจ รวมทั้งก่อตั้งบริษัท อินโน พรีคาสท์ จำกัด เพื่อรองรับความต้องการด้านพรีคาสท์ในตลาดธุรกิจก่อสร้าง และมีการลงทุนอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมและเพิ่มความสามารถในการสร้างผลกำไร สร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI มีโครงสร้างธุรกิจหลากหลาย ประกอบด้วย

1.ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการขาย (Residential Development Business) พัฒนาคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรมาแล้ว 158 โครงการ (ณ สิ้นไตรมาส 4/2566) เช่น แบรนด์ พาร์ค ออริจิ้น (Park Origin) โซ ออริจิ้น (So Origin) ออริจิ้น ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ (Origin Plug & Play) ไนท์บริดจ์ (Knightsbridge) นอตติ้ง ฮิลล์ (Notting Hill) ออริจิ้น เพลส (Origin Place) ดิ ออริจิ้น (The Origin) เคนซิงตัน (Kensington) แฮมป์ตัน (Hampton) ออริจิ้น เพลย์ (Origin Play) บริกซ์ตัน (Brixton) และบริทาเนีย (Britania) รวมมูลค่าโครงการกว่า 240,661 ล้านบาท

2.ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income Business) เช่น โรงแรม เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ค้าปลีก

3.ธุรกิจบริการ (Service Business) เช่น ธุรกิจให้บริการลูกบ้าน ธุรกิจการจัดการอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจตัวแทนซื้อ ขาย เช่า อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์

และ 4.ธุรกิจเมกะเทรนด์ระยะยาว (Mega Trends) กลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจเฮลท์แคร์ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจด้านการเงิน ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ เพื่อยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้บริโภคแบบครบวงจร

'อรรถวิชช์' เตรียมรับมือสร้างคอนโดสูงหน้า 'รร.บดินทรเดชา' พบที่จอดรถโครงการน้อย โอกาสเบียดแย่งที่จอดในละแวกมีสูง

(29 ก.พ.67) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ได้เปิดเผยถึงโครงการคอนโดที่มีจำนวนยูนิตมากกว่า 500 กำลังจะก่อสร้างขึ้นบริเวณตรงข้ามโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) วังทองหลาง ซึ่งอาจสร้างปัญหาด้านการจราจรในอนาคต เนื่องจากโครงการมีจำนวนที่จอดรถน้อยจนเกินไป ว่า...

“ผมมาเตรียมรับมือการสร้างคอนโดสูงในซอยแคบหน้าโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งโครงการนี้ไม่ธรรมดามีถึง 11 อาคาร และแต่ละอาคารจะมี 8 ชั้น แล้วที่สําคัญห้องพักมีถึง 512 ห้อง แต่ในขณะที่ที่จอดรถมีเพียงแค่ 206 คัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนแค่ 40% เท่านั้น ไม่ใช่ 1 ต่อ 1 และยังไม่รวมว่าถ้าเกิดมีญาติมาเยี่ยมหรือใครมาเยี่ยมอีก ซึ่งจะจอดรถกันตรงไหน”

“คราวนี้มาดูที่ถนนหน้าซอย ซึ่งเป็นถนนไปกลับสองเลน ไปเลนนึงและกลับเลนนึง ถ้ามีใครจอดรถเข้าสักคันนึง ทีนี้รถติดก็จะติดกันยาวเพราะว่าต้องเบี่ยงเข้าอีกเลนเพื่อแซงกันขึ้นมา”

จากนั้น นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ได้ทำการวัดขนาดถนนหน้าโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แล้วพบว่ามีขนาดกว้างทั้งสิ้น 6.90 เมตร

“ซึ่งขณะนี้ผมก็เลยไปรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณในซอยนี้ เขาก็ให้ความเห็นกันมาเป็นทิศทางเดียวกันเลยว่าติดตอนเช้าและตอนเย็นช่วงที่รับเด็กนักเรียน แต่ก็จะรู้สึกไม่โอเคถ้าหากมีคอนโดแห่งนี้เกิดขึ้นแล้วมีที่จอดรถไม่เพียงพอ หากถ้าตอนเช้าคนจากคอนโดมาจอดรถไว้แล้วไม่ยอมเอากลับไป ก็เท่ากับรถติดเป็นอัมพาตกันทั้งซอยเลยทีเดียว”

“ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาสําคัญเลยทีเดียวสำหรับในซอยที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ตั้งอยู่ ดังนั้นก็หวังว่าการสร้างคอนโดจะทําไปด้วยความระมัดระวังมากกว่านี้ในเรื่องของที่จอดรถต้องเตรียมให้มีความพร้อมมิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นที่เดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้” นายอรรถวิชช์ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top