Wednesday, 21 May 2025
คว่ำบาตร

‘รูเบิลรัสเซีย’ แข็งค่าสุดในรอบ 5 ปี แถมเป็นสกุลเงินผลงานดีสุดในปีนี้

สกุลเงินรูเบิลแข็งค่าขึ้นอีกในตลาดหลักทรัพย์มอสโกเมื่อวันพฤหัสบดี (12 พ.ค. 65) ข้ามผ่านระดับ 67 รูเบิลต่อยูโรเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี และมุ่งหน้าสู่ระดับ 64 รูเบิลต่อดอลลาร์ แม้ธนาคารต่างๆ จะเสนอซื้อรูเบิลในราคาที่อ่อนกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ รูเบิล กลายเป็นสกุลเงินที่มีผลงานดีที่สุดของโลกในปีนี้ ด้วยแรงหนุนเทียมจากมาตรการควบคุมเงินทุนที่รัสเซียกำหนดออกมาเพื่อปกป้องภาคการเงินของพวกเขาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากถูกตะวันตกคว่ำบาตร ตอบโต้กรณีที่มอสโกส่งทหารหลายแสนนายรุกรานยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ในวันพฤหัสบดี (12 พ.ค. 65) อ้างการแข็งค่าของรูเบิล ว่าเป็นตัวอย่างของผลงานที่พอใช้ของรัสเซียภายใต้มาตรการคว่ำบาตรหนักหน่วงที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของตะวันตก

ช่วงหนึ่งของการซื้อขาย รูเบิลแข็งค่าขึ้น 4% เป็น 64.34 รูเบิลต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่พบเห็นครั้งสุดท้ายต้องย้อนกลับไปในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 ในขณะที่เมื่อเทียบกับยูโร มีอยู่ช่วงหนึ่งรูเบิลแข็งค่าขึ้นมากกว่า 5% อยู่ที่ระดับ 66.68 รูเบิลต่อยูโร

รูเบิลได้แรงหนุนจากการที่บรรดาบริษัทต่างๆ ที่มุ่งเน้นการส่งออก จำเป็นต้องขายรายได้เงินตราต่างประเทศและเข้าซื้อรูเบิล ขณะเดียวกันอุุปสงค์สำหรับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศก็ลดน้อยลง เนื่องจากยอดการนำเข้าที่ลดลงของรัสเซีย ท่ามกลางปัญหาความวุ่นวายทางโลจิสติกส์และมาตรการคว่ำบาตรอย่างกว้างขวางของตะวันตก

อย่างไรก็ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ธนาคารต่างๆ ของรัสเซียนั้นต่างออกไป โดย สเบอร์แบงก์ ขายดอลลาร์และยูโรที่ราคา 71.24 และ 73.89 รูเบิลตามลำดับ ส่วนธนาคาร VTB ขายดอลลาร์ที่ 82.15 รูเบิลและขายยูโรที่ 85.15 รูเบิล

รูเบิลที่แข็งค่าอาจช่วยสยบภาวะเงินเฟ้อ แต่ก็เสี่ยงส่งผลกระทบต่อรายได้ของเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการส่งออก ซึ่งขายสินค้าโภคภัณฑ์ของพวกเขาไปยังต่างแดนเป็นสกุลเงินต่างประเทศ

'รัสเซีย' พร้อมส่งน้ำมันให้ 'เอเชีย-ภูมิภาคอื่น' หากบางชาติยุโรปไม่เอา เพราะแผนคว่ำบาตร

สำนักข่าวรอยเตอร์ - รัสเซียจะส่งน้ำมันที่ถูกปฏิเสธโดยประเทศในยุโรปไปยังเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆ รองนายกรัฐมนตรี อเล็กซานเดอร์ โนวัค ของรัสเซีย กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี และเสริมว่ายุโรปจะต้องหาน้ำมันทดแทนที่จะมีราคาแพงกว่า

คณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อวันพุธ (18พ.ค.) เปิดเผยแผนมูลค่า 210,000 ล้านยูโร (220,00 ล้านดอลลาร์) สำหรับยุโรปที่จะยุติการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซียภายในปี 2570 และใช้เรื่องนี้เป็นการสลัดตัวจากการพึ่งพาพลังงานรัสเซีย เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว

ยุโรปได้รับน้ำมันรัสเซียประมาณ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน (bpd) โนวัค กล่าว และเสริมว่ารัสเซียพร้อมที่จะเปลี่ยนเส้นทางเสบียงเหล่านั้นออกจากยุโรป และยุโรปต้องแทนที่น้ำมันดิบที่มีราคาแพงกว่าจากแหล่งอื่น

มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่บังคับใช้กับรัสเซียหลังจากกองทหารบุกเข้าไปในยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ บีบให้ผู้ซื้อน้ำมันจำนวนหนึ่งต้องชะลอหรือปฏิเสธการขนส่งสินค้า ซึ่งทำให้การผลิตน้ำมันของรัสเซียลดลง

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ยันรัสเซียไม่ใช่ตัวการทำราคาอาหารทั่วโลกถีบตัวสูงขึ้น ชี้การส่งออกธัญพืชจากยูเครนยังสามารถทำได้โดยใช้เบลารุสเป็นทางผ่าน

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ระบุว่า ชาติตะวันตกพยายามปกปิดความผิดพลาดจากนโยบายของตัวเองด้วยการกล่าวโทษรัสเซียว่าเป็นตัวการที่ทำให้ตลาดอาหารโลกเกิดปัญหา

ส่วนรายงานข่าวที่อ้างว่า รัสเซียขัดขวางยูเครนไม่ให้ส่งออกธัญพืชเป็นเรื่องไม่จริง โดย ปูติน แนะนำว่าวิธีแก้ไขปัญหานี้ที่ง่ายที่สุดคือการส่งออกผ่านประเทศเบลารุส ซึ่งจะไม่ถูกฝ่ายใดขัดขวางแน่นอน แต่ประเทศตะวันตกจะต้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่ใช้กับเบลารุสก่อน

นอกจากนี้ ปูติน ยังเตือนว่า ปัญหาขาดแคลนสินค้าในตลาดอาหารโลกมีแนวโน้มจะเลวร้ายลงไปอีก เพราะสหรัฐและอังกฤษใช้มาตรการคว่ำบาตรสินค้าประเภทปุ๋ยที่ผลิตในรัสเซีย

โดยตอนนี้รัสเซียได้ควบคุมพื่นที่ชายฝั่งทางภาคใต้ของยูครนเอาไว้ได้ รวมทั้งเส้นทางที่เชื่อมต่อกับท่าเรือต่าง ๆ ในทะเลดำ ซึ่งเรือรบของรัสเซียประจำการอยู่ ขณะที่รัฐบาลรัสเซียย้ำมาตลอดว่าการที่ยูเครนไม่สามารถส่งออกธัญพืชเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลยูเครนและสหรัฐฯเอง

ขณะที่วานนี้ (6 มิถุนายน 2565) ประธานาธิบดี อเล็กซานเดอนร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส ระบุว่า พร้อมจะเปิดทางให้ยูเครนส่งธัญพืชไปยังเยอรมนี โปแลนด์ และ ท่าเรือในทะเลบอลติก แต่มีเงื่อนไขว่าสินค้าจากเบลารุสต้องได้รับอนุญาตให้ส่งสินค้าออกจากท่าเรือเหล่านี้เช่นกัน

ส่วน ประธานาธิบดี แมกกี้ ซอล ผู้นำเซเนกัล ในฐานะประธานสหภาพแอฟริกา ที่เดินทางเยือนรัสเซีย ระบุด้วยว่าประธานาธิบดี ปูติน รับปากจะอำนวยความความสะดวกในการส่งออกธัญพืชผ่านท่าเรือในยูเครน หรือผ่านแม่น้ำดานูบของโรมาเนีย

ขณะเดียวกัน อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ระบุว่า สงครามระหว่างยูเครน และ รัสเซีย ทำให้ราคาอาหารและพลังงานในโลกถีบตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก การสู้รบที่เกิดขึ้น ได้กลายเป็นวิกฤติของโลก และประชากรโลก 50 ล้านคน โดยเฉพาะในแอฟริกาและตะวันออกกลาง จะต้องเผชิญกับความหิวโหยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หากไม่สามารถหาหนทางขนส่งธัญพืชออกจากยูเครนได้ ซึ่งปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครนที่ยืดเยื้ออาจเรียกได้ว่าเป็น “สงครามธัญพืช”

แฉยับ!! เบื้องหลังบริษัทน้ำมัน 'สหรัฐฯ - ยุโรป' โกยกำไรงาม จากสัมปทานน้ำมันของ รบ.เมียนมา

หลังจากเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 66 ที่เป็นวันครบรอบ 2 ปีเหตุการณ์รัฐประหารในพม่า ก็ได้มีการสรุปรายงานโดยเจ้าหน้าที่พิเศษขององค์การสหประชาชาติ ว่าตั้งแต่ที่มีการยึดอำนาจโดย นายพล มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารคนปัจจุบันเป็นต้นมา มีการกระทำความผิดที่เข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,490 ราย โดยในจำนวนนั้น มีทั้งเด็กและเยาวชน กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และพลเรือนพม่ามากมาย

ในขณะที่ทั่วโลกร่วมกันประณาม และคว่ำบาตรรัฐบาลพม่า แต่กลับมีการนำเสนอเอกสารลับ โดยกลุ่ม Distributed Denial of Secrets กลุ่มนักเคลื่อนไหวในพม่า Justice For Myanmar ร่วมกับสำนักข่าวชื่อดัง  Finance Uncovered และ The Guardian ซึ่งพบหลักฐานการเสียภาษีจำนวนมหาศาลของกลุ่มบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของทั้ง สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และ ไอร์แลนด์ ที่ได้ผลประโยชน์จากสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในแหล่งก๊าซธรรมชาติของพม่า ที่บ่งชี้ว่าบริษัทเหล่านี้ยังสามารถแสวงหาผลกำไรมหาศาล แม้จะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าไปแล้วก็ตาม

เอกสารลับนี้ ยังชี้ว่า บริษัทนัำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาบางแห่ง ยังคงดำเนินกิจการในบริษัทสาขาของตนในพม่าตามปกติ แม้จะมีคำเตือนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ถึงความเสี่ยงในการทำธุรกิจภายใต้สถานการณ์การเมืองในพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำธุรกิจร่วมกับ บริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งชาติของเมียนมา (MOGE) ที่เป็นแหล่งเงินทุนหลักของรัฐบาลทหารพม่า 

เมื่อปรากฏหลักฐานว่ายังมีบริษัทน้ำมันจากชาติมหาอำนาจ ที่ยังมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารพม่าเช่นนี้ ทางสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, แคนาดา จึงได้ออกมาแก้เกี้ยวด้วยการประกาศมาตรการคว่ำบาตรพม่าเพิ่ม รวมถึงคณะผู้บริหารระดับสูงของ MOGE ด้วย 

แต่กลับเลือกที่จะเลี่ยง ไม่ยอมคว่ำบาตร MOGE ทุกองค์กรทั้งระบบ ซึ่งยังเปิดช่องให้กิจการเอกชนสามารถทำธุรกิจร่วมกับ MOGE ได้อยู่ ซึ่งตรงข้ามกับทางกลุ่มสหภาพยุโรป ที่ได้ออกมาประกาศคว่ำบาตร MOGE ทั้งองค์กรแล้ว ในประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในพม่า และมีการห้ามบริษัทเอกชนในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปทำธุรกิจร่วมกับ MOGE ใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อมก็ตาม

ทั้งนี้ ในเอกสารด้านภาษีที่หลุดออกมามีระบุรายชื่อบริษัทน้ำมันเอกชนของชาติตะวันตกที่ยังร่วมสัมปทานใน MOGE ดังนี้...

- Halliburton บริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน ที่เปิดสาขาในสิงคโปร์ แจงผลกำไรก่อนเสียภาษีในไตรมาศที่ 3 ของปี พ.ศ. 2564 รวมผลประกอบการ 8 เดือนหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ที่ 6.3 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 207 ล้านบาท)  

- Baker Hughes บริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน ที่มีสำนักงานใหญ่ในเมือง ฮูสตัน รัฐเท็กซัส และเปิดสำนักงานในเมืองย่างกุ้ง มีผลกำไรก่อนภาษี ตลอด 6 เดือนจนถึงมีนาคม พ.ศ. 2565 ที่ 2.64 ล้านดอลลลาร์ (ประมาณ 87 ล้านบาท)

‘มาดามเดียร์’ ประกาศคว่ำบาตร กก.บห.ชุดใหม่ 'ปชป.' ลั่น!! ไม่ขอร่วมทุกกิจกรรมพรรค แต่ยืนยัน 'ไม่ลาออก'

(14 ธ.ค. 66) ที่รัฐสภา น.ส.วทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวเปิดใจถึงบทบาทของตนเองต่อพรรคประชาธิปัตย์หลังจากนี้ว่า ตนเองจะยังคงตั้งมั่น และมุ่งมั่นเดินหน้าทำงานสิ่งที่เป็นประโยชน์ แก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหาต่อประชาชนต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีตำแหน่งหรืออำนาจใด ๆ แต่กิจกรรมทั้งหมด ที่ขับเคลื่อนโดยกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จะของดเว้นบทบาท และยุติบทบาทการทำงานกับพรรค แต่จะยังคงเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อทำงานที่เป็นประโยชน์กับประชาชนต่อไป แต่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพรรค โดยเฉพาะผู้บริหารพรรคชุดปัจจุบัน ตนจะไม่ขอเข้าร่วม 

น.ส.วทันยา ยังกล่าวถึงการสืบหาข้อเท็จจริงกรณีที่มีแชทหลุดล็อบบี้สกัดการลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของตนเอง โดยมั่นใจว่า สื่อมวลชนได้มีการเปิดเผยชื่อของผู้ส่งข้อความดังกล่าวแล้ว และยังเป็น 1 ในคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ด้วย ซึ่งตนเชื่อว่า การสกัดกั้น กีดกันการแข่งขันของตนนั้น สังคมจะรับทราบ และเห็นเป็นประจักษ์แล้วว่า มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่เหตุที่เกิดขึ้น ตนเองไม่ขอไปร้องเรียนใด ๆ เพิ่มเติม เพราะการเลือกหัวหน้าพรรคได้ข้อยุติแล้ว 

พร้อมย้ำว่า ตนเองไม่ศรัทธาในวิถีการทำงานการเมืองในลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะการมีแชตไลน์การล็อบบี้หลุด หรือการกีดกันสกัดกั้นทางการเมือง ที่สะท้อนความไม่เป็นธรรม และเป็นข้อกังขาถึงความสง่างามของคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ตนจึงขอยุติบทบาท และกิจกรรมทางการเมืองที่ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยจะยังคงเหลือเพียงการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ยังไม่ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ทั้งที่สมาชิกรุ่นเก่าตัดสินใจหันหลังให้กับพรรคประชาธิปัตย์นั้น น.ส.วทันยา กล่าวว่า ระหว่างนี้ ยังขอรอดูทิศทางการทำงานของพรรคให้ชัดเจนกว่านี้ก่อน เพราะยังจะต้องให้ความเป็นธรรมกับกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ด้วย แม้จะไม่ได้ศรัทธา และไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางการบริหารของกรรมการบริหารชุดใหม่ที่กำลังจะดำเนินไป จึงไม่เร่งผลีผลามตัดสินใจ และจะอดทน ไม่ย่อท้อต่อการทำงานทางการเมือง ดังนั้น จึงไม่เร่งสรุป หรือตัดสินใจใด ๆ และยังตั้งมั่นทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องไปข้องเกี่ยวกับการทำกิจกรรมของพรรค 

น.ส.วทันยา กล่าวด้วยว่า ยอมรับว่าหากคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ นำพาพรรคไปร่วมรัฐบาล ก็จะเป็นจุดทบทวนสำคัญของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่เฉพาะตนเองเท่านั้น จะเป็นจุดทบทวนของสมาชิกพรรคทุกคน รวมถึงประชาชนผู้ให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด เพราะเชื่อว่า ประชาชนเชื่อมั่นการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยึดมั่นใจอุดมการณ์ และจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน ไม่ได้แสวงหาประโยชน์และอำนาจ

'จีน' คว่ำบาตร 5 บริษัทค้าอาวุธอเมริกัน  ตอบโต้นโยบายขายอาวุธให้ไต้หวันของสหรัฐฯ

เมื่อวันอาทิตย์ (7 ม.ค.67) ที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งประกาศคว่ำบาตร 5 บริษัทค้าอาวุธสัญชาติอเมริกันทันที เพื่อตอบโต้นโยบายสนับสนุนอาวุธให้กับไต้หวัน ซึ่งจีนถือว่าเป็นการยุยงปลุกปั่นการแบ่งแยกดินแดนของเกาะไต้หวันอย่างจงใจ ขัดต่อหลักการนโยบายจีนเดียวของจีนแผ่นดินใหญ่ 

โดยบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำ คว่ำบาตรโดยรัฐบาลปักกิ่ง ได้แก่...

- BAE Systems Land and Armaments
- Alliant Techsystems Operations
- AeroVironment
- ViaSat 
- Data Link Solutions 

กระทรวงการต่างประเทศจีนได้ระบุชัดเจนในแถลงการณ์ว่า มาตรการคว่ำบาตรนี้ จะประกอบด้วยการอายัดทรัพย์สินของบริษัทเหล่านั้นในจีน รวมถึงสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ของทั้งองค์กร และตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการห้ามองค์กรและบุคคลของจีนทำธุรกรรมและให้ความร่วมมือองค์กรทั้ง 5 แห่งนี้ด้วย 

รัฐมนตรีต่างประเทศจีนยังเสริมอีกว่า การขายอาวุธของสหรัฐฯ ให้กับไต้หวันที่ถือว่าเป็นภูมิภาคส่วนหนึ่งของจีน ส่งผลเสียร้ายแรงต่ออธิปไตยและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจีนที่จะต้องปกป้องอธิปไตย ความมั่นคง สิทธิ และผลประโยชน์ขององค์กรและพลเมืองของจีนตามกฎหมาย 

มาตรการคว่ำบาตรของจีนในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือด้านการทหารแก่ไต้หวันมูลค่า 300 ล้านเหรียญ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่ครอบคลุมถึงการสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์ การฝึกอบรม และการซ่อมบำรุง เพื่อเสริมศักยภาพด้านการสั่งการ ควบคุม และการสื่อสารให้แก่กองทัพไต้หวัน

กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ยังย้ำอีกว่า งบช่วยเหลือด้านการทหาร และ การขายอาวุธของสหรัฐฯให้ไต้หวัน จะช่วยให้ไต้หวันขยายขีดความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลจีนปักกิ่งต้องออกมาตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรบริษัทค้าอาวุธทั้ง 5 แห่งของสหรัฐอเมริกาในวันนี้ แม้นักวิเคราะห์ตะวันตกจะมองว่าการคว่ำบาตรของจีนเป็นเพียงการตอบโต้เชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตอาวุธของสหรัฐฯ ไม่สามารถขายอาวุธให้กับรัฐบาลจีนได้อยู่แล้ว 

แต่อย่างน้อยก็เป็นการส่งสัญญาณแสดงความไม่พอใจจากรัฐบาลปักกิ่ง ถึงสหรัฐฯ ที่พยายามใช้ไต้หวันเป็นตัวจุดชนวนความขัดแย้งกับจีน ที่อาจลุกลามไปสู่การเผชิญหน้าทางทหารอย่างจริงจังระหว่างชาติมหาอำนาจตะวันตก กับ จีน ในเขตพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน ซึ่งการขายอาวุธของสหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งรูปแบบของความพยายามในการแทรกแซงกิจการภายในของจีน ที่จะบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างจีน และ ไต้หวัน 

รัฐบาลจีนจึงจำเป็นต้องตอบโต้ ผ่านนโยบายคว่ำบาตรที่สหรัฐอเมริกาชอบใช้กดดันประเทศที่เป็นอริกับตนอยู่เสมอ แต่อาจไม่เห็นผลมากนัก เพราะตราบใดที่การครอบครองอาวุธ หมายถึงการรักษาสันติภาพในมุมมองของสหรัฐฯ และรัฐบาลไต้หวันเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างจีน-ไต้หวัน ก็คงคลี่คลายได้ยาก

‘แบงก์โลก’ เผย!! ‘รัสเซีย’ ขยับขึ้นสู่ประเทศที่มีรายได้สูง สวนทางความพยายามชาติตะวันตกคว่ำบาตรนานกว่า 2 ปี

(9 ก.ค. 67) เฟซบุ๊ก ‘Salika’ ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า…ธนาคารโลกชี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียสวนทางกับการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่กินเวลายาวนานกว่า 2 ปีแล้ว

การจัดอันดับรายได้ประชาชาติประจำปีของธนาคารโลกล่าสุด แสดงให้เห็นว่า รัสเซียได้เลื่อนระดับจากประเทศที่มีรายได้ ‘ปานกลางระดับบน’ ไปเป็นประเทศที่มีรายได้ ‘สูง’ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

ธนาคารวัดรายได้มวลรวมประชาชาติ (GNI) ตามวิธีการย้อนหลังไปถึงปี 1989 และอัปเดตการจัดหมวดหมู่นี้ทุก ๆ วันที่ 1 กรกฎาคม โดยอิงตาม GNI ต่อหัวของปีปฏิทินก่อนหน้า รายได้วัดในหน่วยเทียบเท่ากับดอลลาร์สหรัฐ

“กิจกรรมทางเศรษฐกิจในรัสเซียได้รับอิทธิพลจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทหารในปี 2566 ในขณะที่การเติบโตยังได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการค้า (+6.8%) ภาคการเงิน (+8.7%) และการก่อสร้าง (+6.6%)” บล็อกของธนาคารโลกระบุ

“ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นทั้ง GDP ที่แท้จริง (3.6%) และ GDP เล็กน้อย (10.9%) และ GNI (ตามวิธีคำนวณ Atlas Method) ของรัสเซียต่อหัวเพิ่มขึ้น 11.2%” ธนาคารโลกกล่าวเสริม

การเติบโตทางเศรษฐกิจนี้เกิดขึ้นแม้หลังจากที่สหรัฐฯ และพันธมิตรเรียกเก็บมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียหลายพันครั้งจากความขัดแย้งในยูเครน โดยระบุอย่างเปิดเผยว่าเป้าหมายของพวกเขาคือการทำลายเศรษฐกิจรัสเซียและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในมอสโก

“ไม่มีเศรษฐกิจใดในโลก แม้แต่จีน ที่สามารถทนต่อการรุกรานทางการเงินและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับรัสเซียได้” ศาสตราจารย์ Alexander Dynkin นักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซียและประธานสถาบันวิจัยแห่งชาติ Primakov ด้านเศรษฐกิจโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวกับ The Economic Times

“เราพึ่งพาตนเองได้ในด้านทรัพยากรพลังงาน วัตถุดิบ และอาหาร เรามีตลาดแรงงานที่มีทักษะ วิทยาศาสตร์พื้นฐานของเราอยู่ในระดับโลก ระบบนวัตกรรมระดับชาติของเราประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาอำนาจอธิปไตยทางเทคโนโลยีและเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มที่ว่างอยู่”

ประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซีย กล่าวถึงนักลงทุนที่งานประชุมเศรษฐกิจนานาชาติเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อเดือนที่แล้วว่า เศรษฐกิจรัสเซียกำลังเติบโตแม้จะมีการคว่ำบาตรจากนานาชาติอย่างหนัก และประเทศได้ขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย AP รายงาน

ปัจจัยขับเคลื่อนหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียคือการต่อสู้ในยูเครน ซึ่งขณะนี้มีความสำคัญต่อรัสเซียในเชิงเศรษฐกิจพอ ๆ กับในทางการเมือง แบรนด์ระดับโลกส่วนใหญ่ก็หายไป หรือกลับมาทำธุรกิจใหม่ในคราบของแบรนด์รัสเซีย แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนักในเชิงเศรษฐกิจสำหรับชาวรัสเซียส่วนใหญ่ โดยการใช้จ่ายของรัฐจำนวนมหาศาลสำหรับยุทโธปกรณ์ทางทหาร และการจ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้กับทหารอาสาสมัคร ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่ง

เศรษฐกิจของรัสเซียจะเติบโตต่อไปในปีนี้ แม้จะมีการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ตามข้อมูลจากธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาแห่งยุโรป (EBRD) ในลอนดอน

EBRD คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ของรัสเซียจะขยายตัว 2.5% ในปี 2024 และกลับมาอยู่เหนือระดับที่เห็นก่อนปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนในปี 2022 นั่นแสดงถึงการยกระดับครั้งใหญ่จากคำแนะนำก่อนหน้านี้ที่ 1.0% ที่ให้ไว้ในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ในขณะที่รัสเซียชดเชยผลกระทบของการคว่ำบาตรด้วยรายจ่ายมหาศาลสำหรับเครื่องจักรสงครามของตน แต่ยังคงชะลอตัวลงอย่างมากจากการเติบโต 3.6% ในปี 2566

“มันไม่สมจริงเลยที่จะคาดหวังว่าการคว่ำบาตรรัสเซียจะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินครั้งใหญ่ ดังที่หลาย ๆ คนคาดหวังไว้” Beata Javorcik หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ EBRD กล่าวกับ AFP ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัสเซียได้ “มุ่งความสนใจไปที่เศรษฐกิจของตนไปที่ความพยายามในการทำสงคราม” เธอกล่าว “นี่กำลังนำไปสู่การเติบโตที่เร็วขึ้น” แต่ “การเติบโตนี้แปลไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้คนหรือเปล่า เป็นเรื่องที่น่าสงสัย” 

“การเติบโตของรัสเซียในระยะกลางจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในกรณีที่ไม่มีการคว่ำบาตร” เธอกล่าว

ทั้งนี้ ในการพิจารณาว่าประเทศใดมีรายได้สูง ประเทศนั้นจะต้องมีรายได้ประชาชาติ หรือ GNI (ผลรวมของรายได้ประเภทต่าง ๆ ของบุคคลในระบบเศรษฐกิจ ได้รับในฐานะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ในรอบระยะเวลาหนึ่ง ๆ) มากกว่า 14,005 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจาก 13,845 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณก่อนหน้า การปรับค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของ GDP deflators (ตัววัดค่าเฉลี่ยของระดับราคาของสินค้าทุกชนิดที่รวมอยู่ใน GDP) ของจีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และยูโรโซน

ธนาคารโลกกำหนดเศรษฐกิจของโลกไว้ 4 กลุ่มรายได้ ได้แก่ ต่ำ ปานกลางระดับล่าง ปานกลางระดับบน และสูง ซึ่งการจำแนกประเภทจะได้รับการอัปเดตทุกปีในวันที่ 1 กรกฎาคม

การแบ่งประเภทประเทศตามประเภทรายได้มีการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญตลอดช่วงเวลานับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 โดยในปี 1987 พบว่า 30% เป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ และ 25% เป็นประเทศที่มีรายได้สูง สำหรับปี 2023 ประเทศที่มีรายได้ต่ำลดเหลือ 12% และประเทศที่มีรายสูงถึง 40% ในหมวดผู้มีรายได้สูงเพิ่มขึ้นเป็น 40%

อย่างไรก็ตาม ขนาดและทิศทางของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก นี่คือไฮไลต์บางส่วนของแต่ละภูมิภาค

- 100% ของประเทศในเอเชียใต้ถูกจัดเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำในปี 1987 ในขณะที่ส่วนแบ่งนี้ลดลงเหลือเพียง 13% ในปี 2023

- ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีส่วนแบ่งของประเทศที่มีรายได้ต่ำในปี 2023 (10%) สูงกว่าในปี 1987 ที่ไม่มีประเทศใดถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่นี้

- ในละตินอเมริกาและแคริบเบียนสัดส่วนของประเทศที่มีรายได้สูงเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 1987 เป็น 44% ในปี 2023

- ยุโรปและเอเชียกลางมีสัดส่วนของประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2023 (69%) ต่ำกว่าปี 1987 (71%) เล็กน้อย

- นอกจากรัสเซีย แล้วยังมีอีก 2 ประเทศ คือ บัลแกเรียและปาเลา ที่ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

ปักกิ่งคว่ำบาตร 13 บริษัทยุทโธปกรณ์สหรัฐ สั่งห้ามส่งออกวัตถุดิบผลิตชิปและอาวุธให้มะกัน

(6 ธ.ค.67) กระทรวงการต่างประเทศจีนได้ประกาศการคว่ำบาตรบริษัททหารของสหรัฐฯ จำนวน 13 แห่ง เพื่อเป็นการตอบโต้การขายอาวุธของสหรัฐฯ ให้กับไต้หวัน ซึ่งจีนมองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนและทำลายอธิปไตยของตนอย่างรุนแรง โดยการคว่ำบาตรนี้เกิดขึ้นหลังจากที่จีนคัดค้านอย่างหนักต่อการที่สหรัฐฯ อนุมัติการขายชิ้นส่วนอะไหล่และการสนับสนุนเครื่องบิน F-16 และเรดาร์ให้กับไต้หวัน มูลค่ากว่า 385 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

บริษัทที่ถูกคว่ำบาตร ได้แก่ Teledyne Brown Engineering, Brinc Drones, Shield AI การคว่ำบาตรบริษัทดังกล่าวยังส่งผลให้บริษัทอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบในฐานะไม่สามารถจัดหาวัตถุดิบในการผลิตได้ อาทิ Rapid Flight, Red Six Solutions, Synexxus, Firestorm Labs, Kratos Unmanned Aerial Systems, HavocAI, Neros Technologies, Cyberlux Corporation, Domo Tactical Communications และ Group W

นอกจากนี้ จีนยังได้อายัดทรัพย์สินของผู้บริหารระดับสูงจาก 5 บริษัท รวมทั้ง Raytheon, BAE Systems และ United Technologies ที่ดำเนินธุรกิจในจีน และห้ามไม่ให้บุคคลเหล่านี้เข้าประเทศจีน พร้อมทั้งห้ามองค์กรและบุคคลในจีนทำธุรกิจกับพวกเขาด้วย

‘ปธน.เกาหลีใต้’ รอด!! ถอดถอน ปม ‘ประกาศกฎอัยการศึก’ หลังสมาชิกสภาพรรครัฐบาล คว่ำบาตร!! การลงมติ

(8 ธ.ค. 67) สมาชิกรัฐสภาของพรรครัฐบาล คว่ำบาตรการลงมติถอดถอน นาย ยุน ซอกยอล จากตำแหน่งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ หลังจากตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

รายงานข่าว ระบุว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติของเกาหลีใต้ ล้มเหลวในการถอดถอนประธานาธิบดีของประเทศจากกรณีที่เขาพยายามประกาศกฎอัยการศึกในช่วงเวลาสั้น ๆ

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายเพื่อลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุน ซุกยอล ล้มเหลว โดยขาดไปเพียงสามคะแนน จากเสียงทั้งหมดที่ต้องการ 200 คะแนนเพื่อขับเขาออกจากตำแหน่ง ในการลงมติครั้งนี้ สมาชิกของพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคของฝ่ายรัฐบาลจำนวนมากไม่เข้าร่วมการลงมติ

กระทั่ง เวลาประมาณ 19.30 น. ของวันที่ 7 ธ.ค.67 (ตามเวลาประเทศไทย) นาย วู วอนชิก ประธานสภาฯ เกาหลีใต้ ประกาศยุติการลงมติถอดถอน ‘ยุน ซอกยอล’ พ้นตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นเวลากว่า 3 ชม. หลังการลงมติเริ่มต้นขึ้น

เปิดกลยุทธ์เครมลิน เหตุใดตะวันตกคว่ำบาตร แต่เศรษฐกิจรัสเซียยังโต

(20 ธ.ค.67) ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวความยาว 4 ชั่วโมง ปูตินได้กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจของรัสเซีย โดยคาดว่าในปี 2025 อัตราการเติบโตทาง GDP อยู่ที่ราว  2-2.5% และกล่าวว่าเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของรัสเซียมาจากการมี 'อธิปไตย' ของตนเอง

ปูตินกล่าวว่า "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัสเซียเป็นผลมาจากการเสริมสร้างอธิปไตย ซึ่งรวมถึงการนำไปสู่เศรษฐกิจด้วย อธิปไตยมีหลายรูปแบบ รวมถึงอธิปไตยด้านการป้องกัน, อธิปไตยด้านเทคโนโลยี, ด้านวิทยาศาสตร์, การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะสำหรับประเทศของเรา เพราะเมื่อเราสูญเสียอธิปไตย เราจะสูญเสียอำนาจของรัฐ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด"

เส้นทางของรัสเซียสู่การมีอธิปไตยทางเศรษฐกิจของรัสเซียเริ่มต้นมานานหลายทศวรรษ แต่มาประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนจากการที่ตะวันตกเริ่มคว่ำบาตรมากขึ้นตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งนักวิเคราะห์การเงินที่มีประสบการณ์ พอล กอนชารอฟ กล่าวกับสปุตนิกว่า การคว่ำบาตร 'ที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นในปี 2014

"ในปี 2014 นับเป็นยุคของ 'การคว่ำบาตรที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นกับรัสเซีย และในแต่ละปีที่ตามมา ปริมาณของการคว่ำบาตรก็เพิ่มขึ้น จนทำให้ปัจจุบันรัสเซียกลายเป็นไม่กี่ชาติบนโลกที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุด แต่ก็ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่สุดเช่นกัน" กอนชารอฟกล่าวในบทสัมภาษณ์กับสปุตนิก

รัสเซียสามารถเอาชนะแรงกดดันจากการคว่ำบาตรได้ด้วยการก้าวไปทีละขั้น เริ่มต้นจากการลงทุนในความพึ่งพาตนเองทางการเกษตรเพื่อ ลดการพึ่งพาการนำเข้า รวมถึง "การกระตุ้นการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าที่สำคัญสำหรับเครื่องจักรและเทคโนโลยี" 

มอสโกค่อย ๆ เริ่มตระหนักว่าการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สามารถทำได้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรจากตะวันตก กอนชารอฟกล่าว พร้อมชี้ว่า รัสเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดี กับประเทศในกลุ่ม BRICS การขยายตัวของกลุ่ม BRICS และการใช้สกุลเงินอธิปไตยที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐและยูโร ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของรัฐบาลหลายชาติที่ต้องการออกจาก 'อิทธิพล' ของกลุ่ม G7 และระบบการชำระเงินของพวกเขา

"กลยุทธ์ของรัสเซีย โดยเฉพาะหลังจากที่ถูกตัดออกจากระบบธนาคาร SWIFT ในปี 2022 ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง"  กอนชารอฟ กล่าว

"รายได้จากภาษีการนำเข้าของรัสเซียในตะวันตกลดลง แต่สวนทางเพิ่มขึ้นในการนำเข้าจากประเทศแถบภูมิภาคตะวันออกหลายหมื่นล้านดอลลาร์ การส่งออกของรัสเซียเพิ่มขึ้น 31 พันล้านดอลลาร์หลังจากที่ตะวันตกดำเนินการคว่ำบาตรการค้าหลังปี 2022 ซึ่งเป็นยังเป็นผลดีต่อประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศ Mercosur (ที่ประกอบด้วย อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย และเวเนซูเอลา) ต่างได้รับประโยชน์จากการแยกตัวของรัสเซียจากตะวันตก" 

ในที่สุด รัสเซียก็สามารถหาพันธมิตรใหม่ๆ นอกกลุ่มตะวันตก โดยผูกเศรษฐกิจของตนเข้ากับประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

"สินค้าจำเป็นทุกประเภทได้ถูกแทนที่โดยการผลิตในรัสเซีย หรือจากประเทศที่ตอนนี้ถูกมองว่าเป็น 'ประเทศมิตร' เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐไม่ได้ถูกใช้ในการชำระภาระทางการค้าระหว่างประเทศอีกต่อไป ประกอบกับเงินดอลลาร์ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างผันผวน ก็กำลังทำให้การชำระเงินในสกุลอื่นเป็นระบบที่นิยมมากขึ้น

กอนชารอฟกล่าวสรุปว่า "การแทนที่สินค้านำเข้า การค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานไปยังทิศทางกลุ่มประเทศแถบโลกใต้และโลกตะวันออก การเบนเข็มน้ำมันและก๊าซไปยังโลกใต้และโลกตะวันออก และการมีส่วนร่วมในการขยายและพัฒนากลุ่มประเทศ BRICS ในฐานะแนวหน้าทางเศรษฐกิจใหม่ ล้วนเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของรัสเซียและชาติพันธมิตรมากขึ้นเรื่อย ๆ"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top